Skip to main content

พระดีที่เชียงราย สืบชาตาแม่น้ำ สืบชาตาหลวง

คอลัมน์/ชุมชน

 


ช่วงสงกรานต์ปีนี้ดิฉันได้ร่วมพิธีกรรมอันเป็นสิริมงคลในจังหวัดเชียงรายหลายอย่าง ได้แก่  พิธีสืบชาตาแม่น้ำจัน พิธีสืบชาตาแม่น้ำกรณ์ และพิธีสืบชาตาหลวงที่วัดพระสิงห์ ซึ่งพระราชสิทธิ นายก ท่านเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย และเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์เป็นประธานในพิธี ท่านได้แสดง ธรรมเตือนสติพุทธศาสนิกชนว่า คนยุคนี้ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของพิธีกรรม มีแต่วัดกับวัง ที่รักษาพิธีกรรมอันทรงคุณค่าทางจิตใจและวัฒนธรรมไว้ให้เป็นมรดกของแผ่นดิน


 


[1]การสืบชะตา สืบชาตา หรือการต่ออายุ หรือสืบชาตากำเนิดให้ยืดยาวออกไป หมายถึง ต้องการให้เป็นมงคล มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย ปราศจากโรคภัยทั้งหลาย ทำให้มีความเจริญ รุ่งเรืองสืบไป เป็นความเชื่อที่มาจากคัมภีร์สืบชาตากล่าวว่า "พระสารีบุตรเถระ ซึ่งเป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้า มีสามเณรองค์หนึ่งชื่อ ติสสะ อายุ ๗ ปี มาบวชเพื่อศึกษาเล่าเรียนกับท่านเป็นระยะเวลาหนึ่งปี วันหนึ่งพระสารีบุตรสังเกตเห็นลักษณะของสามเณรว่าจะมีอายุได้อีก ๗ วันเท่านั้น ก็จะถึงแก่มรณภาพ ท่านพระสารีบุตรจึงเรียกสาเณรมาบอกถึงความจริงให้ทราบว่า ตามตำราหมอดูและตำราดูลักษณะเธอจะมีชีวิตอยู่ไม่เกิน ๗ วัน ดังนั้น ให้เธอกลับไปบ้านร่ำลา โยมพ่อ แม่ และญาติเสีย สามเณรมีความเศร้าโศกเสียใจมาก  ร้องไห้ร่ำไรน่าสงสาร นมัสการลาอาจารย์แล้วเดินทางกลับบ้านด้วยดวงหน้าอันหม่นหมอง


 


ระหว่างทางที่สามเณรผ่านไปนั้น ได้พบปลาน้อยใหญ่ในสระน้ำซึ่งกำลังแห้งเขิน เมื่อสามเณรไปถึง ปลากำลังดิ้นทุรนทุรายเพราะน้ำไม่เพียงพอ สามเณรจึงรำพึงว่า เออ ! เรานี้จะตายภายใน ๗ วัน ปลานี้หากไม่มีน้ำจะต้องตายวันนี้แล้ว อย่ากระนั้นเลยถึงเราจะตายก็ควรจะโปรดสัตว์คือปลาเหล่านี้  ให้พ้นจากความตายเถิด สามเณรจึงช้อนปลาน้อยใหญ่ทั้งหมดไว้ในภาชนะ คือ บาตรของตน นำไปปล่อยที่แม่น้ำใหญ่ ระหว่างทางพบ  อีเก้ง ลูกกวาง  ถูกแร้วของนายพราน สามเณรก็ปล่อยอีเก้งอีก เมื่อเดินทางไปถึงบ้าน บอกเรื่องที่ตนจะตายแก่ญาติ มีบิดามารดา เป็นต้น ต่างก็ร่ำไห้สงสารสามเณรยิ่งนัก ทุกคนต่างคอยเวลาที่สามเณรจะมรณภาพด้วยดวงใจที่แสนเศร้า เลยกำหนดหนึ่งวันสองวันตามลำดับ จนล่วงกำหนดไป ๗ วัน สามเณรก็ยังไม่ตาย กลับมีผิวพรรณผ่องใสยิ่งขึ้น ญาติจึงบอกให้สามเณรกลับไปหาพระสารีบุตรเถระ สามเณรเดินทางไปถึงพระสารีบุตรมีความประหลาดใจ ถึงกับจะเผาตำราทิ้งสามเณรติสสะจึงกราบเรียนให้ทราบเกี่ยวกับการนำปลาไปปล่อยในน้ำ และปล่อยอีเก้งจากแร้วของนายพราน การกระทำเพื่อยืดชีวิตสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ จึงเป็นบุญกรรมที่ยืดพลังให้พ้นจากความตายได้" ด้วยตำนานนี้เองที่ทำให้ ชาวบ้าน ล้านนาไทยทั้งหลายจึงนิยมชมชอบการสืบชะตาจนเป็นประเพณีสืบมาจนทุกวันนี้


