วิสาขบูชากับสัจจะอธิษฐาน..เพื่อใคร?
คอลัมน์/ชุมชน
๑
วิสาขบูชาปีนี้ดูจะน่าตื่นเต้นและน่าตื่นตาไม่ใช่น้อย นับแต่มีการโหมโรงว่า " ใคร" ควรเป็น " เจ้าภาพ" หรือ " ตัวตั้งตัวตี" สนองนโยบาย หรือแนวคิดของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ที่ " คิดใหญ่" และ " คิดใหม่" ให้ ไทยเป็นศูนย์กลางของชาวพุทธ เสมือนหนึ่งมหานครเมกกะเป็นศูนย์กลางของมุสลิมทั่วโลก
นี่เป็นเรื่องน่าสนใจยิ่ง เพราะเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรก ๆ ของงานด้านศาสนา ที่ผู้บริหารระดับสูงสุดมอบนโยบายมาพร้อมกับเป้าหมายและแผนปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม แทนที่จะให้แค่ภาพกว้างๆ หรือวัตถุประสงค์ครอบจักรวาล แล้วโยนให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง " สนองนโยบาย" หรือ " เอาใจนาย" ด้วยกิจกรรมสำเร็จรูป
ที่ส่วนใหญ่จะ " เชย" หรือ " เห่ย" แถมยังมี " ผักชีโรยหน้า" และสุดท้ายก็ " มอดไว" แบบ " ไฟไหม้ฟาง" แทบทั้งสิ้น
น่าเสียดายที่ดำรินั้น " ตายน้ำตื้น" ไปเสีย เพียงเพราะบางคน " ก้าวพลาด" รุกผิดจังหวะ หรือมองข้ามแง่มุมอ่อนไหว ใน " บางเรื่องราว" ที่ยังไม่สิ้นเชื้อ แทนที่จะค่อยเป็นค่อยไปก็กลับรีบร้อน, ประมาท หรือ " ขาดความเฉลียว" อย่างที่ควรจะมี.. จะเป็น
แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือน " ศูนย์คุณธรรมฯ" ( หน่วยงานระดับองค์การมหาชนในกำกับของ พล. ต. จำลอง ศรีเมือง ซึ่งแม้จะมีอายุยังไม่ถึงขวบปีดีนัก แต่นับวันจะแสดงความชัดเจนและจัดเจน ว่าเป็นมือทำงาน " ปิดจุดอ่อน" ด้านสังคมและการ " ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม" ของภาครัฐได้อย่างไม่เคยมีมาก่อน) ยังไม่ละความพยายามที่จะใช้โอกาส " วิสาขบูชา" ปีนี้ สนองนโยบาย " สายตรง" จากนายกรัฐมนตรี พ. ต. ท. ทักษิณ ชินวัตรให้จงได้
ป้ายชักชวนให้ร่วมกันแสดง " สัจจะอธิษฐาน" ตามแนวคิด " ๑ คน ๑ สัจจะ" จึงปรากฏออกมาให้เห็น เป็น " เป้าสายตาใหม่ๆ" ของมหาชนคนกรุงเทพฯ อย่างทันท่วงที
ทำนองชี้ชวนให้เชื่อ ว่าการปฏิบัติเช่นนี้จะเป็นการ " ปฏิบัติบูชา" แสดงความเคารพเทิดทูน หรือสนองคุณพระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างที่ชาวพุทธที่ดีพึงปฏิบัติกันให้กว้างขวาง
หากนับว่าเป็นเกมช่วงชิงโอกาส หรือปฏิบัติการรุกคืบทางการเมือง เพื่อหนุนเสริมภาพลักษณ์นายกรัฐมนตรี และ / หรือ ของรัฐบาล ที่เคยพลาดพลั้งไปกับกรณี " วันวิสาขบูชาแห่งโลก" ก็ถือได้ว่าเป็นจังหวะก้าวที่ " ดูดี" และมี " ที่มาที่ไป" อย่างสอดคล้องและกลมกลืนยิ่ง
แม้ว่าจะเพิ่งสะดุดเท้าตนเองจนแทบหัวคะมำมาหยกๆ ในยกแรกก็ตาม..
