Skip to main content

สืบสานล้านนา ประเพณีปีใหม่เมือง ม่วนงันสันเล้า บ่กิ๋นเหล้าปีใหม่เมือง

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อวันศุกร์ที่ ๗ เมษายน ๒๕๔๙ นี้ คุณชัชวาลย์ ทองดีเลิศ และคุณนิคม พุทธา ซึ่งเป็น "สมาชิกอโชก้า" (ASHOKA FELLOW) ได้ประสานให้เพื่อนผู้ริเริ่มงานสร้างสรรค์สังคมทางภาคเหนือ มาประชุมกันเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์บ้านเมือง และหาแนวทางที่สมาชิกอโชก้าทั้งจากภาคเหนือ ภาคอีสาน ใต้ กลาง จะได้ถักทอเครือข่ายทำงานร่วมกัน


 


คุณสินี จักรธรานนท์ ผู้แทนมูลนิธิอโชก้า (ประเทศไทย) คุณสำรวย ผัดผล ประธานมูลนิธิฮักเมืองน่าน  คุณฉันทสิทธิ์ บุญยะสาระนัย คุณเกียรติศักดิ์ ม่วงมิตร  คุณสุชาดา จักรพิสุทธิ์  และดิฉันได้เข้าร่วมประชุมด้วย แม้จะเป็นวงประชุมเล็กๆ แต่ก็มีพลังแห่งมิตรภาพอันอบอุ่น พลังใจ พลังปัญญาที่สว่างไสว เราใช้เวลาคุยกัน ๔– ๕ ชั่วโมง ก็ได้งานที่จะถักทอร่วมกัน ๓ ด้าน คือ ๑.ชุมชนแห่งชีวิตพอเพียง ท่ามกลางกระแสทุนนิยม  ๒.รู้เท่าทันกระแส ทุนโลก องค์กรการเมืองโลก และ  ๓.สร้างธรรมาธิปไตยจากรากหญ้าสู่ทุกภาคส่วนในสังคมไทย


 


MR.BILL DRATON ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด ๑ ในจำนวน ๒๐ คนของอเมริกา ประจำปี ค.ศ. ๒๐๐๕  เป็นผู้ก่อตั้ง ASHOKA:Innovators for the Public ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไรระดับโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี  เป็นเวลา ๒๕ ปีแล้ว   Bill เป็นพี่ชายผู้เมตตาและเกื้อหนุนกำลังใจ กำลังปัญญา การสร้างเครือข่าย ผู้ทำงาน ริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้สังคม ซึ่งทำงานอยู่ในประเทศต่างๆ กว่า ๖๐ ประเทศ ปัจจุบันมีสมาชิกอโชก้าผู้ได้รับการสนับสนุนทุนทำงานด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิเด็ก สิทธิสตรี การศึกษา ฯลฯ  กว่า ๑,๖๐๐ คน ในทุกทวีปทั่วโลก


 


                           


 


 


กลุ่มสมาชิกอโชก้าคุยกันเสร็จประมาณบ่าย ๒ โมง คุณชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ชวนไปงาน "สืบสานล้านนา ประเพณี ปีใหม่เมือง" ที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ซึ่งหลวงพ่อพระพุทธพจนวราภรณ์ ท่านเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงเป็นประธาน คุณชัชวาลย์เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง คุณมาลา คำจันทร์ นักเขียนรางวัลซีไรท์ เป็นครูใหญ่


 


เกือบสามชั่วโมงที่อยู่ในงาน ดิฉันชื่นชม ปลื้มปิติที่เห็นการจัดงาน "ปีใหม่เมือง" ตามแบบอย่างล้านนา มีการจำลองหมู่บ้านคนเมือง มีวิหารหลวงจำลอง พร้อมพระพุทธรูปให้กราบไหว้ มีเครื่องสักการะแบบโบราณ คือ ขันใบพลูสด ขันหมากสด ขันหมากแห้ง ขันถวายขี้ผึ้ง ซึ่งมีครูสอนการประดิษฐ์อย่างประณีต ด้วยใจศรัทธา


 


