Skip to main content

คุณค่า ความหมายและจินตนาการ

คอลัมน์/ชุมชน

การศึกษาทางเลือกเป็นประเด็นที่ผู้คนในวงการศึกษาเริ่มให้ความสนใจกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น อาจเป็นเพราะว่าแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในโครงสร้างเก่า ดูจะมองไม่เห็นทางออกมากเท่ากับการเปิดโอกาสให้กับแนวคิดการศึกษาใหม่ๆ ที่มีความเหมาะสมกับรูปแบบสังคมและวัฒนธรรมของเราเอง โดยเฉพาะเรื่องความหมายและคุณค่าของการศึกษา ที่ไม่น่าจะถูกตีความอย่างตายตัว และจำกัดอยู่ในรั้วสถาบันอย่างที่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้     


 


การย้อนหันกลับมามองรากฐานทางสังคมและวัฒนธรรม จะทำให้เราเข้าใจและเห็นคุณค่าในตัวเราเองอย่างลึกซึ้งมากขึ้น จากนั้นจึงค่อยกำหนดทิศทางของการพัฒนาสังคมไทยไปในทิศทางที่เราเลือกอย่างที่ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับใคร  เมื่อได้ทิศทางเป็นที่ชัดเจนแล้ว การศึกษาก็จะทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาบุคลากรทางสังคม เพื่อให้สังคมเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่วางไว้


 


คำถามตอนนี้ก็คือว่า   เราเข้าใจรากเหง้าของเราดีแล้วหรือยัง  เราได้เห็นคุณค่า ความหลากหลายทางวัฒนธรรมความเป็นไทยที่เรามีมากน้อยเพียงไร เราเป็นผู้กำหนดทิศทางของการพัฒนาสังคมไทยอย่างไร้อิทธิพลการครอบงำของต่างชาติแล้วจริงๆหรือไม่  และรากฐานของการพัฒนาบุคลากรทางสังคมนั้นได้ทำไปอย่างสอดคล้องไปกับคุณค่าทางสังคมที่เรามีอยู่จริงหรือไม่อย่างไร


 


เมื่อไม่มีใครเคยคิดตั้งคำถาม และแสวงหาคำตอบเหล่านี้ การปฏิรูประบบการศึกษาจะมีประโยชน์อะไร นอกเสียจากการกำหนดกฏกรอบแบบเดิมๆ อย่างไร้ซึ่งคุณค่า ความหมายและจินตนาการเอาเสียเลย


 


ฟอเรสท์ เค็ทชิน โปรเฟสเซอร์ที่มีความลุ่มลึกในแนวคิดเรื่องการศึกษาอย่างหาตัวจับยากคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยนาโรปะ เธอมีพื้นฐานทางด้านมานุษยวิทยา และมีความสนใจในมิติทางด้านความศักดิ์สิทธิ์ของการเรียนรู้  เธอได้อธิบายความแตกต่างของ ‘e’ducation กับ ‘E’ducation  ไว้ว่า


 


There's education with a little 'e', meaning the unfolding path of discovery an individual walks through life. This can be healing or traumatizing, depending on a lot of variables.


 


ส่วนอีกคำหนึ่งเธอเขียนอธิบายว่า  "There's Education with a big 'E', meaning  the institutions of education, the SYSTEMS of education. These also shape meaning and how the individual interprets what is learned, and so can be healing or traumatizing. These systems are based in an ideology or agenda that society or culture has a stake in, either pro or con.


              


การศึกษาที่กำลังถูกจับตามองในสังคมไทยเวลานี้ คือ การศึกษา (‘E’) ที่มักจะมุ่งไปที่รูปธรรมของการศึกษาเพื่อคนหมู่มาก (mass education) เป็นการตั้งเป้ามองไปที่ "ความสำเร็จ" ของการศึกษาที่จะพาสังคมไทยให้ก้าวไปสู่ความเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว  คนทั่วไปจึงมีความเชื่อที่ว่า หากเรามีระบบการศึกษา (‘E’) ที่ดี และทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ สังคมไทยก็จะสามารถก้าวทันสังคมประเทศอื่นๆได้อย่างทัดเทียม


 


จึงดูเหมือนว่าเวลาที่สื่อพูดถึงการปฏิรูปการศึกษา ก็มักจะพุ่งเป้าไปดูที่การเปลี่ยนแปลงตัวของระบบที่จะทำให้เกิดผลอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้เขียนมองว่าแนวคิดลักษณะนี้เป็นสิ่งที่สอดคล้องการวัฒนธรรมการทำงานด้วยการใช้อำนาจทางการเมืองให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง แต่เมื่อใดที่ระบบการศึกษาขาดซึ่งรากฐานของการแสวงหาคุณค่า ความหมาย และจินตนาการของการศึกษา (‘e’ducation) ก็คงไม่ต่างอะไรไปจากระบบที่ตายแล้ว และรอวันล่มสลายในที่สุด