 


ประเพณี สืบชะตา แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ


            ๑.ประเพณีสืบชะตาคน


            ๒.ประเพณีสืบชะตาบ้าน


            ๓.ประเพณีสืบชะตาเมือง


 


ต่อมามีการประยุกต์นำศาสนธรรมมาช่วยในการอนุรักษ์แม่น้ำลำธารเรียกว่า  "การสืบชาตาแม่น้ำ" เช่น การสืบชาตาน้ำแม่จัน  ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คน ทั้งอำเภอแม่จัน ริเริ่มโดยนายอำเภอปริญญา ปานทอง (ปัจจุบันเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน)เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้สืบสานกันต่อเนื่องทุกปี จนถึงปัจจุบันได้กำหนดในปฏิทินของสภาวัฒนธรรม จ.เชียงราย เป็นปีที่ ๑๑ แล้ว


 


กิจกรรมสืบชะตาแม่น้ำจัน ประกอบด้วย การสวดพุทธมนต์โดยคณะสงฆ์เพื่อให้พรเป็น  สิริมงคลแก่เทพไท้เทวดา เจ้าป่า เจ้าเขา แม่ธรณี แม่คงคา มนุษย์ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้มีจิตใจเคารพ กตัญญูต่อธรรมชาติและแม่น้ำ เพื่อดำรงความอุดมสมบูรณ์แก่สรรพชีวิต และ สรรพสิ่งให้อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล


 


นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมคารวะต่อเทพเทวดาของชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในลุ่มน้ำ เช่น ลีซู (ลีซอ) ลาหู่(มูเซอ) ลัวะ เมี่ยน คนเมือง มีการเชิญชุมนุมเทวดา การเชิญปฏิทินใช้น้ำ โองการแช่งน้ำ แช่งผู้ทำลายป่า ทำลายธรรมชาติ อวยชัยให้พรแก่ผู้อนุรักษ์ป่า อนุรักษ์น้ำทุกคน เชิญท้าวทั้ง ๔ มาคุ้มครองรักษา เป็นต้น


 


เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๙ ชาวบ้านปางกอก ได้จัดงานสืบชาตาแม่น้ำกรณ์ ซึ่งเป็นแบบอย่างของการรวมตัวกันของกลุ่มอาชีพ โดยทำเขตอภัยทานอนุรักษ์พันธุ์ปลาร่วมกับ อบต.แม่กรณ์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มสตรี และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เริ่มพื้นที่อภัยทาน อนุรักษ์พันธุ์ปลามาได้ ๕ ปี ก็เห็นผลชัดเจน มีปลามาอยู่อาศัยมากขึ้น ทั้งจำนวนชนิด ปริมาณ ทำให้ผู้ที่เคยคัดค้าน ไม่เห็นด้วย ไม่สนับสนุน กลับใจมาร่วมมือ โดยกำหนดมาตรการ อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ การจัดการขยะ การลดเลิกใช้สารเคมีในการเกษตร เพื่อไม่ให้สิ่งปฏิกูล สารพิษ ไหลลงสู่น้ำแม่กรณ์


 


ท่านเจ้าคณะตำบลแม่กรณ์นำคณะสงฆ์ ๕ รูป สวดพุทธมนต์ในพิธีสืบชาตา แล้วจบด้วย การแสดงธรรมที่มีสาระจับใจ เป็นพิธีการที่เรียบง่าย แต่มีผลเป็นพลังทางปัญญาที่เปี่ยมคุณค่า


