Skip to main content

ใจเบิกบานผ่องใสในฤดูร้อน

คอลัมน์/ชุมชน


ฤดูร้อนของเมืองไทยแม้อากาศจะร้อนอบอ้าวในเวลากลางวัน แต่ธรรมชาติได้สร้างสรรค์กลิ่นหอมของดอกไม้ สีสวยสว่างไสว เสียงร้องของนก จักจั่น และยอดอ่อนของพืชผัก ที่ช่วย คลายใจ กาย จากความร้อนให้สดชื่นแจ่มใส รู้ตื่น เบิกบานได้


 


ดิฉันไปร่วมงานศพของน้องปาน ทัศนีย์ รุ่งเรือง สาวชาวพัทลุงผู้อยู่เคียงคู่กับพี่น้องชาวจะนะ ผู้คัดค้านโครงการโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย – มาเลเซีย มา ๗ – ๘ ปี หลังจากเรียนจบจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่


 


เมื่อเครื่องบินเที่ยวแรก (ซึ่งออกจากกรุงเทพ ฯ ๖ โมงเช้า) ใกล้จะถึงสนามบินหาดใหญ่ราว ๗ โมงครึ่ง ของวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๙ พบว่ามีเมฆฝนหนาทึบ เมื่อเครื่องลงจอดสนิทโดยสวัสดิภาพ คุณบรรจง นะแส นักสู้แห่งสงขลา ผู้กล้าคัดค้านความไม่ชอบธรรมในสังคม ได้กรุณามารับไปพัทลุงบ้านของน้องปาน


 


คุณบรรจง บอกว่า ฝนมาผิดฤดู เพราะช่วงนี้คือหน้าร้อนของภาคใต้ แต่ฝนที่นี่ตกหนักมา ๒ - ๓ วัน ก็ทำให้น้ำเจิ่งนองทุ่งนา อากาศจึงชุ่มเย็น ดีไปอีกแบบ บ้านตะโหมด ต.ตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง คือถิ่นเกิดของน้องปาน ทำให้ดิฉันประทับใจในครั้งแรกที่ได้เยือนคุณพ่อ คุณแม่ของน้องปานมีเครือญาติมากมายในอำเภอนี้ นับว่า "รุ่งเรือง" เป็นตระกูลใหญ่ ที่มีคนนับหน้าถือตามาก


 


เมื่อน้องปานมาจากไปในวัยที่ยังเพียงไม่ถึง ๓๐ พร้อมทั้งได้ฝากผลงานอันทรงคุณค่าแก่แผ่นดิน (ดังที่ดิฉันได้เล่าไปแล้วในบทความสัปดาห์ก่อน)  โดยเฉพาะงาน "กู้ชาติ" ที่น้องปานได้ไปร่วม จนประสบอุบัติเหตุถึงชีวิตเมื่อเดินทางกลับมา เครือข่ายพันธมิตรจากทุกทิศจึงมาร่วมไว้อาลัยน้องปานกันอย่างคับคั่ง


 



 


น้ำใจของชาวตะโหมดต่อเพื่อนต่างถิ่นและต่อครอบครัวของน้องปาน เห็นได้ชัดจากการมาช่วยจัดสถานที่ เวที ช่วยตบแต่งดอกไม้ น้ำตกหน้าศพ ทำอาหาร นำผัก มะพร้าว ปลา เนื้อ น้ำ น้ำแข็ง ขนม ฯลฯ มาให้ อยู่ช่วยงานตลอดทุกวันตั้งแต่เช้ายันเลิก


 


กิจกรรมเสวนาเรื่องงานที่น้องปานทำ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนรากหญ้า พึ่งพาตัวเองได้ การติดตามขบวนการปฏิรูปการเมืองและงานของเครือข่ายทุกภาค เช่น เครือข่ายปฏิรูป การศึกษา สภาทนายความ เป็นเวทีเรียนรู้ที่ชาวตะโหมดให้ความสนใจอย่างไม่เบื่อหน่าย


 



 


พี่ชายของน้องปานพาดิฉันไปเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวตะโหมด ดูสวนยาง สวนผลไม้สมรม ที่มีทั้งทุเรียน มังคุด ลองกอง กล้วย มะพร้าว สะตอ ทุ่งนา ลำคลอง สภาพธรรมชาติของตะโหมดยังอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านจึงมีฐานะเศรษฐกิจดี ครอบครัวอบอุ่น ช่วยกันทำมาหากิน


