Skip to main content

พลังของสันติวิธี

คอลัมน์/ชุมชน


ประวัติศาสตร์ทั่วทุกมุมโลกเต็มไปด้วยเรื่องราวความสำเร็จของสันติวิธี   สันติวิธีประสบผลสำเร็จได้มิใช่เพราะคู่กรณีเกิดใจอ่อน  มีเมตตาสงสารผู้ใช้สันติวิธี หรือเพราะเป็นสุภาพชน  แม้ว่ากรณีเช่นนั้นจะเคยปรากฏอยู่บ้าง  แต่นั่นมิใช่ปัจจัยชี้ขาดหรือเป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้สันติวิธีบรรลุผล  แท้ที่จริงแล้วความสำเร็จของสันติวิธีเกิดจากพลังในตัวที่ส่งผลต่อคู่กรณี หาได้เกิดจากการริเริ่มหรือความสมัครใจของคู่กรณีเป็นสำคัญ แต่เป็นเพราะคู่กรณีมิอาจฝืนทานพลังของสันติวิธีต่างหาก


 


พลังของสันติวิธี มีสองประการคือ


 


๑.พลังทางการเมือง


พลังของสันติวิธีอยู่บนพื้นฐานความจริงที่ว่า อำนาจเกิดจากการยอมรับและยินยอมเชื่อฟัง จะโดยสมัครใจหรือจำยอมก็แล้วแต่   บุคคลหรือระบอบใดจะมีอำนาจได้ก็เพราะได้รับการยอมรับและเชื่อฟังจากผู้อื่น    เช่น ยอมทำตามคำสั่ง  ยอมปฏิบัติตามระเบียบ ยอมจ่ายภาษี เป็นต้น  กล่าวอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ ผู้ปกครองมีอำนาจได้ก็เพราะประชาชนเชื่อฟัง  แม่ทัพนายกองมีอำนาจได้ก็เพราะทหารชั้นผู้น้อยเชื่อฟัง   เจ้าของโรงงานมีอำนาจได้ก็เพราะกรรมกรเชื่อฟัง แต่เมื่อใดก็ตามที่การยินยอมเชื่อฟังนั้นลดน้อยถอยลงหรือปลาสนาการไป  อำนาจของบุคคลหรือระบอบเหล่านั้นก็หายไปด้วย  ไม่ว่าอำนาจทางเศรษฐกิจ  การเมือง และการทหาร


 


สันติวิธีมีพลังตรงที่มันสามารถลดทอนอำนาจของบุคคลหรือระบอบที่ทรงอำนาจได้ โดยเพียงแต่ประชาชนเพิกถอนการยินยอมเชื่อฟังหรือปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือแก่บุคคลหรือระบอบเหล่านั้น (ที่เรียกว่า "การแข็งขืนแบบอารยะ")  หากการเพิกถอนนั้นเป็นไปอย่างกว้างขวาง  บุคคลหรือระบอบเหล่านั้นจะสูญเสียอำนาจอย่างฮวบฮาบ จนไม่อาจดำรงอยู่ได้อีกต่อไป


 


ผู้ใช้สันติวิธีอาจเป็นฝ่ายปฏิเสธที่จะยินยอมเชื่อฟังโดยลำพังฝ่ายเดียว หรือกระตุ้นให้ฝ่ายที่สามร่วมมือในการเพิกถอนการยินยอมเชื่อฟังด้วยก็ได้  ฝ่ายที่สามอาจได้แก่พลทหารในกองทัพที่ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้มาปราบปรามประชาชนที่ใช้สันติวิธีก็ได้  ตัวอย่างเด่นชัดได้แก่กรณีต่อต้านพระเจ้าซาร์ในรัสเซีย (ปี ๒๔๔๘)  การคัดค้านรัฐประหารในเยอรมนี (๒๔๖๓)  ในอัลจีเรีย (๒๕๐๑) การต่อต้านรัสเซียในเชโกสโลวะเกีย (๒๕๑๑) การขับไล่มาร์คอส (๒๕๒๙) และการโค่นล้มเผด็จการในยูโกสลาเวีย (๒๕๔๓)


 


