Skip to main content

" ดี" ได้.. ไม่ต้อง " เดี๋ยว" จริงหรือ?

คอลัมน์/ชุมชน


 


ระยะนี้คงไม่มีอะไรจากภาครัฐที่กระตุกหรือกระตุ้น " ต่อมสนใจ " ของลูกเด็กเล็กแดงมากไปกว่าการ์ตูนสัญลักษณ์ หรือ Mascot ขาวกับดำ ๒ ตัว ที่ชื่อ " ดี " และ " เดี๋ยว " ซึ่งปรากฏอยู่ในสื่อชนิดต่าง ๆ อย่างหนาหูหนาตา


ก็ไม่แน่นักว่าเป็นเพราะการ " ทำซ้ำ" และ " ทำให้ง่าย" ตลอดจน " ทำให้ชัด" อย่างเป็น " รูปธรรม" ซึ่งเป็นเสมือนกฎพื้นฐานทางการโฆษณา- ประชาสัมพันธ์ หรือว่าเป็นเพราะ " ท่านนายกฯ" ออกมาเล่นบท " ผู้นำเสนอ" หรือ " พระเอกโฆษณา" เสียเองกันแน่ ที่ทำให้เรื่องนี้กลายเป็น talk of the town แล้วค่อย ๆ แปรไปสู่ " วาระที่คนในกระแสทุกคนเห็นพ้องกันโดยมิได้นัดหมายว่า… ต้องปฏิบัติ" ไปได้ในที่สุด


ทั้งที่ศูนย์คุณธรรมฯ และ พล . ต. จำลอง ศรีเมือง " แม่งานตัวจริงเสียงจริง" เพิ่งถอยร่นไม่เป็นกระบวนออกมาจากการเตรียมงาน " วิสาขบูชาแห่งโลก" เมื่อหยก ๆ นี้เอง


เรียกได้ว่า " มารดำ- มารขาว" หรือ เจ้า " ดี" เจ้า " เดี๋ยว" แท้ ๆ ที่เข้ามาช่วยไว้ได้ในนาทีท้ายสุด


จะอย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ สังคมเล็ก ๆ แคบ ๆ ทางวัฒนธรรมของเราก็มี " ของเล่นใหม่ " ขึ้นมาอีก ๑ หรือ ๒ ตัวแล้ว …


และกระแสแห่งความแปลกใหม่ตลอดจนภาวะที่ความสนใจถูกกระตุ้นเร้าขึ้นมานี้เอง ที่ด้านหนึ่งทำให้เกิดภาพหลอน หรืออุปทานหมู่ ชนิดรู้สึกว่าตนเอง " ไม่ร่วมไม่ได้แล้ว.."


โดยที่อีกด้านหนึ่ง ความฮือฮา หรือความอึกทึกที่ปรากฏ ทำให้เกิดปฏิกิริยาอะไรต่อมิอะไรชนิดที่ " มากมาย" และ " รวดเร็ว" จนเกินกว่า " คนทั่วไป" หรือ " เด็กและเยาวชน" จะใช้สติประกอบปัญญา " ยับยั้งชั่งใจ" หรือแม้แต่จะ " ชะลอไว้ศึกษาและเรียนรู้" เพื่อเพิ่มพูน " วิชชา" ให้กับตนเอง อย่างเพียงพอต่อการ " วางท่าทีที่เหมาะสม" บนพื้นฐานของความเป็น " พุทธศาสนิกชน"


ในทางปฏิบัติ เป็นที่ทราบกันดี ว่าเจ้าตัว Mascot " ขาว- ดำ" ที่ว่ามาข้างต้นนั้น ถูกกำหนดให้เป็นสัญลักษณ์สำคัญของกิจกรรม " ๑ คน ๑ สัจจะ "