 


ในประเด็นเรื่อง ‘e’ และ ‘E’ ของคำว่าการศึกษานั้น ฝรั่งเขามีความเข้าใจเรื่องนี้มากกว่าบ้านเรามาก และที่สำคัญคือ เขาไม่เห็นว่า สองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันแต่อย่างใด ใครที่ทำงานในระบบการศึกษา (‘E’) ก็จะมีใจที่เปิดกว้าง เรียนรู้และรับฟังแนวคิดในเรื่องของการศึกษาใหม่ๆ (‘e’) ที่น่าสนใจอยู่เสมอ และเขาก็ไม่ได้เรียนรู้และรับฟังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มักจะให้ได้มีการทดลองนำไปปฏิบัติในสถานการศึกษาต้นแบบของแนวคิดเหล่านี้ เพื่อให้ได้เห็นผลที่แท้จริง จะเห็นได้ว่าการทำงานในด้านการศึกษาที่เห็นคุณค่าของงานทั้งสองแบบ ก็จะเป็นลักษณะของการเกื้อกูลกัน เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่เหมาะกับบริบทของสังคมนั้นๆอย่างได้ผลจริง


 


การทำงานด้านการศึกษาอาจเปรียบได้กับการทำงานศิลปะแขนงหนึ่ง เมื่อเราเข้าใจว่าหัวใจของการศึกษา คือ การเรียนรู้เพื่อการค้นหาตัวเองและการเปลี่ยนแปลงภายในของปัจเจก หากนักการศึกษารู้จักที่จะเรียนรู้ ให้ความสำคัญกับกระบวนการมากกว่าความสำเร็จ โดยที่ไม่มัวแต่เดินตามทฤษฎีที่ไปคัดลอกเอามาจากฝรั่ง กระบวนการเรียนรู้นั่นเองจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะพาให้เราเข้าไปสัมผัสถึงหัวใจของการศึกษา อันเกิดจากการสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย แทนที่จะไปมัวสนใจกันแต่เรื่องงบ ระบบ นโยบายอันเป็นเรื่องเปลือกนอกผิวเผิน


 


ระบบการศึกษาที่ถูกตัดขาดออกจากจินตนาการ อิสรภาพทางความคิดสร้างสรรค์ และเส้นทางการแสวงหาศักยภาพภายในของผู้เรียน  ระบบการศึกษานั้นก็คงเป็นได้เพียงแค่โรงงานผลิตคนป้อนเข้าโรงงานแห่งโลกทุนนิยม แทนที่การศึกษาจะจุดประกายความหมายอันสร้างสรรค์ใหม่ๆให้สังคม ก็กลับทำหน้าที่เป็นเพียงกลไกในโครงสร้างแห่งความรุนแรง (structural violence) ที่กดทับศักยภาพแห่งปัจเจกอย่างเลวร้ายที่สุด ทั้งนี้คงไม่ต้องพูดถึงเรื่องของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ชาติเชื้อเผ่าพันธุ์ อาชีพ และถิ่นกำเนิด ที่ระบบการศึกษาไม่เคยให้ความใส่ใจ ได้เพียงแต่ป้อนข้อมูลที่ทำให้ผู้เรียนค่อยๆตัดขาดจากรากเหง้าทางวัฒนธรรม และความหลากหลายในคุณค่าของผู้คนในสังคมไปทีละน้อยๆ


 


คงได้แต่หวังว่าผู้คนในสังคมไทยจะหันกลับมาให้ความสำคัญกับ "กระบวนการ" แทนที่ "ความสำเร็จ" กันมากขึ้น เมื่อนั้นเราก็อาจจะได้เห็นประกายแสงแห่งความหวังในรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น มหาวิทยาลัยแนวพุทธ เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง บ้านเรียน โรงเรียนชาวนา กลุ่มเด็กรักนก ฯลฯ หรือแม้แต่ตัวสถาบันการศึกษากระแสหลักที่น่าจะเปิดรั้วออกไปเรียนรู้ปัญหา สร้างปฏิสัมพันธ์ กับผู้คนและชุมชนรอบข้างมากขึ้น


 


ด้วยคุณค่า ความหมาย และจินตนาการเหล่านี้นี่เอง ที่จะหล่อเลี้ยงให้หัวใจแห่งการศึกษาค่อยๆงอกงาม สอดผสานและถักทอ  ปรากฏเป็นแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่คนทุกคนมีส่วนร่วม และเกิดผลเป็นรูปธรรมต่อสังคมไทยอย่างยั่งยืนแท้จริง