แต่ถ้าจะว่ากัน " อย่างชาวพุทธ" หรือเจาะจงมาที่ " คนชั้นกลางชาวพุทธในเมืองกรุง" ซึ่งใช้ชีวิตเติบโตมากับสื่อสารมวลชนและการโฆษณาชวนเชื่อนานาประดามี ก็คงต้องมองอะไรให้ " กว้าง", " ลึก" และ " ไกล" ไปยิ่งกว่าการ " หลงเชื่อ" หรือ " ยอมรับ" ตาม " ป้าย" หรือ " เนื้อที่โฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์" ชนิดง่ายๆ ตื้นๆ เหล่านั้นออกไปสักหน่อย ว่า
หาก " พิจารณา" กันอย่าง " ชาวพุทธ" แล้ว อะไรเล่า ที่หมายถึง " การปฏิบัติบูชา" อะไรคือ " สัจจะ" และอะไรกันแน่ ที่มีจะกินความไปถึง " อธิษฐานธรรม" อย่างที่ " ชาวพุทธ" จะพึงมีและพึงเป็น ตลอดจน " พึงกระทำ" ในโอกาส " วิสาขบูชา" อันสำคัญยิ่งนี้
๒
เพียงแค่การไปรับการ์ดจากศูนย์คุณธรรมฯ , จากที่ว่าการอำเภอ/ เขต, จากศาลากลางจังหวัด หรือศาลาว่าการกรุงเทพฯ แล้วเขียนข้อความสวยๆ ไพเราะ เหมาะหู- ระรื่นตา หรือโก้หรู- โอ่อ่า ดูดีมีชาติตระกูล เพื่อส่งถึงนายกรัฐมนตรีส่วนหนึ่ง ส่งถึงคนที่คุณรักส่วนหนึ่ง และเก็บไว้กับตนเองส่วนหนึ่ง อย่างที่ศูนย์คุณธรรมฯ โฆษณา/ แนะนำไว้ นั้น เป็น " สัจจะอธิษฐาน" ที่เป็นการ " ปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า" ได้หรือไม่
หรือประเภทที่ว่า " ถึงแม้งานจะหนัก ปัญหาจะมาก พ่อจะรักษาอารมณ์ที่เบิกบาน เมื่ออยู่กับแม่ และลูกๆ ตลอดไป" อย่างท่านนายกรัฐมนตรีนั้น
เป็น " สัจจะอธิษฐาน" เพื่อ " ปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า" หรือไม่?
ทั้งนี้ มิพักจะต้องกล่าวถึง ว่า " สัจจะอธิษฐาน" ข้างต้น ที่เป็นไปเพื่อครอบครัว อันประกอบไปด้วยลูกและภรรยาเป็นการเฉพาะนั้น เพียงพอหรือคู่ควร กับ " สถานะ" ความเป็น " ผู้แทนปวงชนชาวไทย" และเป็น " นายกรัฐมนตรี" ของคนไทยทั้งประเทศหรือไม่ และเพียงใด
อย่างไรก็ตาม เพื่อสอบทานและเพิ่มเติมความเข้าใจให้ถูกตรงไปพร้อมๆ กันบทความนี้คงต้องเริ่มต้นในรายละเอียดกันที่ " นิยามศัพท์" ประเภท " ภาษาวัดวา" เอาไว้สักเล็กน้อย
ประเดิมกันที่ " บูชา" เป็นเบื้องแรก ว่ากันโดยหลักพุทธธรรม การ " บูชา" ซึ่งหมายถึง การให้ด้วยความนับถือ, แสดงความเคารพเทิดทูน.. นั้น ท่านว่ามีอยู่ ๒ ประการ
กล่าวคือ บูชาด้วยการปฏิบัติ ( ปฏิบัติบูชา) และการบูชาด้วยอามิส คือ สิ่งของ เช่น ดอกไม้ ของหอม อาหาร หรือวัตถุอื่นๆ ( อามิสบูชา)
การปฏิบัติบูชา ว่ากันสั้นๆ ย่อๆ ก็คือ การประพฤติตามธรรมคำสั่งสอนของท่าน , การบูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติ ตลอดจนการกระทำในสิ่งที่ดีงาม
ในง่มุมนี้ จึงน่าสงสัย ว่า .. การส่ง " ๑ คน ๑ สัจจะ" ไปถึงนายกรัฐมนตรีนั้น จะถือเป็นการปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้าในวันหรือห้วงเวลาแห่ง " วิสาขบูชา" ได้อย่างไร? และด้วยหลักการใด?
