รำลึกถึง ศรีบูรพา : จาก "ความกาลีแห่งอำนาจ" สู่ "พลังประชาชน"
คอลัมน์/ชุมชน
1.
ในวันแดดกล้า ฟ้าหมอง อากาศอวลอบอ้าว
บรรยากาศการเมืองยังคงผันผวน ให้ผู้คนบ่นเครียดอยู่ทุกเช้าค่ำ
ใช่, ทำให้ใครหลายๆ คนถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาล
จนแพทย์ต้องออกมาย้ำว่า นั่นคือโรคเครียดการเมือง
นักจิตวิทยาออกมาชี้ทางให้ผ่อนคลาย
พระออกมาเทศนาชี้ให้ปลดปล่อยวาง
ทว่า,ใครหลายใครมิอาจละวาง
ยังคงเฝ้าติดตามเฝ้าดูการเมืองอยู่อย่างนั้น
บ่ายนั้น, ผมเหลือบมองเห็นหนังสือสองสามเล่มหนา
วางซ้อนสงบนิ่งตรงนั้น
กองหนังสือวางซ้อนๆ กันอยู่บนหัวนอน
ฝุ่นจับเขรอะจนหนา ผมมองเห็นดวงตาฉายแววเศร้า
ทำให้อดไม่ได้ที่จะหยิบนำมาปัดฝุ่น และละเลียดอ่านอีกครั้ง...
"มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ" รวมข้อเขียนการเมืองในฐานะนักหนังสือพิมพ์
รวมพิมพ์เป็นครั้งแรก ของ "อิสสระชน" อีกนามปากกาของ "กุหลาบ สายประดิษฐ์" ที่ตีพิมพ์ เนื่องในงานครบรอบ 100 ปี ศรีบูรพา ตีพิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2548
"สุชาติ สวัสดิ์ศรี" เป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้
ลองอ่านถ้อยคำความรู้สึกของ "สุชาติ สวัสดิ์ศรี"แล้วเราจะพบที่มาที่ไปของ "ข้อเขียนการเมือง" ชุดนี้...
...ความเป็นมาของ "ข้อเขียนการเมือง" ที่ยังไม่เคยรวมเป็นเล่มมาก่อนเล่มนี้ เริ่มต้นจากคุณชนิด สายประดิษฐ์ ได้กรุณาเชื้อเชิญให้ผมและภรรยาไปพบที่ "บ้านศรีบูรพา" ซอยพระนาง เมื่อประมาณกลางปี พ.ศ.2547 เพื่อมอบต้นฉบับลายมืออันเป็นข้อเขียนของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ต่างกรรมต่างวาระที่ห่อรวมกันอยู่ในแฟ้มและเก็บไว้ในกล่องอย่างดี ท่านบอกให้พิจารณาดูว่า จะทำอย่างไรกับมันดี ต้นฉบับลายมือที่เห็นเหล่านั้น ส่วนใหญ่เป็นกระดาษเก่าหลายขนาด บางชิ้นตัดมาจากที่พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์และนำมาห่อรวมกันไว้ ต้นฉบับในห่อและในกล่องที่เก็บไว้เหล่านั้น เป็นข้อเขียนหลากหลายแบบของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ แต่ส่วนใหญ่แล้ว เป็นเป็นงานเขียนที่ส่งไปลงในหนังสือพิมพ์
ข้อที่น่าเสียดายก็คือ ต้นฉบับเกือบทั้งหมดไม่ได้ระบุ "แหล่งพิมพ์ครั้งแรก" ว่าพิมพ์ ณ ที่ใด ทำให้ขาดการอ้างอิงที่สมบูรณ์ แต่กระนั้นด้วยนิสัยเคยชินของผู้เขียนที่มักจะเขียน "วัน เดือน ปี" ไว้ท้ายต้นฉบับเมื่อเขียนเสร็จ ดังนั้น จึงทำให้พอคาดเดาถึงสิ่งที่เรียกว่า "เวลาในประวัติศาสตร์" ได้ระดับหนึ่ง
และหรืออย่างน้อย ก็ทำให้สามารถจัดระบบก่อน-หลังตามลำดับเวลาได้ เพื่อแลย้อนกลับไปมองในยุคนั้นๆ ว่า สภาพสังคม-การเมืองไทยมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และใครกำลังเป็น "ผู้ยิ่งใหญ่"...