ซึ่งว่ากันว่าไอเดียเบื้องต้น มาจากท่านนายกรัฐมนตรีเองโดยตรงเลยทีเดียว… กล่าวคือ ภายใต้ความคิดรวบยอดว่า " ๑ คน ๑ สัจจะ" และ " ทำดีได้ไม่ต้องเดี๋ยว" ตลอดจน " สัจจะอธิษฐาน" ซึ่งขยายความไว้ว่า " อธิษฐานไม่ใช่อ้อนวอนขอ แต่คือการตั้งใจมั่นที่จะทำให้สำเร็จ"


รัฐบาลภายใต้การนำของ ฯพณฯ พ . ต. ท. ทักษิณ ชินวัตร และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม( ศูนย์คุณธรรม) ภายใต้การนำของ พล. ต. จำลอง ศรีเมือง ได้นำเสนอแนวคิดที่ว่ามาแล้วข้างต้นผ่าน Mascot " ดี" และ " เดี๋ยว" ร่วมกับการ " ส่งการ์ดสัจจะอธิษฐาน" ๙ แบบ ( ซึ่งทุกแบบสามารถแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน เพื่อแยกส่งถึงคนที่ตนรัก แบ่งส่วนหนึ่งเก็บไว้กับตัว แล้วส่งส่วนที่เหลือถึงนายกรัฐมนตรี) โดยมีกรอบของเวลากำหนดไว้ว่า จะเชิญชวนให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ได้ร่วมกัน " ตั้งสัจจะอธิษฐาน" และ " ส่งการ์ดสัจจะอธิษฐาน" เป็นการปฏิบัติบูชา เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา และจัดเป็นกิจกรรมต่อเนื่อง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ในวโรกาสมหามงคลที่จะทรงเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ในปี ๒๕๕๐ ที่กำลังจะมาถึง


ในที่นี้คงไม่ต้องกล่าวซ้ำ ว่าการกระทำที่คิดและทำกันข้างต้น เป็นการปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า หรือเป็นการ " ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ" ในวโรกาสอันสำคัญยิ่งทั้ง ๒ กรณีได้อย่างไร เพราะเคยกล่าวถึงในโอกาสอื่น หรือมีท่านอื่นๆ กล่าวถึงไปบ้างแล้ว


แต่อยากจะตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับ เจ้าการ์ตูน " ดี" และ " เดี๋ยว" เอาไว้พอเป็นสังเขป เผื่อผู้รู้และผู้ชำนาญการจะไปคิดต่อ อย่างน้อยก็เพื่อเป็น การเริ่ม " ธรรมสากัจฉา" หรือ " ธรรมวิจัย" ก่อนจะกระจายผลการแลกเปลี่ยนออกไปสู่วงกว้าง เพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นลำดับต่อไป


 



 


ก่อนอื่น ในฐานะชาวพุทธ หลาย ๆ คนคงพอจะทราบว่า " หัวใจพระพุทธศาสนา" ที่สำคัญประการหนึ่ง ก็คือ " โอวาทปฏิโมกข์" [ โอ- วา- ทะ- ปา- ติ- โมก] ซึ่งได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑, ๒๕๐ รูป ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุวนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่า วันมาฆบูชา ( อรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นี้แก่ที่ประชุมสงฆ์ตลอดมา เป็นเวลา ๒๐ พรรษา ก่อนที่จะโปรดให้สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนในเวลาต่อมา),


คาถาโอวาทปาฏิโมกข์ ( โอวาทปาติโมกข์ ก็เขียน) นั้น มีรายละเอียด ดังนี้


สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา


สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ


ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา


นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา


น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี


สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ฯ


อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร


มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ


อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ



ซึ่งโดยอรรถะและพยัญชนะแล้ว หมายถึง ารไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑ การบำเพ็ญแต่ความดี ๑ การทำจิตต์ของตนให้ผ่องใส ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย


ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง , พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า นิพพานเป็นบรมธรรม, ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต, ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ


การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในปาฏิโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑ ที่นั่งนอนอันสงัด ๑ ความเพียรในอธิจิตต์ ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย


อย่างไรก็ตาม ที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ ความในคาถาแรก ที่ว่า ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใสหรือที่บางท่านแปลว่า " ละชั่ว ทำดี ทำจิตให้ผ่องแผ้ว" นั่นเอง


 




ดูเหมือนว่า ศูนย์คุณธรรมฯ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับแคมเปญนี้ จะพยายามทำให้ " คนทั่วไป" เข้าใจเอาง่าย ๆ ว่า " ความชั่ว" หรือ " เจ้ามารดำ" ที่ตั้งชื่อให้ว่า " เดี๋ยว" จะเป็นสาเหตุใหญ่ ให้ผู้คน " ไม่ยอมทำดี" หรือไม่ยอมให้ mascot สีขาว ชื่อเจ้า " ดี" ได้แสดงบทบาท การรณรงค์จึงเชิญชวนให้ทุกคนปฏิเสธ ไม่ต้องฟังเสียงทัก ชักชวน หรือห้ามปราม ของเจ้า " มารดำ" ชื่อ " เดี๋ยว" อย่างเด็ดขาด ด้วยการหันมาตั้งสัจจะและอธิษฐานให้เป็นรูปธรรม หาไม่แล้ว " เจ้าดี" จะไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้


นี่ออกจะเป็นการ " ลดทอน" หรือ " สรุปความ" อย่าง " แยกส่วนแบ่งซอย" ที่อันตรายต่อการรับรู้ หรือสร้างความสับสนต่อกระบวนการเรียนรู้ในทางพุทธศาสนาอยู่มิใช่น้อย


ประการแรก ที่ต้องกล่าวถึงก็คือ ใช่หรือไม่ว่า นี่เป็นการชี้ช่องให้เกิดความเข้าใจไปในทางที่ง่ายต่อการสรุปความแบบ " เป็นตัวเป็นตน" หรือเสมือนว่า " มีอะไรบางอย่างที่เป็น ตัว ๆ คอยบงการให้คนทำชั่ว- ทำดี" โดยปฏิเสธ หรือมิได้ไยดีต่อกฏอิทัปปัจจยตา- ปฏิจจสมุปบาท ที่ว่าทั้งเหตุและปัจจัยล้วนมีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน ทั้งฝ่ายเหตุ และฝ่ายผล ตลอดจนที่เนื่องกันทั้งสองฝ่าย อย่างเป็นกระบวนการ


ประการสอง ในทางพระพุทธศาสนานั้น ไม่ได้มุ่งเน้นไปในลักษณะเทวนิยม ว่ามี " พระเจ้า" อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับ " มาร" หรือยอมรับว่ามี " เทวดาฝ่ายดี" และ " ซาตานฝ่ายชั่ว" คอยกำกับความเป็นไปของมนุษย์ หากชาวพุทธถือหลัก " กรรม" และ " กฏแห่งกรรม" เป็นที่ตั้ง ดังที่ว่า.. ทำดีย่อมดี และทำชั่วก็ย่อมชั่ว ถ้าประสงค์จะได้รับผลกรรมที่เป็นกุศล ก็จำเป็นต้องสร้างกุศลกรรมให้เป็นเหตุ เช่นนี้เป็นต้น


ประการต่อมา โดยหลักพุทธธรรม การเกิด " สติ" " อนุสติ" หรือความระลึกได้ ความไม่เผลอว่าตนกำลังจะกระทำ หรือไม่กระทำสิ่งใด ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งนั้น หาใช่เป็นการชี้แนะของเจ้า " เดี๋ยว" หรือ " มารดำ" เพียงประการเดียวไม่ หากอาจหมายถึง " ความยับยั้งชั่งใจ" มิให้ " หลงดี" หรือ " ติดดี" ที่คอยเตือนให้ " รู้จักประมาณ" แม้ในการ " ทำดี" ให้ทำตามความเหมาะควร มิใช่มุ่งทำดีจนเกินกำลัง หรือ " หลงดี" จนละเลยข้อธรรมอื่นๆ หรือ " ติดดี" จนเป็นเหตุให้ประมาทซึ่งเป็นเบื้องต้นแห่งทุกข์ในเบื้องหน้า และสามารก่อความเดือดร้อนขึ้นได้ในภายหลัง


