Skip to main content

คนละเรื่องเดียวกัน

คอลัมน์/ชุมชน

ไปเมืองใหญ่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (15 เมษายน ) เพราะว่าอยากออกไปจากตรงที่อยู่นี้ ทั้งที่มีงานรออยู่พอควร แต่เอาเถอะ ขอออกไปสักหน่อย ไปที่ไหนก็ได้ที่เปลี่ยนบรรยากาศความจำเจ


 


เพื่อนผู้เขียนที่ไปด้วยกันบอกว่า ขอไปที่ "มอลล์อ๊อฟอเมริกา" ก็แล้วกัน ผู้เขียนไม่ขัด ไปก็ได้ เพราะว่าสถานที่ใหญ่ดี ที่จอดรถก็มากมาย ไม่ต้องเดือดร้อนมากนักกับการหาที่ว่างจอดรถ และที่สำคัญที่จอดรถฟรี ต่างกับเมื่อต้องดูของในเขตดาวน์ทาวน์หรือเมืองชั้นใน หาที่จอดรถยากและเสียเงินด้วย ไหนๆต้องเสียเงินซื้อของทำไมต้องมาเสียค่าที่จอดรถด้วย จึงเอาเถอะไปก็ไป "มอลล์อ๊อฟอเมริกา" อีกหนก็แล้วกัน


 


ร้านค้าตรงนั้นส่วนมากก็ตบแต่งอย่างวิจิตรเพื่อชักชวนให้คนเข้าไปจับจ่าย ถือเป็นสีสันอย่างหนึ่งของชีวิต นานๆครั้งไปเดินที ก็น่าสนุกอยู่ ระยะหลังๆผู้เขียนถามตนเองซ้ำซากว่าทำไมมนุษย์เราจึงมีความอยากมีอยากได้มากมายเสียเหลือเกิน โดยเฉพาะอยากที่จะมีทรัพย์สิน สิ่งของ แบบหรูๆหราๆ  แล้วก็ตอบทันทีว่า "กิเลส" แต่ก็อีกนั่นแหละ ผู้เขียนก็มีกิเลสเหมือนกัน


 


ผู้เขียนไปที่ห้างสรรพสินค้า "บลูมิงเดล" (Bloomingdale) อันเป็นหนึ่งในสี่ห้างใหญ่ในมอลล์นี้ อันนี้อย่างที่ผู้เขียนเคยบอกกับคนไทยว่ามอลล์นี้ใหญ่ขนาดไหน ก็ขนาดเท่าซีคอนสแควร์คูณสี่เข้าไป เดินแล้วเพลินเพราะเหมือนไม่รู้จักจบ ยิ่งมีสาม-สี่ชั้นให้เดิน ก็เล่นเอาเมื่อยขากันเป็นแถวๆถ้าคิดจะเดินให้ครบ พูดง่ายๆ เป็นที่ดูดตังค์ได้ดีนัก


 


ที่ "บลูมิงเดล" ผู้เขียนก็พบว่าผู้คนสนุกสนานกับการลดราคาเสื้อผ้าของฤดูหนาวต่อสปริง ส่วนเสื้อผ้าสำหรับฤดูร้อนนั้นออกมาวางตลาดแล้ว แต่ยังแพงอยู่เพราะยังเป็นของใหม่ คนที่นี่ซื้อเสื้อผ้าเป็นฤดูๆ ยิ่งคนมีเงินนี่ไม่ต้องห่วง เสื้อผ้านี่ถือว่าเป็นของไม่แพงสำหรับพวกเขา แจ๊คเก็ตตัวง่ายๆของผู้ชายมียี่ห้อหน่อย ราคาแบบขี้หมูขี้หมาก็ตก 100 เหรียญขึ้น เอาเป็นว่าเสื้อผ้ามีชื่อที่นี่ ผู้เขียนจับได้แต่ซื้อไม่ได้ แต่ยอมรับว่าคุณภาพดีมากแม้ทำจากไทย หรือโลกที่สามอื่นๆ แต่ก็ไม่มีวันจะได้เจอที่ประเทศโรงงาน ส่วนเมืองไทยที่บอกว่ามีสินค้าส่งออกตามงานต่างๆ บอกตรงๆว่าไงๆก็เทียบไม่ได้กับที่นี่


 


ผู้เขียนเคยขนเสื้อผ้าที่ใส่ที่นี่กลับไทย ปรากฏว่าเสื้อเชิ้ตธรรมดาที่นี่เนื้อผ้าหนาและดีเกินไป เสื้อยืดคอกลมก็หนาไป ที่ดีคือพวกเสื้อแบบตราลูกไก่ที่ใส่ไว้ชั้นในซับเหงื่อที่ไม่บางมากจนซับเหงื่อไม่ได้ และใช้ได้ทนไม่ย้วยง่าย นอกจากนี้คือซักแล้วไม่หดจนน่าเกลียด อย่างไรก็ตาม เสื้อผ้าที่ขายในไทยดีทุกอย่างเหมาะกับสังคมไทย เสียตรงที่ว่ามักไม่ค่อยทน