บริเวณ "กาดหมั้ว" คือตลาดแบบโบราณ มีแม่ค้าขายอาหารล้านนา ได้แก่ ขนมจีนน้ำเงี้ยว อ้อยควั่น กล้วยตาก ขนมข้าวแต๋น ผักพื้นเมือง เช่น ผักหวานป่า ผักเซียงดา ผักฮ้วนหมู ฯลฯ ทุกคนนุ่งซิ่น ใส่เสื้อทำจากผ้าทอมือ แม่หญิงกล้าผมมวย ประดับด้วยดอกเอื้องสีเหลืองทอง


 


เสียงเพลงซอพื้นเมืองขับกล่อมทั่วงาน บนเวทีการแสดง มีการแสดงของศิลปินแห่งชาติ เช่น การตีกลองแสะ โดยพ่อครูคำ กาไว ศิลปินแห่งชาติ การแสดงตีกลองจัยยะมงคล การแสดงของชมรมคนรักดาบ การแสดงเตหน่า ของศิลปินปกาเกอญอจากบนดอย  เป็นต้น


 


ข้อมูลจากเอกสารแนะนำงาน "สืบสานล้านนา ประเพณี ปีใหม่เมือง" ของโฮงเฮียน  สืบสานภูมิปัญญาล้านนา น่าสนใจมาก ทำให้เข้าใจที่มาและความสำคัญของปีใหม่เมืองได้ดี ดิฉันขอนำมารายงานดังนี้ค่ะ


 


 "ปีใหม่เมือง หมายถึงปีใหม่ของคนพื้นเมืองในเขตแปดจังหวังภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย โดยดั้งเดิมมานั้น ประเพณีปีใหม่เมืองที่ดีงาม แต่ตั้งแต่วัฒนธรรมการท่องเที่ยวเริ่มรุกเข้ามาในเขตแปดจังหวัดภาคเหนือตอนบน ทำให้ประเพณีที่ดีงามเปลี่ยนแปลงไป เน้นในเรื่องการท่องเที่ยวไม่เน้นในความถูกต้องและดีงาม ทำให้มีสิ่งแปลกปลอมและสิ่งแปดเปื้อนเพิ่มเข้ามา เช่น การปะแป้งสาวๆ การถือโอกาสจับต้องลูบคลำร่ายกายของหญิงสาวจนบางครั้งกลายเป็นการกระทำอนาจารต่อหญิง การกินเหล้าหัวราน้ำโดยอ้างว่าเป็นประเพณี ซึ่งมักจะนำไปสู่อุบัติเหตุบนท้องถนนหรือการสาดน้ำแบบรุนแรงโดยอ้างว่าเป็นประเพณี ซึ่งบางทีก็นำไปสุ่อุบัติเหตุบนท้องถนน นำไปสู่การทะเลาะวิวาทใช้ความรุนแรงเข้าตัดสินปัญหา เป็นต้น


 


ปีใหม่เมืองจะเริ่มแต่วันสังขานต์ล่องไปถึงวันปากเดือน (ราวๆ วันที่ ๑๓ เมษายนถึงวันที่ ๑๗ เมษายน) บางท้องถิ่นอาจยืดไปถึงวันปากวัน (ราวๆ วันที่ ๑๘ เมษายน) ทั้งนี้เป็นเพราะกิจกรรมที่คนเมืองต้องทำในระหว่างปีใหม่เมืองมีมากมาย เช่น การรับสังขานต์ (บางท้องที่จะเป็นการไล่สังขานต์) การชำระสะสางสิ่งหมักหมมทั้งทางวัตถุและจิตใจ การแต่งกาย เตรียมข้าวน้ำโภชนียะ การขนทรายเข้าวัด การทำบุญเพื่อตัวเองเพื่อผู้อื่นที่ล่วงลับไปแล้ว การแห่ไม้ค้ำศรี (ไม้ค้ำโพธิ์) การเข้าวัดฟังธรรม การดำหัวเพื่อขอพรและขอขมาคารวะ เฉพาะการดำหัวผู้ที่เราเคารพนับถืออย่างเดียว หากจะทำให้ครบจริง ๆ อาจใช้เวลาถึง ๓ วัน


 


โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา มีความคิดที่จะจัดงานสืบสานล้านนา ประเพณีปีใหม่เมืองที่ถูกต้องและดีงามตามแบบโบราณ โดยได้รับสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)


 