ต่อมาคือ คำว่า " สัจจะ" และคำว่า " อธิษฐาน" ควบคู่ไปด้วยกัน เพื่อให้เห็นภาพสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้ง สัจจะ และ อธิษฐาน นั้น เป็น ๒ ใน ๑๐ ของ " บารมี" แบบพุทธ ที่กล่าวถึง ทาน, ศีล, เนกขัมมะ, ปัญญา, วิริยะ, ขันติ, สัจจะ, อธิษฐาน, เมตตา, อุเบกขา
ในที่นี้ " บารมี" นั้น ท่านหมายถึง คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงยิ่ง ซึ่งในทางพุทธศาสนาทราบกันดีว่าหมายถึงการดับทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง หรือการบรรลุถึงพระนิพพาน ด้วยอริยมรรคมีองค์แปด หรือมัชฌิมาปฏิปทา
๓
คราวนี้มาดูกันโดย " อรรถะ" และ " พยัญชนะ" แต่พอสังเขป
" สัจจะ" นั้น ท่านว่า.. หมายถึง
ก . ความจริง มี ๒ คือ
๑ . สมมติสัจจะ จริงโดยสมมติ เช่น คน พ่อค้า ปลา แมว โต๊ะ เก้าอี้
๒ . ปรมัตถสัจจะ จริงโดยปรมัตถ์ เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ข . ความจริง คือ
จริงใจ ได้แก่ ซื่อสัตย์
จริงวาจา ได้แก่ พูดจริง และ
จริงการ ได้แก่ ทำจริง
( ข้อ ๑ ในฆราวาสธรรม ๔, ข้อ ๒ ในอธิษฐานธรรม ๔, ข้อ ๔ ในเบญจธรรม, ข้อ ๗ ในบารมี ๑๐)
หากจะขยายลงไปในรายละเอียด ก็ต้องเสริมความเสียด้วย ว่า
ปรมัตถสัจจะ หมายถึง " จริงโดยปรมัตถ์" กล่าวคือ ความจริงโดยความหมายสูงสุด เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตรงข้ามกับ สมมติสัจจะ จริงโดยสมมติ เช่น สัตว์ บุคคล ฉัน เธอ ม้า รถ นาย ก. นาย ข. เป็นต้น
ส่วน สมมติสัจจะ นั้น ท่านว่า เป็น " จริงโดยสมมติ" กล่าวคือ โดยความตกลงหมายรู้ร่วมกันของมนุษย์ เช่น นาย ก. นาย ข. ช้าง ม้า มด โต๊ะ หนังสือ พ่อ แม่ ลูก เพื่อน เป็นต้น ซึ่งเมื่อกล่าวตามสภาวะ หรือโดยปรมัตถ์แล้ว ก็เป็นเพียงสังขาร หรือนามรูป หรือขันธ์ ๕ เท่านั้น; ถือได้ว่าตรงข้ามกับ ปรมัตถสัจจะ
๔
ต่อมาคือคำว่า อธิษฐาน
" อธิษฐาน " นั้น.. หมายถึง ตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ตั้งจิตปรารถนา, ตั้งจิตขอร้องต่อสิ่งที่ตนถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, อธิฏฐาน ก็ว่า.
และคำว่า " อธิษฐาน" นี้
๑. ในทางพระวินัย แปลว่า การตั้งเอาไว้หรือตั้งใจกำหนดเอาไว้ กล่าวคือ ตั้งเอาไว้กับของนั้นๆ หรือตั้งใจกำหนดเอาไว้ ว่าจะใช้ของชนิดนั้นๆเป็นของประจำตัว เช่น ได้ผ้ามาผืนหนึ่ง ตั้งใจว่าจะใช้เป็นอะไร คือจะเป็นสังฆาฏิ อุตตราสงค์ อันตรวาสก ก็อธิษฐานเป็นอย่างนั้นๆ เมื่ออธิษฐานแล้ว ของนั้นเรียกว่าเป็นของอธิษฐาน เช่น เป็นสังฆาฏิ อธิษฐาน จีวรอธิษฐาน ( นิยมเรียกกันว่า จีวรครอง) ตลอดจนบาตรอธิษฐาน เป็นต้น
ส่วนของชนิดนั้น ที่ได้เพิ่มมาอีกหรือเกินจากนั้นไปก็เป็นอติเรก เช่น เป็นอติเรกจีวร อติเรกบาตร, คำอธิษฐาน ก็ เช่น " อิมํ สงฺฆาฏึ อธิฏฺฐามิ" ( ถ้าอธิษฐานของอื่น ก็เปลี่ยนไปตามชื่อของนั้น เช่น เป็น อุตฺตราสงฺคํ, อนฺตรวาสกํ เป็นต้น)