นอกจากการลดทอนอำนาจของคู่กรณีแล้ว  สันติวิธียังมีพลังตรงที่มันสามารถเพิ่มพูนอำนาจให้แก่ฝ่ายที่ใช้สันติวิธีด้วย   กล่าวคือทำให้ประชาชนทั่วไปเปลี่ยนจากการยินยอมเชื่อฟังผู้มีอำนาจที่เป็นคู่กรณี (ซึ่งอาจเป็นผู้ปกครอง นายทุน หรือผู้มีอิทธิพล) มาเป็นการให้ความยอมรับแก่กลุ่มคนที่ใช้สันติวิธี   จนสามารถผลักดันให้ผู้มีอำนาจต้องโอนอ่อนผ่อนตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้สันติวิธี   ดังกรณีขบวนการเรียกร้องเอกราชของคานธี  ขบวนการเพื่อสิทธิของคนผิวดำนำโดยมาร์ติน ลูเธอร์ คิง  หรือขบวนการโซลิดาริตี้ในโปแลนด์           


 


๒.พลังทางใจ


พลังทางการเมืองของสันติวิธีดังกล่าวมาเป็นพลังที่เกิดจากการแสดงออกในเชิงปฏิเสธ  (เช่น การปฏิเสธที่จะเชื่อฟัง และปฏิเสธที่จะใช้ความรุนแรง)  แต่ยังมีพลังอีกประการหนึ่งที่เกิดจากคุณภาพภายในเชิงบวกของผู้ใช้สันติวิธี  ซึ่งนอกจากจะไม่มุ่งร้ายแล้ว ยังมีความปรารถนาดีต่อคู่กรณี  รวมทั้งยึดมั่นในสัจจะและความดีงาม    นี้คือพลังทางใจที่มีผลต่อพฤติกรรมของผู้อื่น และสามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้


 


สำหรับคนเป็นอันมาก สันติวิธีมิใช่เป็นเพียงยุทธวิธีในการต่อสู้กับผู้มีอำนาจ  หากเป็นการกระทำที่ออกมาจากชีวิตด้วยจิตใจที่ใฝ่อหิงสธรรม คือการไม่คิดเบียดเบียนมุ่งร้ายและไม่แบ่งฝ่าย  กล่าวคือมิได้เห็นคู่กรณีเป็นฝ่ายตรงข้ามหรือเป็นปรปักษ์ แต่เป็นเพื่อนร่วมชาติ เพื่อนร่วมโลก และที่สำคัญคือเป็นเพื่อนมนุษย์ซึ่งรักสุขเกลียดทุกข์  มีรอยยิ้มและน้ำตาเหมือนเรา    จุดร่วมระหว่างเรากับเขานั้นมีมากยิ่งกว่าจุดต่าง


 


สันติวิธีในแง่นี้จึงมิได้มีความหมายโดยนัยลบ คือการไม่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น แต่ยังมีนัยบวกคือการตั้งมั่นในความรักและความปรารถนาดี  แรงบันดาลใจอีกประการหนึ่งคือความใฝ่ในสัจจะ  ความรักในสัจจะทำให้บุคคลเข้าหาผู้อื่นอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน ปรารถนาที่จะแสวงหาสัจจะแม้กระทั่งในหมู่คู่กรณี พร้อมที่จะเปิดใจรับฟังเขา  ขณะเดียวกันก็กล้าหาญพอที่จะยอมทุกข์ทรมานเพื่อยืนหยัดในสัจจะของตนให้อีกฝ่ายได้รับรู้  และถอนตนออกจากความเท็จและอสัตย์ที่ปกคลุมใจ


 


ใจที่ปรารถนาดี ใบหน้าที่แย้มยิ้ม ริมฝีปากที่อำนวยพรด้วยเสียงเพลงและบทสวด  มือที่หยิบยื่นดอกไม้และผ้าเย็นให้ ตลอดจนการยืนหยัดในประเด็นที่ชอบธรรม มั่นคงในสัจจะ ย่อมมีผลโน้มน้าวชักชวนให้ผู้คนแวดล้อมที่เคยอยู่กลาง ๆ หันมาเป็นมิตร และเข้าร่วมสนับสนุนปฏิบัติการสันติวิธีด้วย


 


