Skip to main content

ทุ่มหมดตัว ซื้อกระเป๋าสตางค์

คอลัมน์/ชุมชน


           ช่วงนี้ที่เชียงใหม่มีผู้คนจากต่างจังหวัดมากมาย เนื่องในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของสถาบันราชภัฏ 8 จังหวัดภาคเหนือ  บรรดาผู้ปกครองของบัณฑิตต่างเหมารถยกพลมาแสดงความยินดีกับลูกหลานของตัวเอง โดยจัดพิธีขึ้นที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


            ภาพครอบครัวปูเสื่อกินข้าวกันข้างถนน  เด็กยืนฉี่ริมฟุตบาท  ชาวเขาแต่งตัวเต็มยศ ลุงป้าน้าอาคลี่ผ้าใหม่ที่เก็บไว้มาใส่ถ่ายรูป มีให้เห็นทั่วไปตามท้องถนน ทำให้นึกถึงภาพเด็กคนหนึ่ง ตอนนั้นฉันอายุสักแปดขวบ บ้านอยู่ในตลาด ข้างบ้านเป็นร้านของชำขนาดสี่คูหา เป็นโลตัสน้อย ๆ ของอำเภอบ้านนอกเลยทีเดียว วันหยุดฉันก็จะช่วยย่าขายของหน้าบ้าน  มีเด็กคนหนึ่งมาจากบ้านนอก ใส่กางเกงขาสั้นลายสก็อต เสื้อยืดมีรอยพับอย่างดี ยืนด้อม ๆ มอง ๆ ดูพวงกระเป๋าสตางค์ที่ร้านข้างบ้านฉัน ในมือล้วงกระเป๋ากางเกง แววตาครุ่นคิด และมีแวววิบ ๆ ราวเห็นสิ่งของที่ต้องประสงค์วางอยู่ตรงหน้า  เพียงแค่ควักกระเป๋าเท่านั้น  ฉันนั่งมองเขาเจรจาซื้อกระเป๋าสตางค์ใบเล็กใบนั้น เจ้าของร้านลดราคาให้เขาตามที่เขาต้องการ  เขาล้วงเงินออกมาจากประเป๋ากางเกง เป็นเศษสตางค์ที่นับจนหมดกระเป๋า เพื่อแลกกับกระเป๋าใส่เงินใบใหม่ 


 


            เป็นภาพความทรงจำที่ฉันมักหยิบขึ้นมาคิดถึงเสมอ ถึงความสุขของคน เด็กคนนั้นคงมีความสุขที่ได้กระเป๋าสตางค์...กระเป๋าใหม่ไร้เงิน


 


            เหมือนครอบครัวของบัณฑิตราชภัฏ ที่ทุ่มสุดตัวเพื่อพิธีกรรมทางการศึกษาอันทรงเกียรตินี้  เป็นความภาคภูมิใจของพ่อแม่ที่ตั้งหน้าตั้งตาส่งลูกเรียน ขณะที่สถานะของสถาบันนี้กลับเป็นรองในสังคม   ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันอย่างเสรี  และมหาวิทยาลัยของรัฐ ต่างลุกขึ้นมาทำธุรกิจการศึกษา แข่งกันเต็มรูปแบบ ชนิดอยากเรียนต้องได้เรียน  ใคร ๆ ก็เข้าได้ จนนึกไม่ออกว่า วันหนึ่งสถาบันการศึกษาเอกชน หรือราชภัฏ จะสร้างคนขึ้นมาวางไว้ตรงส่วนไหนของสังคม


 


            สังคมที่เต็มไปด้วยคาราวานคนที่ลุกขึ้นมาอุ้มชูผู้นำผู้ร่ำรวยและทรงเกียรติของเขาโดยไม่ลืมหูลืมตา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเสร็จศึกผู้นำอุ้มลูกไปพักร้อนในต่างประเทศ ชาวนากลับไปทำนา และยากจนเหมือนเดิม  ฉันโทษระบบโครงสร้างสังคม คนยากจนนอกจากจนเงินแล้วยังต้องจนใจ เพราะเงินน้อยก็ไม่มีปัญญาส่งลูกเรียนดี ๆ  อย่างดีก็มาเรียนราชภัฏ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ห้ามอาจารย์ศิลปะเขียนรูปในห้องทำงาน (บางที่) เพราะหัวหน้าภาควิชาเหม็นสี  เป็นมหาวิทยาลัยที่มีนักเรียนในห้องเรียน 200 คน มีอาจารย์หนึ่งคน  ซึ่งต่อให้เป็นเง็กเซียนฮ่องเต้ก็ไม่อาจจ้ำจี้จ้ำไชนักศึกษาสองร้อยคนได้ทั่วถึง  ระบบการสอบแบบกา ก ข ค ง ก็ไม่ได้ทำให้คนได้คิด ประมวลผล และถ่ายทอดวิชาที่ร่ำเรียนมาออกมาได้อย่างสัมฤทธิ์ผล  จบม.6 มาแทนที่สมองจะได้ใช้งาน กลับหยุดใช้ไปอีก 4 ปี แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับคน ๆ นั้น


 


            ฉันเคยท้อแท้เมื่อพบว่างานเขียนภาษาไทยของนักศึกษาปี 1 บางคน ดีกว่าภาษาไทยที่เลขาสำนักอธิการบดีร่างจดหมายมาให้ฉัน  กลายเป็นว่าต้องแก้ภาษาของนักศึกษา และเลขานุการซึ่งเป็นผลผลิตของระบบการศึกษาแบบ mass  ระบบที่เหมือนกับการทุ่มเทเงินทั้งกระเป๋า เพื่อซื้อกระเป๋าสตางค์ที่ว่างเปล่ากลับบ้าน.


 


................................................................................................................................


 



 


 



 


 


 


       


 


 


 


  


 


 


 


 


   


 


 


 


  


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


0 0 0