Skip to main content

หัวใจขอมา

คอลัมน์/ชุมชน

 



*
กลับมายืนที่เดิม ที่ที่เคยคุ้นตา
ที่ที่ใจนั้นคอยเรียกหา
เฝ้าคิดถึงวันที่ผ่านไป

ที่ที่เคยพบเธอ ที่ที่ยังฝังใจ
กลับมาตามหาความสดใส
ที่ยังเหลือพอให้จดจำ

**
กวาดตามอง ไม่พบเธอตรงที่เก่า
ถึงแม้วันนี้เงียบเหงา
แต่ยังดีใจ ที่ได้มาเยือน
กลับมาคราวนี้ เพื่อมาทวงความฝันคืน
สูดความฝันให้ชื่นใจ
ยาวนานเหลือเกิน ที่ฝันจางหายไป
ในหัวใจยังทวงถาม
กลับมาคราวนี้ เพราะหัวใจมันขอมา
ให้ตามหาความทรงจำ
ปล่อยใจตัวเองให้มันชื่นฉ่ำ
กับความทรงจำที่เคยมี   ( * / ** )
ปล่อยใจตัวเองให้มันชื่นฉ่ำ
กับความทรงจำที่เคยมี
กลับมายืนที่เดิม  


(http://www.siamjukebox.com/webboard/showkatoo.asp)


 


สองวันมานี้มัวแต่ลุ้นเรื่องเลือกตั้ง สส. เมืองไทย ไม่ได้หลับไม่ได้นอน แต่ตนเองไม่ได้เลือกกับเค้าด้วยเพราะแหมมันฉุกเฉินเหลือเกิน อีกทั้งก็อยู่ห่างไกลสถานกงสุลไทย ในชิคาโก แล้วก็ต้องรวบรวมเอกสารต่างๆส่งไป เพื่อยืนยันความเป็นพลเมืองไทย เอาเป็นว่าขอบกพร่องตรงนี้เพราะมีสาเหตุก็แล้วกัน  มานั่งคิดว่าการออกคะแนนเสียงเป็นหน้าที่  แต่บางครั้งรัฐก็ควรที่จะมีกระบวนการที่ช่วยให้ลงคะแนนง่ายๆบ้าง กลายเป็นว่าคนที่อยากทำถูกกฎหมายนี่ไม่ค่อยทำได้ง่ายๆ ส่วนไอ้คนจ้องจะผิดนั่นน่ะ ไม่ต้องพยายามกันมากนักเลย ไม่งั้นจะมีเรื่องการแจ้งทุจริตการออกเสียงกันมากมายหรือ นับเป็นการเลือกตั้งประวัติศาสตร์จริงๆ


 


ผู้เขียนเอาเพลงร่วมสมัยกับ "คนขี้เหงา" เมื่อคราวก่อนมาจั่วหัวอีกเพราะว่า นึกถึงช่วงนั้นของชีวิตที่ว่าไม่ได้มีโอกาสได้เลือกตั้งสส. ช่วงที่นายกฯชาติชายได้ขึ้นมาครองอำนาจ  จากนั้นก็มี รสช. มีอะไรต่ออะไร ไม่ได้เลือกอีกเลยจนมาเรียนและ เมื่อกลับถึงไทยในต้นปี2540  ก็ยังไม่ได้เลือกเพราะนายกฯ ชวลิตขึ้นมาจากเลือกตั้งก่อนหน้า พอจะได้เลือกในปี 2543-2544 ก็มาที่นี่อีกที พูดง่ายๆว่าไม่ได้เลือกสส. มาเป็นสิบปี  คิดถึงมาก และ "หัวใจจึงขอมา"  ตอนนี้คิดอยู่ว่า ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการผิดพลาดที่ใหญ่โต แล้วมีเลือกตั้งใหม่ ตนเองอาจมีโอกาสไปกาเลือกสส. สักที


 


