Skip to main content

ทักษิณของเด็กมัธยม

คอลัมน์/ชุมชน

 


ผมรับงานไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ต้องขออนุญาติผู้อ่าน หากบทความนี้จะเขียนเรื่องตัวเองมากไปหน่อย ผมสอนนักเรียนชั้นมัธยม 6 วิชาสังคม ทางโรงเรียนบอกผมว่า จะใช้ครูพิเศษหมดเลยทุกวิชาในการสอนเด็กมัธยม 6 นี่เป็นนโยบายของโรงเรียนที่อยากให้เด็กได้พบกับอะไรที่มันใหม่ ๆ และไม่ทำให้เด็กเบื่อ


ผมฟังแล้วก็ตกใจพอสมควร ไม่คิดว่าโรงเรียนจะไปกันไกลถึงขนาดนี้แล้ว นี่มันเป็นวิธีคิดแบบทุนนิยมชัด ๆ เพียว ๆ


ความสัมพันธ์ของนักเรียนกับครูไม่ควรจะถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขของทุนนิยมเพียงอย่างเดียว แต่ครูพิเศษซึ่งมาสอนแล้วก็กลับ ได้รับค่าจ้างตามจำนวนคาบที่มาสอน และไม่รู้จักกับครูคนอื่น ๆ หรือใครในโรงเรียนเลยนั้นไม่อาจจะสร้างสายสัมพันธ์อะไรได้มากไปกว่าการเป็นเซลล์แมนนำเอาความรู้มาขาย และลูกค้าก็คือเด็กนักเรียนแต่คนที่จ่ายเงินจริง ๆ คือพ่อแม่ผู้ปกครอง


ความรู้ที่เซลล์แมนนำมาขายนั้นบอกได้ยากว่ามีคุณภาพหรือคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหนกับเงินค่าเทอมที่เสียไป แต่สิ่งที่ทางโรงเรียนใช้วัดก็คือความพึงพอใจของนักเรียน หากนักเรียนพึงพอใจก็ถือเป็นอันใช้ได้และทางโรงเรียนก็จะจ้างเซลล์แมนคนนั้น ๆ ต่อเหมือนการต่อสัญญาของนักฟุตบอล และเมื่อถึงตอนนี้เซลล์แมนก็สามารถโก่งค่าตัวหรือราคาค่าสอนได้


วิชาสังคมที่ผมสอนของโรงเรียนมัธยมครอบคลุมจักรวาลทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์เอาไว้ทั้งหมด คือ รวมเอาวิชาประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศาสนา ภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ กฏหมาย วัฒนธรรมอันดีงาม การเป็นพลเมืองดี เศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ เข้าไว้ด้วยกันหมด (ถ้าวงวิชาการจะอยากเห็นอะไรที่เป็นสหวิทยาการซึ่งพูดถึงกันมากในช่วงที่ผ่านมาก็ต้องไปดูที่หลักสูตรวิชาสังคมของเด็กมัธยมปลาย)


ผมก็บอกเด็กไปตรง ๆ ว่าไม่มีใครจะสามารถเชี่ยวชาญศาสตร์ทุกแขนงที่ว่ามาได้ แต่ถ้าให้สอนอะไรที่มันเบื้องต้นไปตามหนังสือเรียนก็ไม่มีปัญหาอะไร


เด็กกรุงเทพซึ่งค่อนข้างมีฐานะพวกนี้ไม่กลัวครูเลย ไม่เหมือนกับเด็กในต่างจังหวัดซึ่งถึงแม้ไม่กลัวไม้เรียวเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็เกรงครูอยู่มาก นักเรียนพวกนี้ที่ผมสอนบางคน บางกลุ่มก็ตั้งใจเรียนดี แต่บางกลุ่มลงไปนั่งเล่มเกมเศรษฐีอยู่หลังห้อง บางคนเสียบหูฟังเพลง บ้างก็กำลังเสริมสวย ที่ดีขึ้นมาหน่อยก็คือนอนหลับหรือเอาการบ้านวิชาอื่นออกมาทำอยู่เงียบ ๆ


ช่วงก่อนสงกรานต์คือวันที่ 12 เมษายน เด็กนักเรียนเตรียมตัวเล่นสงกรานต์โดยเอาปืนฉีดน้ำมายิงใส่กันอุตลุดในขณะที่ผมกำลังยืนพูดพึมพำอยู่หน้าห้อง บางคนเอาน้ำใส่ลูกโป่งแล้วปาข้ามหัวเพื่อนไปอีกฟากหนึ่งเป็นที่กรี๊ดกร๊าดสนุกสนาน เด็กนักเรียนคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า "ครูเล่นด้วยกันไหมคะ" ลืมบอกไปว่าโรงเรียนที่ผมสอนเป็นโรงเรียนหญิงล้วน


