Skip to main content

พลเมืองดีกับชีวิตที่ดี

คอลัมน์/ชุมชน

การเป็นพลเมืองดีเป็นคนละเรื่องเดียวกันกับการมีชีวิตที่ดีหรือการเป็นคนดี บางคนอาจเป็นพลเมืองดีตามมาตรฐานของรัฐแต่อาจมีชีวิตที่ไร้ความสุขและอาจจะไม่เป็นคนดีก็ได้ เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัยที่กินเงินเดือนจากรัฐ เสียภาษีครบถ้วน ทำงานเช้าชามเย็นชาม ไปเลือกตั้งเมื่อถึงเวลา ขับรถดีมีน้ำใจ เมาไม่ขับ อาจจะได้ชื่อว่าเป็นพลเมืองดี แต่หากอาจารย์เป็นผู้สนับสนุนให้รัฐบาลฆ่าหมู่ชาวมุสลิมมลายูที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจารย์ท่านนั้นก็อาจถูกกล่าวหาว่าเป็นคนไม่ดีก็ได้


 


ส่วนโสเภณีบางคนที่ไร้ความรู้ ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อหาค่าเทอมส่งให้ลูกเรียนหนังสือ ไม่มีเวลาและอารมณ์ไปเลือกตั้ง อาจจะไม่ใช่พลเมืองดี และอาจไม่มีชีวิตที่ดีอย่างที่คนชั้นกลางโหยหา แต่ด้วยมาตรฐานทางศีลธรรมก็อาจเรียกได้ว่าเป็นคนดี


 


เมื่อเทียบกันไปแล้วการเป็นพลเมืองดีเป็นเรื่องเล็กกว่าการมีชีวิตที่ดีหรือการเป็นคนดี ดังนั้นถ้าถึงคราต้องเลือกระหว่างการเป็นพลเมืองดีกับการมีชีวิตที่ดีในกรณีที่การเป็นพลเมืองดีกับการมีชีวิตที่ดีไปด้วยกันไม่ได้ หลายคนจึงไม่ลังเลที่จะเลือกเอาการมีชีวิตที่ดี


 


แต่คนจำนวนไม่น้อยซึ่งอาจไม่เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างการเป็นพลเมืองดี กับการมีชีวิตที่ดี นอกจากจะไม่เข้าใจแล้วยังไม่เคยคิดที่จะตั้งคำถามถึง 2 สิ่งนี้ด้วยซ้ำไป ดังนั้นการกระตุ้นให้คนอื่น ๆ คิดวิเคราะห์ถึงเรื่องนี้เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ใครเล่าจะมากระตุ้นให้คนอื่น ๆ มาคิดถึงความแตกต่างของคำ 2 คำนี้และแยกแยะออกจากกันได้


 


เป็นหน้าที่ หรือภารกิจหนึ่งของนักปรัชญาโดยเฉพาะนักปรัชญาการเมืองและโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักปรัชญาการเมืองที่เชี่ยวชาญในเรื่องกรีกที่จะต้องจุดประกายให้คนอื่นหันมาให้ความสนใจอย่างจริงจังในเรื่องของการเป็นพลเมืองดีกับการมีชีวิตที่ดีในยามที่บ้านเมืองกำลังเกิดวิกฤติทางการเมืองที่การเป็นพลเมืองกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ปกครอง


 


การฉีกบัตรลงคะแนนเลือกตั้งซึ่งแม้ว่าจะถือเป็นการกระทำที่แสดงถึงการ "พลเมืองไม่ดี" แต่มันอาจเป็นวิธีการในการจุดประกายและนำไปสู่การตั้งประเด็นคำถามในเรื่องนี้อย่างจริงจัง


 


