Skip to main content

ครัวของชาวลาหู่ (มูเซอ) ในฤดูที่แห้งแล้ง

คอลัมน์/ชุมชน

บ่ายวันอาทิตย์ที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ หลังจากไปทำหน้าที่เลือกตั้งแล้ว สวดมนต์ถวายพระพรสมเด็จพระเทพรัตน์ ฯ แล้ว พอมีเวลาก่อนค่ำอีกหลายชั่วโมง ดิฉันจึงชวนสามีไปเยี่ยมพ่อเฒ่าจะพือ ผู้นำชาวลาหู่ ซึ่งมีอายุเกินร้อยปี ที่ครอบครัวเราเคารพนับถือมานาน เดี๋ยวนี้ทางเข้าหมู่บ้านจะพือ ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย เป็นทางลาดยางแล้ว ขับรถจากบ้านในเมืองเชียงราย ไปถึงบ้านพ่อเฒ่าใช้เวลาแค่ ๔๐ นาที ต่างจากสมัยที่ดิฉันออกค่ายเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ ต้องเดินเท้า ๔-๕ ชั่วโมง


 


 


หมู่บ้านจะพือมีฐานะทางเศรษฐกิจดี เพราะชาวลาหู่ขยันมาก แต่ละปีจะปลูกพืชได้เงินไม่น้อยกว่าสองสามแสนบาท สภาพบ้านเรือนทั่วไปเป็นบ้านหลังใหญ่ มีรถกระบะหรืออย่างน้อย รถมอเตอร์ไซด์ เกือบทุกหลังคา


 


 


หลานสาวของพ่อเฒ่าจะพือ ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จังหวัดเชียงราย ออกมาต้อนรับ พาไปหาพ่อเฒ่าซึ่งนอนอยู่บนที่นอน เธอบอกว่า ปีนี้พ่อเฒ่าอายุ ๑๐๘ ปีแล้ว หูไม่ค่อยดี ต้องพูดดัง ๆ จึงได้ยิน กระดูกเข่าก็หมดอายุ เดินไม่ได้ ต้องนั่งถัด ๆ ไป





                                           


  


 






พ่อเฒ่าสายตาฝ้ามัวลงมาก จำสามีกับดิฉันไม่ได้ หลานสาวต้องทวนความจำในอดีต จึงจำกันได้ พ่อเฒ่าอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ยังใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ด้วยการสานตะกร้าใบเล็กๆ ที่ใช้ประกอบพิธี ดิฉันดูคุณภาพสานตะกร้าแล้ว เห็นความละเอียดประณีตของฝีมือ ทั้งๆ ที่มองเห็นด้วยตาเพียงข้างเดียว ไม่ได้ใส่แว่นด้วยซ้ำไป ตั้งแต่หัวเข่าเสีย พ่อเฒ่าจึงไม่ได้เดินไปที่ไหน วันๆ ก็นั่งอยู่บ้าน มีลูกหลานดูแล มีหลานชายที่ประสบอุบัติเหตุขาเสีย ใช้รถเข็น ก็ไปยืมของเขามาใช้ ได้ออกไปเปิดหูเปิดตาให้หายเบื่อ


 


 


                           


 


                                             


 


ดิฉันถามว่า ถ้าหารถเข็นมาให้ พ่อเฒ่าจะใช้ไหม พ่อเฒ่ายิ้มตาวาว บอกว่าถ้าได้จะดีใจ ชอบใจมาก สามีจึงรับปากว่าจะหาให้โดยเร็ว


 


ออกจากบ้านพ่อเฒ่าแล้ว ดิฉันเดินดูความเป็นอยู่ของชาวบ้าน เห็นชาวบ้านกำลังเตรียม หัวขิงทำพันธุ์ เพื่อปลูกในฤดูฝน ถามชายคนหนึ่งว่าปีนี้จะปลูกกี่กิโล เขาตอบว่า ๒,๐๐๐ กิโล ถ้าได้ผลดีจะเก็บได้ไม่น้อยกว่า ๒๐,๐๐๐ กิโล ราคาขิงแก่ที่ขายได้ กิโลละ ๒๕ – ๓๕ แต่บางปี อาจราคาตกเหลือ ๑๐ - ๑๕  บาท หรือแค่กิโลละ ๒ บาทก็ไม่มีใครซื้อ


 


สังเกตว่าผู้ใหญ่ในหมู่บ้านนี้ค่อนข้างอ้วน ท้วม ต่างจากชาวมูเซอแดงที่บ้านอื่น ๆ หลานสาวของพ่อเฒ่าจะพือกับพ่อแม่ของเธอก็ตัวใหญ่เหมือนกัน


 


ผู้หญิง ๓ คนสะพายย่ามเดินมาตามถนน เธอไปเก็บผักกูดมาจากลำห้วย อาหารหลัก ของฤดูร้อนคือผักกูด ซึ่งจะมีรสอร่อยเพราะผลิยอดอ่อนใหม่ (ไม่เหมือนผักกูดฤดูฝน ซึ่งจะมีน้ำมากเกินไป)


 