ความมุ่งหมาย


๑.เพื่อสาธิตประเพณีปีใหม่เมืองที่ถูกต้องดีงาม ตามแบบล้านนาโบราณ


๒.เพื่อสืบสานประเพณีปีใหม่เมืองที่มุ่งเน้นการรณรงค์ปีใหม่เมืองล้านนาที่ไร้แอลกอฮอล์


๓เพื่อเป็นแบบอย่างให้องค์กรอื่น หน่วยงานอื่น ชุมชนอื่นๆนำไปจัดประเพณีปีใหม่เมืองในพื้นที่ต่างๆได้


 


ปีใหม่เมืองหมายถึงปีใหม่ของคนเมือง


ปีใหม่หมายถึงการกำหนดจุดเริ่มต้นของปีแต่ละปี ปีใหม่เมืองกำหนดเอาจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ  มักจะตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายนเป็นส่วนมาก แต่ก็มีบางปีตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายน อย่างในปีพ.ศ.๒๕๔๙ นี้เป็นต้น กิจกรรมของปีใหม่เมืองประกอบด้วยวันต่างๆ ดังนี้


 


วันสังขานต์ล่อง   คือวันมหาสงกรานต์ คำนี้มาจากภาษาสันสกฤตว่า "สงกรานต์" ซึ่งออกเสียงแบบล้านนาว่า "สัง-ขาน" จึงมีผู้อ่านออกเสียงว่า วันสันขานต์ล่อง วันนี้คือวันที่พระอาทิตย์โคจรไปสู่ราศีมีนจะย่างเข้าสู่ราศีเมษ เป็นวันแรกของกิจกรรม ปีใหม่ตามความเชื่อของคนล้านนานั้นกล่าวกันว่าในตอนเช้ามืดของวันนี้ปู่สังขานต์หรือย่าสังขานต์จะล่องแพไปตามลำน้ำปู่หรือย่าสังขานต์นี้จะมารับเอาสิ่งที่ไม่ดีไม่งามเช่นเคราะห์ อุบาทว์  ทั้งหลายนำไปทิ้ง จึงต้องมีการยิงปืน จุดประทัด ไล่สังขานต์และถือกันว่าปืนที่ใช้ยิงขับปู่หรือย่าขานต์แล้วนั้นจะมีความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์มาก วันนี้ตั้งแต่เช้าตรู่จะมีการปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ซักเสื้อผ้า อาบน้ำ แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่ ทัดดอกไม้ที่เป็นพญาดอก ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นี้ ดอกกาสะลองเป็นพญาดอก ควรทัดดอกกาสะลองเป็นต้น การดำหัวหรือสระผมในวันสังขานต์ล่องจะไม่เหมือนการสระผมปกติทั่วไป เพราะต้องหันหน้าให้ถูกทิศ เช่น วันสังขานต์ล่องปี ๒๕๔๙ ควรหันหน้าไปทางทิศตะวันออก วันนี้ช่วงบ่ายจะมีการนำพระพุทธรูปสำคัญได้แก่ พระพุทธสิหิงค์ พระเสตังคมณี และพระเจ้าฝนแสนห่า เป็นต้น ออกมาแห่ไปตามถนนให้ชาวบ้านได้นำน้ำอบ น้ำหอมอันผสมด้วยขมิ้น ส้มป่อย เกสรดอกไม้ สรงน้ำพระพุทธรูปองค์สำคัญของชาวบ้านเมือง


 


                      


 


วันสังขานต์ล่องนี้ ตามประเพณีล้านนาโบราณ กษัตริย์แห่งล้านนาจะต้องทำพิธีสรงน้ำตามทิศที่โหรหลวงคำนวณไว้ และจะลงไปทำพิธีลอยเคราะห์ในแม่น้ำแม่ปิง ในพิธีนั้นกษัตริย์จะเสด็จไปตามสะพานที่ทอดจากฝั่งลงไปร้านที่อยู่กลางแม่น้ำ แล้วทำพิธีสะเดาะเคราะห์หรือลอยเคราะห์ โดยมีเครื่องสักการะและน้ำขมิ้น ส้มป่อย ใส่ในสลุงคำ สลุงเงิน (ขันทองและขันเงิน) เตรียมไว้ก่อน เมื่อกษัตริย์หรือเจ้าเมืองเสด็จลงร้านหรือประรำพิธีแล้ว ก็จะทรงทำพิธีสะเดาะห์เคราะห์หรือลอยเคราะห์ให้ไหลไปตามน้ำในวันสังขานต์ล่องนี้


