Skip to main content

โลก " การค้ามนุษย์" ไร้พรมแดน

คอลัมน์/ชุมชน

























































































1

 

การประกาศให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ และความพยายามในการปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา มีนัยสำคัญอยู่สองประการคือ ประการแรกอาจเป็นที่น่ายินดีว่ารัฐบาลได้หันมาใส่ใจในปัญหานี้อย่างจริงจังแล้ว หลังจากที่ได้มีความพยายามกันมานานและมากมายจากการทำงานของภาคเอกชน ( โดยเอ็นจีโอไทยและองค์การระหว่างประเทศ)

 

ส่วนประการต่อมา อาจเป็นไปได้ว่าความตื่นตัวนี้เกิดขึ้นเนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ลดอันดับการทำงานของประเทศไทยในเรื่องของการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์จากที่เคยอยู่ในกลุ่มลำดับ 2 (tier 2) ให้มาอยู่ tier 3 เป็นลำดับต่ำสุด ซึ่งหมายความว่าการทำงานในคืบนี้ไม่ได้คืบหน้าไปไหน ไม่มีความสามารถในการดำเนินคดีกับผู้ค้ามนุษย์ได้ หรืออาจเรียกว่าไม่จริงใจที่จะแก้ปัญหา จึงจำเป็นที่จะต้องกู้หน้า

 

กระนั้น ไม่ว่าการทำงานครั้งนี้จะเกิดขึ้นเนื่องจากเหตุใดก็ตามก็ก่อให้เกิดมิติที่ดีอยู่บางประการ นั่นคือ อย่างน้อยทางเจ้าหน้าที่ของรัฐเริ่มเข้าใจประเด็นของการค้ามนุษย์มากขึ้น และเห็นความสำคัญของปัญหาซึ่งความเข้าใจก็จะนำไปสู่การปฏิบัติต่อเหยื่อในทางที่ดีขึ้น และในส่วนประชาชนทั่วไปได้เห็นภาพรวมของการค้ามนุษย์ได้กว้างขึ้นและอาจจะปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ให้ดีขึ้นได้ในอนาคต

 

กล่าวคือ จากอดีต คนทั่วไปอาจเคยนึกถึงภาพการค้ามนุษย์เพียงแค่ผู้หญิงถูกหลอกมาค้าประเวณี แต่การทำงานเรื่องการช่วยเหลือเด็กที่ออกมาจากโรงงานนรก หรือช่วยเด็กที่ถูกบังคับให้ขายของข้างถนน ก็อาจทำให้คนเริ่มมองเห็นว่าการค้ามนุษย์มีรูปแบบอื่นด้วย ซึ่งอาจจะเป็นผลดีให้การให้ความร่วมมือกับภาครัฐในอนาคต

 

ทั้งนี้ ในการทำงานเพื่อการช่วยเหลือเหยื่อของการค้ามนุษย์และเพื่อปราบปรามผู้ค้ามนุษย์นั้น เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยได้ลงนามในพิธีสาร (Protocol) ว่าด้วยการป้องกัน ปราบปรามและการลงโทษการค้ามนุษย์ ที่ผนวกท้ายอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ (Convention on Transnational Organized Crime) ไปแล้ว

 

ดังนั้นการจำแนกให้เห็นว่าการกระทำใดเป็นการค้ามนุษย์ และจะสามารถแยกแยะได้ว่าผู้ใดเป็นผู้ค้าที่สมควรต้องถูกดำเนินคดี และผู้ใดเป็นเหยื่อที่ควรได้รับการคุ้มนั้นอย่างน้อยที่สุดจึงเป็นไปตามคำจำกัดความเรื่องการค้ามนุษย์ที่ปรากฏอยู่ในพิธีสารฯ ที่ได้ให้คำจำกัดความเรื่องการค้ามนุษย์เอาไว้ว่า

 

