Skip to main content

ข้อจำกัดของเอ๊กซ์เปิร์ต


เรื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานชื่อยาว ๆ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในเดือนหนึ่ง


 


คณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ เป็นหนึ่งในสองบอร์ดใหญ่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ       อีกบอร์ดหนึ่งเรียกว่าคณะกรรมการหลักประกันฯ


 


เท่าที่ทราบ  ทั้งสองบอร์ดประกอบด้วยคนสามส่วน   ส่วนหนึ่งเป็นวิชาชีพแพทย์ พยาบาล และอื่นๆ  นี่คือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า  เอ๊กซ์เปิร์ต (expert)   ส่วนที่สองมาจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น  ส่วนที่สามเป็นตัวแทนของภาคประชาชนซึ่งก็มาจาก NGO เอ็นจีโอต่างๆ ตามฟอร์ม


 


สำหรับบอร์ดใหญ่คือบอร์ดหลักประกันฯ จะเป็นอย่างไรผมก็ไม่ทราบหรอกครับ  แต่บอร์ดที่ผมอยู่นั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นบอร์ดของเอ๊กซ์เปิร์ต   นั่นคือผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสาธารณสุข     ภาคประชาชนที่มีอยู่ในบอร์ดนั้นไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไร


 


พูดสั้นๆ ว่าใบ้กิน


 


คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่าผู้เชี่ยวชาญเป็นคนเก่ง    ซึ่งก็มีส่วนถูก    แต่คนเก่งนั้นไม่ได้ตอบปัญหาอะไรให้แก่สังคมไทยที่ซับซ้อนเช่นทุกวันนี้    ในทางตรงข้ามคนเก่งที่ปฏิเสธการทำงานอย่างมีส่วนร่วมโดยเฉพาะการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนนั้นกลับทำอันตรายให้แก่สังคมได้มากมายอย่างคาดไม่ถึง


 


ม็อบกู้ชาติทั้งหลายน่าจะเข้าใจประเด็นนี้ได้ดี


 


ถ้าผู้เชี่ยวชาญหรือเอ๊กซ์เปิร์ตทางการแพทย์สามารถแก้ปัญหาสาธารณสุขของชาติได้แล้วล่ะก็  กระทรวงสาธารณสุขแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของชาติเสร็จไปนานแล้ว  แต่ที่ระบบสาธารณสุขไร้ความเป็นธรรมมากขึ้นทุกวันๆก็เพราะสังคมมอบความไว้วางใจให้แก่ผู้เชี่ยวชาญหรือเอ๊กซ์เปิร์ตนี่แหละ


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม technical expert นั่นคือรู้แต่เรื่องเทคนิค รู้แต่วิธีรักษาโรคแต่ไม่รู้อะไรมากกว่านั้นเลย


 


สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเล็งเห็นข้อจำกัดของเอ๊กซ์เปิร์ตเช่นนี้จึงได้วางโครงสร้างให้บอร์ดทั้งสองมีองค์ประกอบจากหลายภาคส่วนแบบมีส่วนร่วม


 


ปรากฏว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหายแซ็บ ส่วนภาคประชาชนก็ใบ้กิน (ทั้งๆ ที่ล้ม กฟผ. กับ FTA มาแล้วเนี่ยนะ) กลับมาที่เรื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานชื่อยาวๆ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในเดือนหนึ่ง


 


มีการพิจารณากรณีที่ผู้ป่วยโรคหัวใจคนหนึ่งประสบปัญหาไม่มีโรงพยาบาลไหนในกรุงเทพมหานครรับไว้เป็นผู้ป่วยใน    ทั้งนี้เพราะหอผู้ป่วยหนักของโรงพยาบาลเหล่านั้นเต็ม


 


หอผู้ป่วยหนักมี 2 ชนิดครับ  ชนิดหนึ่งเรียกว่าหอผู้ป่วยหนักเฉยๆ เรียกย่อว่า ICU ไอซียู     ชนิดที่สองเรียกว่าหอผู้ป่วยหนักสำหรับโรคหัวใจโดยเฉพาะเรียกย่อว่า CCU ซีซียู


 


คืนนั้นทั้งไอซียูและซีซียูเต็มทั่วกรุงเทพมหานคร  ผู้ป่วยจึงตาย  เมื่อมีการพิจารณากรณีการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลหนึ่งไปอีกโรงพยาบาลหนึ่งว่ามักประสบปัญหาเตียงเต็มเสมอๆ     สถานการณ์เป็นเช่นนี้มานานหลายสิบปีแล้วควรจะทำอย่างไร ปรากฏว่าถึงคราวเทคนิคัลเอ๊กซ์เปิร์ตรอบห้องใบ้กิน


