Skip to main content

เปลื้องใจให้เป็นไทจากความคิด

คอลัมน์/ชุมชน


ความสามารถพิเศษอย่างหนึ่งของมนุษย์ คือ การคิด  เราคิดได้เก่งและซับซ้อนพิสดารอย่างไม่มีสัตว์ใดเทียบได้    เราสามารถใช้ความคิดเพื่อจัดการธรรมชาติ รวมทั้งสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ มากมาย   กล่าวได้ว่าความคิดเป็นเครื่องมือที่สำคัญของมนุษย์ในการดำรงชีวิตและสร้างโลก   แต่ใช่หรือไม่ว่าบ่อยครั้งเราก็เผลอปล่อยให้ความคิดขึ้นมาเป็นนายเรา และสั่งให้เราทำตามบัญชาของมัน   เวลาเกลียดใครก็ตาม  เมื่อความคิดสั่งให้เราด่า  เราก็ด่าตามคำสั่งของมัน   เมื่อความคิดสั่งให้เราทำร้าย  เราก็ทำร้ายตามคำสั่งของมัน     คนจำนวนไม่น้อยตกเป็นทาสของความคิดจนนอนไม่หลับ  แม้ใจอยากจะหลับ แต่ถ้าความคิดยังไม่ต้องการหลับ   เราก็หลับไม่ได้  จนกว่ามันจะหยุดคิดหรือเหนื่อยไปเอง


 


ความคิดนั้นเกิดจากการปรุงแต่งของเราก็จริง แต่ทันทีที่มันเกิดขึ้น  มันก็ดูเหมือนจะมีชีวิตของมันเอง  มันพยายามที่จะดำรงคงอยู่ให้ได้นานที่สุด ด้วยการกระตุ้นให้เราหวนคิดถึงมันบ่อย ๆ และนานเท่าที่จะนานได้   ยิ่งคิดถึงมัน มันก็ยิ่งเติบใหญ่และเข้มแข็ง  เช่นเดียวกับกองไฟซึ่งโหมไหม้และแรงกล้าขึ้นเรื่อย ๆ หากมีคนเติมเชื้อให้มันอยู่เสมอ   ใช่แต่เท่านั้นมันยังต้องการ "แพร่พันธุ์" ไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย   เวลาเรานึกคิดเรื่องอะไรได้ขึ้นมาก็ตาม  เราจึงอยากเผยแพร่ความคิดนั้นให้คนอื่นได้รับรู้  เริ่มจากการบอกเล่าจากปากต่อปาก ส่งอีเมล เขียนบทความ ไปจนถึงเขียนหนังสือเป็นเล่ม   เท่านั้นยังไม่พอ  มันยังต้องการการปกป้องคุ้มครองจากเราด้วยเพื่อที่มันจะได้มีชีวิตยืนนานและแพร่พันธุ์ได้ไม่จบสิ้น   ดังนั้นมันจึงสั่งให้เราโต้เถียงหักล้างเหตุผลของคนที่คิดต่างจากเรา  ยิ่งไม่เห็นด้วยกับความคิดของเรามากเท่าไร    เรายิ่งต้องออกแรงทุ่มเถียงมากเท่านั้นเพื่อเอาชนะคะคานให้ได้  โดยอาจไม่คำนึงด้วยซ้ำว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมา  ทั้งหมดนี้เพียงเพื่อให้ความคิดของเราผงาดต่อไปได้ และยิ่งเป็นอมตะได้ก็ยิ่งดี


 


ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนจะทำร้ายหรือรบราฆ่าฟันกันเพียงเพื่อปกป้องและเผยแพร่ความคิดของตน  ไม่ว่าจะเป็นความคิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับทีมฟุตบอลที่ตนโปรดปราน  ไปจนถึงความคิดใหญ่ ๆ ที่เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองหรือศาสนา   บ่อยครั้งผู้คนที่ทำร้ายกันก็มิใช่ใครอื่น หากเป็นพี่น้อง มิตรสหาย เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนร่วมชาติ   ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมนุษยชาติไม่เคยขาดการรบพุ่งทำสงครามกันเพียงเพราะมีความคิดเห็นที่ต่างกัน  ความคิดนั้นมีอานุภาพและอำนาจเหนือมนุษย์อย่างไม่อาจประมาทได้เลย


 


อะไรทำให้ความคิดมีอานุภาพต่อมนุษย์ปานนั้น  เหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ได้แก่ ความยึดติดถือมั่นจนลืมตัว  ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่า "อุปาทาน" นั่นเอง   การที่คนเราจะเห็นด้วยหรือสนับสนุนความคิดใดนั้น เป็นเรื่องธรรมดาและเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์  ไม่ใช่สิ่งเสียหาย  แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเราเกิดยึดติดถือมั่นในความคิดนั้น ๆ (ทิฏฐุปาทาน)  จนทนไม่ได้กับความคิดที่เห็นต่าง   จริงอยู่ตอนที่สมาทานความคิดนั้นใหม่ ๆ  เราอาจเห็นว่าเป็นความคิดที่ดีและถูกต้อง  แต่ถ้าเผลอไปเมื่อไร ก็จะมีอัตตาหรือตัวตนเข้าไปผูกติดกับความคิดนั้น  เกิดความยึดมั่นสำคัญหมายในความคิดนั้นว่าเป็น "ตัวกู ของกู"  ถึงตรงนี้ก็จะเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของความคิดนั้น (หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้นคือกลายเป็นทาสของความคิดนั้น) 


