Skip to main content

การบ้าน การบ้าน และการบ้าน….อีกแหละ!

คอลัมน์/ชุมชน

 


 



                                   


 


"น้องไม่อยากเรียนพิเศษแล้ว ครูเอาแต่สั่งๆ การบ้าน" เสียงบ่นจากน้องสาวของผม ที่จู่ๆ ก็เอ่ยขึ้นมาระหว่างสนทนากับผม ด้วยความไม่ทันตั้งตัวและมึนงงกับคำพูด ผมจึงต้องตั้งสติ แล้วถามว่ากลับว่าทำไมไม่อยากเรียน น้องก็ตอบเสียงอ่อนๆ  "ไม่รู้เหมือนกัน มันไม่สนุก น่าเบื่อ นี่ยังไม่ได้เรียนจริงๆ เลยแค่เรียนพิเศษก็ไม่ชอบแล้ว วันนี้ก็ทำการบ้านอีก ๒ วิชา …..เฮ้อ"


           


ผมคิดในใจว่าจะพูด จะอธิบายกับน้องต่ออย่างไร แต่พลันที่สิ้นสุดประโยคนี้ การพูดคุยของเราสองคนก็สิ้นสุดลง เนื่องจากโทรศัพท์ของผมแบตเตอรี่หมด


 


ผมค่อนข้างรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้คุยและถามน้องต่อว่า น้องรู้สึกอย่างไรกับการเรียน?  น้องกังวลใจอะไรอยู่ในขณะนี้? และจะให้ช่วยอะไรบ้าง? การบ้านยากไหม? (ผมคิดว่าการตั้งคำถามและรับฟังคนที่ไม่สบายใจนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการให้กำลังใจและหาทางออกของเรื่องนั้นๆ ร่วมกัน)


 


แต่แม้จะไม่ได้คุยกันต่อ ผมก็พอจะรับรู้เรื่องราวของน้องได้ดีระดับหนึ่ง เรื่องของเรื่องคือ ตอนจบชั้นป. ๖ จากโรงเรียนประจำหมู่บ้าน แล้วน้องก็ตั้งใจจะสอบเข้าโรงเรียนมัธยมเอกชนของคริสเตียนแห่งหนึ่งที่อยู่ในตัวอำเภอ แต่ไม่เลือกสอบ เนื่องจากครูที่อยู่โรงเรียนเดิมบอกว่าน้องไม่มีทางสอบเข้าได้หรอก ด้วยเหตุนี้เองน้องจึงไปสอบเข้าที่โรงเรียนแห่งใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมเอกชนของคนไทยเชื้อสายจีนที่อยู่ในตัวอำเภอเช่นกัน


 


ผลของการสอบคัดเลือกโรงเรียนดังกล่าวนี้คือ "ผ่าน" และน้อง ซึ่งเป็นนักเรียนใหม่ที่สอบเข้าเรียนได้ จะต้องมาเรียนพิเศษทุกวัน เพื่อปรับพื้นฐานความรู้และเตรียมตัวด้านอื่นๆ ในการเรียนชั้น ม.๑ ต่อไป


 


บรรยากาศของการเรียนพิเศษจะเป็นอย่างไรนั้นผมไม่รู้ แต่จากคำพูดไม่กี่ประโยคข้างต้นนั้น ก็พอจะเดาเอาได้ว่าคงจะน่าเบื่อ และลำบากสำหรับน้องที่จะต้องไปเรียนพิเศษทุกๆ วัน และต้องพบกับการบ้านอีกมากมาย


 


ผมเข้าใจความรู้สึกของน้องได้ในระดับหนึ่ง เพราะเมื่อตอนที่ผมเรียนหนักๆ และได้การบ้านมากๆ ก็รู้สึกเบื่อที่วันๆ ครูเอาแต่สั่งการบ้าน วิชานี้ ๑ เรื่อง, วิชานั้นอีก ๑ เรื่อง – มีแต่การบ้าน การบ้าน การบ้าน และการบ้าน


 


การสอนในโรงเรียนอดีตตอนที่ผมเรียน ก็มีการบ้านกลับมาทำทุกวัน หากวันใดไม่มีการบ้าน คงจะเป็นเรื่องแปลก แต่หากไม่มีการบ้านวันไหน วันนั้นก็เป็นวันที่พ่อกับแม่จะต้องใช้ให้ทำงานบ้านอย่างอื่นแทน