‘ การค้ามนุษย์’ นั้นจะหมายถึง การจัดหา การขนส่งลำเลียง การรับหรือกักขังหน่วงเหนี่ยวบุคคลโดยการข่มขู่หรือใช้กำลังหรือการบังคับในรูปแบบต่าง ๆ การลักพา การฉ้อโกง การล่อลวง การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบหรือใช้ประโยชน์จากสถานภาพที่เปราะบางของบุคคล การให้หรือรับค่าใช้จ่ายหรือผลประโยชน์เพื่อให้ได้มาซึ่งความยินยอมของบุคคลที่มีอำนาจควบคุมบุคคลอื่น เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะแสวงหาผลประโยชน์ การแสวงหาประโยชน์ ประกอบด้วยอย่างน้อยที่สุดคือ การเอาประโยชน์จากการค้าประเวณีของบุคคลอื่น หรือการเอาประโยชน์จากรูปแบบของการบริการทางเพศแบบอื่น ๆ แรงงานหรือการบริการที่ถูกบังคับ แรงงานทาสหรือใช้กระทำการเยี่ยงทาส การทำให้อยู่ในภาวะจำยอมหรือการเคลื่อนย้ายอวัยวะ

 

ทว่า ความยากลำบากในการทำงานเพื่อแก้ปัญหานี้ที่สำคัญก็คือ กระบวนการการค้ามนุษย์นั้นไม่ได้เกิดหรือมีส่วนพัวพันแค่ภายในประเทศใดประเทศหนึ่งประเทศเดียว แต่เกี่ยวพันกับหลายประเทศ ทั้งขบวนการการค้ามนุษย์ก็มีโครงข่ายโยงใยกันทั่วโลก และเส้นทางการค้ามนุษย์นั้นก็มีหลายประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

ยกตัวอย่าง เส้นทางและรูปแบบของการถูกแสวงประโยชน์จากไทย มีประเทศปลายทางที่มาเลเซีย ญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือบางครั้งใช้มาเลเซียเป็นแค่ทางผ่าน โดยมีทั้งไปค้าบริการทางเพศ เป็นแรงงานไปเป็นแม่บ้าน อินโดนีเซีย มีปลายทางที่มาเลเซีย สิงคโปร์ ประเทศในโลกอาหรับ ส่วนใหญ่ไปทำงานรับใช้ในบ้าน จากพม่าปลายทางที่ประเทศไทย มาเลเซีย และจีน ทำงานรับใช้บ้าน บริการทางเพศ ถูกล่อลวงไปแต่งงานกับคนหลาย ๆ คนในครอบครัว ไปคลอดลูกแล้วถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาส โรงงาน รวมทั้งแรงงานชายที่ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมประมง แต่คนที่มาจากจีนอาจผ่านเข้ามายังประเทศไทยและต่อไปยังญี่ปุ่น กัมพูชา ปลายทางอยู่ที่ไทย และ มาเลเซีย จากเวียดนามไปจีน และกัมพูชา จากอุซเบกิสถาน ปลายทางอยู่ที่กลุ่มประเทศอาหรับ ไทย ยุโรป จากเนปาล ปลายทางที่อินเดีย จากฟิลิปปินส์ ไปสู่ญี่ปุ่น กานา ไนจีเรีย

 

2

 

จะเห็นได้ว่า รูปแบบของการถูกแสวงประโยชน์ก็แตกต่างกันออกไปและนับวันก็จะมีรูปแบบใหม่ ๆ ของการค้ามนุษย์มีมากยิ่งขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น ที่อัฟกานิสถาน เนื่องจากไม่มีโรงเรียนในชนบทมีกลุ่มผู้ค้ามนุษย์จากกลุ่มประเทศอาหรับได้เข้ามาในหมู่บ้านแล้วบอกพ่อแม่ของเด็กว่า เด็กคนนี้น่าจะเรียนหนังสือได้จึงขอกับพ่อแม่ว่าจะให้ไปเรียนศาสนาที่ตะวันออกกลาง และเด็ก ๆ เหล่านั้นก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย หรือ การซื้อขายเด็กทารก เพื่อเอาไว้ใช้เยี่ยงทาสเมื่อโตขึ้น

