Skip to main content

"ความเป็นกลาง" ณ โพนพิสัย

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


 


๒๔ ๑/


 


มองบ้านเมืองของเราในวันนี้ มันช่างชวนให้อ่อนเพลียละเหี่ยใจเสียเหลือเกิน


 


เรามองเห็น "การปะทะ" ของกลุ่มคนที่มีความคิด-ความรู้สึกต่างกันในสังคมที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ...จนเกรงว่าภาพความรุนแรงอันเนื่องมาจากความขัดแย้งในอดีตเมื่อสามสิบปีที่แล้วกำลังจะมีภาคสองในเร็ววัน


 


...อันอาจจะเป็นภาคสองที่รุนแรง และจบยากกว่าภาคที่แล้วเสียด้วยซ้ำ


 


ในเวลานี้ เสียงของคำว่า "ความเป็นกลาง" ดังระงมขึ้นในสังคมอย่างต่อเนื่อง...แต่เสียงของความเป็นกลางเหล่านั้นกลับไปในทิศทางประเภท "หยุดๆ ชุมนุมกันสักทีได้มั้ย บ้านเมืองจะได้สงบสักที"


 


คล้ายว่าหลายคนจะเข้าใจว่า การลืมๆ เรื่องที่เกิดขึ้น แล้วทำเหมือนกับว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นเลย จะเป็น "ความเป็นกลาง" อย่างแท้จริง


 


แต่มันใช่จริงๆ หรือ...


 


ผมกลับคิดถึงหนังไทยดีๆ เรื่องนึง ที่ออกฉายไปเมื่อสี่ซ้าห้าปีก่อน ซึ่งไม่ใช่หนังการเมือง ไม่ได้มีบรรยากาศเคร่งเครียด แถมยังออกมาในโทนชวนอมยิ้มเสียมากกว่า


 


...ผมกำลังคิดถึง "๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑" ฝีมือคุณจิระ มะลิกุลนั่นเองครับ


 


 


                                               


 


          (ภาพจาก http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/newmovie/mekongfullmoon/15.html)


 


หนังเรื่องนี้เล่าถึง "ความแตกต่างทางความเชื่อ/ความคิด" ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ผ่านทางปรากฏการณ์ "บั้งไฟพญานาค" ที่เกิดขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี ณ แม่น้ำโขง ฝั่งอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย


 


บางคนเชื่อว่าบั้งไฟพญานาคเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ บางคนเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น บางคนเป็นผู้สร้างมันมากับมือ บางคนที่เคยร่วมสร้างมันขึ้น ก็ไม่อยากสร้างมันต่อไป และบางคน...ก็ไม่ได้สนใจว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร


 


แต่ทุกคนที่ผมพูดถึง ก็สามารถนั่งดูบั้งไฟพญานาคร่วมลำน้ำกันได้ โดยไม่มีเรื่องบาดหมางหัวใจกันมากมาย และทุกคนต่างก็ยังยืนอยู่ที่ฝั่งความเชื่อของตัวเองอยู่นั่นแหละ


 


แม้ภาพของหนัง จะสะท้อนถึงความแตกต่างทางความเชื่อ แต่ผมกลับรู้สึกได้ว่าหนังเรื่องนี้กำลังฉายภาพ "ความเป็นกลาง" ที่ควรจะเกิดในสังคมไทยในขณะนี้ ซึ่งไม่ใช่ "ความเป็นกลาง" แบบเรียกร้องให้ทุกคนเลิกทำในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ แต่เป็นการทำตามสิ่งที่ตัวเองเชื่อ โดยที่ไม่ได้ไปรุกราน "ความเชื่อ" ของฝ่ายที่อาจจะเห็นไม่ตรงกับตน


 


ในหนังได้แสดงว่า แม้ต่างฝ่ายต่างเห็นต่างกัน แต่สิ่งที่ทุกตัวละครในหนังเรื่องนี้ทำ คือการ "รักษาความเชื่อ" ของตัวเอง และถกเถียงกับความเชื่อที่เห็นต่าง โดยที่ไม่ได้นำความแตกต่างไปเป็นอาวุธไปทำร้ายคนที่คิดต่างกับเรา (ผมได้เห็นหลวงพ่อที่เป็นคน "สร้าง" บั้งไฟ ปะทะความคิดกับเด็กหนุ่มที่ไม่อยากสมรู้ร่วมคิดในการสร้าง ได้เห็นชาวบ้านที่มีความเชื่อมานานนมเกี่ยวกับบั้งไฟพญานาค ตั้งคำถามกับหมอที่พยายามพิสูจน์ปรากฏการณ์ว่า "คุณหมอนับถือศาสนาพุทธหรือเปล่าครับ" แต่เราไม่ได้เห็นบรรดาชาวบ้านมาล้อมบ้านคุณหมอคนนั้น พร้อมทั้งบังคับให้หมอยอมรับผิดเหมือนกับที่เราได้เห็นในเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศสักประเทศแถวๆ นี้ :-P )


 


ผมรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้คือ "ความเป็นกลาง" อย่างแท้จริง แต่ "ความเป็นกลาง" ประเภท "เปิดไฟหน้ารถ แล้วก็จบๆ กันไปซะ" ที่เราเห็นกันเยอะๆ ในสังคมนั้น เป็นเพียงแค่การซุกความขัดแย้งไว้ใต้พรม และโชว์ภาพที่สวยงามไว้เบื้องหน้า


 


ซึ่งสักวัน ความขัดแย้งเหล่านั้นจะปรากฏขึ้น ในอัตราความรุนแรงที่มากขึ้นเกินกว่าจะคาดคิด...


 


ผมยังเชื่อว่า ความขัดแย้งเป็นสิ่งจำเป็นในโลก เพราะความคิดที่แตกต่างจะนำมาสู่การสร้างสิ่งที่ดีกว่าในโลก ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นกว่าการหยุดความขัดแย้ง คือการจัดการความขัดแย้ง ไม่ให้ข้ามเส้นไปสู่การทำลายล้าง และให้ทุกคนได้ "เฮ็ดในสิ่งที่เซื่อ เซื่อในสิ่งที่เฮ็ด" เหมือนกับสโลแกนหลักของหนังเรื่องนี้


 


ถ้าเราทำได้เช่นนั้น สังคมไทยในปัจจุบัน ก็คงเหมือนที่ริมน้ำโขง ณ อำเภอโพนพิสัย...ที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้