กล่าวโดยสรุปก็คือ " เสียงแห่งธรรม" หรือ แม้แต่ " อุปสมานุสติ" ที่ชักชวนให้ระลึกถึงธรรมอันเป็นที่สงบระงับกิเลสและความทุกข์ ( คือ นิพพาน) ก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน ไม่เช่นนั้นแล้ว กรณีการส่งเสริมให้ทำบุญ( ชนิดหวังผล) โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการถวายทาน จนทำให้ผู้หลงผิดถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว ดังที่เคยเป็นข่าวอื้อฉาวของบางสำนัก หรือบางสายปฏิบัติ ก็จะหวนกลับมาเกิดขึ้นอีก เพียงเพราะ รัฐหรือองค์กรของรัฐเพิ่มเชื้อไฟ หันไปชักชวนให้สังคมละทิ้งสติสัมปชัญญะ เพียงเพราะคิดกันง่ายๆ ว่านั่นเป็นเสียงยับยั้ง หรือเสียงขัดขวางจากมารดำชื่อ " เดี๋ยว" ไปเสียหมด


นี่เป็นเพียงข้อสังเกตบางประการเท่านั้น ยังมิได้ขยายความให้เห็นถึงข้อบกพร่องของการหยิบฉวยข้อธรรมอันละเอียดประณีต มา " ทำให้" คนทั่วไปมองเห็น หรือรู้สึก ตลอดจนเข้าใจเอาว่า ธรรมะเป็นสิ่งตื้นเขิน หรือเป็นอะไรที่ใครจะทำ หรือจะปฏิบัติอย่างไร ก็สามารถทำได้ " ตามอำเภอใจ" โดยไม่จำเป็นต้องหาข้อยุติที่เหมาะควร กระทั่งดูเหมือนว่า " ธรรมวินัย" ของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเรื่องสามัญหรือสามานย์ ไปในที่สุด





สิ่งหนึ่งที่ชาวพุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง " คน" หรือ " องค์กรของรัฐ" ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านพระพุทธศาสนาจะต้องสำเหนียก หรือตระหนักให้มากไว้ ก็คือวิถีแห่งการศึกษาและปฏิบัติธรรม หรือไตรสิกขา ที่ประกอบไปด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา นั้นด้านหนึ่งก็เป็นไวพจน์กับ มรรค ซึ่งว่าโดยองค์ประกอบแล้ว ก็คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ซึ่งเรียกเต็มๆ ว่า " อริยอัฏฐังคิกมรรค" ที่แปลว่า " ทางมีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ" หรือที่เรียกกันโดยสามัญว่า มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งมีความละเอียดอ่อน และความเป็นองค์รวมควบคู่กันไป จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีและต้องใช้โยนิโสมนสิการเป็นบาทฐานในการเกี่ยวข้อง หรือในการที่จะหยิบฉวยมา " กล่าวถึง" และ " ใช้งาน" ให้มากเข้าไว้ หาไม่แล้ว นอกจากจะมิได้ส่งเสริม หรือทำนุบำรุง ตลอดจนอุปถัมภ์ค้ำจุนอย่างที่น่าจะพึงมี ก็กลับจะเป็นการทำลายไปเสียด้วยความมักง่าย หรือการใช้สติปัญญาไม่เพียงพอ ทั้งต่อคุณค่า และความดีงาม ที่พระบรมศาสดาประทานไว้ให้