จะโกรธเด็กพวกนี้ผมก็โกรธไม่ลง มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เด็กจับกลุ่มนั่งเล่นไพ่ผสมสิบขณะที่เพื่อนนักเรียนคนอื่นกำลังออกมาพรีเซนต์รายงานอยู่หน้าห้อง ผมไม่รู้เล่นเอาตังค์กันหรือเปล่า แต่เห็นแบ๊งค์พันวางอยู่หลายใบ ตอนแรกผมก็ขอร้องให้เลิก แต่เด็กก็ตอบว่าถึงมือจะเล่นแต่หูก็ฟังเพื่อนพูดอยู่ ในที่สุด ผมจึงพูดขึ้นว่า "ถ้าไม่อยากเรียน ครูก็ไม่อยากสอนแล้ว" ว่าแล้วผมก็เดินจากมา มีเด็กนักเรียนคนหนึ่งวิ่งตามมาและขอให้ผมกลับไปสอน แต่ผมเสียกริยาไปแล้ว


พอได้เจอเข้ากับตัวเองบ้างผมก็เริ่มเข้าใจหัวอกของคนเป็นครู ก่อนหน้านี้นั้น ผมเองก็ไม่เคยรู้หรอกว่าคนที่เป็นครู หรืออาจารย์นั้นรู้สึกอย่างไรเวลานักเรียนมาสายเกินครึ่งชั่วโมงหรือเวลาที่ครูพูดแล้วนักเรียนไม่สนใจ กระทั่งพูดแข่งกับครูหรือมาตัดพ้อต่อว่าเมื่อคะแนนสอบออกมาไม่ดี


ข้อสอบข้อหนึ่งที่ผมออกให้เด็กทำในช่วงมิดเทอมที่ผ่านมาคือ ผมถามว่า "นักเรียนคิดว่าคุณทักษิณ ชินวัตรเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่ เพราะเหตุใด"


ผมย้ำว่าจะตอบว่าเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้ที่สำคัญคือการให้เหตุผลประกอบความเห็นและก็ไม่ต้องเดาใจครูหรอกว่าครูมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร


คำตอบเกือบเท่า ๆ กันระหว่างเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยว่าคุณทักษิณ ชินวัตรมีความเหมาะสมในการเป็นและไม่เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป


นักเรียนข้างที่ไม่เอาคุณทักษิณเขียนตอบมาตอนหนึ่งว่า "ข้าพเจ้าคิดว่านายกฯ ทักษิณควรจะเพียงพอและหยุดพักได้แล้ว เพราะข้าพเจ้าว่าท่านคงจะเหนื่อยกับหลาย ๆ เรื่อง และคงจะเครียดกับอีกหลาย ๆ เรื่อง ฉะนั้นท่านควรหยุดพักผ่อนกับเงินที่ใช้ทั้งชาติก็ไม่หมด"


อีกคนหนึ่งตอบว่า "ไม่เหมาะสม เพราะถึงคุณทักษิณ ชินวัตร จะมีความรู้ ประสบการณ์ประกอบกับความเก่งในการบริหารประเทศขนาดไหน แต่เป็นคนที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อประเทศชาติบ้านเมือง นำเงินของประเทศชาติมาเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีของประชาชนน้านจริยธรรมและเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อนักการเมืองรุ่นใหม่ซึ่งเป็นอนาคตของผู้ปกครองประเทศ และที่เห็นได้ชัดคือเรื่องการโกงคะแนนสอบของบุตรของคุณทักษิณ ชินวัตร จึงเห็นได้ว่านักการเมืองที่ไม่สามารถปกครองลูกของตนเองได้ก็ไม่สามารถปกครองประเทศได้เช่นเดียวกัน"


ส่วนคนที่เป็นกลาง ๆ หน่อยก็เขียนว่า "ความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมขึ้นอยู่ที่คนจะมองเพราะคุณทักษิณมีการปฏิบัติงานทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป"


อีกคนหนึ่ง "ถ้าให้มอง 2 แง่ ก็คือในแง่ที่เหมาะสมที่นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตรจะเป็นนายกฯ ต่อก็เพราะเป็นคนที่มีความฉลาด แก้ไขปัญหารวดเร็ว และยิ่งการปราบผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ ก็ทำให้ การทำอาชีพต่าง ๆ ดีขึ้น เช่น วินมอ’ไซค์ที่แต่ก่อนผู้มีอิทธิพลมารีดไถ วินมอ’ไซค์ทำงานแทบตายมีเงินเหลือกลับไปให้ลูกเมียใช้นิดเดียว ซึ่งพอนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรเข้ามาบริหารประเทศ ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ก็หมดไป


แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่งที่ไม่เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปก็คือ นายกฯ มีความฉลาดก็จริงแต่ฉลาดแกมโกง ท่านนายกฯ ควรจะใช้ความฉลาดควบคู่ไปกับการมีคุณธรรม ไม่ใช่ว่าตัวเองเก่งแล้วจะกดคนอื่นให้ต่ำลงและคนอื่นที่กล่าวถึงนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนก็คือประชาชนทุกคนนั่นเอง ดังนั้นข้าพเจ้าจึงไม่สามารถบอกได้ว่า ท่านนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร มีความเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่ ขอให้เวลาและการกระทำเป็นเครื่องตัดสินจะดีกว่า"


คำตอบของนักเรียนประเภทที่เป็นกลาง ๆ นี้ก็ใช้ได้นะครับ แต่ก็ไม่ตรงกับคำถามซึ่งต้องบอกลงไปในท้ายที่สุดว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม การตอบไม่ตรงคำถามแบบนี้จะทำให้ไม่ได้คะแนนอย่างที่น่าจะได้ ส่วนนักเรียนอีกพวกหนึ่งซึ่งเอียงมาทางคุณทักษิณ เขียนตอบว่า "ในสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้เป็นการเมืองที่สกปรกมาก มีแต่การซื้อสิทธิ์ขายเสียง ข้าพเจ้าไม่ได้เข้าข้างคุณทักษิณ แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าเค้าเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่สุดในบรรดานักการเมืองระดับหัวหน้าพรรคทั้งหมด ข้าพเจ้าเชื่อว่ามีบ้างที่คุณทักษิณ จะเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องและลูกน้องบางคนอาจจะโกง แต่เราต้องยอมรับว่าเหตุการณ์แบบนี้เป็นเรื่องปกติของผู้มีอำนาจ เป็นเสมือนแม่เหล็กดึงดูดให้พวกญาติพี่น้องหรือคนสนิทเข้ามาขอความช่วยเหลือ อย่างน้อยคุณทักษิณ ก็สามารถพัฒนาประเทศด้านสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีการโกงกินมาหลายสมัย สามารถปราบยาเสพติด ปิดบ่อนการพนัน แก้ปัญหาหวยเถื่อน ขจัดผู้มีอิทธิพล ฯลฯ


และนี่อาจเป็นเหตุให้ผู้เสียผลประโยชน์จากการดำเนินงานของรัฐบาลชุดนี้ ถือโอกาสเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ประท้วงขับไล่รัฐบาลและเราควรตัดสินคนที่ผลงานไม่ใช่ความรู้สึกส่วนตัว ส่วนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ข้าพเจ้าคิดว่าเขาไม่มีความสามารถพอที่จะบริหารประเทศ เขายังไม่มีประสบการณ์เพียงพอ และที่สำคัญหน้าที่หัวหน้าพรรคของเขาก็มีเพียง 2 อย่างคือ คอยหาเรื่องฝ่ายรัฐบาลและคอยสร้างภาพให้ตนเองและพรรคดูดี เหมือนว่าเป็นคนทำงานจริง


แต่ถ้าเรื่องไหนที่ฝ่ายตนทำผิด ตอนให้สัมภาษณ์กับนักข่าวก็จะพูดวกไปวนมา หาใจความไม่ได้ แต่สรุปคือขอดูดีไว้ก่อน เหมือนอดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย ที่มีคำพูดติดปากเป็นโลโก้ประจำตัวว่า "ผมขอไปปรึกษากับ...ก่อนครับ" จนคำพูดนี้กลายเป็นมุกขำๆ ไปแล้ว ในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นฝ่ายบริหาร ถึงแม้ตอนนั้นข้าพเจ้ายังเด็กแต่ก็พอรู้ความแล้วจำได้ว่าในตอนนั้นประเทศชาติไม่ได้ก้าวหน้าขึ้นเลย มีแต่ถอยหลังลง พอทนไม่ไหวก็ยุบสภา"


คำตอบหลาย ๆ คำตอบของนักเรียนน่าสนใจ บางคนก็ให้ข้อมูลใหม่ที่ผมไม่เคยรู้แต่จะจริงหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมได้รู้ก็คือ เด็กนักเรียนที่ถึงแม้จะดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยตั้งใจเรียนแต่ในแง่ข้อมูลข่าวสารแล้วเด็กกรุงเทพฯเหล่านี้รู้เรื่องอยู่พอสมควร.