Skip to main content

เก็บตกจากหลวงพระบาง (1) : ชีวิต สายน้ำ และ ไคแผ่น

คอลัมน์/ชุมชน



ชีวิต สายน้ำ และ ไคแผ่น


 


ช่วงเวลาใกล้ๆ ที่พระอาทิตย์จะตกอยู่รอมร่อ ชายชาวฝรั่งเศสคนเดินมาที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมน้ำโขงในเมืองหลวงพระบางซึ่งเขาเป็นขาประจำของร้านนี้ เจ้าของร้านบอกว่า เขามาอยู่ที่เมืองนี้ได้หลายปีแล้ว  เขาเดินเข้ามาพร้อมกับพูดเป็นภาษาลาวสำเนียงฝรั่งเศสว่า "วันนี้ ข้อยดีใจหลาย เมียข้อยออกลูกแล้ว"


 


ชายคนนั้น ต่อมาแนะนำตัวเองว่า เป็นกวี มาอยู่ที่นี่ได้เมียเป็นลาวสูง (เผ่าม้ง) คิดจะอยู่ที่นี่ตลอดไป วันนี้เข้ามาจัดการทำธุระเรื่องเด็ก และวันนี้คงจะนั่งที่นี่นานไม่ได้เพราะจะต้องกลับไปฉลองที่บ้านซึ่งอยู่ห่างไกลไปอีก 30 กิโลเมตร เกรงว่าจะถึงบ้านดึกเกินไป เขาใช้มอเตอร์ไซค์ด้วยเกรงว่าจะอันตราย แต่ก่อนไปได้ขอให้พวกเราช่วย "ชนแก้ว" แสดงความยินดีกับเขาหน่อย แม้ไม่ได้รู้จักกันมาก่อนแต่ก็สามารถจะร่วมยินดีกันได้ในเมื่อเขาออกจะรู้สึกดีใจปานนั้น  ได้ยินเรื่องน่ายินดี เราย่อมต้องยินดีด้วย


 


หญิงท้องแก่คนหนึ่งหาบไคแผ่นมาขายที่ร้านอาหารแห่งนี้ เจ้าของร้านถามว่า ท้องกี่เดือนแล้ว เธอบอกว่า  8 เดือนกว่า แปลว่าใกล้จะคลอดเต็มทีแต่ก็ยังหาบของมาขายอยู่เลย โดยที่ต้องเดินวันละหลายกิโลเมตร เจ้าของร้านบอกว่า เลิกขายได้แล้ว จะคลอดอยู่แล้ว เธอบอกว่ายังขายไหวอยู่ก็ต้องขาย เจ้าของร้านอาหารเล่าให้ฟังในเวลาต่อมาว่า  คนพวกนี้บางครั้งเขาก็ต้องเข้ามาหาหมอในเมือง แต่เพื่อไม่ให้เสียเที่ยวก็เอาของมาขายด้วยจะได้ทุ่นค่ารถ ค่าหมอ


 


แม่เฒ่าชาวม้ง นั่งเย็บผ้าไปพลาง ขายไปพลางที่ตลาดกลางคืน (ที่คนลาวเรียกว่าตลาดมืด) ได้พูดคุยสนทนากันพอสมควร เธอมีทีท่าพอใจและเป็นมิตร ไม่ใช่เพราะขายของได้แต่เพราะนึกไม่ถึงว่าคนที่ไม่ใช่เผ่าเดียวกันกลับมาพูดม้งด้วย แม้เข้าใจกันเพียงเล็กๆ น้อยก็ทำให้รู้สึกดี  ยิ่งพอซื้อของอีกก็เลยตอบแทนโดยแถมงานชิ้นเล็กๆ ให้อีกหนึ่งชิ้นเป็นการขอบใจ


 


หลังอาหารเย็น คุณป้าเจ้าของเกสต์เฮาส์ซึ่งเป็นคนหลวงพระบางโดยกำเนิดหยิบถาดเข้ามานั่งเลือกเอากากข้าว (ข้าวเปลือกที่ปนอยู่ในข้าวสาร) ออกเพื่อเตรียมหุงหาไว้สำหรับใส่บาตรในวันรุ่งขึ้น และบอกว่าใส่บาตรอย่างนี้มาทุกวันตั้งแต่ยังเด็กๆ จนปัจจุบันนี้อายุ 60 ปีแล้ว


 