หากจะถือว่ากรณี " ๑ คน ๑ สัจจะ" หรือ กิจกรรม " สัจจะอธิษฐาน" เป็นงานเริ่มต้น ของการ " เสนอตัว" ในภาพกว้างของ " ศูนย์คุณธรรม" โดยมี " ดี" และ " เดี๋ยว" เป็นสัญลักษณ์ รัฐบาลโดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ. ต. ท. ทักษิณ ชินวัตร ก็คงต้องตั้งอกตั้งใจ " ทำการบ้าน" ให้มาก และให้หนักยิ่งขึ้น เพราะพระพุทธศาสนานั้นเป็น " ของสูง" และ " ของสำคัญ" โดยเนื้อหาและสาระ อีกทั้งยังเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับหลายฝ่าย มิใช่ " ของเล่น" ที่ใครจะหยิบฉวยมา " โฆษณาชวนเชื่อ" หรือ " หาเสียง" กันโดยง่าย ด้วยความใจเร็ว หรือด่วนได้ เช่นที่เคยกระทำกับสิ่งอื่น อันถือเป็นทักษะ ความถนัด หรือวิสัยคุ้นชินของ " นักการตลาด" หรือ " พ่อค้าคนกลาง- นักโฆษณาชวนเชื่อ" จะเคยมีหรือเคยกระทำมา


และจะว่าไปแล้ว หากกรอบคิด ยุทธศาสตร์ หรือโครงสร้างทางสังคม ทั้งของภาครัฐและฝ่ายทุน ( ซึ่งดูเหมือนจะรวมตัวกันเป็น " รัฐบาล" ไปแล้วอย่างพร้อมสรรพ) ยังประกอบไปด้วยความโลภ โกรธ และหลง ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้คนมัวเมาในเงินทอง และผลประโยชน์ในรูปของอามิสสินจ้าง หรือรางวัล มากกว่าแนวทางที่กล่าวไว้ในข้อธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็ป่วยการที่จะแสวงหาแนวคิด " คล้ายธรรมะ" ชนิดง่าย ๆ พื้น ๆ ขึ้นมาเป็นน้ำตาล " ฉาบทา" ยาพิษที่ตนเองถ่ายทิ้ง หรือหว่านโปรยเอาไว้ในสังคม


จริงอยู่ ว่าการ " ทำดี" นั้น หาก " ดีจริง" และประกอบไปด้วย " สัมมาทิฏฐิ" ก็มิใช่เรื่องที่จะต้องมา " รอ" หรือมา " เดี๋ยว" กันให้เสียเวลา


ปัญหาคงอยู่ที่ว่า หาก " นายกรัฐมนตรีและคณะ" ไม่สามารถเพิ่มพูน " สติ ปัญญา สัมปชัญญะ และสมาธิ" ให้บริบูรณ์ กระทั่งก้าวพ้น " บ่วง" หรือ " กับดัก" แห่ง โลภ โกรธ หลง ของความเป็น " นายทุน" หรือ " ฝ่ายทุน" ผู้มี " อำนาจรัฐ" ไปได้แล้ว การรอสักประเดี๋ยว หรือการรอสักครู่ ก็อาจมีคุณูปการแก่ผู้คนเป็นอันมาก


กล่าวคือ จะเป็นการ " ชะลอ" ความตกทุกข์ได้ยากในบั้นปลายของพวกเขา( และเธอ) ทั้งหลายไว้ได้สักนิดก็ยังดี


ไหน ๆ ประชาชีก็จะสิ้นเนื้อประดาตัวกันในที่สุดอยู่แล้ว ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จะกรุณาลดหย่อนการเร่งรัด หรือสลัดการผลักไสไล่ส่ง ให้การตกลงไปสู่ห้วงเหวแห่ง " มิจฉาทิฏฐิ " ชะลอตัวลงเสียสักพัก หรือช้าลงสักครู่


 


ก็จะเป็นไรไป