 


จากเดิมที่สมาทานความคิดนั้นด้วยเหตุผลเพราะว่าเป็นความคิดที่ "ถูกต้อง" ก็เปลี่ยนมาเป็นเพราะว่าความคิดนั้นเป็น "ของกู"   ทีนี้ก็จะไม่สนใจแล้วว่าความคิดของคนอื่นนั้นถูกต้องหรือไม่ แต่จะสนใจแค่ว่าเป็นความคิดที่ "ถูกใจ"ตนเองหรือไม่   ถ้าไม่ถูกใจ แม้จะถูกต้องหรือมีเหตุผล ก็ไม่รับฟัง  หรือยิ่งกว่านั้นคือเห็นเป็นศัตรูที่ต้องจัดการ เช่น กล่าวร้าย ประณาม ปิดปาก ไปจนถึงทำร้าย   จากเดิมที่ใช้เหตุใช้ผล ก็กลายมาเป็นการใช้อารมณ์หรือความรู้สึก   อัตตาเข้ามาแทนที่ปัญญา  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือกลายเป็นการยึดติดถือมั่นด้วยกิเลส  มุ่งที่การแพ้-ชนะเป็นสำคัญ ไม่สามารถมองเห็นอะไรที่เกินเลยไปกว่านั้นได้  ทั้ง ๆ ที่มีความสำคัญมากกว่า


 


เมื่อยึดติดถือมั่นกับความคิดจนเห็นเรื่องแพ้-ชนะเป็นสิ่งสำคัญแล้ว  อันตรายก็เกิดขึ้นทันที เพราะมันสามารถผลักดันให้เราทำอะไรก็ได้เพียงเพื่อให้ "ความคิดของกู" เป็นผู้ชนะ  ซึ่งแม้จะลงเอยว่า "ความคิดของกู" เป็นผู้ชนะ  แต่ "กู" หรือผู้กระทำกลายเป็นผู้แพ้ก็ได้  


 


หลายปีก่อนในสหรัฐอเมริกามีการชุมนุมประท้วงหน้าคลินิกทำแท้งแห่งหนึ่ง  ผู้ประท้วงซึ่งเรียกตัวว่าเป็นผู้เชิดชูชีวิต (pro-life) เห็นว่าการทำแท้งนั้นเป็นการทำลายชีวิตซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าประทานมา   ในขณะที่ผู้ที่สนับสนุนการทำแท้งนั้นเห็นว่าเป็นสิทธิที่ผู้หญิงสามารถเลือกได้เพราะเป็นเจ้าของร่างกายของตนเอง   ฝ่ายประท้วงพยายามปิดล้อมคลินิกเพื่อขัดขวางมิให้ผู้หญิงเข้าไปทำแท้ง  แต่ไม่สำเร็จ เพราะกฎหมายในรัฐนั้นอนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้   ผู้ประท้วงคนหนึ่งโกรธแค้นมาก ถึงกับบุกเข้าไปในคลินิกและชักปืนยิงหมอและพยาบาลในนั้นจนถึงแก่ความตาย  แม้การกระทำดังกล่าวสามารถยุติการทำแท้งได้ (ชั่วระยะหนึ่ง) สมใจผู้ประท้วงก็จริง  แต่ก็ทำให้ผู้ประท้วงกลายเป็นฆาตกรซึ่งต้องรับโทษหนัก


 


อะไรทำให้ "ผู้เชิดชูชีวิต" กลับกลายเป็น "ผู้ทำลายชีวิต" หากไม่ใช่เป็นเพราะความยึดติดถือมั่น    เมื่อยึดติดถือมั่นในความคิดว่าชีวิตเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันละเมิดมิได้  ก็ง่ายที่จะมองเห็นผู้สนับสนุนการทำแท้งเป็นคนเลวร้าย  ดังนั้นจึงสมควรที่จะถูกฆ่า   ผลก็คือผู้เชิดชูชีวิตกลับทำอย่างเดียวกับ (หรือร้ายแรงกว่า) คนที่ตนเองประณาม


 