ผมค่อยๆ พลิกอ่านข้อเขียนการเมือง ของ "กุหลาบ สายประดิษฐ์" ชุดนี้ไปอย่างช้า ๆ ในห้วงขณะที่กระแสการเมืองในปี พ.ศ.2549 กำลังคุกรุ่นทวีความรุนแรงขึ้นทุกชั่วขณะ บางบทบางตอน ช่างสอดคล้องกับเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงนี้อย่างไม่น่าเชื่อ...
ผมขอหยิบมานำเสนอบางบทตอน...
(ขอย้ำและเข้าใจ นี่เป็นอักขระภาษาในห้วงยุคนั้น)
โปรดละเลียดอ่าน และขบเคี้ยว ขบคิด...
ในข้อเขียน ชื่อ "กาลีแห่งอำนาจ" บางตอน โดย "อิสสระชน" อีกหนึ่งนามปากกาของ "กุหลาบ สายประดิษฐ์" ได้เขียนถึงผู้มีอำนาจ ที่กระทำที่ผิดและไร้เหตุผล โดยอ้างว่าเป็นการกระทำที่ถูกและชอบด้วยเหตุผล...ว่า
...นามธัมอำนาจอันมีสง่าราสรีและเปนเนื้อนาบุญแห่งสังคมนี้ เมื่อตกไปอยู่ในกำมือของบุคคลใดอย่างเต็มขนาดแล้ว ก็มักจะจำแลงตนไปเปนรูปความกาลี สิ้นสรีสิ้นสง่า ความกาลีแห่งอำนาจอันเปี่ยมล้นในกำมือของบุคคลนั้น ได้ชักนำให้บุคคล ทั้งที่เรืองปัญญาและซามปัญญาเสียผู้เสียคนป่นปี้มานักต่อนัก และความเสียนั้น บางทีก็ร้ายแรงถึงขนาดที่ไม่เสียแต่ตัว แต่เสียย้อนหลังขึ้นไปถึงโคตร์ และสืบต่อไปถึงชั่วลูกชั่วหลานอีกด้วย.
ในขณะรำพึงถึงความกาลีแห่งอำนาจนี้ บังเอินนายสง่า กาญจนนาคพันธ์ สมาชิกวรรนคดีสมาคม นำเรื่องของผู้ชงอำนาจ ๔ คน ได้แก่ นะโปเลียน ซีซาร์ อาเล็กซานเดอร์ และโซรัส มาแสดงทางวิทยุกระจายเสียง ความรุ่งโรจน์ของบุคคลเหล่านี้ ได้มาด้วยการบุกตลุยไปในกองเลือดของมนุษยชาติ. กถาเรื่องนั้น ได้ชี้ให้เห็นว่า ความรื่นรมย์ในการเถลิงอำนาจของบุคคลเหล่านี้ มีอยู่ในเวลาอันจำกัด ท้ายที่สุด ก็ประสพความประลัยไปทุกคน.
กล่าวตามคำของนายกาญจนาคพันธ์เอง ก็คือ "คนทั้งสี่ผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือโลก เปนมหาจักรพรรดิ คือ นะโปเลียน ซีซาร์ และอาเล็กซานเดอร์ โซรัส ล้วนถูกความปรารถนาโค่นถึงซึ่งความพินาสดับสูญอย่างน่าอนาถทั้งสิ้น"
...คติที่นายกาญจนาคพันธ์ มุ่งจะแสดงในกถาเรื่องนี้ คงใคร่จะให้เปนข้อเตือนใจ ผู้ที่จะปกครองบ้านเมืองในภายภาคหน้า อย่าได้คิดอ่านสวาปามอำนาจให้เกินขนาดที่ควรไป และอย่าเพลินในการเบ่งอำนาจเกินไป จนนัยน์ตาก็มืดมัวและสองหูก็อื้อไป จนมิได้เห็นดวงหน้าอันหมองด้วยความคับแค้น และมิได้ยินเสียงบริภาสสติเตียนของประชาราสดรที่ดังอึงคนึงไปตลอดทั้งแผ่นดิน.