 


พิธีสืบชาตาหลวงที่วัดพระสิงห์ ซึ่งเป็นพระอารามหลวงที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย ทำให้ดิฉันปลื้มปิติในบทบาทของพระสงฆ์สุปฏิปันโน ต่อพลังแห่งศรัทธาและปัญญาของสาธุชน ชาวพุทธในจังหวัดเชียงราย พระราชสิทธินายก เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ใช้กุศโลบายดึงคน ทุกเพศทุกวัยเข้าวัด ในเทศกาลสงกรานต์ได้อย่างต่อเนื่อง


 


เริ่มด้วยการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ให้ชาวพุทธได้สรงน้ำ และบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน ตลอดทั้งสัปดาห์ ซึ่งเมื่อดิฉันได้สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์แล้ว จึงได้ทราบว่าวันที่ ๑๖ เมษายน ของทุกปี จะมีพิธีสืบชาตาหลวง เริ่มตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น.


 


เช้าวันที่ ๑๖ เมษายน ดิฉันกับลูกชายจึงได้มาร่วมพิธีสืบชาตาหลวง โดยมาทันการเริ่ม พิธีพอดี คือ การสวดเชิญชุมนุมเทวดา และตามด้วยพุทธมนต์สำคัญ เช่น มงคลสูตร ๓๘ ประการ สวดพระปริตร เป็นต้น


 


ท่านเจ้าคณะจังหวัดเป็นประธานในการสวดพุทธมนต์ ทำให้พิธีการดูศักดิ์สิทธิ์ น่าเลื่อมใส เสียงของคณะสงฆ์ดูหนักแน่น สลับกับเสียงของเณรน้อย ซึ่งบวชในช่วงปิดเทอมจำนวน ๗๐ กว่ารูป เป็นเสียงใสๆฟังแล้วต้องอมยิ้ม เณรน้อยวัยซนครองผ้าเหลืองขับให้ดูผิวพรรณผุดผ่อง น่าชื่นใจแทนพ่อแม่ที่ลูกชายได้มีโอกาสรับการกล่อมเกลาจิตใจ ให้เข้าถึงธรรมตั้งแต่เยาว์วัย


 


                           


 


พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง แล้วให้พร จากนั้นท่านเจ้าคณะจังหวัดแสดงธรรม เรื่องความกตัญญู สรุปได้ว่าเทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลแห่งความกตัญญูและความสามัคคี เริ่มด้วยการกตัญญูต่อตนเอง ดูแลสุขภาพให้ดี ให้เวลาในการเข้าวัด ปฏิบัติธรรม อย่าอ้างว่าไม่มีเวลาเพราะมัวแต่ทำงานหาเงิน กตัญญูต่อบุคคลผู้มีบุญคุณ ได้แก่พ่อแม่ ครู อาจารย์ และที่สำคัญ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ่อของแผ่นดิน ต้องทำแต่ความดี สวดมนต์ภาวนา ทำบุญถวายพระพรให้ทรงมีพระพลานามัย สมบูรณ์ พระชนมายุยิ่งยืนนาน


 


กตัญญูต่อสรรพสัตว์ที่เอื้ออำนวยต่อชีวิตของมนุษย์ และกตัญญูต่อพระศาสนาที่ช่วยพัฒนาจิตให้ร่มเย็นเป็นสุข ชาวพุทธจึงพากันขนทรายเข้าวัด บูชาด้วยตุง(ธง) ด้วยไม้ค้ำ ด้วยปัจจัยภัตตาหาร และช่วยทำความสะอาด เพื่อให้วัดได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางจิตใจของชุมชน เป็นตัวอย่างของสถานที่ที่สะอาด มีระเบียบวินัย ร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ที่เป็นมงคล


 


เสร็จจากฟังธรรมแล้ว สาธุชนได้รับการประพรมน้ำพุทธมนต์ พร้อมกับคณะสงฆ์สวด  ชยันโต แล้วเข้ากราบขอพรจากท่านเจ้าคณะจังหวัด จนถึงเวลา ๑๑.๓๐ น. มัคทายกจึงมาเตือนว่าท่านต้องไปฉันเพลแล้ว