เรื่องที่มองถึงความหลังของชีวิตเป็นเรื่องของคนที่เริ่มมีอายุ หรือพูดง่ายๆว่าแก่  สมัยนั้นที่ฟังเพลงนี้ของ "ติ๊นา" ผู้เขียนมีเพื่อนชายคนสนิทที่ชอบเหลือเกินที่จะเป็นผีเสื้อราตรี กินดื่มเที่ยวได้ตลอดคืน ผู้เขียนก็ต้องตะลอนๆไปด้วย ตอนนั้นโง่มากที่ไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไร คิดว่าคนนี้แหละใช่เลย แต่ในที่สุดก็พบว่า อื้น คนเรานี่มันต่างกันจริงๆ อันนี้เจ้าตัวคนนั้นเองก็เคยเตือนผู้เขียนตอนแรกว่าเราต่างกันมาก แต่ผู้เขียนไม่เชื่อ นั่นคือไม่เชื่อว่าความต่างในเรื่องกระบวนการดำเนินชีวิต เรื่อง "วัฒนธรรม" ที่แต่ละคนโตขึ้นมา จะทำให้เกิดผลถึงขนาดนี้ 


 


วันนี้เมื่อมองย้อนกลับไป เห็นภาพชัดขึ้น  เข้าใจมากขึ้น นักวิชาการหลายคนในเมืองไทยพยายามเหลือเกินที่จะให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคมในทุกๆด้าน จริงๆ แล้วคงลืมนึกไปว่า สังคมอุดมคติแบบนั้นไม่มี และไม่มีวันจะมี สังคมอุดมคติที่พอเป็นไปได้คือ สังคมที่มีช่องว่างน้อยลงและมีการให้ความสำคัญในแต่ละกลุ่มทางสังคมอย่างเท่าเทียมกันหรือใกล้เคียงกัน ให้มากที่สุด  และต้องเข้าใจว่าสังคมแต่ละยุคแต่ละสมัยและแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน  ต้องมองในจุดนี้ด้วย


 


ที่ผ่านมา มีการให้ความเห็นกันว่า พรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศนั้นสามารถมีฐานเสียงจากกลุ่มที่เป็น "คนจน คนที่ด้อยโอกาส และคนที่อยู่ห่างไกล" เพราะด้วยกระบวนการกระจายผลประโยชน์บางอย่าง ที่เหมือนกับการ "เอื้ออาทร" จากเบื้องบน ทั้งที่ตรงนั้นคือกระบวนการที่เน้นความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ที่แปรรูปจากที่เป็นแบบแต่ก่อน มากลายเป็นการที่ให้กลุ่มเหล่านั้น สามารถได้ประโยชน์ต่างๆจากรัฐบาลได้ง่ายขึ้น


 


หลายคนพยายามที่จะบอกว่าตรงนั้นเป็นกระบวนการ "โฆษณาชวนเชื่อ" ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วย แต่ผู้เขียนยอมรับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยที่คนกลุ่มนี้ได้รับประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมขึ้น แม้อาจมีคนสงสัยว่า "เป็นของจริง" หรือไม่ก็ตาม


 


สิ่งที่ผู้เขียนมองทางวิชาการนั้นเป็นเรื่องว่า เรื่องแบบนี้เป็น "วงจรอุบาทว์" ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมากกว่า มีหลายคนให้ข้อสังเกตมาแล้วว่า คนกลุ่มนี้ก็เป็นเครื่องมือเท่านั้น แต่กลุ่มชนชั้นอื่นก็ไม่ได้ต่างกับคนกลุ่มนี้เท่าไร เพียงแต่ว่าเชื่อกันไปเองว่าคนกลุ่มนี้เท่านั้นที่เป็นเครื่องมือได้ง่าย ทั้งที่ทุกคนนั่นแหละสามารถตกเป็นเครื่องมือของคนอื่นได้ง่ายทั้งนั้น น่าอนาถยิ่งนัก


 


ผู้เขียนเป็นพลเมืองในสังคมไทยคนหนึ่งเท่านั้น หลายครั้งที่มองเข้ามาเมื่อต้องทำงานต่างถิ่นซึ่งตรงนี้ก็มีปัญหาไม่น้อยเช่นกัน ฝรั่งหรือไทยก็มีทั้งฉลาดมาก ฉลาดน้อยไม่ได้ต่างกัน  แต่สิ่งที่ตรงนี้ทำให้คนต่างกันคือคำว่า "วัฒนธรรม"หลายๆชุดที่ทำให้ตรงนี้มีความแข็งแรงกว่า (ไม่ได้บอกว่า "ดีกว่า") ทางปัญญาในโลกปัจจุบัน