 


ที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ จะมีพิธีลอยสังขานต์ ทุกบ้านจะทำสะตวงใส่เครื่องเหมือนสะตวงทั่วไป มีข้าวแป้งปั้นเป็นก้อน เอาเช็ดตามหน้าตา เนื้อตัว แขนขา โดยเชื่อกันว่าเป็นการเช็ดเอาเคราะห์ภัยต่าง ๆ หรือสิ่งชั่วร้ายที่มีอยู่ในเนื้อตัว ใส่ลงในสะตวงนำไปทำพิธีลอยน้ำแม่แจ่ม เพื่อให้เคราห์ภัยต่าง ๆ ลอยไปกับสายน้ำพร้อมกับปีเก่าที่ผ่านเลยลับไป


 


วันเน่าหรือวันเนาว์ ชื่อเรียกวันนี้ทำให้เกิดความเชื่อว่า ห้ามทำสิ่งที่ไม่เป็นมงคลในวันนี้ โดยเฉพาะห้ามด่าทอทะเลาะวิวาทกัน กล่าวกันว่าผู้ใหญ่ที่ด่าทอผู้อื่นในวันนี้ ปากของผู้นั้นจะเน่าเหม็น และหากวิวาทกันในวันนี้ บุคคลผู้นั้นจะอัปมงคลไปตลอดชีวิต ส่วนผู้ที่ประสงค์จะปลูกเรือนด้วยไม้ไผ่ก็ให้รีบตัดในวันนี้ เพราะเชื่อกันว่าไม้จะ "เน่า" และไม่มีมอดหรือปลวกมากินไม้ดังกล่าว วันเนาว์นี้จะเป็นวันเตรียมงาน ชาวบ้านจะพากันไปซื้อของ เพื่อกินและใช้ในวันพญาวัน ตอนบ่ายมีการขนทรายเข้าวัด ถือว่าเป็นการนำทรายมาทดแทนส่วนที่ติดเท้าของตนออกจากวัดซึ่งเท่ากับว่าได้ลักของจากวัดขณะขนทรายเข้าวัด ก็จะกล่าวคำขนทรายเข้าวัดเป็นภาษาบาลีว่า "อะโห วะตะ เม วาลุกัง ติระตะนานัง สัพพะปาปัง วินัสสันตุ" กล่าวรำพึงอย่างนี้วนไปวนมาจนขนทรายเสร็จ


 


                   


 


 


วันนี้บางคนก็จะทำตุง เช่น ตุงไส้หมู หรือช่อพญายอ และช่อ ซึ่งเป็นธงรูปสามเหลี่ยมเตรียมไว้สำหรับเตรียมไปปักที่เจดีย์ทราย วันเน่านี้ อาจจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "วันดา" เพราะเป็นวันที่จัดเตรียมสิ่งของต่าง ๆ ที่จะใช้ทำบุญ และบริโภคในวันพญาวัน  ขนมที่นิยมทำกันในเทศกาลสงกรานต์นี้ มีหลายชนิด เช่น ข้าวหนมจ็อก ,ข้าวหนมปาด หรือข้าวหนมศิลาอ่อน,เข้าวิทู (อ่าน-เข้าวิตู) คือข้าวเหนียวแดง, ข้าวแตน (อ่าน-ข้าวแต๋น) เป็นต้น


 


