Skip to main content

ดอกไม้ให้น้องปาน:ทัศนีย์ รุ่งเรือง

คอลัมน์/ชุมชน

วันนี้(๒๑ มีนาคม ๒๕๔๙) เป็นวันสุดท้ายของการทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาชุดแรก ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ดิฉันยังนั่งอยู่ที่วุฒิสภาในเวลา ๖ โมงเย็น หลังจากร่วมเวทีสาธารณะของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในช่วงเช้า  กับคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ในช่วงบ่าย เพื่อรายงานผลการตรวจสอบนโยบายของรัฐ ในช่วง ๖ ปี ของอายุวุฒิสภา ต่อประชาชน ทั้งผู้ที่มาร่วมเวทีและผู้ที่รับฟังการถ่ายทอดทางวิทยุรัฐสภา ทั่วประเทศ


 


๖ ปีผ่านไปอย่างรวดเร็ว ข้อร้องเรียนหลายเรื่องที่กรรมาธิการตรวจสอบ ให้ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลไว้แล้ว แต่ไม่มีผลคืบหน้า ได้แต่ทำรายงานผลการตรวจสอบไว้ ถ้าสมาชิกวุฒิสภารุ่นใหม่ ให้ความสำคัญกับปัญหาของประชาชน จะได้นำมาดำเนินการใหม่


 


แต่แนวทางที่สำคัญกว่า คือ การเดินหน้าของขบวนการภาคประชาชน ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบหน่วยงานของรัฐอย่างเข้มแข็ง ด้วยองค์ความรู้ ข้อมูลทางวิชาการ ข้อกฎหมาย ที่หนักแน่น ตรงประเด็น  โดยประสานเครือข่ายกัลยาณมิตร สร้างพลังใจ พลังปัญญา ใช้สิทธิของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด


 


                                      



 


น้องปาน : ทัศนีย์  รุ่งเรือง คือตัวอย่างที่งดงาม กลไกเล็ก ๆ ในสังคม ผู้ยืนหยัดทำหน้าที่พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ (มอ.) เมื่อเรียนจบเป็นบัณฑิตจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาชีวะเคมี ก็ตัดสินใจเป็นบัณฑิตวิทยาศาสตร์ที่ "ขบถ" หันเหตัวเองมาทำงานกับชาวประมงพื้นบ้าน ร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาให้ชาวประมงพื้นบ้านตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๑  แล้วมาร่วมกับชาวบ้านที่คัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย - มาเลเซียอย่างต่อเนื่อง


 


เสียดายที่น้องปานต้องมาพรากจากขบวนการภาคประชาชนไปก่อน อย่างปัจจุบันทันด่วน ด้วยอุบัติเหตุรถทัวร์คว่ำที่ท่าแซะ เมื่อตีสองของวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๙ หลังจากร่วมชุมนุมที่หน้าทำเนียบนับเป็นเรื่องเศร้าสลดที่ไม่เป็นข่าวในสื่อกระแสหลัก


 


                                              


                                           


 


น้องปานจ๋า พี่ได้ร่วมทำหน้าที่ตรวจสอบนโยบายรัฐต่อโครงการโรงแยกท่อก๊าซ และท่อส่งก๊าซไทย – มาเลเซีย ในฐานะคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม (โดย สว.พนัส ทัศนียานนท์ เป็นประธาน) ตั้งแต่ปีแรกของการทำงานในวุฒิสภา ซึ่งคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมได้รายงานผลการตรวจสอบพร้อมข้อเสนอต่อรัฐบาล ต่อที่ประชุมใหญ่วุฒิสภา ได้รับมติเห็นชอบให้เสนอรัฐบาลชะลอโครงการนี้ไว้ก่อน แล้วทบทวนว่าสัญญาระหว่างไทย – มาเลย์ เป็นธรรมต่อทั้งสองประเทศหรือไม่ ทำไมราคาแก๊สจากบ่อแก๊สของไทยเอง ต้องมาใช้มาตรฐานราคาตลาดที่สิงคโปร์ ทำไมไทยต้องจ่ายค่าเสียหาย (TAKE OF PAY) หากไม่ได้ใช้แก๊สปริมาณ มหาศาลภายในระยะเวลาที่ระบุไว้  รัฐบาลจะกำหนดให้พื้นที่ภาคใต้เป็นเขตอุตสาหกรรมหรือจึงจะมีประสิทธิภาพในการถลุงใช้ก๊าซได้ดั่งใจ  ที่ตั้งโรงแยกก๊าซและแนวท่อก๊าซเหมาะสมที่สุดแล้วหรือ  ได้ศึกษาผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน ศาสนา วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมรอบด้านแล้วหรือยัง


 


