Skip to main content

ความปวดใจของเด็ก อยู่ที่หูของผู้ใหญ่ (บางคน)

คอลัมน์/ชุมชน



 


ความยุ่งยาก สลับซับซ้อน และกระบวนการที่มากด้วยเทคนิคต่างๆ เพื่อที่จะคัดเลือกนักเรียนเข้าสู่ระบบอุดมศึกษาด้วยวิธีที่เรียกว่า "แอดมิดชั่น" นั้น ทำให้นักเรียน ผู้ปกครองต้องปวดหัว ปวดใจไปตามๆ กัน


 


แต่หากมองระบบนี้ให้ลึกเข้าไป ย่อมจะเห็นถึงที่ไปที่มา ที่ทำให้เราๆ ท่านๆ ต้องปวดหัว ปวดใจอยู่ตอนนี้ได้อย่างเข้าใจ


 


หากย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมา นับตั้งแต่ภาครัฐได้ประกาศนโยบายปฏิรูปการศึกษานั้น ทำให้เด็กนักเรียนดูเหมือนจะมีความหวังกับการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการพื้นฐานของตนเองได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๑๒ ปี การกำหนดกระบวนการเรียนการสอนที่เรียกว่า "ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง" หรือ "Child Center" และเรื่องอื่นๆ อีกมาก


 


นอกจากนี้แล้วเมื่อจะต้องเข้าสู่ระบบอุดมศึกษา จากเดิมที่ให้นักเรียนแต่ละคนสอบเข้าตรงกับสถาบันการศึกษานั้นๆ แล้ว ยังมีการพัฒนามาสู่การสอบเอ็นทรานซ์ และปัจจุบันได้เข้าสู่กระบวนการที่เรียกว่า "แอดมิดชั่น" ซึ่งเป็นระบบที่มีกระบวนการหลายขั้นตอน โดยนักเรียนจะต้องเข้าสอบในวิชาขั้นพื้นฐานและวิชาเฉพาะ ที่เรียกว่า O-Net และ A-Net และต้องรวมคะแนนสอบนี้กับเกรดเฉลี่ยตอนเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ GPA และรวมกับคะแนนต่างๆ อีกหลายส่วน


 


อาการปวดหัว ปวดใจ ที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็คือว่า ผลสอบคะแนน O-Net และ A-Net ของนักเรียนบางคนที่เข้าสอบนั้นประกาศออกมาไม่ตรงกับความน่าจะเป็นของคะแนนที่แต่ละคนจะได้สักเท่าไหร่ กล่าวคือ บางคนไม่เข้าสอบแต่มีผลคะแนน บางคนน่าจะทำข้อสอบได้มากแต่ไม่มีผลคะแนนปรากฏหรือคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ที่น่าจะทำได้ และยังไม่รวมถึงการจัดการเกี่ยวกับห้องสอบที่เปลี่ยนห้องสอบแบบกระชั้นชิด และจัดห้องสอบโดยง่ายต่อการลอกข้อสอบกัน


 


สำหรับระบบการคัดเลือกแบบ "แอดมิดชั่น" นั้น ผมเข้าใจว่าผู้ที่เป็นคนกำหนดแนววิธีการต่างๆ นั้น ต้องการให้นักเรียนที่จะเข้าสู่มหาวิทยาลัย ได้ผ่านกระบวนการที่สามารถ "วัด" ได้ว่า นักเรียนคนนั้น เก่งเพียงใด มีคุณภาพแค่ไหน จึงเอาต้องเอาคะแนนจากหลายส่วนมารวมกันและต้องจัดสอบนู้นสอบนี้มากมาย


 


สิ่งเหล่านี้คือความคาดหวังว่าการปฏิรูปการศึกษาจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างดี เยี่ยม และเห็นผลได้จริง แต่สิ่งที่เราได้ปวดหัว ปวดใจกันก็คือระบบการศึกษาภายหลังนโยบายปฏิรูปที่ชัดเจน กลับนำไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างยากลำบาก และไม่สามารถเป็นไปตามเจตนารมณ์และหลักการของการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง


 


คำถามคือ คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเรื่องการศึกษาคือใคร?


ก็คนที่ถูกเรียกว่า อนาคตของชาติไง - เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา นั้นแหละครับ ที่ได้รับผลกระทบจากระบบการศึกษามากที่สุด


 


คำถามต่อมาก็คือว่า แล้วใครเป็นคนกำหนดระบบการปฏิรูปการศึกษา?
ก็คนที่ถูกเรียกว่า ผู้อาบน้ำร้อนมาก่อนไง - ผู้ใหญ่ ผู้ทรงคุณวุฒิ ครู อาจารย์ นักวิชาการ นั้นแหละครับ ที่มีส่วนกำหนดระบบการปฏิรูปการศึกษาขึ้นมา  คนที่เป็นผู้ตั้งกติกาขึ้น กลับไม่ได้เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเรื่องการศึกษาสักเท่าไหร่


 


มีคนถามว่า ทำไมการปฏิรูปการศึกษาถึงไม่ประสบความสำเร็จ


หากเราได้มีโอกาสศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายต่างๆ จะพบว่า เด็ก นักเรียน ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากระบบการศึกษา ไม่ได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ตัดสินใจว่า ระบบแบบไหนที่เหมาะสม และสอดคล้องกับตน


 


บ่อยครั้งที่เด็ก นักเรียน พยาพยามที่จะส่งเสียง แสดงความคิดเห็น ในเรื่องราวต่างๆ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจหรือรับฟังจากผู้มีบทบาทในการกำหนดนโยบายสักเท่าใด  หรือหากจะมีโอกาสก็ทำได้แต่เพียงพูด แสดงความคิดเห็น แต่ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติเท่าไหร่


 


สิ่งที่เราพบเห็นกันมาโดยตลอดก็คือ ผู้ใหญ่มักบอกว่าเด็กต้องมีส่วนร่วมบ้าง ต้องรับฟังเสียงของเด็กบ้าง นักเรียนเป็นศูนย์กลางบ้าง แต่สิ่งที่ผู้ใหญ่บอกนั้น อาจคิดเอาเองได้ว่า เด็กทุกๆ คนมีสิทธิเหมือนกัน เพียงแต่ว่าหากจะต้องตัดสินใจนั้น ต้องอยู่ภายใต้ "อำนาจ" ที่ผู้ใหญ่สามารถกำกับดูแลได้ 


 


ด้วยเหตุนี้แล้ว การวางแนวทางการสอบคัดเลือก "แอดมิดชั่น" ก็ดี, การกำหนดหลักสูตรกระบวนการเรียนการสอนก็ดี, การกำหนดทิศทางระบบการศึกษาในแต่ละปีก็ดี อาจเป็นเพราะคนที่คิดกับคนที่ได้รับผลกระทบไม่มีโอกาสได้นั่งถก นั่งพูดจาแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นอย่างจริงจัง


 


ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดโอกาสให้เด็ก นักเรียน เข้ามานั่งคิด นั่งคุย ร่วมระดมสมอง แสดงความคิดเห็น ว่าการปฏิรูปการศึกษาแบบไหน วิธีใด รูปแบบอย่างไร จะเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของตนซึ่งเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้โดยตรง


 


ความท้าทายที่น่าติดตามอยู่ที่ว่า หากผู้ใหญ่ใช้หูฟังแล้ว จะเข้าถึงใจมากน้อยแค่ไหน ต้องดูกันต่อไปครับ