นี่คือเหตุการณ์เมื่อ 3 เดือนก่อน และต้นเดือนที่ผ่านมานี้ได้กลับไปที่หลวงพระบางอีกครั้งหนึ่งนับเป็นครั้งที่เท่าไรก็ไม่แน่ใจแล้ว แต่กลับไปแล้วก็พบว่า ชายชาวฝรั่งเศสที่บอกว่าตนเองเป็นกวี ก็ยังคงมานั่งอ่านหนังสือ และเขียนงานอยู่ที่ร้านอาหารริมโขงร้านเดิม  คนขายไคแผ่นคลอดแล้วและกลับมาขายไคเหมือนเดิมแล้ว  แม่เฒ่าม้งยังคงมาขายผ้าอยู่ทุกคืนเหมือนเดิม ในขณะที่เอารูปถ่ายไปให้แกที่ตลาดมืด แม่เฒ่าดีใจที่ได้เห็นรูปตัวเอง และยิ่งรู้ว่าเอามาให้ก็ยิ่งดีใจ และได้หยิบเอากระเป๋าปักใบเล็กขนาดใส่โทรศัพท์มือถือมาให้หนึ่งใบพร้อมรอยยิ้มและบอกด้วยสำเนียงม้งว่า "ขอบใจเด้อ"  ส่วนคุณป้าเจ้าของเกสต์เฮาส์ก็ยังคงนั่งอยู่ที่เก้าอี้ตัวเดิม ในช่วงเย็นและกำลังเลือกข้าวอยู่อย่างพิถีพิถันอยู่เช่นเดิม และยิ้มอย่างพอใจที่ได้รับภาพถ่ายของตนเองที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ตัวนั้น


 


แม้หลวงพระบางจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างหลังจากกลายเป็นเมืองมรดกโลก ทำให้ผู้คนเข้ามาเยอะขึ้น การทำธุรกิจก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงแรม เกสต์เฮาส์ และร้านอาหารที่มองเห็นได้ชัด (อ่าน-"ชีวิตในเมืองมรดกโลก"ได้ในประชาไท) แต่ถึงแม้ผู้คนที่นั่นจะเริ่มสนใจหันมาทำธุรกิจกันมากขึ้น  และเริ่มปฏิบัติตัวแบบคนในเมืองท่องเที่ยวไปบ้างแล้ว เช่น แม่ค้า พ่อค้าบางคนขายของให้นักท่องเที่ยวในราคาที่สูงกว่าคนท้องถิ่น  แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังคงรักษาปฏิบัติตามประเพณี วัฒนธรรมดั้งเดิม ที่สำคัญ น้ำจิตน้ำใจของผู้คนนั้นยังพอหาได้ไม่ยากเย็น


 


แต่มีอีกเรื่องหนึ่งที่ชาวหลวงพระบางก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงนักนั้นก็คือ ความไม่รีบเร่งใดๆ  บรรยากาศในทุกๆ เรื่องดูเหมือนจะสบายๆ จนคิดว่าที่นี่ผู้คนคงจะไม่ต้องทำงานกันมากมาย เพราะไม่เห็นบรรยากาศของการทำงานนัก  บรรยากาศของเมืองนั้นชวนให้พักผ่อนเพียงอย่างเดียว  มีเพื่อนคนหนึ่งที่ได้ไปที่นั่นและเดินเที่ยวไปมาแล้วก็บอกว่า "เป็นเมืองที่เหมาะกับการนั่งอ้อยอิ่งเป็นอย่างยิ่ง" แบบนี้เองที่หลายคนในช่วงพักผ่อนเลือกไปเที่ยวหลวงพระบาง มีหลายคนที่หลงเสน่ห์ของเมืองแล้วไม่ยอมกลับเช่นชายชาวฝรั่งเศสคนนั้น


 


เรื่องความไม่รีบเร่งของชาวหลวงพระบางนั้นได้สอนบางอย่างให้หลังจากที่ไปพบบ่อยเข้า คือ ในที่สุดเราก็เรียนรู้ว่า ยิ่งรีบเร่งก็ยิ่งทำให้ร้อนรุ่ม ในขณะที่การค่อยๆ ใช้เวลาไปกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้นแม้ตอนแรกๆ อาจไม่แน่ใจว่าจะทันการหรือไม่  แต่เอาเข้าจริง คนในเมืองเขาก็มีจังหวะของเขาและทุกเรื่องก็เป็นไปตามจังหวะที่เขาวางไว้ เป็นเพียงเราต่างหากที่ไม่ชินกับจังหวะแบบนั้น เลยมองไปว่า ทำไมคนเขาช่างช้าอืดอาด แต่ก็มาถามตัวเองอีกทีว่า "แล้วทำไมเขาจะต้องรีบ" ก็นั่นสินะ ไม่รู้เหมือนกัน


 