 


ผมจำได้ว่าเพื่อนของผมคนหนึ่งชอบให้ครูสั่งการบ้านครั้งละมากๆ เพราะที่บ้านของเขาขายของ และเขาเองไม่อยากจะช่วย จึงขอให้ครูสั่งการบ้านเพื่อจะได้หลบงานขายของของที่บ้านหรือบางคนเมื่อถึงฤดูทำนา ก็จะขอครูสั่งการบ้านให้มาทำทีละมากๆ เพราะไม่อยากไปตากแดดที่ต้องไปดำนา ปลูกข้าว ยิ่งหากปิดเทอมช่วงมีการมีงานยิ่งของให้ครูสั่งให้ทำรายงานหลายๆ อัน เพื่อจะเลี่ยงการงานที่ครอบครัวจะให้ทำ


 


การบ้านที่ครูให้นักเรียนทำคือ การบ้านที่ต้องทำตามรายวิชานั้นๆ ตามหนังสือต่างๆ ที่น่าคิดคือเราไม่ค่อยได้เห็นโรงเรียนหรือครูคนไหนสั่งการบ้านที่ให้เด็กได้ "ปฏิบัติจริง" กับสิ่งที่มีอยู่ที่บ้านหรือชุมชน หมู่บ้านของตน  สมมุติตัวอย่างการบ้าน เช่น ให้นักเรียนช่วยพ่อแม่ปลูกข้าวในฤดูทำนา แล้วมาเล่าให้ครูฟังว่าทำอย่างไร มีกระบวนการผลิตข้าวอย่างไร หรือ กว่าที่ข้าวจะออกมาเป็นเม็ดให้เราได้กินนั้นต้องทำอย่างไรบ้าง


 


หรือหากจะให้ตื่นเต้นมากว่านั้น อาจจะทำกิจกรรม เช่น ให้นักเรียนเป็น "นักสืบความรู้" ไปสืบเสาะหา ผู้รู้ คนเฒ่าคนแก่ ในชุมชนว่ามีที่ไหน และแต่ละคนมีภูมิปัญญา มีความรู้เรื่องอะไร อย่างไร หรือสืบดูว่ามี "ของดี" อะไรบ้างในชุมชนที่กำลังจะสูญหายไปและจำเป็นต้องสืบสานอนุรักษ์ให้คงอยู่


 


การให้นักเรียนทำการบ้าน โดยเรียนรู้จากชุมชนจริงๆ อย่างน้อยน่าจะช่วยให้นักเรียนมีความรักในชุมชนท้องถิ่น และได้เรียนรู้ "รากเหง้า" "กำพืด" ของตัวเองได้เป็นอย่างดี ซึ่งผมเชื่อว่าจะช่วยทำให้เด็กที่เรียนจบไปในระดับต่างๆ ได้คิดถึงชุมชนและกลับมาพัฒนา สืบสานภูมิปัญญา ประเพณี วัฒนธรรมของชุมชนต่อจากคนรุ่นเก่าๆ


 


ฉะนั้นแล้ว การบ้านที่ "ควรจะเป็น" น่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ "ของจริง" ที่มีอยู่ในชุนชนมากกว่าในตำรา หรือหนังสือเพียงอย่างเดียว เพราะแม้ว่าเด็กนักเรียนจะบ่นกับการบ้านของครู หรือตรงกันข้ามคือชอบให้ครูสั่งการบ้านเพื่อหนีการช่วยงานที่บ้าน แต่การให้เด็กทำการบ้านด้วยประสบการณ์ที่เรียนรู้ด้วยตนเอง ลองผิดลองถูกกับชุมชน จึงเป็นสิ่งที่โรงเรียนและระบบการศึกษาเองต้องคำนึงต่อหลักสำคัญส่วนนี้ด้วย


 


แต่อย่างไรก็ตามสำหรับผม, หากได้ชาร์ตแบตเตอรี่โทรศัพท์ใหม่ คงจะโทรศัพท์ไปคุยกับน้องสาวต่อและอาจจะบอกให้น้องลองไปคุยกับคุณครูที่โรงเรียนแห่งใหม่ดูว่า "ขอให้ครูสั่งการบ้าน ที่ได้เรียนรู้ "ของจริงๆ " "ของดีๆ " ที่มีอยู่ในชุนชนมากกว่าในตำรา หรือหนังสือเพียงอย่างเดียวได้ไหมค่ะ"