 

ส่วนในเรื่องเส้นทาง ดังได้ยกตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีประเทศที่เป็นต้นทางปลายทาง หรือ ประเทศทางผ่าน และบางประเทศก็เป็นทั้ง 3 อย่าง ดังนั้นเรื่องการแก้ไขปัญหานั้นการค้ามนุษย์นั้นจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่อาจกระทำเพียงประเทศเดียวลำพังได้ การประสานความร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาทั้งในประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทาง จึงเป็นความจำเป็น โดยทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันทำงานอย่างเข้าใจถึงรากและแก่นแท้ของปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ และเหยื่อการค้ามนุษย์ และต้องมีความละเอียดอ่อนในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็น การป้องกัน ช่วยเหลือ ฟื้นฟูสภาพจิตใจ และการกลับคืนสู่สังคมอย่างปกติสุข

 

อีกทั้ง ในการวางนโยบายต่าง ๆ ของประเทศนั้นคงจะต้องมองด้วยว่าในฐานะของประเทศต้นทางจะมีมาตรการใด ประเทศปลายทางความจะมีมาตรการใด หรือประเทศทางผ่านควรจะทำอย่างไร โดยควรจะต้องคำนึงด้วยว่า การออกมาตรการใดมาตรการหนึ่งสำหรับประเทศตนเองนั้นส่งผลกระทบกับการทำงานในอีกประเทศหนึ่งหรือไม่

 

ทว่า ทุกวันนี้ก็พบว่าแค่ในขั้นตอนแรกของการทำงาน คือขั้นตอนในการป้องกันนั้น มาตรการที่หลาย ๆประเทศใช้อยู่กลับเอื้อให้เกิดการค้ามนุษย์มากยิ่งขึ้น ตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านของเรามีกฎห้ามผู้หญิงอายุต่ำกว่า 25 ปีเดินทางโดยลำพัง จะต้องมีญาติผู้ชายเดินทางไปด้วย นัยว่าเพื่อความปลอดภัยของผู้หญิง ทว่า กฎนี้นอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิของผู้หญิงแล้ว การกระทำเช่นนี้ยังเอื้อให้เกิดการค้ามนุษย์มากยิ่งขึ้น

 

เพราะในเมื่อสถานการณ์หรือสภาพความเป็นอยู่ในประเทศไม่ได้เอื้อให้สามารถมีชีวิตอย่างเป็นสุขได้ การคิดถึงการแสวงหาโอกาสที่ดีให้กับชีวิตย่อมจะมีอยู่ และนี่เองที่จะมีนายหน้าที่จะเข้าไปจัดหาและแสดงตนว่าสามารถช่วยให้เดินทางได้ แล้วกระบวนการแสวงประโยชน์ก็เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นทาง และการคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ก็มีช่องทางมากขึ้น และเมื่อคนเหล่านี้ออกจากเมืองมาโดยผิดกฎหมายแน่นอนว่าย่อมเป็นไปได้ยากที่คนเหล่านี้ก็เข้ามาในประเทศของเราอย่างถูกกฎหมายจึงนำไปสู่การเข้าไปทำงานที่อยู่ในมุมมืดและไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เพราะไม่มีตัวตนอยู่ประเทศนี้ เนื่องจากไม่มีหลักฐานบันทึก อาศัยช่องทางอย่างนี้ขบวนการค้ามนุษย์ก็ทำงานร่วมกันทั้งต้นทางและปลายทาง

 

อีกตัวอย่างหนึ่งคือที่สหรัฐอเมริกามีมาตรการเข้มงวดในการเข้าประเทศ มีการสกรีนด้วยวิธีการนานาชนิด แต่ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของสหรัฐฯ ก็ยังยากจนอยู่ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้คนจากประเทศเหล่านี้จะไม่ต้องการออกนอกประเทศ และในเมื่อสหรัฐฯ ที่ชอบเรียกตัวเองว่า ดินแดนแห่งโอกาสนั้นมีสภาพที่ดีกว่าคนจากประเทศใกล้เคียง รวมทั้งคนจากประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการแสวงโอกาส ก็จะยังคงไม่หยุดยั้งที่เดินทางเข้าไปในสหรัฐฯ แต่เมื่อวิธีการเข้าเมืองที่ยุ่งยากและเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าประเทศได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ใช่ว่าคนจะเปลี่ยนใจไม่เข้าประเทศแต่จะเปลี่ยนมาเป็นลักลอบเข้าเมืองมากขึ้นผลก็คือมีคนที่จะต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพวกกลุ่มอำนาจมืดมากขึ้นดังนั้นยิ่งออกกฎให้การเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมายยากขึ้นเท่าไร ก็จะส่งผลให้คนที่จะต้องไปตกอยู่ภายใต้อิทธิพลมืด และถูกแสวงประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า เหยื่อของการค้ามนุษย์จะมีมากขึ้นเท่านั้น

 

3

 

นโยบายควบคุมนั้นหากมองเพียงผิวเผินนั้นเสมือนว่าจะเป็นการป้องกัน แต่ที่จริงแล้วกลับกลายเป็นว่ายิ่งไปหนุนเสริมให้เกิดการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น นักค้ามนุษย์จะได้ประโยชน์มากขึ้นจากกฎระเบียบอันเข้มงวดเหล่านี้ ดังนั้น มาตรการการป้องกันอย่างหนึ่งน่าจะอยู่ที่การให้ข้อมูลแก่คน หากจะต้องเดินทางว่าจะต้องทำอย่างไรและจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง จะช่วยในการตัดสินของคนว่าควรจะเดินทางหรือไม่ควร การช่วยอำนวยความสะดวกให้การเข้าประเทศได้ง่ายขึ้น การออกวีซ่า หรือหนังสือผ่านแดนให้ง่ายขึ้นนั้นจะไม่ได้ส่งผลให้คนทะลักเข้ามาในประเทศมากขึ้น แต่จะทำให้คนที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมายมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถติดตามได้ว่ามีใครเข้ามาในประเทศบ้างและอยู่ที่ไหน และการตกเป็นเหยื่อของการถูกล่อลวงอาจน้อยลงได้

 

นี่เป็นตัวอย่างว่าในโลกยุคโลกาภิวัตน์นี้ การทำงานหากแม้คิดที่จะแก้ปัญหาของประเทศตัวเองอยู่เพียงประเทศเดียวนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะประเด็นนี้เป็นบริบทของโลกไปแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมมือกันทำงานในทุกภาคส่วน เพราะว่าเครือข่ายของผู้ค้ามนุษย์นั้นก็เป็นเครือข่ายระดับโลก เครือข่ายการทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขก็จึงจำเป็นที่จะต้องเครือข่ายในระดับโลกด้วย

 

ทั้งนี้ การทำงานร่วมกันไม่ได้หมายความว่า มีประเทศใหญ่ประเทศหนึ่ง เอาเงินมาให้เล็ก ๆ น้อย ๆ เรียกว่าให้เงินช่วยเหลือ แล้วบอกให้ทุกคนปฏิบัติตามแนวคิดที่ตนเองต้องการ โดยไม่ได้มองถึงบริบทของประเทศอื่น ๆ และผลกระทบอันจะเกิดขึ้นต่อประเทศอื่น ๆ เลย อย่างนี้คงไม่สามารถแก้ปัญหาระดับโลกอย่างแท้จริง

 

และหากรัฐบาลไทยคิดจะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังก็คงต้องคิดให้รอบคอบในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ป้องกัน ไปจนถึงการกลับคืนสู่สังคม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ไม่ใช่เพียงเพื่อเอาใจใครที่ใหญ่กว่าเท่านั้น