อาจด้วยที่ตั้งของเมืองที่มีสายน้ำและภูเขาโอบล้อม บรรยากาศในเมืองหลวงพระบางนั้นจึงเต็มไปด้วยมุมที่น่านั่งเล่นๆ เย็นใจ และการมีแม่น้ำสองสายคือแม่น้ำโขงกับแม่น้ำคานที่โอบล้อมเมืองอยู่ และนอกเมืองก็ยังมีแม่น้ำอีกหลายสายซึ่งเป็นสาขาแม่น้ำโขง ทำให้ผู้คนในลาวนั้นใช้ชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ มีการทำมาหากินหลายชนิดที่ขึ้นอยู่สายน้ำและความเป็นไปทางธรรมชาติของน้ำ


 


มีอาหารชนิดหนึ่งที่ขึ้นชื่อลือชาของหลวงพระบางที่ถ้าใครไปก็จะต้องถามถึง แต่ใช่ว่าจะมีให้ได้ทุกหน้า นั่นคือ ไคแผ่น ไค หรือสาหร่าย ที่ไหลมาตามสายน้ำในหน้าน้ำลดก็จะไปติดอยู่กับเกาะแก่ง ชาวบ้านก็จะไปเก็บขึ้นมาจากน้ำ ชำระล้างเอาทรายออกไป


 


ขั้นตอนกว่าที่จะมาเป็นไคแผ่นนั้นก็สะท้อนถึงวิถีชีวิตชาวหลวงพระบางได้ไม่น้อย เพราะกระบวนการกว่าจะถึงตอนที่ใส่จานมากินได้นั้นต้องใช้เวลาอย่างมาก  เริ่มจากการรอคอยจังหวะให้ถึงหน้าที่จะมีไค ไหลมาตามสายน้ำ งมลงไปเก็บ ชำระล้างเอาทรายออกให้หมดซึ่งเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างยาก ต่อมา ต้องนำมาตีให้เป็นแผ่นเรียบสนิท ก่อนที่จะนำมาผึ่งแดดให้แห้ง แล้วจึงค่อยนำมาทอดโดยใช้ไฟอ่อนๆ จนได้ไคแผ่นที่กรอบๆ เป็นของกินเล่น หรือเป็นกับแกล้มกับเบียร์ลาวที่เข้ากันเป็นที่สุด


  


ช่วงนี้เป็นหน้าแล้ง น้ำกำลังลง มีไคที่สามารถเก็บได้ทั้งในแม่น้ำคานและแม่น้ำโขง รวมทั้งแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงอีกหลายสาย อย่างเช่น น้ำอูและน้ำบาก หากใครไปหลวงพระบางในยามนี้ก็อย่าลืมสั่งไคแผ่นมาชิมกันดูได้


 


เรื่องไค ที่กลายมาเป็นอาหารที่เรียกว่า ไคแผ่นนี้ แม้ว่าชาวบ้านจะเก็บมันมากินแต่ก็ยังเป็นไปตามสมดุลทางระบบนิเวศน์ฯ  แต่หากในอนาคตมีการสร้างเขื่อนหรือทำลายแก่งหินทำให้น้ำเท่ากันทุกฤดูกาล เพื่อให้เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่จากจีนแล่นผ่านได้  ไคก็คงจะไม่มีให้ชาวบ้านเก็บได้อีก รวมทั้งไม่แน่ใจนักว่าชีวิตของคนจำนวนไม่น้อยที่ยังชีพด้วยสายน้ำสายนี้จะเป็นอย่างไร และไคแผ่นหลวงพระบางจะยังคงเป็นอาหารประจำเมืองอยู่อีกหรือไม่ หรือว่าจะกลายเป็นเพียงความทรงจำไปเท่านั้น


 


หมายเหตุ : สามารถอ่านเรื่องราวของหลวงพระบางได้ใน "ชีวิตในเมืองมรดกโลก" ที่เผยแพร่ไปแล้วที่ประชาไทได้ที่ลิงค์ข้างล่างนี้


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms01&ContentID=1002&SystemModuleKey=SepcialReport&SystemLanguage=Thai


 


 


 


                                      


                                                            ไคแผ่นสำเร็จรูปพร้อมกินได้


 


 


 


                                      


                                                             กว่าจะได้ต้องก้มๆ เงยๆ อยู่นาน


 


 


                                       


                                                        ล้างเอาทรายออกต้องเดินมาที่น้ำแรง


 


 


 


                                      


                                                           ตีให้เป็นแผ่นเรียบ ก่อนจะปรุง


 


 


 


                                       


                                                          นำมาผึ่งแดดให้แห้งก่อนจะนำไปทอด


 


 


                                                                               0 0 0 0