หากมองจากสายตาของรัฐซึ่งพิทักษ์กฏเกณฑ์ของการเป็นพลเมืองดีไว้ การฉีกบัตรลงคะแนนเลือกตั้งของอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง  การกระทำของอาจารย์ท่านนี้และท่านอื่น ๆ ที่ฉีกบัตรลงคะแนนเลือกตั้งถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ควรค่าแก่การประณาม และควรค่าแก่การเนรเทศออกนอกสังคมการเมือง


 


การฉีกบัตรเลือกตั้งเป็นการจงใจทำลายสิทธิของปัจเจกบุคคลที่มีอยู่ตามระบอบประชาธิปไตย และการทำลายสิทธินี้ก็ไม่ได้เกิดผลกระทบแต่เพียงระดับปัจเจกบุคคลเท่านั้น หากแต่ยังกระทบต่อการใช้สิทธิของคนอื่น ๆ อีกด้วยเพราะอย่างที่บอกไว้ตอนแรกว่านี่เป็นวิธีการจุดประกายในการตั้งคำถาม 


 


อาจตีความตามตรรกะไปได้ว่าการฉีกบัตรเลือกตั้งทิ้งก็เหมือนกับการฉีกบัตรประชาชนทิ้ง เพราะมันไม่ใช่แค่ปฏิเสธที่จะเป็นพลเมืองดีเท่านั้น แต่มันหมายถึงการปฏิเสธความเป็นพลเมือง ปฏิเสธกติกาของระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย


 


การฉีกบัตรเลือกตั้งทิ้งแตกต่างจากการไม่ไปใช้สิทธิอย่างมาก เพราะการไม่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้นไม่ใช่การทำลายสิทธิ  แต่เป็นการปฏิเสธที่จะใช้สิทธิของตนเองที่พึงมีอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ และสิทธินั้นแม้ว่าจะไม่ถูกใช้ไป ก็จะยังคงอยู่และสามารถจะใช้อีกเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีใครมาพรากสิทธิที่มีอยู่นี้ไปได้ แต่การฉีกบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งคือการพร่าพรากสิทธิของตนเอง โดยตนเอง(และเพื่อตนเอง?)


 


การฉีกบัตรเลือกตั้งทิ้งนั้นนอกจากจะต่างกันกับการไม่ไปเลือกตั้งแล้ว ยังแตกต่างอย่างเทียบกันไม่ได้กับการเลือกที่จะไม่เลือกใคร การกาลงไปในช่องไม่เลือกใครนั้นเป็นการใช้สิทธิของตนเองตามช่องทางของรัฐธรรมนูญ 


 


อย่างไรก็ตาม การเลือกที่จะไม่เลือกใครในความเห็นของผมเป็นการใช้สิทธิที่ไม่ค่อยจะ "คุ้มค่า"  นัก และถูกกำกับอยู่ภายใต้วิธีคิดที่เชื่อว่าการเมืองเป็นเรื่องของคนดี คนชั่ว เป็นเรื่องดีๆ ชั่ว ๆ ที่ถ้าหากว่าไม่มีคนดีมาให้เลือกก็จะไม่เลือกใครเลย กระนั้นก็ตาม การเลือกที่จะไม่เลือกใครก็ยังกล่าวได้ว่าเป็นการเล่นไปตามกติกาประชาธิปไตย ซึ่งดีกว่าการฉีกบัตรเลือกตั้งทิ้ง


 


ผมเชื่อว่าตาสีตาสาไม่มีใครกล้าที่จะฉีกบัตรเลือกตั้งท่ามกลางสายตาสาธารณะ ในกรณีที่เกิดขึ้น  ผู้ที่ฉีกบัตรเลือกตั้งเป็นอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการใช้อภิสิทธิของความเป็นอาจารย์จุฬา ฯในการทำสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้  ถ้าไม่มีอภิสิทธิของความเป็นอาจารย์จุฬา ฯ (หรืออภิสิทธิอื่น ๆ) ก็คงไม่อาจหาญที่จะฉีกบัตรเลือกตั้งทิ้ง?