วันพญาวัน วันนี้ถือว่า เริ่มต้นจุลศักราชใหม่ วันนี้จะทำบุญสุนทานกันอย่างยิ่งใหญ่ ตั้งแต่เวลาเช้าตรู่ ผู้คนจะนำสำรับกับข้าวไปถวายตามวัด เรียกกันว่า "ทานขันเข้า" เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนี้บางคนก็จะนำสำรับอาหารไปทานให้แก่บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย ผู้เฒ่าผู้แก่ หรือผู้ที่ตนเคารพนับถือ ซึ่งการทำเช่นนี้เขาเรียกว่า "ทานขันเข้าคนเฒ่าคนแก่" จากนั้นก็จะนำตุงที่มัดติดกิ่งไผ่ หรือต้นกุ๊ก ซึ่งเตรียมไว้เมื่อวันก่อน ไปปักบนเจดีย์ทราย ทั้งนี้มีคติว่าการทานตุงนั้นมีอานิสงส์ช่วยให้ผู้ตายที่มีบาปหนักถึงตกนรกนั้น สามารถพ้นจากขุมนรกได้ โดยที่ชายของตุงจะพันตัวของผู้ตกนรกนั้น แล้วดึงพื้นจากขุมนรกขึ้นมา ความเชื่ออีกอย่างหนึ่งก็คือ ในวันพญาวันนี้ ชาวเหนือจะนำไม้ง่ามไปถวายวัด สำหรับค้ำต้นสะหลี ไม้ง่ามนี้จะมีกรวยดอกไม้ ธูปเทียน (เรียกสวยดอก) และกระบอกบรรจุน้ำพร้อมทราย ผูกติดกับไม้ง่ามไปด้วย การทานไม้ง่ามนี้ ถือคติว่าเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการช่วยกันค้ำจุนพระศาสนาให้ยืนยาวต่อไป แล้วจะทำพิธีสรงน้ำทั้งพระพุทธรูป สถูป เจดีย์ รวมทั้งสรงน้ำพระสงฆ์  เจ้าอาวาสด้วย  ตอนบ่ายก็มีการไปดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ บิดามารดา ผู้อาวุโส เป็นต้น


 


                 


 


วันนี้ชาวบ้านที่ไม่ไปวัด จะไปเตรียมสถานที่เพื่อทำบุญ "ใจบ้าน" คือบริเวณที่ตั้งของ "เสาใจบ้าน" ได้แก่ สะดือบ้าน มีการจัดทำรั้วราชวัตรประดับด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย เป็นต้น จากนั้นก็จะโยงด้ายสายสิญจน์จากเสาใจบ้านต่อ ๆ กันไป จนถึงทุกหลังคาเรือน จัดทำแตะไม้ไผ่สานจำนวน ๙ แผง แล้วใช้ดินเหนียวหรือแป้งข้าว ปั้นเป็นรูปสัตว์ เช่น ช้าง ม้า เป็ด ไก่ หมู หมา ฯลฯ อย่างละ ๑๐๐ ตัว วางบนแตะนั้นพร้อมทั้งใส่เครื่องบูชาต่าง ๆ และให้ใช้ไม้ทำหอก ดาบ แหลม  หลาว หน้าไม้ปืนธนู วางบนแตะทั้ง ๙ นั้น เพื่อทำพิธี "ส่งเคราะห์บ้าน" หรือ "พิธีนพเคราะห์ทั้งเก้า"


 


วันปากปีซึ่งถือว่าเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้ชาวบ้านจะกินแกงขนุนเพราะเชื่อว่าจะค้ำชู อุดหนุนให้ชีวิตประสบแต่ความสุข ความเจริญ ตลอดทั้งปี และจะพากันไปดำหัววัด คือ ไปทำพิธีคารวะเจ้าอาวาสที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ตอนค่ำก็ให้แต่ละบ้านบูชาเทียน คือ การนำเทียนซึ่งมีไส้ทำด้วยกระดาษสาที่เขียนเลขยันต์มาจุดบูชาพระพุทธรูปอีกด้วย


 


วันปากเดือน ปากวัน และปากยาม ๓ วันนี้ ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นใหม่ ในวันนี้นิยมมีการส่งเคราะห์ต่าง ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล และไปคารวะดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ ครูบาอาจารย์ กิจกรรมของคนเมืองเนื่องในประเพณีปีใหม่เมืองก็จะเริ่มจางลงไปเรื่อย ๆ ชีวิตปกติเริ่มต้นขึ้น"


 


               


 


สุดท้ายนี้ ดิฉันขอสนับสนุนการรณรงค์ งดดื่มเหล้า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทุกชนิด ตลอดเทศกาลปีใหม่ เพื่อให้ทุกคนได้นำศิริมงคลสู่ชีวิต ด้วยสติสัมปชัญญะ ที่สมบูรณ์ ลดอุบัติเหตุ บนท้องถนน ลดปัญหาความรุนแรงทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น เป็น ปีใหม่แห่งพุทธิภาวะ คือความรู้  ตื่น เบิกบาน ของทุกคนในสังคมอย่างแท้จริงค่ะ


 


เตือนใจ (กุญชร ณ อยุธยา) ดีเทศน์