 


เดินผ่านมุมของยี่ห้อ "โปโล" ก็แวะดู ลดราคาเหลือตัวละ สามสิบเหรียญ สำหรับเสื้อยืดแบบมีปก ถือว่าไม่แพงเพราะว่าสิบกว่าปีก่อนก็ราคาเหลือเท่านี้ตอนลดราคา หลายๆอย่างก็ลด แต่ไม่มีอะไรต่ำกว่า สามสิบเหรียญ มีบางยี่ห้อลดแล้วก็ยังห้าสิบหกสิบเหรียญ เพราะราคาเต็มก็ตัวละร้อยขึ้นไป หลายๆอย่างตัวละสามสี่ร้อย ก็ได้แต่มองเพราะมันดูสวย แต่คิดว่ามาตัดเมืองไทยแหละดีแล้ว หน้าปากซอยภาวนา ลาดพร้าว ไม่แพง ตัดมาตั้งแต่อายุ 17 จน 42 เอาสะดวก เอาสบาย ไม่ต้องเชยมากก็พอ


 


นึกถึงที่พังเพยไทยว่า "ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง" รู้สึกว่าคนนั้นไม่ว่าไทยหรือฝรั่งก็บ้าไปกับเรื่องนี้จริงๆ ทางสายกลางไม่มี ต้องยกนิ้วโป้งให้นักการตลาดที่แหมช่างหลอกคนได้ดีเสียจริง และในใจจริงๆแล้วอยากยกนิ้วกลางให้ที่ทำได้ดีเกินไป แต่ก็เพื่อนๆกันทั้งนั้น คงไม่งามที่จะมาหยาบคายต่อกัน สำคัญที่ผู้บริโภคเองนี่แหละทำไมถึงได้ยอมให้เค้าหลอก อันนี่ก็น่าสนใจเช่นกัน


 


อุตส่าห์เล่ามาเสียตั้งนมนาน เพราะว่าปัจจุบันนี้การเมืองเองได้ใช้กลยุทธการตลาดมาช่วยในการสร้างความนิยมต่อ นักการเมือง และพรรคการเมืองเอง มากขึ้นและมากขึ้นจนเห็นได้ชัดมาก เมืองไทยเองตอนนี้ก็มีโปรแกรมระดับปริญญาโท-เอกที่เน้นด้านนี้ด้วย เท่าที่ทราบมาที่สหรัฐฯเองก็มีแต่เน้นในเรื่องการศึกษาวาทะ และกลไกอื่นๆ ในการชักจูงใจคน หรือ Persuasion ในภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่ได้ดึงการตลาดมาเสียทีเดียว เพราะจริงๆแล้ว การตลาดนั่นแหละที่ใช้ Persuasion โปรแกรมที่เกี่ยวกับการเมืองและการชวนเชื่อจึงเป็นเรื่องของการสื่อสารอย่างไม่มีอะไรต้องสงสัย


 


ในเรื่องราวขั้นวิกฤตที่ผ่านมาในเมืองไทย ล้วนเป็นเรื่องของการสื่อสารทั้งสิ้น ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารก็มักจะไม่โปร่งใสต่อกัน กล่าวคือ ผู้ส่งสารซึ่งมักจะเป็นนักการเมืองทั้งที่มีตำแหน่งมีอำนาจและนักการเมืองที่ไม่มีตำแหน่งและ/หรืออำนาจ ทั้งสองกลุ่มไม่ได้มีเจตนาที่จะบอกความจริงทุกอย่างหรือบอกที่จำเป็นและมากพอที่จะไม่ให้เกิดการบิดเบือนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น อันนี้นี่แหละที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งความหายนะได้อย่างที่ได้เห็นมา


 


และที่โชคร้ายกว่านั้นในสังคมของไทย ระบบตรวจสอบต่างๆมีก็เหมือนไม่มี เพราะว่าเป็นเครื่องมือที่โดนครอบงำได้ง่าย ซึ่งจริงๆแล้วถ้ามองให้ลึกก็คือเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ในสังคมวัฒนธรรมที่มีกรอบที่ชัดเจนกว่าในวัฒนธรรมไทย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าวัฒนธรรมที่ใช้เครื่องมือนี้ได้จะดีกว่าของไทย เพียงแต่ว่าเราต่างกัน เครื่องมือที่ใช้ได้ในวัฒนธรรมหนึ่งอาจใช้ไม่ได้ในอีกวัฒนธรรมหนึ่งเท่านั้น


 


