Skip to main content

เหยื่ออธรรม

คอลัมน์/ชุมชน









































ชื่อเรื่องวันนี้ออกจะดูเป็นคำใหญ่ไปสักเล็กน้อย เปล่าหรอกมิได้บังอาจจะเขียนถึง เหยื่ออธรรม อันเป็นวรรณกรรมเอกของโลกหรอกนะ แต่ตั้งใจจะเขียนถึงกระบวนการยุติธรรม หรือเพียงแค่ถามหาความเป็นธรรมในสังคมไทยในกรณีที่ผู้หญิงและเด็กต้องตกเป็นเหยื่อว่าจะหาความเป็นธรรมได้จากที่ไหน และความเป็นธรรมที่แท้จริงจะจรรโลงให้สังคมสงบสุขได้อย่างไร

 

หลาย ๆ ท่านคงจะจำข่าวเรื่องที่เด็กที่ถูกแม่เอามาทิ้งในวันที่มีการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคได้ เด็กเลยถูกเรียกชื่อว่าเด็กชายเอเปค ในที่สุดตามคดีนั้นหญิงที่เป็นแม่ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่าคำสารภาพของเธอเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินคดี รวมทั้งมีหลักฐานทางการแพทย์พิสูจน์ได้ว่าภาวะของการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายหลังการคลอดบุตรนั้นส่งผลทำให้ภาวะอารมณ์ไม่ปรกติได้ เธอจึงได้รับการลดโทษให้ถูกจำคุก 25 ปี นี่ถือเป็นความกรุณาสูงสุดแล้วจากศาลเท่าที่กฎหมายจะเอื้ออำนวยให้ โดยกรณีเรื่องที่แม่ทิ้งลูก หรือแม่ฆ่าลูกนั้น ทุก ๆ ครั้งในกฎหมายไทยนั้นบทลงโทษไม่ว่าจะทั้งทางกฎหมายและสังคมจะลงโทษเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น

 

ในทางกฎหมายศาลไม่ได้พิจารณาให้สามีผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำให้เธอตั้งครรภ์จนมีบุตรมารับผิดชอบต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วยและไม่มีบทลงโทษใดๆกับผู้ชายที่มีส่วนร่วมต่อผลการกระทำครั้งนี้เลย ทั้งที่เธอเคยได้ไปปรึกษาผู้ชายที่มีส่วนร่วมในการทำให้เธอมีลูกว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรแต่ผู้ชายไม่ยินดีจะรับผิดชอบ ผู้ชายคนนั้นจึงส่วนทำให้เธออยู่ในสภาวะยากลำบากจนต้องเอาเด็กไปฆ่าทิ้งเพราะหาทางออกไม่ได้

 

ในทางสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อทั้งหลาย ทันทีที่เห็นกรณีเหล่านี้ มักจะเขียนพาดหัวข่าวแบบตัดสินทันทีก่อนที่จะรู้ด้วยซ้ำว่าใครเอาเด็กมาทิ้งว่า " แม่ใจยักษ์" แต่ไม่มีใครเลยที่จะกล่าวถึงว่า " ต้นตอ" ของการที่มีผู้หญิงกระทำว่าต้นเหตุของการกระทำนั้นมาจากไหน และถึงรู้ว่าผู้หญิงคนนี้ถูกผู้ชายปฏิเสธไม่รับผิดชอบจึงทำให้เกิดความเครียดจนกระทั่งถึงกับต้องฆ่าเด็ก หรือเอาเด็กไปทิ้งในที่สุด แต่ก็ไม่มีใครคิดว่ามี " พ่อใจยักษ์" ที่ปล่อยให้เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้น เรื่องมักกลับกลายเป็นว่าเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ที่ผู้หญิงไม่รู้จักรับผิดชอบตัวเอง อะไรทำนองนี้

 

ส่วนอีกคดีหนึ่งสะเทือนใจอยู่ไม่น้อย ที่ปัจจุบันได้ยินกันชักจะบ่อยขึ้น เรียกว่าศีลธรรมในใจคนอาจเสื่อมถอยลงทุกวัน กรณีพ่อข่มขืนลูกสาวตัวเองวัย 12 ปี และกระทำอย่างต่อเนื่องจนเพื่อนบ้านและครูทนไม่ได้ มีข่าวว่าแม่ก็รู้แต่ไม่สามารถจะปกป้องลูกสาวได้ ในสื่อหลายๆสื่อนั้นพยายามประณามว่าเป็นพ่อที่เลวและขณะเดียวกันก็มีคนมาบอกว่าอย่างนี้ควรที่จะลงโทษผู้เป็นแม่ด้วยว่าทำไมถึงไม่ปกป้องลูก