 


หลังจากใบ้กินแล้วก็ยืนยันเช่นเดิมว่าทุกคนทำดีที่สุดแล้ว   ไอซียูและซีซียูของโรงพยาบาลทุกแห่งรวมทั้งโรงเรียนแพทย์เต็มจริงๆ    


 


ไม่รู้จะทำยังไง  แล้วก็ปิดประเด็น อันที่จริงเรื่องหอผู้ป่วยหนักเต็มตลอดเวลานั้นไม่ใช่ปัญหาของกรุงเทพมหานครเท่านั้น     ตามหัวเมืองใหญ่ล้วนประสบปัญหาเหล่านี้ทั้งนั้น


 


แต่ถ้าเรารู้วิธีพูดคุยกันดีๆ   โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง อย่างแท้จริง   เราจะพบว่ามีสาเหตุมากมายที่ทำให้หอผู้ป่วยหนักเต็มตลอดเวลาจนกระทั่งผู้ป่วยหนักจริงๆเข้าไปไม่ได้และตายไปอยู่เรื่อยๆ   ในทางตรงข้ามถ้าเราไม่พูดคุยกันเลย  หรือมอบหน้าที่นี้ให้เทคนิคัลเอ๊กซ์เปิร์ต    เราก็จะได้การบริหารเตียงหอผู้ป่วยหนัก โดยยึดเอ๊กซ์เปิร์ตเป็นศูนย์กลาง อยู่ร่ำไป


 


ผมจะคิดให้ฟังแบบเร็วๆ   ซึ่งถ้าได้ภาคประชาชนมาช่วยคิดแบบช้าๆ ผมเชื่อว่าเราจะพบสาเหตุของปัญหาอีกมาก   จะได้แก้ไขได้ถูกเรื่องถูกราว เช่น หอผู้ป่วยหนักเต็มตลอดเพราะมีผู้ป่วยไม่หนักจริงเข้ายึดครอง   โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็น FIRST CLASS CITIZEN ของสังคมหรือท้องถิ่น


 


หรือไม่ก็เพราะผู้ป่วยที่นอนอยู่ในนั้นนอนนานเกินสมควรไม่ได้ย้ายออก   เหตุที่นอนนานน้านนานไม่ได้ย้ายออกก็เพราะขาดการประเมินในความถี่ที่เหมาะสม    กล่าวคือนานนานประเมินทีจึงไม่ทราบว่าสมควรย้ายออกได้แล้ว


 


บางโรงพยาบาลมีแพทย์มากพอที่จะจัดแพทย์ประจำหอผู้ป่วยหนักเพื่อจะได้มีเวลาประเมินผู้ป่วยบ่อยๆ    ดีขึ้นก็ย้ายออก ไม่สมควรเข้ามาก็ไม่ให้เข้า แต่ก็ไม่สามารถจัดแพทย์ให้อยู่ประจำหอผู้ป่วยหนักด้วยเหตุผลต่างๆ นานา  ซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง


 


บางโรงพยาบาลไม่สามารถตกลงเรื่องการแบ่งโควต้าเตียงไอซียู แพทย์แต่ละท่านจึงต้องช่วยเหลือตนเองด้วยการวางผู้ป่วยอาการไม่หนักยึดพื้นที่เอาไว้ก่อน   ถึงเวลามีผู้ป่วยหนักต้องใช้เตียงจะได้มีใช้     อันนี้ต้องเรียกว่าโรงพยาบาลลอยแพแพทย์ให้ช่วยเหลือตนเอง


 


เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างซึ่งอาจจะไม่จริงสำหรับแต่ละท้องที่   อาจจะจริงสำหรับแต่ละท้องที่    ประเด็นคือเราไม่เคยคุยกันอย่างจริงจังว่าสาเหตุของเตียงเต็ม  หอผู้ป่วยเต็มคืออะไรกันแน่


 


เราเอาแต่โวยวายว่าเพราะสามสิบบาททำให้ใครๆ แห่มาเต็มโรงพยาบาล    ทั้งๆที่มันเต็มก่อนหน้าสามสิบบาทจะมานานมากแล้ว


 


ที่เราไม่คุยเพราะเราเชื่อว่าเทคนิคัลเอ๊กซ์เปิร์ตทำดีที่สุดแล้ว


 


ยังหรอกครับ เทคนิคัลเอ๊กซ์เปิร์ตใดๆ ก็ไม่มีปัญญาทำดีที่สุดแล้วหากขาดการมีส่วนร่วมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน