Skip to main content

หยุดระบอบทักษิณ: หยุดอะไร?

คอลัมน์/ชุมชน

ในวงสัมมนาแห่งหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมวงเป็นคนทำงานประชาสังคมมานานหลายนับสิบปี ได้มีผู้ตั้งคำถามที่ดูจะเป็นคำถามธรรมดาๆ ว่า "ระบอบทักษิณคืออะไร มีหน้าตาอย่างไร"


 


คำถามนี้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์นี้เอง ทั้งๆที่มีคนพูดและขึ้นคำขวัญในทำนองว่าหยุดหรือโค่น "ระบอบทักษิณ" กันทั่วบ้านทั่วเมือง รวมทั้งเป็นคำขวัญหลังเวทีชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหลายครั้งเสียด้วยซ้ำ


 


แต่ไม่มีใครโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้องมาอธิบายความหมายให้ชัดเจนเป็นวิชาการเลยแม้แต่คนเดียว ได้แต่ปล่อยให้สังคมเข้าใจกันเอง  ถ้ามองในแง่ดีก็น่าจะดีไปอย่างหนึ่งเพราะทำให้เราต้องมาช่วยกันคิด


 


ผมเองเป็นนักคณิตศาสตร์อาจจะติดนิสัยกับการต้องนิยามความหมายของคำเสียก่อน ในขณะที่คนอื่น หรือนักวิชาการสาขาอื่นเขาไม่สนใจกัน หรือว่าเขาทราบและเข้าใจความหมายกันหมดแล้วก็เป็นได้  


 


แต่จากคำถามในวงสัมมนาดังกล่าว ได้สะท้อนว่ายังมีคน "ในวงการ" จำนวนหนึ่งก็ไม่เข้าใจ


ผมเองก็ไม่เข้าใจ  จึงพยายามค้นหาจากเว็บไซต์ว่า "ระบอบทักษิณคืออะไร"    ผมกลับพบว่าแต่ละคำตอบออกมาแตกต่างกัน


 


บางคนในเว็บไซต์อธิบายว่า "ระบอบทักษิณมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Thaksinomics"   


ผมเข้าใจว่า คำตอบนี้น่าจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับมิติทางเศรษฐกิจในความหมายทั้งหมดที่เราอยากจะค้นหาเท่านั้นเอง ไม่น่าจะเป็นความหมายทั้งหมดของ "ระบอบทักษิณ"


 


อีกเว็บไซต์พยายามอธิบายความหมายต่างออกไป ความตอนหนึ่งกล่าวว่า "เราจึงต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่า ระบอบทักษิณเป็นระบอบที่เลือกปฏิบัติ โดยการเก็บภาษีประชาชนทั้งประเทศ ไปให้กับจังหวัดที่เลือกไทยรักไทยก่อน มีการแทรกแซงองค์กรอิสระที่เป็นสาระสำคัญของระบอบทักษิณ"  ผมเข้าใจว่า ความหมายนี้ก็น่าจะใช่ แต่ก็คงไม่ทั้งหมด


 


ในที่นี้ผมจะนำเสนอสิ่งที่ผมได้คิดและค้นคว้ามาแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่าน  ถูกผิดหรือไม่ก็กรุณาช่วยกันคิดค้นต่อไปครับ


 


นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ผมได้ค้นคว้าจากพจนานุกรมหลายเล่ม รวมทั้งในเว็บไซต์ www.wikipedia.org


 


คำว่า "ระบอบ" ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า "regime" พจนานุกรมฉบับหนึ่ง[1] อธิบายว่า "ถ้าเรากล่าวถึง "ระบอบ" ใดระบอบหนึ่ง หมายความว่าเรากำลังกล่าวถึง "ระบบหรือวิธีการที่ใช้ในการปกครอง แต่มักจะแสดงถึงความรู้สึกที่ไม่ค่อยดี ไม่เป็นที่ยอมรับ ตำหนิ หรือคัดค้าน(disapproval)"  นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมอีกว่า regime มีความหมายคล้ายกับคำว่า "management(หรือการบริหารจัดการ)" "


 


พจนานุกรมฉบับ Wikipedia   ได้ให้ขยายความว่า  regime มักจะมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับปัจเจกบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ (เช่น ระบอบซัดดัม  ระบอบบุซ) หรือเกี่ยวกับความคิด ความเชื่อก็ได้ (เช่น ระบอบคอมมิวนิสต์ ระบอบเผด็จการ)


 


ในทางการเมือง "ระบอบ"  น่าจะหมายรวมไปถึงระบอบใหญ่ที่ประกอบไปด้วย    ระบบหลัก  คือ  


(๑) ระบบกฎหมาย (๒) ระบบเศรษฐกิจ (๓) ระบบวัฒนธรรมซึ่งหมายถึงการให้คุณค่า ความเชื่อและศีลธรรม และ (๔) ระบบสังคมต่างๆ


 


ดังนั้น "ระบอบทักษิณ" จึงหมายถึง ๔ ระบบหลักที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีบทบาทอย่างใกล้ชิดจนทำให้สังคมไทยรู้สึกได้ว่าระบบนั้นๆ ถูกทักษิณทำให้บิดเบี้ยวไปจากสิ่งที่สังคมเคยยอมรับกัน จนถึงขั้นต้องถูกตำหนิหรือคัดค้าน จนถึงต้องร่วมกันโค่นล้ม


 


เมื่อเราคิดจะหยุด หรือโค่น "ระบอบทักษิณ" เราจึงต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อระบบหลักทั้ง ๔   องค์ประกอบนี้เสียก่อน ไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องเศรษฐกิจ และ/หรือ การเลือกปฏิบัติตามกฎหมายเพียงอย่างเดียวหรือสองอย่าง แต่ต้องทำให้ครบถ้วนในทุกความหมาย


 


ระบอบทักษิณกับเจตนารมณ์หลักของรัฐธรรมนูญ


 


ก่อนจะเข้าใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้เข้าไปทำอะไรจนเกิดเป็น "ระบอบทักษิณ" ที่สังคมรังเกียจ   เราจำเป็นจะต้องเข้าใจสิ่งที่สังคมนี้ "ปรารถนาร่วมกัน" เสียก่อน  ซึ่งสิ่งที่สังคมเราปรารถนานั้นได้ถูกกำหนดไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ หัวข้อนี้ต้องแบ่งออกเป็น ๒ หัวข้อย่อย คือ


 


๑. เจตนารมณ์สำคัญของรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ อันเป็นเจตนารมณ์หลักที่สังคมไทยมีความต้องการร่วมกัน คืออะไร


๒. ระบอบทักษิณได้ทำลายหรือบิดเบือนเจตนารมณ์สำคัญของรัฐธรรมนูญตรงไหนบ้าง


เมื่อเข้าใจเรื่องนี้อย่างดีแล้ว เราจึงจะสามารถตอบคำถามได้ว่า ในการปฏิรูปการเมืองรอบสอง หรือหลังจากล้มระบอบทักษิณได้แล้ว เราจะปฏิรูปการเมืองตรงไหน และอย่างไร


 


เจตนารมณ์สำคัญของรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ คืออะไร


 


เราเกือบทุกคนต่างก็ท่องจำกันได้อย่างขึ้นใจว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ"   ดังนั้นเมื่อสังคมหรือประเทศมีความซับซ้อนเพิ่มขั้น   กฎหมายสูงสุดก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น   ประเทศกำลังพัฒนาจึงอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญบ่อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว


 


รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ ที่ได้มาด้วยการเสียเลือดเนื้อในการต่อสู้กับเผด็จการมีเจตนารมณ์ที่สำคัญอยู่ ๓ ประการ คือ


๑. การให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น นั่นคือ มีการเปลี่ยนแปลงจาก "การเมืองแบบตัวแทน" หรือ "การเมืองของนักการเมือง" (ที่ประชาชนมีบทบาทเฉพาะในเวลาหย่อนบัตรเพียง ๔ วินาทีในรอบ ๔ ปี) มาเป็น "การเมืองภาคประชาชน" มากขึ้น (ให้ประชาชนมีสิทธิยื่นถอดถอนรัฐมนตรีได้  มีส่วนร่วมในการดูแลชุมชนท้องถิ่นดังเดิมได้ ดูแลรักษารวมทั้งเข้าถึงแหล่งทรัพยากรท้องถิ่น เช่น คลื่นวิทยุชุมชนป่าไม้ ทะเล  เป็นต้น)


นอกจากนี้ ยังมีการให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนรวมทั้งเสรีภาพของสื่อมวลชนกว้างขวางขึ้น


เหตุผลสำคัญที่ต้องมีการเมืองภาคประชาชนก็เพราะ สังคมมีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จนยากที่จะรวมศูนย์อำนาจเพื่อจัดการให้มีประสิทธิภาพได้อีกต่อไป


 


๒. การออกแบบให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น  จำกัดจำนวนครั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล การอภิปรายนายกรัฐมนตรีทำได้ยากขึ้น ให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง มี ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ(พรรคใหญ่จะได้เสียงมากขึ้น) การมีล็อคให้ย้ายพรรคได้ก่อน ๙๐ วัน เป็นต้น  นอกจากนี้ยังมีการแยกอำนาจฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติออกจากกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับแต่ละฝ่าย


 


๓. การเพิ่มอำนาจการตรวจสอบโดยมีองค์กรอิสระที่คัดสรรค์โดยวุฒิสภา เช่น คณะกรรมการ ป.ป.ช., ศาลรัฐธรรมนูญ, กรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการจัดสรรคลื่นความถี่, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ฯลฯ


 


ตลอด ๕ ปี ภายใต้การบริหารของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ปรากฏว่า  เจตนารมณ์สำคัญ ๓ ประการ สามารถเป็นจริงได้เพียงประการเดียวเท่านั้น คือ รัฐบาลทักษิณมีความเข็มแข็งมาก เป็นรัฐบาลแรกและรัฐบาลเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่สามารถอยู่ได้ครบ ๔ ปี ตามวาระการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร


 


ที่เหลืออีก ๒ ประเด็นสำคัญซึ่งเป็นผลประโยชน์ของประชาชนได้ถูก "ระบอบทักษิณ" ทำลายอย่างย่อยยับ


 

ทำลายอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป 




[1] CollinsBirminghamUniversity International Language Database