ชาวบ้านร่วมกับนักวิชาการที่ห่วงใยประเทศชาติ และองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งได้ศึกษารายละเอียดของสัญญาร่วมไทย – มาเลเซีย และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งป่าพรุ ป่าสันทราย ชายหาด ทรัพยากรทางทะเล อันเป็นฐานความมั่นคงของชีวิตของประชาชนในอำเภอจะนะ และพื้นที่ใกล้เคียง ได้ทักท้วง คัดค้าน ขอโอกาสชี้แจงต่อรัฐบาล ตั้งแต่สมัยนายกชวน จนถึงนายกทักษิณ แต่ไม่มีการตอบสนอง มีแต่เดินหน้าสัญญาที่พาให้ประชาชนและประเทศชาติเสียเปรียบ


 


ความเคลื่อนไหวของนักวิชาการ ๑,๔๐๐ กว่าคน ที่เข้าชื่อคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย – มาเลเซีย พร้อมเหตุผลที่หนักแน่นเป็นความพยายามอีกครั้ง เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ สื่อมวลชนพากันช่วยประโคมข่าว แต่ก็ไม่เป็นผลอีก


 


ลานหอยเสียบจึงเป็นฐานที่มั่นของชาวบ้าน เป็นความหวัง เป็นเวทีเรียนรู้ที่คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน (ชุดแรกที่ สว.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นประธาน) คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (สว.นิรันดร์  พิทักษ์วัชระ เป็นประธาน) และคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ (สว.ไกรศักดิ์  ชุณหะวัน เป็นประธาน) ได้ลงไปพบพี่น้องหลายครั้ง


 


จุดมุ่งหมายของชาวบ้านผู้คัดค้านโครงการท่อก๊าซ ฯ คือ วิถีชีวิตที่สงบสุข พอเพียง พ่อแม่ลูกหลาน ปู่ย่า ตายาย อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข พึ่งพาธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ด้วยอาชีพประมงพื้นบ้าน ที่ใช้เครื่องมือเรียบง่าย จับสัตว์น้ำแค่พอขายเลี้ยงครอบครัว ด้วยอาชีพเลี้ยงนกเขาชวา ที่นำรายได้มาสู่อำเภอจะนะปีละ ๒๐๐ – ๓๐๐ ล้านบาท และอาชีพเกษตร ทำนา ปลูกผลไม้


 


หลักศาสนธรรมของศาสนาอิสลาม หล่อหลอมให้พี่น้องต่อสู้ด้วยสันติวิธีตลอดมา ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า หญิง ชาย ผลัดเวียนกันมายึดหัวหาดลานหอยเสียบไว้ เพื่อให้เป็นลานแห่งปัญญา การเรียนรู้ สื่อสารสู่สังคมใหญ่ ให้ชาวไทย ชาวโลก ได้เห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ


 


ผืนทรายแห่งลานหอยเสียบ เสียงคลื่นลม ดงไม้ที่ให้ร่มเงา สีหน้าแห่งความหวังของทุกคน ข้าวปลาที่กลุ่มแม่บ้านหุงต้มด้วยหัวใจ นำมาให้กรรมาธิการกิน อยู่ในความทรงจำของพี่แดงเสมอ


 


การปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลต่อการชุมนุมโดยสงบของกลุ่มพี่น้อง เมื่อวันที่๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๕ ที่โรงแรม เจ บี หาดใหญ่ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำลายกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการตัดสินใจโครงการใหญ่ที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิต สังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้คณะกรรมาธิการต้องลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง


 


 


                                      


 


น้องปานเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมคุมขัง พร้อมกับแก็ส (ศุภวรรณ) โดยตำรวจได้ยึดรถยนต์ เครื่องเสียง กล้องถ่ายรูป – วีดีโอ รถมอเตอร์ไซค์ เงินสด ฯลฯ ของชาวบ้านไปเป็นของกลาง แต่ก็ยังต่อสู้ด้วยจิตใจที่มั่นคงตลอดมา


 


 "กับเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมากับตัวเองนั้น ไม่ได้รู้สึกกลัวอะไรเพราะชาวบ้านเขาไม่ได้เป็นผู้เริ่ม ชาวบ้านต่อสู้เพราะเป็นความชอบธรรมของเขา เรารู้สึกเพียงว่าสิ่งที่เผชิญอยู่นั้น คือ อิทธิพลมืด กลุ่มทุน เรามาทำอะไรขัดกับผลประโยชน์ของเขาหรือเปล่า เราต้องระวังตัว เพราะเราก็ถูกข่มขู่ ถูกติดตาม ขนาดเรายังโดนขนาดนี้ แล้วชาวบ้านไม่หนักกว่านี้หรือ


 


เหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปลายปี ๒๕๔๕ ตัวเองโดนคดีด้วย ยังต้องขึ้นศาลจนถึงทุกวันนี้ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐคิดยังไงกันแน่ เราเดินร่วมกับชาวบ้านอย่างสันติวิธี เห็นพี่ถูกลากออกมา ก็เข้าไปบันทึกภาพไว้ แต่ก็โดนจับโดยที่ตัวเองไม่รู้ว่าทำผิดอะไร กล้องวีดีโอที่ซื้อมาก็ถูกตำรวจ "ปล้น" เอาไปด้วย ทั้งที่เขาเอาแต่ม้วนไปก็ได้ ไม่ต้องเอากล้องไป แล้วบันทึกว่าเป็น "ของกลาง" ที่เลวร้ายกว่าคือ ชาวบ้านถูกตี ถูกออกหมายจับ ถูกข่มขู่


 


                                     


 


เวลาทำงานกับชาวบ้านเราต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับจารีตประเพณีของเขา ทำงานร่วมกับผู้หญิงในหมู่บ้าน เพราะถ้าผู้หญิงเข้าใจแล้ว เขาจะทุ่มสุดตัว สุดหัวใจเลย ในวงครอบครัว ถ้าแม่เข้าใจแล้ว กับพ่อจะไม่มีปัญหาเลย แม่สามารถคุยกับพ่อได้ เราทำงานกับกลุ่มเยาวชนด้วย ช่วยคิดกิจกรรมกับเขา จัดเวทีพูดคุย พาไปดูงานนอกสถานที่ ประสานนักวิชาการมาให้ความรู้ ต่อสู้ร่วมกัน สู้เท่าๆกันมาโดยตลอด เพียงแต่บริบททางวัฒนธรรมศาสนาที่ต่างกัน ที่เรายังทำงานนี้อยู่เพราะเชื่อว่า โครงการท่อก๊าซไทย – มาเลเซีย เป็นเพียงปัญหาหนึ่งที่เข้ามากระทบเขา แต่ต่อไปจะมีอีกหลายๆปัญหาที่เข้ามา ทำอย่างไรจะช่วยให้ชุมชนอยู่ได้อย่างเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ด้วย


 


แบบนี้แหละที่ชีวิตได้เรียนรู้ตัวเอง ได้รู้จักตัวตนของตัวเอง มองตัวเองมากขึ้น ได้ค้นพบว่าตัวเองอยู่ตรงไหนก็ได้ สามารถเป็นครูได้ทั้งนั้น อยู่กับชาวบ้านก็เรียนรู้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ โดยไม่ต้องเป็นครูในวิชาชีพ"


 


ข้อความบางส่วนที่น้องปานได้ให้สัมภาษณ์ทีมงานไทยเอ็นจีโอไว้ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๗ น่าจะเป็นแบบอย่างให้วัยรุ่นในยุคนี้ได้ศึกษาเรียนรู้ ว่าจะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อมวลมนุษยชาติ และธรรมชาติได้อย่างไร พี่ขอแสดงความชื่นชมอย่างยิ่ง


 


ขอขอบคุณพ่อแม่ที่ได้หล่อเลี้ยง ฟูมฟักน้องปานให้เป็นสมบัติที่มีคุณค่าของสังคม แม้จะเป็นเกษตรกรคนรากหญ้าที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย แต่พ่อแม่ก็หนุนช่วยให้น้องปานได้ทำงานเพื่อสังคมอย่างราบรื่นตลอดมา


 


งานสวดอภิธรรมศพของน้องปานจัดที่บ้านของน้องปาน คือ บ้านไร่ตก หมู่ที่ ๔ ตำบลตะโหมด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ในวันศุกร์ที่ ๒๔ และ เสาร์ ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๙ เวลา ๑๙.๐๐ น. โดยคืนวันที่ ๒๕ จะมีเวทีเสวนาและงานทางวัฒนธรรม เพื่อระลึกถึงความดีงามของน้องปาน แล้วเคลื่อนศพไปยังฌาปนสถาน วันอาทิตย์ที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๙ เวลา ๑๒.๐๐ น.


 


ขอเชิญชวนญาติมิตรไปร่วมงาน เพื่อระลึกถึงน้องปาน ทัศนีย์  รุ่งเรือง แบบอย่างของชีวิตที่งดงามในสังคม ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณศุภวรรณ ชนะสงคราม โทร.๐-๑๕๙๙- ๘๑๑๐ และคุณบรรจง นะแส โทร. ๐–๑๔๗๙-๕๒๑๓


 


ขอให้วิญญาณของน้องปานสิงสถิตย์อยู่ในสุคติภูมิตลอดไป พี่ศรัทธาน้องปานเสมอ


 


พี่แดง


เตือนใจ  (กุญชร ณ อยุธยา) ดีเทศน์


 


                       



 


 


หมายเหตุ: เอื้อเฟื้อภาพโดยบางกอกโพสต์


                                                                            0 0 0