 


วงข้าวที่ตั้งครัวเลี้ยงกันทั้ง ๓ มื้อ มีอาหารท้องถิ่นได้แก่ แกงไตปลา แกงส้มใส่ผักบุ้งกับมะเขือ น้ำพริกกะปิ ยอดผักนานาชนิด ไข่เจียว ปลาตัวเล็กทอด กับอาจาด (แตงกวา ซอยละเอียดผสมน้ำส้ม น้ำตาล หอมแดง มะม่วงซอย พริกกินแก้เผ็ด) เป็นอาหารรสเลิศที่ดิฉันติดใจ


 


ถามถึงพันธุ์ข้าวพื้นเมือง แม่ของน้องปานบอกว่ายังมีข้าว "เล็บนก" กับข้าว "สังข์หยด" ที่ยังปลูกไว้กินกัน ไม่ได้ปลูกขาย แม่จะหุงให้กินเป็นพิเศษ


 


คุณยายของน้องปานอายุ ๙๓ แล้ว หน้าตายิ้มแย้ม อารมณ์ดี น้องปานกลับบ้านทีไร ก็มานอนกับคุณยายทุกที เมื่อน้องปานจากไปแล้ว คุณยายคงเหงา แต่ก็มีผู้เฒ่าคนอื่น ๆ มาเป็นเพื่อน เพราะชาวตะโหมดสุขภาพดี ผู้เฒ่าอายุเกิน ๘๐ ปีเป็นส่วนใหญ่


 


วัดตะโหมดคือศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน ท่านเจ้าคณะอำเภอคือพระสงฆ์ที่ชาวบ้าน ศรัทธา นำมาซึ่งความเลื่อมใสในพระธรรม และนำความเจริญสู่ท้องถิ่น


 


คุณอาของน้องปาน คือ นาวาเอก พล รุ่งเรือง รน. ได้กรุณาให้ดิฉันไปพักค้างคืนที่บ้านของท่าน เพราะบ้านพ่อแม่ของน้องปานมีญาติมิตรต่างถิ่นไปพักอยู่เต็มแล้ว คุณอาพาดิฉันไปวัดตะโหมด ได้ฟังรองเจ้าอาวาสอธิบายบทบาทของวัด ว่าเป็นศูนย์กลางการศึกษา วัฒนธรรม และ การอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่ลานวัดต้นไม้ใหญ่จำนวนมากให้ร่มเงา เป็นที่พบปะของชาวบ้านที่มาทำ กิจกรรมกับวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "สภาลานวัด" เป็นที่เสวนาเพื่อการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมของ ประชาชนเป็นประจำ


 


ท่านรองเจ้าอาวาสบอกว่า ไม้ใหญ่แต่ละต้นมีคุณค่ามหาศาล ให้ความร่มเย็นโดยไม่ต้อง ใช้พลังงาน ดิฉันชื่นชมและเห็นว่าทุกวัด ทุกบ้าน ทุกโรงเรียน ทุกสถานที่ และรัฐบาลควรรณรงค์ให้เป็นนโยบายระดับชาติที่จะอนุรักษ์ป่าไม้ ต้นไม้ ปลูกเพิ่มให้มากขึ้น แทนที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือเขื่อน ซึ่งเป็นการทำลายต้นน้ำและเขื่อนในธรรมชาติให้หมดไป จนเกิดภาวะโลกร้อนที่ชาวโลกกำลังเผชิญหน้า โดยยังไม่รู้สึกรู้สาถึงโทษภัย จึงมัวแต่บริโภควัตถุ ความสะดวกสบาย โดยยังไม่ได้กลับใจหันมาเข้าใจและอนุรักษ์ธรรมชาติให้เท่าทันกับวิกฤติของปัญหาที่เป็นอยู่


 


งานศพน้องปาน เป็นเสมือนงานมหกรรมที่คนทำงานเพื่อสังคมจากทุกภาค ได้มาสร้างเครือข่าย ถักทอกันให้เหนียวแน่นขึ้น มีการนำสื่อนิทรรศการผลงานของน้องปาน ทำเสื้อยืดภาพน้องปาน กับผ้าฝ้ายเชียงใหม่ สกรีนรูปและบทกวี กลอนเปล่าของน้องปาน เพื่อตั้งกองทุนสำหรับผู้หญิงที่ทำงานด้านสิทธิ น่าชื่นใจที่คนส่วนใหญ่ที่มางานทั้งชาวบ้านและคนทำงานพัฒนา พากันซื้อใส่ เป็นสีสันของงาน โต๊ะบริการน้ำชา กาแฟ ขนม มีผู้ไปห้อมล้อมตั้งแต่เช้ายันดึก ดิฉันชอบชาใส่นมข้นหวานแบบของแท้ของชาวใต้ ได้ขอมากินแก้เผ็ดหลายถ้วย


 



 


คืนวันที่ ๒๕ จะมีวงดนตรีโฮปมาแสดงเพื่อไว้อาลัยน้องปาน และมีการเสวนาเกี่ยวกับเส้นทางการพัฒนาและการปฏิรูปการเมืองด้วย วันที่ ๒๖ จะฌาปนกิจศพตอนเที่ยง เสียดายจัง ที่ดิฉันไม่มีโอกาสอยู่เพราะติดภารกิจหลายอย่าง ยิ่งได้เห็นน้ำใจความพร้อมเพรียงของชาว "เมืองลุง"  ยิ่งประทับใจ จนอยากกลับมาศึกษาเรียนรู้อีก หวังว่าจะกลับมาใหม่ในไม่ช้า


 


สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกที่ประชาชนเลือกตั้งโดยตรง หมดวาระแล้วเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๔๙ โดยที่มาตรา ๑๓๑ ของรัฐธรรมนูญ หมวด ๖ รัฐสภา ส่วนที่ ๓ วุฒิสภา กำหนดไว้ว่า เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกา ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่อายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลง และวันเลือกตั้งต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร


 


เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา ๑๖๘ ให้สมาชิกวุฒิสภาที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ในวันที่อายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการเลือกตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่


 


ดิฉันได้กลับมาเชียงรายหลังจากไปปฏิบัติหน้าที่ส่งท้าย ๑๐ กว่าวัน เชียงรายฤดูร้อน แม้จะมีหมอกควันจากการเผาไร่ เผานา เผาใบไม้แห้ง จนทำให้อากาศหม่นมัว แต่ธรรมชาติก็ยังทดแทนความสุขสดใสในจิตใจมนุษย์ โดยให้ดอกไม้หอมหวนผลิบาน ทั้งดอกโมกข์ขาวใส ดอกแก้ว ดอกชมนาด ดอกเล็บมือนาง ดอกการเวกกลีบแข็ง หอมเย็นตอนค่ำ ดอกสารภี ดอกพุดซ้อน (เก็ดตวาย) ดอกยี่หุบ ดอกกาสะลองคำ (ไม้ศรีเมืองเชียงราย) สีเหลืองส้มสว่างตา ดอกทองหลางแดงจัดจ้า ดอกจันทร์กระพ้อหอมจรุงใจ


              


 


 


ดอกไม้ หมู่นก เสียงจักจั่นเรไร พืชผักผลิใบ เป็นอาหารให้คลายร้อน เช่น ยอดผักเสี้ยว (กาหลง) ผักแส่ว ผักกูด ชะอม ฟักทอง หัวปลี หยวกกล้วย ฯลฯ


 


ธรรมชาติเป็นแม่ผู้ยิ่งใหญ่ หากมนุษย์อยู่ใกล้ธรรมชาติ เคารพ เรียนรู้ กตัญญูต่อธรรมชาติ จิตใจจะสงบผ่องใส เข้าใจในกฎธรรมชาติ เข้าถึงไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ลดละจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ความเป็นตัวกู ของกู ลงได้ เกิดปัญญาที่จะพัฒนาความ เป็นมนุษย์ให้มีศักยภาพสูงสุด คือเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง


 


ขอให้แสงสว่างแห่งปัญญาสาดส่องจิตใจชาวไทยทุกคน ให้รู้ตื่น เบิกบาน หลุดพ้นจากอวิชชาที่ครอบงำ นำธรรมาธิปไตยเป็นฐานของประชาธิปไตย สร้างสังคมใหม่ ด้วยพลังใจและปัญญาที่บริสุทธิ์อย่างต่อเนื่อง ขอให้ผู้นำที่ขาดหิริ โอตัปปะ (ความกลัวบาป ความละอายต่อบาป) แพ้ภัยตนเอง ตามกฎแห่งกรรมเถิด