Skip to main content

การแพทย์ด้วยหัวใจมนุษย์

 


 


ศ.นพ.ประเวศ วะสี พูดถึง การแพทย์ด้วยหัวใจมนุษย์ ในหลายสถานที่หลายเวลา    อาจจะเป็นวาทกรรมใหม่ที่เปลี่ยนแปลงโฉมหน้างานรักษาพยาบาลในประเทศไทยครับ


 


การแพทย์ด้วยหัวใจมนุษย์มากจากคำว่า Humanized Health Care


 


ไม่ทราบเหมือนกันว่านิยามว่าอย่างไร  แต่เพราะนิยามไม่ได้จึงให้โอกาสพวกเราที่จะเติมความหมายได้ตามใจชอบ   หากนิยามได้ตั้งแต่ต้นก็อาจจะชักนำให้เกิดการปฏิบัติอย่างแข็งกระด้างเช่นเดิม


 


การแพทย์ด้วยหัวใจมนุษย์คงจะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับการแพทย์ด้วยหัวใจแข็งกระด้าง  หัวใจแข็งกระด้างไม่เหมือน หน้างอ รอนาน ปากร้าย      สามอย่างหลังเป็นเรื่องของพฤติกรรมการให้บริการ     ซึ่งน่าจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก


 


ที่จริงแล้ว    หัวใจแข็งกระด้างยังให้ความหมายในทางที่ดีอยู่บ้าง   กล่าวคือมิใช่เจ้าตัวอยากจะให้หัวใจแข็งกระด้างสักเท่าไร     แต่ด้วยเหตุปัจจัยจำนวนหนึ่งที่ทำให้แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในระดับต่างๆทำงานด้วยหัวใจแข็งกระด้างเสมอๆ  หรือหนักกว่านั้นคือไม่มีหัวใจ


 


เหตุปัจจัยเหล่านั้นก็ไม่น่าจะใช่ งานหนัก เงินน้อย หรอกครับ   สองอย่างนี้ก็ท่องติดปากพร่ำเพรื่อและใช้มอมเมาแพทย์พยาบาลรุ่นใหม่จนเสียนิสัย    เป็นคนหนุ่มคนสาวถ้าไม่รักงานหนักเงินน้อยก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร    


 


หัวใจแข็งกระด้างน่าจะเกิดจากตัวโครงสร้าง


 


โครงสร้างที่หนึ่งคือโรงเรียนแพทย์สอนนักศึกษาแพทย์ให้เรียนเรื่องโรค   มิใช่เรียนเรื่องคน


โครงสร้างที่สองคือโรงพยาบาลสอนให้บุคลากรทำตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัดและแข็งกระด้าง  หรืออย่างน้อยก็ชวนเชื่อให้บุคลากรคิดว่าตนเองกำลังทำตามมาตรฐานที่ดี   แต่ลืมสนใจคน


 


กลับไปที่โรงเรียนแพทย์  มี 2 ตัวอย่าง


ตัวอย่างแรกคือนักศึกษาแพทย์ถูกบังคับให้ซักประวัติผู้ป่วยเพื่อการวินิจฉัยอย่างเอาเป็นเอาตาย   ผลที่เกิดขึ้นคือนักศึกษาแพทย์ต้องใช้ทุกวินาทีที่มีจำกัดในการรีดเค้นเอาข้อมูลจากผู้ป่วยให้จงได้     พูดให้เว่อร์ๆคือเกือบจะคล้ายๆกำลังทรมานนักโทษสงครามในหนัง  


 


ที่ผมเห็นเสมอๆคือแพทย์รุ่นใหม่มักเอาจริงเอาจังหรือเอาเป็นเอาตายกับเรื่องที่ผู้ป่วยตอบไม่ตรงคำถาม  ถามอย่างหนึ่งตอบไปอีกอย่างหนึ่ง  แพทย์ก็บันทึกไม่ถูกหรือไม่เป็นไปตามลำดับ   ก็จะเพียรพยายามเซ้าซี้เอาคำตอบ  เพียงเท่านี้ก็หมดโอกาสสร้างสายสัมพันธ์


 


ในทางตรงข้ามถ้าผู้ป่วยว่าเจ็บท้องมา "นาน" แล้ว   แทนที่จะพยายามหาคำตอบให้ได้ว่านานเท่าไร        ให้ลุกขึ้นเดินไปนั่งข้างๆผู้ป่วยใช้มือแตะท้องผู้ป่วยสักนิดแล้วแสดงความสนใจว่าเจ็บตรงไหนเสียก่อน     สายสัมพันธ์ก็เริ่มก่อตัวได้โดยง่าย    


 


ตัวอย่างที่สองคือนักศึกษาแพทย์ทุกคนต้องเรียนผ่าศพเพื่อศึกษากายวิภาคมนุษย์      วิชาผ่าศพเป็นวิชาที่ทรงคุณค่า   แต่ที่ผ่านมานักศึกษาแพทย์สนใจศพและอวัยวะต่างๆว่าวางตรงไหน   หันทิศไหน  จนกระทั่งละเลยมิติทางจิตวิญญาณไปอย่างน่าเสียดาย


 


ศพ เป็น "มนุษย์" ที่สามารถเหนี่ยวนำให้นักศึกษาแพทย์เข้าถึงหัวใจมนุษย์ได้ง่าย    เพียงแต่เรายังไม่รู้วิธีและไม่มีเวลาที่จะคุยกันเพื่อให้รู้วิธี


 


นั่นคือนักศึกษาแพทย์ถูกสั่งสอนมาให้ละเลยมนุษย์ตั้งแต่ต้น  กลับมาที่โรงพยาบาล   และเรื่องมาตรฐาน


 


"เตียงนี้สกอร์เท่าไร" เป็นพยาบาลท่านหนึ่งถามเพื่อนร่วมงาน   เธอหมายถึงคะแนนบ่งบอกระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย    โคม่าหรือไม่โคม่า  โคม่ากี่แต้มหรือไม่โคม่ากี่แต้ม


"เตียง 9 ปวดแผลมากเลยนะคะ" เป็นรุ่นน้องพยาบาลรายงานรุ่นพี่


"เพนสกอร์เท่าไรล่ะ" คนพูดกำลังหมายถึงคะแนนชี้บ่งระดับความเจ็บปวด Pain Score  "บันทึกเอาไว้ด้วยนะ"


"เตียง 11 มีแผลกดทับแล้วนะคะ" อีกคนหนึ่งรายงาน


"ใส่คะแนนไว้ด้วย" หมายถึงคะแนนบอกความรุนแรงของแผลกดทับ


 


สรุปว่าเตียง 11 นั้นเฉลี่ยแล้ว 2.4  แต่ไม่ทราบว่าเขาชื่ออะไร ตัวเลขต่างๆเหล่านี้จะถูกบันทึกลงในประวัติผู้ป่วยอย่างได้มาตรฐาน     นำไปสู่การรักษาพยาบาลเพื่อแก้ไขตัวเลขให้ดีขึ้น  แต่การเคร่งครัดกับมาตรฐานอย่างแข็งกระด้างเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การแพทย์ละเลยหัวใจมนุษย์ครับ