 


คำถามต่อไปคือว่าเราจะทำอย่างไรที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม  อันนี้มีผู้ที่จะต้องการทำมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว บ้างก็ทำไปแล้ว ได้ผลมากบ้างน้อยบ้าง หรือเกิดผลร้ายต่อบุคคลนั้นๆเอง เพราะไปขัดกับฐานอำนาจทางวัฒนธรรมเดิม สมัยก่อนนั้นโลกไม่ซับซ้อนแบบเดี๋ยวนี้  หลายครั้งทำอะไรได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการกำจัดบางคนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ตอนนี้ทุกอย่างไม่ง่ายแบบแต่ก่อน แต่ไม่ใช่ว่าจะยากนัก  เพราะทุกครั้งก็มักมี "ดับเบิ้ลสแตนดาร์ด"อยู่เสมอ จึงมักได้ยินข่าวเรื่อง"อุ้ม"เสมอในสังคมไทย


 


ผู้เขียนชอบเพลง "หัวใจขอมา" แล้วมักเรียกเพลงนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "กลับมายืนที่เดิม" แต่แม้ว่าจะกลับมายืนที่เดิมได้ ที่ตรงนั้นก็ไม่เหมือนเดิม ยิ่งเวลาผ่านไปนาน การเปลี่ยนแปลงก็เข้ามาแทนที่ของเดิมๆมากมาย ฝรั่งมีสำนวนว่า "It will never be home again." ซึ่งหมายความว่า บ้านในปัจจุบันมันไม่ใช่บ้านเดิมที่เราคุ้นเคย เป็นได้ทั้งในเชิงวัตถุจับต้องได้และในเชิงสัญลักษณ์   จำได้ว่าทุกครั้งที่กลับบ้านเมืองไทย หลายอย่างเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับทุกครั้งที่กลับจากไทยมาที่อเมริกา ตรงนี้ก็ต่างไปอีกเช่นกัน ทั้งที่อาจเป็นเวลาเพียงแค่สัปดาห์หนึ่งหรือเดือนหนึ่งเท่านั้น


 


หลายครั้งที่เราคิดว่าเรากลับไปสู่จุดเดิมหรือที่เดิม ของเดิมๆไม่ได้หมายความว่าถอยหลังเข้าคลองเสมอไป และหลายครั้งที่เราคิดว่าเราพุ่งไปข้างหน้า แท้จริงแล้วเราก็ไม่ได้พุ่งไปข้างหน้าเสียจริงเท่าไร ดังนั้นการที่เราไม่ขยับตัวเลย ไม่ว่าไปข้างหน้าหรือถอยไปข้างหลังสักเก้าหรือสองก้าว นั่นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นของดีหรือเลวเสมอไป ไม่มีใครรู้กันจริงนักหรอกว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร


 


เฉกเช่นกับการที่เราเพิ่งมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาธิปไตยคืออะไร การเลือกตั้งคืออะไร สิทธิประโยชน์ของคนไทยในระบอบประชาธิปไตยคืออะไร กรอบในการนิยามเรื่องต่างๆเป็นอย่างไร เราเกาะติดกับกรอบบางอย่างที่พ้นสมัยไปหรือไม่ ใครหลอกใช้ใคร ใครทำร้ายใคร ใครช่วยใคร มันเป็นเพียงแค่จุดของเวลาเท่านั้น 


 


อาทิตย์หน้าผู้เขียนก็จะมามีงานเขียนตรงนี้ มาพบกันที่เดิม ต่างกันแค่จุดของเวลาเท่านั้น  แต่ความหมายหลายๆอย่างในชีวิตอาจเปลี่ยนไปมากกว่าที่คิดก็ได้  ซึ่งไม่มีใครรู้ในวันนี้