บ้านของเธอเป็นบ้านไม้กระดานหลังใหญ่มาก อยู่กันแค่ ๓ คน เพราะลูกๆ หลายคนออกไปทำงานที่กรุงเทพ ฯ หาดใหญ่ นาน ๆ จะกลับมาเยี่ยมบ้านครั้งหนึ่ง


 


ความเป็นอยู่ของหมู่บ้านบนดอย ที่มีหน่วยงานพัฒนาเข้ามามาก มีถนน มีไฟฟ้า จะปรับตัว กลืนกลายเป็นการใช้ชีวิตแบบคนในเมือง บริโภควัตถุมากขึ้น มีโทรศัพท์ มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อความสะดวก ทั้งตู้เย็น ทีวี จานดาวเทียม หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เครื่องซักผ้า เตาแก๊ส การบริโภคก็เปลี่ยนไป มีร้านขายของอุปโภคบริโภค เหมือนคนในเมือง สบู่ แชมพู น้ำมันพืช ขนมกรุบกรอบ อาหารกระป๋อง ฯลฯ เงินจึงเป็นปัจจัยสำคัญของชีวิต ต่างจากเมื่อ ๒๐ -๓๐ ปีก่อน แม้ไม่มีเงินสักบาทก็อยู่ได้เป็นปี เพราะปัจจัย ๔ ผลิตได้เอง หรือหาได้จากป่าทั้งหมด พึ่งพาอาศัยกันในชุมชน ไม่ต้องจ้างแรงงาน ไม่ต้องซื้อ


 


ห่างจากบ้านจะพือหมู่บ้านใหญ่ แค่เดินไป ๕ – ๑๐ นาที เป็นกลุ่มบ้านใหม่ ที่ย้ายมาจากหมู่บ้านใกล้ ๆ เป็นสันเขาที่มีกระท่อมไม้ไผ่อยู่เกือบ ๒๐ หลัง ดิฉันพบนามีแซะ สาวน้อยจากบ้าน จะบูสี เธอแต่งงานแล้วย้ายมาอยู่ที่นี่ได้ ๒ ปีแล้ว


 


กระท่อมไม้ไผ่หลังน้อย มีชีวิตชีวา อบอุ่น ดูเป็นกันเองกว่าบ้านไม้ บ้านปูนหลังใหญ่แบบ คนในเมือง ดิฉันเดินไปเยี่ยมบ้านนามีแซะ เธอไปเก็บผักจากในนา คือ ผักขม ที่มีหนามอ่อน รสขมปะแล่ม ๆ ยอดชะอม ยอดอ่อนกับดอกอ่อนของสะบ้า (ซึ่งดิฉันอยู่บนดอยมานานแล้ว เพิ่งเคยเห็นวันนี้เอง) กับมะเขือเทศพื้นเมือง ลูกเล็กสีส้ม สีแดง เย็นนี้เธอจะแกงยอดสะบ้า กับชะอม ซึ่งกลิ่นรสเข้ากันดี กับต้มผักขมและตำน้ำพริกมะเขือเทศ ดิฉันขอกินข้าวเย็นด้วย ซื้อไข่ไก่มาสมทบ เด็กๆจะได้มากินด้วย


 


                                      


                                       


 


 


 


หนูน้อยหน้าหวาน ฟันสวยมาก เรียบเป็นธรรมชาติ ชื่อวารุณี อายุ ๑๔ ปี เรียนอยู่ ม.๓ กับเด็กชายตรีเพชร ซึ่งเรียนแค่ ป.๕ แล้วออกมาช่วยพ่อเลี้ยงวัว เพราะไม่ชอบเรียน พาเดิน เยี่ยมหมู่บ้าน บอกว่าตาของเธอชื่อพ่อเฒ่าจะที ย้ายจากบ้านลีซอปางสามาอยู่ที่นี่แล้ว เพราะ ไม่สบาย


 


พ่อเฒ่าจะทีเป็นคนเก่าแก่ เคยอยู่หมู่บ้านจะดะซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ ทางการขอให้ย้ายมาอยู่ ปางสา เดือนก่อนขาแขนเป็นอัมพฤกษ์ไปข้างหนึ่ง ขณะนี้อาการดีขึ้นแล้ว เดินได้เอง บนบ้านของ พ่อเฒ่ามีหลาน ๓ คน นั่งกินน้ำผึ้งที่เก็บมาจากผึ้งตัวเล็ก ที่เรียกว่า ตัวมิ้น น้ำผึ้งกับรังผึ้ง ในใบตองดูน่าอร่อย เป็นอาหารที่ธรรมชาติให้มาตามฤดูกาล ไม่ต้องผ่านการปรุงแต่ง ลูกสะใภ้ ของพ่อเฒ่าท่าทางเฉลียวฉลาด เธอทำหน้าที่ผู้ติดต่อกับเทพเจ้า (แมบูมา) มีกระท่อมปักตุงสีขาว ที่ใช้ทำพิธี (เปรียบเหมือนวัดของชาวพุทธ) เธอพาดิฉันเข้าไปใน "วัด" ซึ่งมีเครื่องเซ่นไหว้ที่ชาวบ้าน นำมาบูชาเทวดาใหญ่ (อื่อซา) เวลาที่เทวดามาเข้าร่างเธอ เธอจะพูดตามที่เทวดาสั่ง เช่น สวดมนต์ เพื่อแก้อาการป่วยของผู้ที่มาเข้ารักษา บอกผู้ป่วยกินยาสมุนไพรชนิดต่าง ๆ เวลา สวดมนต์ ทำพิธี เธอจะใส่เสื้อและหมวกแสดงสัญลักษณ์ในการทำหน้าที่


 


 


 



 


                                  


 


 


 


 


พ่อเฒ่าจะทีกับแมบูมา เดินมาร่วมกินอาหารเย็นด้วย ห้องครัวของชาวลาหู่วันนี้ดูคึกคัก หลายคนช่วยกันทำอาหาร เตาพื้นถูกใช้ประโยชน์เต็มที่ ทั้งหุงข้าว ต้มผักขม ตั้งกระทะต้มยอดสะบ้า กับชะอม ย่างมะเขือเทศในขี้เถ้า ตำน้ำพริกในครกไม้ และทอดไข่เจียว


 


 


 


 


                                 


 


 


 


 


อาหารตั้งในโตกดูน่าอร่อย เสียดายที่ข้าวไม่อร่อย ทั้งที่เป็นข้าวนาซึ่งปลูกเอง เพราะเป็นข้าวที่สีจากโรงสี ขัดขาว จึงจืดชืด ไม่เหมือนข้าวดอยพันธุ์พื้นเมือง ตำด้วยครกกระเดื่องซึ่งมีรสชาติอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แค่กินข้าวหุงใหม่ ๆ ร้อน ๆ กับน้ำพริก ก็อร่อยได้


 


เรื่องที่คุยในวงข้าวมีสามเรื่อง เรื่องแรกคือ ภูเขารอบหมู่บ้านถูกถางและเผาจนโล่งเตียน ดูแห้งแล้งไปทั่ว ชาวบ้านน่าจะคิดปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดิน และเก็บความชื้นในดิน กำหนดเขตป่าอนุรักษ์ให้ชัดเจน


 


ปัญหาที่ชาวบ้านสะท้อน คือ เคยปลูกแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ชาวบ้านใช้ยาฆ่าหญ้ากันมาก เมื่อมีหญ้าคาก็ไม่ขุดทิ้งอย่างที่เคย ใช้สารเคมีปราบตายทั้งราก หญ้าแฝกก็ตายด้วย ชาวบ้านไปไร่ ก็ใช้รถหรือมอเตอร์ไซด์ ไม่ได้ออกแรง จึงอ้วนขึ้นเรื่อย ๆ และป่วยเป็นโรคที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เช่น อัมพฤกษ์ เบาหวาน เป็นต้น


 


เรื่องที่สอง การกินข้าวที่สีจนขาว เปลืองทั้งค่ารถขนข้าวไปโรงสี ทั้งค่าจ้างสีข้าว ถ้ามีครกตำข้าว ชาวบ้านได้ออกแรง ได้วิตามิน จมูกข้าว เส้นกากใยที่เป็นประโยชน์ทางโภชนาการ ทุกคนในครอบครัวได้ช่วยกันทำงาน เด็กๆ ได้ทำประโยชน์ต่อครอบครัว คนอ้วนก็จะลดไขมันลง ร่างกายแข็งแรงขึ้น


 


เรื่องที่สาม เด็กรุ่นโตอายุ ๑๓ – ๑๔ ได้กินอาหารธรรมชาติมาตั้งแต่เกิด จึงสุขภาพดี ฟันแข็งแรง ฟันสวย แต่เด็กเล็กรุ่นใหม่ โตมาหน่อยก็เห็นแต่ขนมไร้คุณภาพ น้ำหวานใส่สี ลูกอม ร้องงอแงขอเงินพ่อแม่ไปซื้อมากิน จนฟันผุ ผอมพุงโร เพราะในท้องมีแต่อาหารขยะไร้คุณภาพ จนกระทรวงสาธารณสุขรายงานสถานการณ์ของเด็กไทยว่า น้ำหนัก ส่วนสูง และไอคิวต่ำกว่ามาตรฐาน เนื่องจากการเลี้ยงดูไม่ถูกสุขลักษณะตั้งแต่อยู่ในท้องพ่อแม่ แม้แต่เด็กในกรุง ถ้าพ่อแม่ขาดความรู้ ไม่เอาใจใส่ลูก ก็เลี้ยงดูลูกไม่ได้ดีเหมือนกัน


 


เมื่อลากลับมองขึ้นไปบนฟากฟ้า เป็นเวลาที่พระจันทร์ข้างขึ้น ๕ ค่ำ ลอยเด่นอยู่คู่กับดวงดาวระยิบระยับดารดาษ สุขใจไหนเล่าจะเท่ากับการอยู่อย่างเรียบง่ายในธรรมชาติ ขอให้ทุกท่านได้สัมผัสสุขนี้โดยทั่วกันนะคะ