 


มากไปกว่านั้นอภิสิทธิของความเป็นอาจารย์จุฬาฯ  ยังสมคบคิดกับอภิสิทธิของความเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่อาสาจะเป็นทนายความต่อสู้คดีให้ นี่เราจึงได้เห็นการเมืองว่าด้วยเรื่องของอภิสิทธิชนที่นิยมชมชอบอภิสิทธิ ซึ่งจะว่าไปก็น่าสนใจไม่น้อย


 


เพราะมีแต่อภิสิทธิชนที่มีความรู้เท่านั้นที่จะตั้งคำถามอันคมคาย และรู้จักการใช้ถ้อยคำปกป้องการกระทำของตนเอง


 


การฉีกบัตรเลือกตั้งทิ้งทำให้นึกถึงเฮนรี่ เดวิด ธอโร มากกว่าที่จะชวนให้คิดถึงโสเกรตีสแม้ว่าผู้ที่ฉีกบัตรจะเชี่ยวชาญในเรื่องกรีกก็ตาม เฮนรี่ เดวิด ธอโร ในบทความเรื่อง "ต้านอำนาจรัฐ" ที่แปลเป็นไทยโดย "พจนา  จันทรสันติ" นั้นเขาปฏิเสธการเสียภาษีให้กับรัฐเพราะเห็นว่ารัฐเอาเงินภาษีไปสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนพลเมืองแทนที่จะนำไปใช้ในการสร้างเงื่อนไขสำหรับการมีชีวิตที่ดี


 


แต่การพูดถึงชีวิตที่ดี พลเมืองดี ตลอดจนการต้านอำนาจรัฐของเฮนรี เดวิด ธอโร  อาจ "กลบ" นัยสำคัญทางการเมืองของการฉีกบัตรเลือกตั้งเพราะมันเป็นการพูดหรือยกตัวอย่างอย่าง "ยกระดับ" มากเกินไปทั้ง ๆ ที่การฉีกบัตรเลือกตั้งอาจเป็นเพียงแค่เกมการเมืองในการสร้างกระแสของคนชั้นกลางเพื่อต่อต้านคุณทักษิณ  ชินวัตร เท่านั้นเอง


 


คุณทักษิณ  ชินวัตร มีจุดที่จะให้คนชั้นกลางโจมตีมากมายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการคอรัปชั่น ไร้จริยธรรมแบบไทย ๆ  ยโสโอหัง กินไม่แบ่ง ฯลฯ ดังนั้นโดยหลักการคนที่รักและเลือกที่จะยืนข้างความถูกต้องจำเป็นที่จะต้องต่อต้านคุณทักษิณ  ชินวัตร


 


แต่ประเด็นที่สำคัญก็คือนักการเมืองแบบคุณทักษิณ  ชินวัตรมีมากมายเต็มประเทศ ไม่เชื่อลองสุ่มเลือกชื่อนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยเป็นรมต. รมช. มาสักคนหนึ่ง แล้วค้นหาดูว่าทำอะไรไว้บ้าง เราก็จะพบเห็นว่าไม่ต่างอะไรกับคุณทักษิณ  ชินวัตรมากนัก


 


อันที่จริง ไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมือง คนธรรมดาทั่วไป ก็มีพฤติกรรมการเลี่ยงหรือพยายามเลี่ยงภาษี เอื้อพวกพ้อง เหมือน ๆ กันทั้งนั้น ดังนั้นการเลือกที่จะต่อต้านพฤติกรรมของคุณทักษิณ  ชินวัตรจึงถูกต้องตั้งคำถามว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ หลายมาตรฐานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


และหากการฉีกบัตรเลือกตั้งเป็นเพียงเครื่องมือในการต่อต้านตัวบุคคลอย่างคุณทักษิณ  ชินวัตร มากกว่าจะเป็นการต่อต้านความไม่ถูกต้องหรือเกิดจากการยึดมั่นในหลักคุณธรรมแล้ว ก็เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างยิ่งของแวดวงปรัชญาการเมือง.