 

สิ่งที่ควรติดตามในประเด็นนี้ก็คือ อันที่จริงพ่อคนนี้เท่ากับว่าได้กระทำการฆ่าลูกสาวตัวเองไปแล้วทั้งเป็น ซึ่งเลวร้ายกว่าการฆ่าให้ตายเสียอีก เพราะเด็กคนนี้มีตราบาปที่ติดตัวของเธอไปจนวันตายจริงๆแน่นอน และคงไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้จริงๆอีก สังคมชอบพูดถึงครอบครัวเป็นสุขแต่เด็กถูกกระทำจากคนที่พึงจะเป็นที่พึ่งในครอบครัวเสียเองแล้วจะเป็นสุขได้อย่างไร และนอกจากนั้นสื่อมวลชนเองก็จะทำการทำร้ายเธอซ้ำไปอีกที ถึงแม้ว่าจะพยายามบอกชื่อสมมุติของเด็กที่ถูกกระทำแต่ในขณะที่เผยภาพหน้าตาและบอกทั้งชื่อจริงและนามสกุลจริงของพ่อและแม่เด็กคนนั้นก็เท่ากับทุกคนก็รู้ว่าเด็กคนนั้นเป็นใคร แล้วเธอจะสู้หน้ากับผู้คนได้อย่างไร ดังนั้น ประเด็นที่สำคัญที่อยากให้ติดตามตอนนี้คือในแง่ของกฎหมายก็คือ คนทั้งสองคนนี้ฆ่าลูกเหมือนๆกัน คนหนึ่งเป็นผู้หญิงที่อยู่ในสภาพจิตใจที่ไม่ปกติฆ่าลูกที่เป็นทารก ผลลัพท์คือเด็กคนนั้นได้ตายจากโลกนี้ไป แต่อีกคนหนึ่งเป็นผู้ชายฆ่าลูกทั้งเป็นโดยมีสติสัมปชัญญะ ผลลัพท์คือ เด็กคนหนึ่งต้องตายทั้งเป็น ในกฎหมายไทยจะพิพากษาตัดสินอย่างไร จะประหารชีวิตพ่อซึ่งฆ่าลูกให้ตายทั้งเป็น เหมือนกับที่ตัดสินแม่ที่ฆ่าทารกหรือไม่

 

นอกเหนือไปจากนั้น การเรียกร้องของสังคมที่บอกว่าทำไมแม่ไม่ปกป้องลูกนั้น แน่นอนว่าแม่ควรที่จะต้องปกป้องลูกให้ถึงที่สุด แม่ที่เห็นด้วยกับการกระทำเช่นนั้นควรถือเป็นสมรู้ร่วมคิด แต่ถามว่า อำนาจต่อรองของผู้หญิงในสังคมไทยนั้นมีมากแค่ไหน ผู้หญิงที่เป็นแม่ต้องตกอยู่ในสภาพความเป็นอยู่เช่นไรควรนำมาพิจารณาด้วย เช่น ต้องตกอยู่ในอำนาจของสามีหรือไม่ อยู่ภาวะที่หวาดกลัวอยู่หรือเปล่า ดังนั้นในทางกฎหมายแล้วควรจะมีความเป็นธรรมในการตัดสินและการลงโทษต่อผู้กระทำผิดที่เสมอหน้ากัน แต่ที่ผ่านมานั้นแม้ในรัฐธรรมนูญไทยให้สิทธิที่เท่าเทียมกันในทางกฎหมายระหว่างหญิงกับชายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 30 ทว่าในรายระเอียดนั้นในกฎหมายไทยไม่ได้เอื้อให้ผู้หญิงได้รับความเป็นธรรมเท่าเทียมกับชาย หรือแม้บางครั้งกฎหมายเขียนไว้อย่างไม่ได้ตั้งใจที่จะเอื้อให้เพศใดเพศหนึ่งได้เปรียบ กรณีตรงๆในความผิดฐานฆ่าคนตาย ความจริงพอถึงบทลงโทษก็น่าจะเป็นไปแบบเดียวกัน ทว่าพอถึงเวลาตัดสิน กลับสามารถโน้มเอียงในทางที่เป็นประโยชน์ให้กับผู้ชายมากกว่าผู้หญิงก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย

 

