Skip to main content

บทกวีไล่ทักษิณ

คอลัมน์/ชุมชน


ที่ตึกคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   มีบทกวีของคุณเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ ที่เขียนลง


บนป้ายผ้าขนาดใหญ่ แขวนโชว์ไว้โดดเด่นหน้าตึก บทกวีดังกล่าวเขียนไว้ว่า


 


จงรู้อยู่รู้พอเพียง


จงฟังเสียงผู้ค้านคัด


จงถือธรรมเป็นบรรทัด


จงซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน


 


เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า บทกวีของคุณเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์  จะปรากฏขึ้นเสมอในยามบ้านเมืองเกิดปรากฏการณ์สำคัญ ๆ ทางการเมืองหรือในยามที่สังคมเกิดวิกฤติ เป็นที่รู้กันทั่วไปเช่นกันว่ารวมบทกวีรางวัลซีไรท์ของคุณเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ ก็ได้แรงดลใจมาจากปรากฏการณ์ทางการเมือง 14 ตุลา 16  และบทกวีที่ยกมาข้างต้นนี้ก็เช่นเดียวกันที่เกิดขึ้นในยามที่สังคมการเมืองเกิดความขัดแย้งขนาดหนัก


 


ไม่ต้องตีความก็รู้ได้ว่าจุดยืนของบทกวีนี้ซึ่งก็คงรวมไปถึงจุดยืนของคุณเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ เลือกที่จะยืนคนละข้างกับนายกฯ ทักษิณ  ชินวัตร อันที่จริงไม่ว่าจะเห็นด้วยกับรัฐบาลหรือไม่อย่างไร การยืนอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลก็เป็น "กฏตายตัว" ของศิลปินหรือนักคิดนักเขียนไปแล้ว ราวกับว่านี่เป็นภารกิจหรือคุณงามความดีอย่างหนึ่งที่พึงต้องมี แม้ว่านักคิดนักเขียนท่านนั้น ๆ จะมีความรู้ความเข้าใจทางการเมืองมากน้อยสักเพียงใด หรือแม้คนที่ไม่สนใจการเมืองแม้สักนิดเดียวก็จำต้องประกาศตัวออกมาว่าต่อต้านรัฐบาล นี่เป็นสูตรสำเร็จทางอาชีพตื้น ๆ ที่ใช้กันมานมนาน


 


ดังนั้นเราจึงได้เห็นศิลปินชั้นต่ำหลายคนประกาศตัวออกมาต่อสาธารณชนโดยไม่ลังเลใจเลยว่า  "ฉัน/ผมไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลนะ"  ราวกับว่าการประกาศตัวออกมาจะทำให้มาตรฐานการผลิตงานจะสูงขึ้นตามไปด้วย


 


รัฐ/รัฐบาลเป็นเป้าหมายถูก ๆ แห่งการโจมตีของคนจำนวนไม่น้อยซึ่งก็รวมถึงศิลปินด้วย การประท้วงรัฐบาลเป็นคล้าย ๆ เครื่องมือหรือสิ่งที่ศิลปินและคนอื่น ๆ อีกจำนวนมากใช้สำหรับแสดงตัวตน แสดงศักดา การประท้วงรัฐบาลเป็นเหมือนบันไดที่ใช้ป่ายปีนขึ้นไปอยู่ในจุดที่สูง หรือพูดให้มันง่าย ๆ เสียสักหน่อยได้ว่าการต่อต้านรัฐบาลเป็นวิธีการ  "หาเสียง"   แบบหนึ่งของเหล่าศิลปิน ไม่ว่าศิลปินท่านนั้น ๆ จะมีความคิดทางการเมือง หรือไม่ก็ตาม


 