ดังนั้น อะไรๆ ก็หนีไม่พ้นเรื่องของวัฒนธรรมอีกนั่นแหละ ซึ่งอันนี้คงต้องคุยกันยาวนานทีเดียว อันนี้ผู้เขียนก็ขอติดไว้อีกเรื่องเช่นกันโดยเฉพาะว่าคนที่อยู่สายของการสื่อสารมองเรื่องของ "วัฒนธรรม" อย่างไร


 


เมื่อเป็นเช่นนี้ การตีความในเรื่อง "ประชาธิปไตย" เอย "สิทธิมนุษยชน" เอย หรืออะไรก็ตามที่เราไปได้ "โมเดล" มาจากที่อื่นๆ ที่มีวัฒนธรรมต่างจากของเรา ก็อาจมีการตีความใหม่ สร้างรูปแบบใหม่ได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดในเรื่องที่จับต้องได้คือสถาปัตยกรรมเช่น พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ที่มีความเป็นตะวันตกกับไทย หรือแม้กระทั่งการใช้ช้อนส้อมของไทยที่เอาช้อนซุปมาเป็นช้อนทานข้าวแบบไทย เพราะถ้าใช้ส้อมตักข้าวกว่าจะได้กินอิ่มคงนานและไม่สะดวกเหมือนใช้ช้อนตักกับข้าวไทยที่ส่วนมากมักมีความเหลวเยอะ


 


อย่างไรก็ตาม เรื่องแนวความคิดที่ลึกซึ้งนั้นมีรากที่ลึกมากกว่าสิ่งที่จับต้องได้ จึงกลายเป็นของที่มีปัญหามากกว่าที่หลายคนนึกถึง จึงพบกันว่าหลายๆเรื่องจึงไม่ประสบผลสำเร็จในไทย  และหลายๆเรื่องพอมาถึงไทยปั๊บต้องแปรรูปอย่างมากมายกว่าจะเข้ากับบริบทวัฒนธรรมไทยๆ ได้ ซึ่งรวมทั้งเรื่องแนวคิดแบบประชาธิปไตยที่บอกมาแต่ต้น


 


สิ่งที่น่ากลัวคือว่า เรามีปัญหาเรื่องความเข้าใจในสิ่งเดียวกัน และความเข้าใจนั้นไม่ไปด้วยกัน แล้วต่างคนต่างก็ไม่ได้เข้าใจในเรื่องนี้อย่างกว้างขวางถ่องแท้และลึกซึ้งพอ หรือบางคนก็พยายามบอกว่า"โมเดล" ที่ตนรู้จักนั้นดีกว่าโมเดลอื่น เช่นบางคนบอกว่า ระบบการศึกษาแบบสหรัฐฯดีกว่าระบบในยุโรป ซึ่งอาจดีกว่าจริงแต่ก็มีข้อจำกัดที่มากกว่าด้วยในบริบทไทยๆ อันนี้คงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์และอธิบาย มีหลายปัจจัยมากที่จะมีผลต่อคำว่า "ดีหรือไม่ดี"


 


การแก้ปัญหาที่จะขจัดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันคือ ต้องมีการพบปะเจรจา ถกเถียงในประเด็นที่ชัดเจนและมีภราดรภาพ ต้องไม่มี "วาระแอบแฝง" และมีความจริงใจต่อกัน โดยทำกันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ แม้ในสหรัฐฯที่ถือว่ามีประชาธิปไตยระดับแนวหน้าของโลกก็มีปัญหาให้แก้ไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ใช่เพราะว่าคนอเมริกันไม่เก่ง แต่น่าจะเป็นเพราะเก่งเกินไปและคิดว่าจะทำอย่างไรตนเองจะได้ประโยชน์มากที่สุด โดยการหลอกให้คนอื่นตีกันเพื่อที่จะให้หมดแรงและไม่มีเวลามาสนใจตนเอง และตนเองก็จะได้เป็น "ตาอยู่"ในที่สุด กลุ่มที่เก่งแบบ"ตาอยู่"นี้จึงจ้องที่จะฉกฉวยโอกาสแทนที่จะช่วยให้สังคมโดยรวมดีขึ้น


 


การพูดแบบที่เรียกว่า "คนละเรื่องเดียวกัน" เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจะกลายเป็นโอกาสให้คนฉลาดแต่ชั่วได้ใช้เป็นอาวุธเพื่อตนเองจะได้ประหัตประหารคนอื่นได้ง่ายและไม่เปลืองตัว จุดนี้การศึกษาช่วยอะไรไม่ได้ ไม่ว่าจะได้ปริญญาอะไรก็ตาม เป็นเพราะ "สันดานเดิม" มันชั่วมาแต่แรกเสียแล้ว เป็นภาระของทุกคนในสังคมที่ต้องเข้าใจในเรื่องนี้และพยายามป้องกันแก้ไขและเท่าทัน


 


จึงขอฝากให้คิดต่อ   สวัสดี