Skip to main content

เรื่องของความหมาย

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


หลังจากที่ผู้เขียนส่งต้นฉบับให้"ประชาไท" เมื่อสัปดาห์ที่แล้วไม่ทันครบ 24 ชั่วโมง ก็มีข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ประกาศเว้นวรรคทางการเมือง นึกเสียดายว่าแหม ส่งต้นฉบับเร็วไปหน่อย ไม่งั้นคงได้เขียนอะไรต่อจากข่าวนั้น ไอ้ครั้นจะเขียนต่อในสัปดาห์ถัดมาอาจไม่ฮ็อตมากนัก ไม่ค่อยสดว่างั้นเถอะ 


 


อย่างไรก็ตาม ขอแทรกไว้ตรงนี้ก่อนว่า งานเขียนของผู้เขียนนั้นเป็นเรื่อง "ทัศนะ" หลายครั้งก็มีข้อมูล และหลายครั้งก็เป็นความคิดที่เกิดขึ้นเอง เรียกว่า Intuition ซึ่งจุดนี้ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานมาอ้างอิงมากมาย เพียงแต่จะจุดชนวนให้ผู้อ่านไปคิดต่อหรือโยนทิ้งไปก็ได้  หลายหนที่ Intuition นี่แหละนำไปสู่เรื่องอื่นๆ ที่ไม่เคยรู้ได้ต่อไปเพราะเป็นต้นเหตุให้คนสามารถตั้งคำถาม นอกจากนี้แล้ว ถ้าจะเขียนให้ "มีหลักฐาน" ชัดเจนแบบเชิงวิทยาศาสตร์มากๆ แบบงานค้นคว้าวิจัย ผู้เขียนขออนุญาตไม่เขียนตรงนี้ เพราะว่าไม่ใช่จุดประสงค์ของผู้เขียนที่อาสามาเขียนให้ และ "ประชาไท" ก็เข้าใจผู้เขียนในจุดนี้ ซึ่งท่านที่อยากอ่านแบบดังกล่าวจากผู้เขียนก็คงมีไม่มากนัก


 


กลับมาที่ว่าเรื่องของการ "เว้นวรรค" ดังกล่าว  ผู้เขียนไม่ถึงกับประหลาดใจนักเพราะเป็นเรื่องที่มีผู้คนพูดกันมาก หลายฝ่ายพอใจ และหลายฝ่ายยิ่งไม่พอใจกับการประกาศดังกล่าว แต่ผู้เขียนนั้นพอใจมากกว่าไม่พอใจ


 


ที่บอกว่าพอใจมากกว่าไม่พอใจก็คือ อย่างน้อยถือว่าเป็นการซื้อเวลา และลดภาวะกดดันที่น่ากลัว แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญหาที่แท้จริงหมดไป เพราะแท้จริงแล้วปัญหานั้นยังอยู่ แต่ว่าเป็นการพักยกการต่อสู้เพื่อหาคำตอบของหลายฝ่ายที่ผ่านมา


 


มีการให้ความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย  ซึ่งหลายคนเริ่มตั้งคำถามมากขึ้น หลายคนแสดงความไม่พอใจ หลายคนอยากให้เรื่องนี้ชัดเจนกว่านี้ และหลายคนที่ไม่พอใจมองว่านี่อาจเป็นกับดักบางอย่างจากฝ่ายรัฐบาลและอาจมีผลในทางลบต่อไป


 


อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกคนสร้างความหมายตามกรอบของตนเอง และไม่ใช่เรื่องเสียหายที่จะทำ ยกเว้นว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายล้มตายในสังคมซึ่งอันนี้ก็ไม่ชัดเจนอีกเช่นกัน


 


บทความนี้จึงเป็นเรื่องของความหมายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เอามาให้คิดๆ และพิจารณากัน 


 


สมัยที่ผู้เขียนเรียนปริญญาตรีนั้น ผู้เขียนเรียนเรื่อง Generative Grammar & Transformational Grammar มีเจ้าลัทธิดังคือ Noam Chomsky ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่ได้เล่นเรื่องภาษาศาสตร์แต่เล่นเรื่องปรัชญาและการเมือง เคยได้เจอตัวจริงเมื่อตอนเรียนโทที่แคนซัส เธอไปเป็นผู้บรรยายให้ทั้งมหาวิทยาลัยในเรื่องของ Iran-Contra[1]


 


เรื่องของ Generative Grammar & Transformational Grammar บอกว่ามนุษย์นั้นมีความสามารถเรื่องการสร้างภาษาและการให้ความหมายภาษา ทั้งที่มีคำไม่กี่คำ แต่การเรียงคำนั่นแหละทำให้เกิดความหมายได้มากมาย อันนี้คือคุณสมบัติของมนุษย์ที่สัตว์อื่นไม่มี ดังนั้น การตีความก็ต้องมีกลไกด้วยเช่นกัน ความหมายของประโยคหนึ่งๆหรือแม้กระทั่งวลีหนึ่งก็มีมากกว่าที่เราคิด และเป็นไปได้ในทุกภาษา เช่น  


 


(1) It is drinking water.---ประโยคโครงสร้างพื้นผิว


It is water. Water is for drinking.---ประโยคโครงสร้างลึก


(2) That is a flying bird.---ประโยคโครงสร้างพื้นผิว


That is a bird. The bird can fly (or the bird is flying).---ประโยคโครงสร้างลึก


 