หากจะจำกันได้เมื่อปีสองปีมานี้เองมีกลุ่มผู้หญิงแต่งดำไปประท้วงการตัดสินคดีของศาลในกรณีที่ดร.พิพัฒน์ ลือประสิทธิ์สกุลที่ฆ่าภรรยาตาย แต่ศาลตัดสินให้จำคุก 2 ปี รอลงอาญา 3 ปี มีหลักฐานให้เห็นได้ว่าเป็นการทำให้ตายจริงแต่สามารถพลิกคดีที่ทำให้บทลงโทษเป็นไปตามข้อที่การกระทำผิดน้อยที่สุดได้ โดยบอกว่าเป็นไปตามสำนวน แน่นอนการตัดสินไปตามกฎหมายอย่างถูกต้องแล้ว ในเมื่อกฎหมายนั้นไม่เอื้อให้ศาลให้ความเป็นธรรมกับคนสองเพศให้เท่าเทียมกันได้จะทำอย่างไรกันดี เรื่องนี้อาจจะต้องทำงานกันอีกมากที่จะต้องว่ากันต่อไปอีกนาน

 

แต่ในที่นี้ใคร่ขอเรียกร้องว่า ในการที่จะแก้ปัญหาสังคมนั้นในเรื่องของการที่แม่ต้องเอาลูกมาทิ้งหรือ หรือต้องฆ่าลูกด้วยอารมณ์อันผิดปกติที่กลายปัญหาสังคมทั้งหลายที่เกิดขึ้นที่เห็นอยู่ทุกวันนี้นั้น อันที่จริงการมีส่วนร่วมในการกระทำเกิดจากทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ดังนั้นการแก้ปัญหานี้จึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายให้ความรับผิดชอบเกิดกับผู้มีส่วนร่วมทั้งหมด เช่น หากพ่อแม่เอาเด็กไปทิ้งให้เร่ร่อน ไม่ว่าพ่อจะเอาไปทิ้ง หรือ แม่จะเอาไปทิ้งก็ต้องลงโทษทั้งสองฝ่ายในฐานไม่เลี้ยงดูบุตร แต่หากแม่ต้องฆ่าลูกอันเนื่องจากภาวะที่ผู้หญิงได้รับความกดดันมาจากฝ่ายชายที่ไม่ยอมเข้ามารับผิดชอบต่อปัญหาที่ก่อขึ้น ผู้ชายก็สมควรที่จะได้รับโทษฐานสมรู้ร่วมคิดเพราะไม่ได้คิดจะเข้ามารับผิดชอบในการกระทำที่ก่อขึ้นจนส่งผลให้เกิดการถึงแก่ชีวิตของบุคคลหนึ่ง หรือ อย่างน้อยควรมีโทษในฐานสร้างเหตุจูงใจให้ผู้อื่นฆ่าคน แม้ตัวเองไม่ลงมือโดยตรงก็ถือเป็นการลงมือโดยอ้อมและหากกรณีที่ผู้หญิงตั้งครรภ์และมีลูก หากฝ่ายชายไม่รับผิดชอบแล้วผู้หญิงเอาเด็กไปทิ้งผู้ชายก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย หรือบางคนไม่ต้องการให้มีปัญหา ผู้ชายบางคนให้เงินผู้หญิงไปทำแท้งแต่ก็ให้ไปเอง ในเมื่อการทำแท้งในประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายการจับกุมดำเนินคดีควรจะต้องดำเนินคดีทั้งผู้หญิงและผู้ชายด้วย เชื่อว่าหากมีกฎหมายดังนี้ปัญหาสังคมจะลดน้อยลงบ้างเพราะหญิงชายจะรู้สึกรับผิดชอบร่วมกันมากขึ้น หาไม่แล้วปัญหาเรื่องแบบนี้จะยังคงต้องเกิดขึ้นต่อไป

 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเรื่องของปัญหาความไม่เท่าเทียมทางกฎหมายของไทยในการเอาผิดกับผู้กระทำความผิดที่ผลักภาระให้ผู้หญิงต้องรับผิดชอบมากกว่าชาย ซึ่งยังมีกฎหมายต่างๆอีกมากมายที่ไม่เอื้อประโยชน์ให้หญิงได้รับความเป็นธรรมเมื่อเปรียบเทียบกับชาย และยืนยันว่าหากกฎหมายยังคงเป็นไปในลักษณะเอียงข้างอยู่เช่นนี้ ปัญหาสังคมที่เห็นอยู่นี้ก็จะยังคงซ้ำซากอยู่อย่างนี้เองคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้หรอก เพราะกฎหมายไม่ได้ส่งเสริมการแก้ปัญหาที่ต้นตอจริงๆ