 


วันนี้เป็นโอกาสดีที่ดิฉันได้ใช้เวลาในวัดพระสิงห์อย่างไม่รีบเร่ง ดิฉันเดินไปหลังโบสถ์ก็เห็นพระเจดีย์ทอง ถัดไปคือต้นสาละจากลังกา เป็นต้นสาละใหญ่ปลูกไว้คู่กัน ให้ร่มเงาที่สงบเย็น แซมด้วยต้นจำปา และต้นพิกุล ซึ่งมีอยู่โดยรอบวัด กำลังออกดอกหอมเย็น ทักทายผู้คนที่เข้ามาในวัด ให้ได้สัมผัสกลิ่นแห่งธรรมะ


 


 


 


ถัดจากพระอุโบสถ คือศาลาที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท และต้นพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยาอินเดีย กับต้นโพธิ์ใหญ่ที่ปลูกไว้คู่กัน มีนกกาพากันมากินลูกโพธิ์ อย่างเป็นสุข เพราะในวัดเป็นเขตอภัยทาน ปลอดภัยสำหรับนกและสรรพสัตว์ทั้งหลาย


 



 


รอบวัดพระสิงห์มีต้นไม้นานาชนิด ทั้งที่พุ่มใหญ่ใบหนา และที่กำลังปลูกใหม่ ล้วนเป็นไม้มงคลที่ให้ร่มเงา ชุ่มเย็นทั้งใจ กาย เช่น ต้นไทร บุนนาค กาสลองคำ รวมทั้งบัวหลวงในกระถางดินเผา หน้าพระอุโบสถ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าที่มาวัดพระสิงห์จึงได้พักใจ พักกาย ภายใต้ธรรมะและธรรมชาติ


 


พระราชสิทธินายกเป็นแบบฉบับของพระสงฆ์สุปฏิปันโนในยุคนี้  แม้ท่านมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัด แต่ยังนำพระหนุ่มเณรน้อยเดินรับบิณบาตรทุกเช้าตรู่ สวดมนตทำวัตรเช้าเวลาตีห้า และทำวัตรเย็นเวลาหกโมงครึ่ง (หากไม่ติดกิจนิมนต์ที่สำคัญ) ทั้งยังจัดพิธีกรรมที่ดึงคนเข้าวัดตลอดทั้งปี ทำให้บ้านกับวัดได้พึ่งพาอาศัยกันอย่างน่ายกย่อง


 


นอกจากนั้นท่านยังจัดประชุมเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล เป็นประจำ เพื่อพัฒนางานเผยแผ่พระธรรม ให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมการศึกษาของพะเณรทั้งทางปริยัติและสายสามัญ ทำให้เยาวชนจากถิ่นทุรกันดารได้มีโอกาสบวชเรียน มีอนาคตที่ดี เป็นความหวังของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสืบต่อไป


 


หากเจ้าคณะทุกแห่งมีวิสัยทัศน์และวัตรปฏิบัติเหมือนท่านเจ้าคณะจังหวัเชียงราย  พระพุทธศาสนาคงเจริญรุ่งเรือง ทั้งศาสนธรรม ศาสนทายาท ศาสนสถาน ศาสนพิธี ชาวไทยคงได้แสงสว่างแห่งธรรมนำปัญญา ใช้ธรรมาธิปไตยเป็นฐานของประชาธิปไตย ใช้หลักคุณธรรม จริยธรรมนำการเมือง เพื่อสันติสุขของทุกคนในสังคม โดยทั่วหน้ากัน


 


 


*ขอขอบพระคุณ พระมหาอมรวิชญ์ รองเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ที่เมตตาให้ยืมหนังสือ เป็นข้อมูลประกอบการเขียนบทความนี้






[1] มณี พยอมยงค์ ,หนังสือประเพณีสิบสองเดือน ล้านนาไทย รวมเล่ม(เชียงใหม่:ส.ทรัพย์การพิมพ์,๒๕๔๓)