...ความกาลีแห่งอำนาจนี้ ได้มีมาแต่โบราณกาล นับตั้งพันๆ ปีมาแล้ว. ผลที่ปรากดก็มักจะลงรอยกันว่า ในท้ายที่สุด อธัมก็พ่ายแพ้ธัมทุกรายไป ผู้สวาปามอำนาจก็ถูกทำลายวายวอด และบุคคลจำพวกที่ยังชีวิตอยู่ด้วยการสอพลอก็ถูกทำลายวายวอด และบุคคลจำพวกที่ยังชีวิตอยู่ด้วยการสอพลอหยาบช้าอาธัม ก็ต้องชดใช้ชีวิตของตนเพื่อผลกัมอันนั้น
แต่ก็ประหลาดนักหนา ที่ชนรุ่นต่อมา หาได้จดจำแบบอย่างแห่งความประลัยเหล่านี้ไว้ไม่ สิ่งที่เคยเปนมาแล้วก็กลับเปนขึ้นอีก สตวรรสแล้วสตวรรสเล่า.
...ประเทสไทยในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ก็ได้รับเอาระบอบประชาธิปไตยมาใช้แทนระบอบเก่า ด้วยความมุ่งประสงค์ที่จะกำจัดความกาลีแห่งอำนาจเหมือนกัน. แต่โดยที่ระบอบประชาธิปไตยในประเทสไทยยังเยาว์วัยนัก และทั้งได้รับการฟูมฟักรักษาจากประชาชนไม่เพียงพอ อีกทั้งน้ำหนักแห่งความซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินของมวลอำนาจไทยก็มีไม่พอ ระบอบประชาธิปไตยของไทยจึงแทบจะทลายลงไม่มีชิ้นดี ด้วยการบดขยี้ของอำนาจ.
...แม้เราจะมีวิธีการกำจัดความกาลีแห่งอำนาจอยู่แล้วก็ดี แต่เราก็ได้พากันเห็นประจักษ์แล้วว่า ความกาลีแห่งอำนาจก็อาจโผล่ออกมาสำแดงตนแก่เรา บดขยี้ความคิดจิตต์ใจของเรา และเดินลอยชายอยู่ได้เปนเวลานับปีในแผ่นดินแห่งประชาธิปไตย แผ่นดินซึ่งอำนาจเปนของปวงชนนี้
ฉะนั้น เราอย่าหลงไปว่า เมื่อมีระบอบประชาธิปไตย เปนเครื่องมือป้องกันความกาลีแห่งอำนาจแล้ว เราก็จะพากันนอนหลับสบายใจไปได้ เราเห็นประจักส์แล้วว่า ความกาลีแห่งอำนาจ อาจเบ่งตัวของมันได้ในโครงร่างของประชาธิปไตยนี้ และเราอย่าหลงไปว่า ความกาลีแห่งอำนาจ ซึ่งถูกทำลายไปครั้งหนึ่ง จะไม่โผล่ขึ้นมาอีกในภายภาคหน้า ถ้าเราพากันนอนหลับสบายต่อไป.
ระบอบการปกครองเปนของไม่มีชีวิตจิตวิญญาณ ไม่อาจปกปักรักสาตัวเองได้ กดหมายรัถธรรมนูญจะไม่มีค่าสาระอันใด ถ้ามีผู้ละเมิด และไม่มีผู้ใดเจ็บร้อนต่อการที่กดหมายสูงสุดฉบับนั้นได้ถูกละเมิด. ระบอบประชาธิปไตยจึงต้องการเลือดเนื้อและชีวิตปกปักรักสา.
ฉะนั้น แต่นี้ไปเมื่อหน้า ปวงชาวไทยจะต้องร่วมใจกันสอดส่องยืนยามพิทักส์รักสาประชาธิปไตยของเราให้จงดี. เราจะต้องจดจำความกาลีแห่งอำนาจไว้อย่างฝังใจ. มวลอำนาจจงเพิ่มความสัตย์ซื่อให้แก่แผ่นดิน จงสำแดงความอาจหานที่จะทัดทานการกระทำอันโฉดเขลาอาธัม เยี่ยงอำนาจโบราณได้ประพรึติกันมา จงงดการประโคมดุริยางค์ให้แก่ความบ้าบอคอแตกต่างๆ. ฝ่ายพสกนิกร ก็จงสึกสาสิทธิของตัว สึกสาอำนาจหน้าของผู้ปกครอง และอย่าถือตามผู้ใดโดยไร้ความคิดและเห็นเหตุผล.