๒. หมายถึง ความตั้งใจมั่น , การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว, ความมั่นคง เด็ดเดี่ยว แน่วแน่ในทางดำเนินและจุดมุ่งหมายของตน ( ข้อ ๘ ในบารมี ๑๐), อย่างไรก็ตาม ในภาษาไทยมักใช้ในความหมายว่า ความตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ความตั้งจิตปรารถนา เป็นหลัก
อนึ่ง บัดนี้เริ่มมีผู้รู้บางท่านทักท้วงเกี่ยวกับการใช้คำของรัฐบาล ( ผ่านศูนย์คุณธรรม) ขึ้นมาบ้างแล้ว ว่าโดยหลักภาษาที่ถูกต้องนั้น น่าจะใช้ " สัจจาธิษฐาน" จึงจะเหมาะควร มิใช่ใช้ " สัจจะอธิษฐาน" ดังที่เป็นอยู่ กระนั้นก็ตาม ในที่นี้คงไม่ลงไปในรายละเอียดให้มากความเกินไปนัก
แต่อย่างไรก็ดี ยังอยากจะเชิญชวนให้ตั้งข้อสังเกตซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ว่า
น่าสงสัยหรือไม่ ว่าทำไมการบำเพ็ญบารมี ๒ ใน ๑๐ ประการข้างต้น จึงต้อง มีสำเนาส่งรายงานไปถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ . ต. ท. ทักษิณ ชินวัตร ดังที่ศูนย์คุณธรรมฯพยายามโฆษณาเอาไว้
ว่ากันง่ายๆ ก็คือ มีความจำเป็นอันใด ที่คนไทยผู้น้อมใจให้สัจจะ " อธิษฐาน" กันแต่ละคน ด้วยมุ่งหวังจะประพฤติดี- ปฏิบัติดี บูชาพระพุทธเจ้า จึงต้องสละการ์ด ๑ ใน ๓ ส่วน ส่งรายงาน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี " เพื่อทราบและพิจารณาดำเนินการ" ไปพร้อมๆ กัน !!!
ศัพท์สำคัญต่อมาคือ คำว่า " อธิษฐานธรรม" ซึ่งหากพิจารณากันโดยแยบคายแล้ว ดูเหมือนกับว่า สิ่งที่รัฐบาลหรือศูนย์คุณธรรมพยายามจะเชิญชวนให้ " คนไทย" เกิดกระแส " แห่ปฏิบัติ" ตามๆ กันนั้น น่าจะเป็นการ " อธิษฐานธรรม" ดังความหมายต่อไปนี้เสียมากกว่า
ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ที่โฆษณากันครึกโครมนั้น จะเป็นกลอนพาไป หรือสำคัญผิดในข้อเท็จจริงกันแน่
" อธิษฐานธรรม" ท่านหมายถึง ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ, ธรรมเป็นที่มั่น มี ๔ อย่าง คือ
๑ . ปัญญา ความรู้ทั่ว , ปรีชาหยั่งรู้เหตุผล, ความรู้เข้าใจชัดเจน, ความรู้เข้าใจหยั่งแยกได้ในเหตุผล ดีชั่ว คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น และรู้ที่จะจัดแจง จัดสรร จัดการ, ความรอบรู้ในกองสังขาร มองเห็นตามความเป็นจริง
๒ . สัจจะ ความจริง มี ๒ คือ สมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ
๓ . จาคะ การสละ, การให้ปัน, การเสียสละ, การสละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ; การสละกิเลส
๔ . อุปสมะ ความสงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ , การทำใจให้สงบ, สภาวะอันเป็นที่สงบ คือ นิพพาน
ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า ใน " อธิษฐานธรรม" นั้นมี " สัจจะ" ประกอบอยู่ด้วย ขณะเดียวกัน ทั้ง " สัจจะ" และ " อธิษฐาน" ก็เป็นส่วนหนึ่งของ " บารมี"
อาจเป็นด้วยรายละเอียดอัน มากมาย - ซับซ้อน นี้เอง ที่ทำให้ผู้รับผิดชอบ " แคมเปญ" นี้เกิดสำคัญผิด กระทั่งเป็นเหตุให้ " คิกออฟ" ความสับสนออกมาสู่สาธารณะไปในที่สุด
ว่ากันโดยรายละเอียดดังที่ยกมากล่าวไว้ในเบื้องต้น จะพบว่าในพุทธศาสนานั้นมีแง่มุมอันละเอียดประณีต ซึ่งแฝงไว้ด้วยเนื้อหาสาระ , กระบวนการ, ขั้นตอน, ตลอดจนศิลปะ และลีลา- ท่วงทำนองอันงดงามเสมอ สำหรับการประพฤติปฏิบัติ เพื่อขัดเกลาตนเองและสังคมแวดล้อม ในบริบทต่างๆ จึงมิใช่เรื่องง่ายดายนัก ที่ใครหรือองค์กรใด จะหยิบยกแต่เพียงส่วนเสี้ยว แล้วด่วน " สรุป" ให้ " กินความ" จน " ครอบคลุม" ได้
เว้นแต่จะมีจุดประสงค์แฝงเร้น หรือปรารถนาลามก หวังยก " บางส่วน" มาหาประโยชน์ ด้วยกลไกการตลาดชนิดเอาเร็วเข้าว่า และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่ปราศจากความรับผิดชอบ ซึ่งปรากฏเสมอในสินค้าประเภท " หลอกขาย" แบบไทยๆ
กระทั่งทำให้สาธารณะชนเกิดสำคัญผิดในข้อเท็จจริง จนความเห็นความเชื่อกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไปในที่สุด
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ว่า " วิสาขบูชา" คือห้วงกาลที่ชาวพุทธพึงระลึกถึงคุณและขวนขวายปฏิบัติบูชา แด่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในเพ็ญเดือน ๖ เช่นเดียวกันนี้มาแต่เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว
ดังนั้น หากรัฐบาล หรือหน่วยงานในสังกัดใดๆ ประสงค์จะมีส่วนร่วม หรือต้องการใช้โอกาสนี้หาคะแนน " ตามน้ำ" ก็จำเป็นอยู่เอง ที่จะต้องมีความเข้าใจ และรู้จัก กาละ- เทศะ ตลอดจนมานะพยายาม ประพฤติปฏิบัติให้ ถูกต้อง- เหมาะควร
หาไม่ก็จะกลายเป็นพากันเข้ารกเข้าพง หรือทำให้ของเดิมที่ดีอยู่แล้วเสื่อมเสียไปด้วย อย่างน่าเสียดายยิ่ง
กล่าวคือ แทนที่คนไทยจะได้ใช้โอกาสนี้ศึกษาและทำความเข้าใจในความหมายของ " วิสาขบูชา" การ " บูชา" หรือการ " ปฏิบัติบูชา" ตลอดจนการบำเพ็ญ " บารมี" ที่ว่าด้วย " สัจจะ" และการ " อธิษฐาน" รวมทั้งการ " อธิษฐานธรรม" ดังที่ควรจะเป็น " รัฐบาล" โดยหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องนั่นแหละ ที่ทำให้ความหมายอันดีงามดังกล่าวต้องคลาดเคลื่อนจาก " ทำนองคลองธรรม" ไปเสียเอง ด้วยการทำงานรีบเร่งชนิด " ลวกๆ" หรือ " สุกเอาเผากิน" ที่ปราศจากความรับผิดชอบ เพียงเพื่อให้ทันเวลา และถือเอาชัยชนะทางการเมืองเป็นที่ตั้ง แทนที่จะเอาธรรมะเป็นเป้าหมาย และวิธีปฏิบัติ
ด้วยเนื้อที่อันจำกัด จึงมิอาจชี้ให้เห็นชัดๆ ไปมากกว่านี้ ว่าเพราะเหตุใดการส่งการ์ด " ๑ คน ๑ สัจจะ" ถึงนายกรัฐมนตรีจึง " ไม่ใช่" หรือ " ไม่น่าจะเป็น" การปฏิบัติบูชาต่อพระพุทธเจ้าเยี่ยงชาวพุทธที่ดี
กระนั้นก็ยังเชื่อว่าผู้มีสติ , ปัญญา, สัมปชัญญะ และสมาธิ จะเข้าใจได้ไม่มากก็น้อย ว่าแนวคิดเช่นนี้ มีท่วงทำนอง " สำคัญตนเองผิด" และ " กำเริบเสิบสาน" เกินไปสักแค่ไหน
และเพียงใด
หมายเหตุ : "บทความนี้ปรับปรุงจากที่เคยตีพิมพ์ในสวัสดีกรุงเทพรายสัปดาห์"