จะว่าไป โดยทั่ว ๆ ไป ศิลปินไทยมักรังเกียจการเมืองและมองว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรกที่ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว การไปข้องแวะกับการเมืองมีแต่จะทำให้แปดเปื้อนหรือไม่ก็เสียสมาธิในการทำงาน หรือถ้าศิลปินจะยุ่งกับการเมืองก็ต้องเป็นไปในทางที่ไม่เห็นด้วยเท่านั้น  หากศิลปินคนไหนไปรับใช้หรือทำงานให้นักการเมืองก็จะกลายเป็นพวกนอกคอก แกะดำ ฯลฯ


 


เราจึงพบได้ว่าศิลปินจำนวนไม่น้อยจะหันหลังให้กับการเมืองและเก็บตัวสร้างงานเขียนโดยไม่สนใจว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือใครจะได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์บ้างจากการเลี่ยงภาษีของนายกฯ หรือใครจะทำหลักฐานปลอม หรือใครจะสร้างสถานการณ์วางระเบิดใส่ตัวเอง หรือนักวิชาการสติเสียจะกล่าวหานายกฯว่าเสียสติก็ตาม


 


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เราจะพบว่าแม้นักคิดนักเขียนและเหล่าศิลปินโดยมากแล้วมักเลือกที่จะยืนอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล หรือเลือกที่จะหันหลังให้การเมือง แต่ในอีกทางหนึ่ง ก็เป็นภาพที่หาดูได้ไม่ยากเลยที่จะเห็นศิลปินเดินตามหลังนักการเมืองต้อย ๆ บางทีก็วางท่าทางสนิทสนมราวกับเป็นเพื่อนกันมาก่อนหรือกระทั่งเผลอกระทำตัวเป็นนักการเมืองเสียเองในบางกรณี


 


ที่ต้องเดินตามหลังนักการเมืองก็เพราะว่าศิลปินจำเป็นต้องหาตังค์สำหรับยาไส้ และแหล่งหาตังค์แหล่งหนึ่งของเหล่าศิลปินนอกจากจากพ่อค้าแล้วก็คือจากกระเป๋าหนัก ๆ ของนักการเมือง


 


ดังนั้น แม้ว่าจะไม่ชอบการเมืองหรือจำต้องประกาศตัวว่าเข้าข้างประชาชน แต่ศิลปินก็ต้อง "เข้าหา"นักการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก   ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลก็ตาม ดังนั้น ในแง่นี้การประกาศตัวต่อต้านรัฐบาลหรือไม่ชอบ "การเมือง" ของเหล่าศิลปินก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพียง "การแสดง" อย่างหนึ่งเท่านั้นเอง


 


แต่ก็ใช่ว่าศิลปินจะเป็นเช่นที่กล่าวมาไปทั้งหมด ศิลปินบางท่านก็เลือกที่จะไส้แห้งและเลือกที่จะหลบลี้หนีหน้าไปให้ไกล นอกจากไกลจากการเมืองแล้วก็ไกลจากสังคมด้วย นี่เป็นราคาที่ศิลปินจะต้องจ่ายสำหรับการหมกมุ่นทุ่มเทให้กับงาน หรือเลือกที่จะข้องเกี่ยววุ่นวายกับสังคมและการเมืองให้น้อยที่สุด เท่าที่เงื่อนไขจะเอื้ออำนวย


 


ประเด็นของบทความนี้ ไม่ได้อยู่ตรงที่ความน่ารำคาญของศิลปินที่มักจะโผล่มาสร้างคะแนนให้กับตนเองเป็นระยะ  ๆ หากแต่อยู่ที่ความกลับกลอกไร้หลักการของศิลปินซึ่งมักเกิดขึ้นอยู่เสมอเพียงแต่ไม่ใคร่มีใครใส่ใจเพราะถือเป็นช่องทางทำกินที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ใครมากนัก


 