นี่เป็นเพียงแค่เรื่องพื้นๆ ที่มองในระดับโครงสร้างของภาษาและความหมายในระดับต้นๆ ผู้ที่ศึกษามาด้านภาษาศาสตร์และนิเทศศาสตร์จะมีวิธีเข้าใจภาษาได้มากกว่านี้ ไม่ว่าเป็นเรื่องของ Ethnography of Communication, Rhetorical Studies, Discourse Analysis เรื่องของความหมาย เนื้อหา และภาษามีมากกว่าที่ชอมสกี้อธิบายไว้ในตอนปลายปี 1960 และต้น 1970 ผู้เขียนดีใจที่ได้เรียนมา หลายครั้งก็มีพลาดที่จะเข้าใจและให้ความหมาย แต่พยายามแก้ไข น่าเสียดายที่คนทั่วไปไม่ละเอียดอ่อนพอที่จะเข้าใจว่า เรื่องของความหมายในการสื่อสารถือเป็นเรื่องสำคัญ


 


ตรงนี้ มีพังเพยไทยแบบง่ายๆ ว่า "ฟังไม่ได้ศัพท์ จับเอาไปกระเดียด"  ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารอยู่บ่อยๆ


 


ที่ยากกว่าตรงนั้นคือเรื่องของความหมายที่ลึกลงไปมากกว่าที่คนนอกวงการจะเข้าใจหรือคนที่ไม่มีประสบการณ์ร่วมจะเข้าใจ หลายครั้งคนส่งสารอาจไม่ได้ทันคิดว่าคนรับสารอาจไม่เข้าใจหรือมีอคติพอกพูนมากเกินไป  แต่หลายครั้งผู้รับสารเองก็ไม่พยายามมองให้ลึกและเข้าใจให้ได้ บอกอย่างเดียวว่าเอาอะไรมาแบบง่ายๆ ก็แล้วกัน หรือไม่เช่นนั้นก็จะมีการตั้งแง่อยู่ในใจหรือมีอคติมากเกินไปเช่นกัน การสื่อสารจึงล้มเหลว


 


การประกาศเว้นวรรคทางการเมือง ถือเป็นสารที่มีมากกว่าความหมายระดับพื้นผิว การด่วนสรุปว่าจบแล้วหรือปัญหาสิ้นสุดนั้น จึงเป็นการมักง่ายเกินไป และอาจตกหลุมพรางได้ง่าย ถ้าคนคิดไม่รอบคอบ ไม่เฉลียวใจ หลายครั้งที่คนมักมองอะไรแค่ผิวๆ แล้วก็มักเสียใจภายหลัง


 


ในขณะเดียวกัน การประกาศต่างๆ ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องถูกเสมอไป หลายหนที่ผู้ฟังอย่างเราๆ ท่านๆ ต้องระวัง มิเช่นนั้นก็จะเข้าใจอะไรในระดับโครงสร้างพื้นผิวเท่านั้น


 


หลังจากที่ผู้เขียนได้ข่าวดังกล่าว ก็ได้โทรไปคุยกับเพื่อนรุ่นพี่ผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านที่ตื่นตัวต่อข่าวสารบ้านเมือง ได้ความเห็นมาว่าโล่งอกที่มีการประกาศดังกล่าว แต่กลับไปโมโหกลุ่มพันธมิตรที่ไม่เลิกเดินขบวนเสียที ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการเดินทางไปรับลูก ผู้เขียนรีบบอกทันทีว่าอย่าเพิ่งด่วนสรุป ขอให้มองไปอีกสักพัก เพราะว่าอะไรที่ให้เราเห็นมันอาจจะไม่ใช่ทุกอย่างที่เป็นจริง พูดง่ายคือ โครงสร้างลึกเป็นอย่างไร เรายังไม่รู้ อย่าเพิ่งด่วนสรุป


 


ผู้เขียนมักใช้ตัวอย่างของหนังเรื่อง Wag the Dog[2] มาช่วยอธิบายเสมอเวลาพูดถึงความหมายเชิงซ้อนต่างๆ ของพฤติกรรมมนุษย์ โดยเฉพาะเรื่องวาทกรรมการเมือง  หนังเรื่องนี้บอกอย่างชัดเจนว่า คนเรานั้นมักเชื่อในสิ่งที่ตนเห็นและหลายครั้งก็ปักใจเชื่ออย่างจริงจัง ไม่เคยตั้งข้อสงสัย จนในที่สุดก็ไม่สามารถคิดอะไรได้ และกลายเป็นเหยื่อของคนมาให้ข้อมูลอย่างลืมหูลืมตาไม่ขึ้น


 


เรื่องของความหมายจึงเป็นเรื่องที่พูดได้ตลอดกาล เพียงแต่ว่าปัญหาจากเรื่องนี้ก็เกิดได้มาตลอด ไม่ว่าในยุคไหนๆ ของมนุษย์ มนุษย์เรากันเองนี่แหละน่ากลัวที่สุดเพราะหลอกกันเองตลอดเวลา


 


 






[1] อ่านเพิ่มเติม ภาษาอังกฤษได้ที่  http://www.pbs.org/wgbh/amex/reagan/peopleevents/pande08.html


 และภาษาไทยคร่าวๆได้ที่ http://www.geocities.com/drsak/youngturk/youngturk009.txt