เมื่อเรายึดติดถือมั่นกับอะไรก็ตาม  มีโอกาสง่ายมากที่เราจะทำตรงข้ามกับสิ่งที่เรายึดมั่น  ที่วัดป่าแห่งหนึ่งมีชาวบ้านนิยมมาเก็บเห็ด   หนักเข้าแม้กระทั่งเห็ดที่ยังโตไม่ได้ที่ก็ถูกเก็บไปด้วย  แม่ชีไม่พอใจมากเพราะนอกจากจะเสียของแล้ว ยังเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว ไม่คิดถึงคนอื่นที่มาทีหลัง  แม่ชีพยายามขอร้องชาวบ้านว่าอย่าทำเช่นนั้น แต่ก็ไม่ได้ผล  วันหนึ่งขณะที่แม่ชีกำลังหาเห็ดเพื่อไปทำอาหารถวายพระ  เห็นเห็ดเกิดขึ้นเป็นกลุ่ม แต่ยังโตไม่ได้ที่  ทีแรกก็เดินผ่านไป แต่พอนึกได้ว่าถ้าคนเห็นแก่ตัวมาเห็นเข้าก็จะต้องเก็บเอาไปแน่   แม่ชีต้องการขัดขวางคนพวกนี้ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร  ในที่สุดก็นึกขึ้นมาได้  แม่ชีตรงเข้าไปถอนเห็ดเล็ก ๆ นั้นเสียเอง แล้ววางไว้ที่เดิม  หมายจะสั่งสอนพวกนั้นว่า "ทีหลังอย่าทำ ๆ "


 


แม่ชีต้องการเอาชนะชาวบ้านที่ชอบถอนเห็ดที่ยังเล็ก   แต่แล้วในที่สุดก็กลับทำอย่างเดียวกับคนเหล่านั้น  ทั้ง ๆ ที่สวนทางกับความคิดดั้งเดิมของตนเอง  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?


 


ความยึดติดถือมั่นทำให้เราลืมตัวได้ง่าย รวมทั้งลืมสิ่งอื่น ๆ หมด เพียงเพื่อจะเอาชนะ  นี้คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้ที่สนับสนุนและต่อต้านพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรอยู่ในขณะนี้ ลูกทะเลาะกับพ่อแม่  สามีทะเลาะกับภรรยา เพื่อนทะเลาะกับเพื่อน  เพียงเพื่อยืนยันและปกป้องความคิดของตน แต่ผลที่ตามมาคือสายสัมพันธ์ที่ร้าวฉาน 


 


เราลืมไปว่าสักวันหนึ่งคุณทักษิณก็ต้องไป (จะด้วยสาเหตุใดก็แล้วแต่) แต่เราทุกคนก็ยังจะต้องอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน ร่วมสำนักงานเดียวกัน และร่วมประเทศเดียวกันไปอีกนาน   จริงอยู่ทุกคนต้องมีจุดยืนทางความคิด  แต่ไม่ควรให้ความคิดนั้นมาเป็นใหญ่จนกลายเป็นนายเรา  และสั่งให้เราทำอะไรตามใจมันโดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับสายสัมพันธ์ระหว่างคนใกล้ชิด หรือกับความสงบสุขในบ้านเมือง


 


ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้านใคร ก็ไม่ควรมองผู้ที่เห็นต่างเป็นศัตรู   คนที่เห็นต่างจากเราถึงอย่างไรก็มิใช่คนเลว  คนดีก็มีสิทธิเห็นต่างจากเราได้    เราลืมไปแล้วหรือว่าคนที่เห็นต่างจากเราในวันนี้   เมื่อวานนี้เขาก็เคยเห็นเหมือนกับเรา  (เช่น ต่อต้าน รสช.  รวมกำลังกู้ภัยสึนามิ)  และวันพรุ่งนี้ก็อาจจะเห็นเหมือนกับเราอีก   เมื่อมองให้ไกลและไม่ติดจมอยู่กับความขัดแย้งขณะนี้ จะพบว่าไม่มีเหตุผลเลยที่เราจะทุ่มเถียงหรือทะเลาะวิวาทกันอย่างเอาเป็นเอาตายจนตัดญาติขาดมิตรกัน


 


อย่ายึดติดถือมั่นกับความคิดใดมากเกินไป   ปล่อยวางความคิดนั้น ๆ เสียบ้างด้วยการหันไปสนใจกับเรื่องอื่น  แทนที่จะเอาแต่ครุ่นคิดว่าคุณทักษิณจะอยู่หรือไป   ควรเอาใจไปอยู่กับงานการและกิจวัตรประจำวัน รวมทั้งมีเวลาให้กับคนใกล้ชิดบ้าง   ถึงเวลาพักผ่อนก็พักผ่อนอย่างเต็มที่  เอาคุณทักษิณออกไปจากใจบ้าง  จิตใจจะได้หายอึดอัด โปร่งโล่ง  ผ่อนคลาย   ข่าวสารแม้จะควรติดตาม แต่อย่าเสียเวลากับมันจนไม่เป็นอันทำอย่างอื่น   ถ้ารู้สึกเครียดขึ้นมา ลองทำใจให้สงบด้วยการน้อมจิตอยู่กับลมหายใจเข้าและออก พร้อมกับนับจาก ๑ ถึง ๑๐ ไปด้วยก็จะดี


 


ที่สำคัญก็คือ พยายามมีสติรู้ทันความคิดอยู่เสมอ  อย่าให้ "ตัวกูของกู"เข้ามาพัวพันจับจองความคิด จนคิดแต่จะเอาชนะอย่างเดียว   เพราะในท้ายที่สุด "มาร"หรือกิเลสต่างหากที่ชนะ  หาใช่เราไม่      


 


บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในจิตวิวัฒน์ มีนาคม ๒๕๔๙