ถ้าประชาชาวไทยมีความนับถือตนเองตามควรแล้ว ระบอบประชาธิปไตยก็จะตั้งยื่งยืนนาน ความกาลีแห่งอำนาจก็จะไม่มาเดินลอยชายอยู่ได้ในแผ่นดินประชาธิปไตยของเรานี้. แม้เราจะสละความนับถือตนเองเมื่อใด เราไม่แต่จะเปิดประตูหน้าต่างออกไว้ต้อนรับความกาลีแห่งอำนาจเท่านั้น เราเท่ากับเปิดทั้งหลังคาและใต้ถุนไว้ต้อนรับมันทุกด้านทีเดียว.
นั่น, เป็นข้อเขียนการเมือง ของ "อิสสระชน" นามปากกาของ "กุหลาบ สายประดิษฐ์" ที่เขียนเมื่อช่วงปี พ.ศ.2487
นานนับนาน...ทว่า เมื่อหยิบมาอ่าน มาบดเคี้ยว ขบคิด ชั่งนึกตรึกตรองดู กับสถานการณ์การเมืองไทยในห้วงขณะนี้ ปี พ.ศ.2549 นั้นไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก
ไม่ว่าในเรื่องของความอ่อนด้อยในเรื่องความพยายามเอา "ประชาธิปไตย" มาใช้ ในขณะที่ระบอบประชาธิปไตยของไทยเรายังเยาว์วัยนัก รวมไปถึง "ความกาลีแห่งอำนาจ" ที่ผู้ปกครองพยายามเอา "ประชาธิปไตย" นำมาใช้กล่าวอ้าง เป็นเครื่องมือในการสวาปาม
แต่ถ้าใครขบเคี้ยว "ข้อเขียนการเมือง" ของท่าน"กุหลาบ สายประดิษฐ์" แตก เราจะรู้ได้เลยว่า...ท้ายสุดแล้ว อธรรมก็จะพ่ายแพ้ธรรมทุกรายไป ผู้สวาปามอำนาจก็จะถูกทำลายวายวอด และบุคคลจำพวกที่ยังชีวิตอยู่ด้วยการสอพลอหยาบช้าอธรรม ก็จะต้องชดใช้ชีวิตของตนเพื่อผลกรรมนั้น!!
2.พลังประชาชน
หยดฝนย้อย หยาดฟ้า มาสู่ดิน
ประมวลสิ้น เป็นมหา สาครใหญ่
แผดเสียงซัด ปฐพี อึงมี่ไป
พลังไหล แรงรุด สุดต้านทาน
อันประชา สามัคคี มีจัดตั้ง
เป็นพลัง แกร่งกล้า มหาศาล
แสนอาวุธ แสนศัตรู หมู่อันธพาล
ไม่อาจต้าน แรงมหา ประชาชน
กุหลาบ สายประดิษฐ์
นี่คือบทกวีที่ทรงพลังอีกชิ้นหนึ่งที่หลายคนรู้จักกันดี ของ "กุหลาบ สายประดิษฐ์" หรือที่ใครหลายใครรู้จักกันดีในนาม "ศรีบูรพา"
"สุชาติ สวัสดิ์ศรี" บรรณาธิการ บันทึกไว้ในรวมเล่ม "ร้อยนักเขียน ร้อยกวี ร้อยปี ศรีบูรพา" เนื่องในวาระ 100 ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ ว่า บั้นปลายชีวิต ขณะลี้ภัยอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน "กุหลาบ สายประดิษฐ์" ได้ทราบข่าวชัยชนะของนักศึกษา-ประชาชน ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เขารู้สึกประทับใจและสะเทือนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้แต่งบทกวีชื่อ "พลังประชาชน" ชิ้นนี้ส่งมายังประเทศไทย
และนี่อาจจะเป็นบทกวีชิ้นสุดท้ายของเขาก็ได้ เพราะต่อจากนั้น อีกประมาณ 9 เดือนต่อมา กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้ถึงแก่กรรมที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2517 รวมอายุได้ 69 ปี