ที่สำคัญก็คือใจที่เปี่ยมด้วยคุณภาพดังกล่าวยังมีผลทางใจต่อฝ่ายคู่กรณี   ทั้งนี้เพราะกิริยาภายนอกและภาวะภายในที่เป็นมิตรดังกล่าว   ถึงที่สุดแล้วย่อมสามารถทำลายอคติและความรู้สึกในทางร้ายที่คู่กรณีมีต่อผู้ใช้สันติวิธี  สามารถซึมผ่านเกราะกำบังชั้นนอกที่ฉาบทาด้วยความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ เกลียดชัง  เข้าสู่จิตส่วนลึก ซึ่งกอปรไปด้วยความรัก ความเมตตา และสามารถปลุกเร้าจิตส่วนดีนี้ให้มีพลังเอาชนะจิตชั้นนอกอันหยาบกระด้างได้  เกิดความรู้สึกเป็นมิตรเข้ามาแทนที่


 


ความเปลี่ยนแปลงทางด้านความรู้สึกนึกคิดดังกล่าวมักเกิดขึ้นเป็นพิเศษกับฝ่ายคู่กรณี (เช่น ทหารหรือตำรวจ) ที่ถูกส่งให้มาประจันหน้ากับผู้ที่ใช้สันติวิธี  การเผชิญหน้าดังกล่าวเปิดโอกาสให้ความสัมพันธ์ส่วนตัวได้พัฒนาขึ้นมาระหว่างบุคคลสองฝ่าย   ผลก็คือเมื่อผู้มีอำนาจสั่งให้ปราบปรามผู้ใช้สันติวิธี  ทหารหรือตำรวจอาจไม่ยินยอมที่จะปฏิบัติตาม ซึ่งทำให้คำสั่งของผู้มีอำนาจเป็นหมันไป ดังกรณีที่เกิดกับมาร์คอสเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว


 


อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งที่การปราบปรามด้วยความรุนแรงได้เกิดขึ้น จนมีผู้บาดเจ็บล้มตาย แต่นั่นมิอาจถือได้ว่าเป็นความล้มเหลวของสันติวิธี      ตรงกันข้ามกลับเป็นจุดเริ่มต้นของความพ่ายแพ้ของผู้มีอำนาจ  เพราะการใช้ความรุนแรงกับประชาชนผู้ไร้อาวุธ  ย่อมทำให้ผู้ปราบปรามสูญเสียความชอบธรรมในสายตาของคนทั่วไป   ยิ่งผู้ถูกกระทำนั้นยังยืนหยัดมั่นคงในสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้  ก็ยิ่งทำให้ผู้คนที่ยังเป็นกลางหันไปให้ความเห็นใจแก่ผู้ถูกปราบปราม  ผลก็คือความรุนแรงนั้นเองย้อนกลับไปบั่นทอนอำนาจของผู้ใช้อาวุธ และกลายเป็นภัยต่อผู้มีอำนาจ ดังคานธีได้เขียนว่า "อำนาจของทรราชจะวกกลับมาที่ตัวเขาเองเมื่อไม่พบกับการตอบโต้  เช่นเดียวกับเมื่อสะบัดแขนฟาดกับอากาศอย่างรุนแรง  ผลคือกระดูกเคลื่อนและปวดร้าว"


 


นี้คือเหตุผลที่ระบอบถนอม-ประภาศ ต้องล้มพังครืนหลังจากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา   เช่นเดียวกับรัฐบาลของพลเอกสุจินดาจากเหตุการณ์พฤษภาหฤโหด   


 


กล่าวโดยสรุป   พลังสองประเภทของสันติวิธีสามารถเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจนได้ดังนี้


 


พลังทางการเมืองเกิดจากการเพิกถอนการยินยอมเชื่อฟังหรือปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ  ส่วนพลังทางใจเกิดจากการให้ความรัก ความปรารถนาดี และการให้อภัย


 


พลังทางการเมืองขึ้นอยู่กับการแสดงออกทางภายนอกโดยนัยลบ คือการไม่ใช้ความรุนแรง ส่วนพลังทางใจเกิดจากภาวะภายในซึ่งส่งผลเป็นการกระทำนัยบวก คือความเอื้อเฟื้อและความเมตตากรุณา


 


พลังทางการเมืองเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจ  ส่วนพลังทางใจเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางสังคม


 


ไม่ว่าผู้ปกครองจะมีอำนาจและอาวุธมากมายเพียงใดก็ตาม  หากเผชิญกับพลังทั้งสองประการของมหาชนผู้ใช้สันติวิธีอย่างล้นหลามแล้ว ย่อมยากที่จะต้านทานได้  นี้คือบทเรียนสำคัญของประวัติศาสตร์โลก


 


บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ มีนาคม ๒๕๔๙