ในบางกรณีที่การเลือกข้างไม่อาจทำ "กำไร" ให้กับศิลปินหรือทำ "กำไร"  ให้น้อย ศิลปินก็จะไม่เข้าไปข้องแวะ เมื่อมีคนไปขอชื่อเพื่อให้ร่วมเคลื่อนไหวต่อความไม่เป็นธรรมต่อกรณีเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้น  ศิลปินก็อาจออกตัวในทำนองที่ว่า "เกรงใจเขา"  แต่หากศิลปินมั่นใจว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนี้จะได้คะแนนนิยม (และได้เงิน) อย่างแน่แท้  ศิลปินก็ไม่รีรอที่จะแต่งบทกวี บางท่านก็วาดภาพล้อเลียนนายกฯ  บางท่านก็อาจเล่นดนตรีให้พวกม็อบฟัง หรือบางท่านก็ถึงขนาดขึ้นไปพูดบนเวที


 


ความไร้หลักการของศิลปิน ไม่ต้องวิเคราะห์ลึกซึ้งก็อาจจะจับได้ง่าย ๆ จากพฤติกรรมที่ปรากฏในที่สาธารณะ  เราอาจเห็นศิลปินเดินเคียงข้างอยู่กับเอ็นจีโอ และช่วยเหลือภาคประชาชน ถัดมาเราอาจเห็นศิลปินคนเดียวกันคลุกคลีอยู่กับนักการเมืองชื่อดัง ถัดมา เราอาจเห็นศิลปินแต่งเพลงให้กับนักการเมืองขวาจัดหรือแต่งเพลงให้กับเจ้า แต่หากมีคนถามก็จะยืนยันว่าตนเองไม่ได้เป็น Royalist   ก่อนหน้านี้เราก็ได้รับรู้มาแล้วว่าศิลปินเคยคลุกคลีทำงานให้กับฝ่ายซ้าย ศิลปินอาจพูดถึงอะไรที่พอเพียงแต่ขณะเดียวกันก็อาจนั่งกระดิกเท้าจิบไวน์ราคาแพง หรือส่งลูกไปเตร็ดเตร่เมืองนอก  ฯลฯ


 


มีบทอีกบทหนึ่งของคุณเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ ที่โชว์อยู่ที่หน้าตึกคณะศิลปศาสตร์


 


เมื่อขึ้นใหญ่ได้อำนาจ


อย่าโกงชาติประชาชน


เปิดช่องให้ชั่วฉล


มาปล้นชาติ ปล้นแผ่นดิน


 


บทกวีธรรมดา ๆ ทั้ง 2 ชิ้นของคุณเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ ที่มุ่งเน้นเนื้อหาทางการเมืองนี้ ผมอยากจะบอกตามตรงว่า "เชย" อย่างมาก  อันที่จริงการเขียนบทกวีการเมืองหรือเรื่องสั้นการเมืองให้ทันสมัยได้ทั้งเนื้อหา และได้ทั้งศิลปะนั้นเป็นเรื่องยากในปัจจุบันด้วยเงื่อนไขหลาย ๆ อย่าง 


 


เมื่ออ่านบทกวีทั้ง 2 ชิ้นนี้สิ่งที่รู้สึกได้โดยง่ายก็คือเนื้อหาและศัพท์แสงที่ใช้ ซึ่งในความเห็นของผมออกจะ  เป็น "ขวา"  มาก เช่นคำว่า "ปล้นชาติ ปล้นแผ่นดิน"  "โกงชาติ"  "ซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน" นอกจากขวาแล้วก็ศักดินา อย่างโจ่งแจ้ง เช่นคำว่า "จงรู้อยู่ รู้พอเพียง"


 


แต่ก็อย่างว่าวินาทีนี้ซ้ายขวาไม่สนใจแล้ว ให้เขียนไล่นายกฯ  ทักษิณ เป็นใช้ได้ และเราก็คงจะได้เห็นบทกวีเชยๆ ขวาๆ ศักดินา ต่อต้านรัฐบาล  ไร้หลักการ ฯลฯ  ตามมาอีกหลายชิ้น