Skip to main content

ละครวิทยุไร้พรมแดน

คอลัมน์/ชุมชน

























































นา ฮา เว เด็กสาวชาวลาหู่วัย 14 ปี ซึ่งกำลังอยู่ในวัยช่างฝันประกอบกับสภาพความเป็นอยู่ในหมู่บ้านบนดอยที่ห่างไกลความเจริญ วันหนึ่ง เมื่อเด็กสาวได้พบกับคนพื้นราบจากรุงเทพฯ เข้าไปเล่าให้ฟังถึงชีวิตความเป็นอยู่ในเมือง และยืนยันว่าจะหางานให้เธอทำในเมือง เธอและเพื่อนชื่อนา มิ เต ด้วยความหวังที่จะมีอนาคตที่ดีขึ้นจึงได้ติดตามคนพื้นราบคนนั้นออกมา

 

ชีวิตต่อไปของเธอทั้งสองจะลงเอยอย่างไร คิดว่าผู้อ่านอาจจะคาดเดาไปได้ในรูปแบบต่าง ๆ กันออกไป เช่นเดียวกับชาวลาหู่ที่เฝ้าติดตามรอคอยฟังเรื่องนี้อย่างใจจดใจจ่อทุก ๆ คืนวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่

 

ใช่แล้ว นี่คือ รายการละครวิทยุ ความบันเทิงที่เข้าถึงได้ง่ายของคนทุกชาติที่ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลกวิทยุนับเป็นสื่อที่คนทุกเพศทุกวัย สามารถเข้าถึงได้ จะมีการศึกษาหรือไม่มีการศึกษาก็สามารถรับฟังวิทยุได้ อย่างเช่น ละครวิทยุภาคภาษาลาหู่นี้ ถึงแม้ว่าจะออกอากาศจากสถานีวิทยุกระจายเสียงจากจังหวัดเชียงใหม่ แต่ด้วยระบบคลื่นความถี่ที่เป็นเอเอ็ม กำลังส่งจึงสามารถไปไกลเผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนบ้านที่อยู่พม่าได้ด้วย ผู้จัดรายการวิทยุได้รับทั้งจดหมายและโทรศัพท์มาร่วมตอบคำถามจากชาวลาหู่ในอีกฝั่งของประเทศ มีคนลาหู่ในเชียงตุงของพม่าโทรศัพท์มาบอกว่าช่วยแจ้งทางสถานีว่า ช่วยเพิ่มกำลังส่งให้หน่อยเพราะฟังชัดบ้างไม่ชัดบ้าง แต่ก็ยังฟัง นี่นับเป็นอานุภาพของละครและของวิทยุ

 

แม้ว่าจะเป็นที่น่าเสียดายอยู่บ้างว่าในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าถึง และสัญญาณโทรทัศน์เข้าถึง ละครวิทยุก็หมดความหมายลงไปมาก ทว่า สำหรับพื้นที่ห่างไกลนั้น สิ่งที่จะทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้ก็คือวิทยุ คนที่ฟังวิทยุไม่ต้องอ่านหนังสือออก หรือเขียนหนังสือเป็นก็รับฟังวิทยุได้ กำลังทำไร่ทำนาอยู่ก็ฟังได้ ราคาวิทยุทรานซิสเตอร์อยู่ในราคาที่จับต้องได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับสื่อชนิดอื่น ๆ อีกทั้งหากไม่มีเงินจริง ๆ ก็อาศัยเพื่อนบ้านฟังได้

 

จากการเล็งเห็นหนทางที่จะทำให้ชนเผ่าที่อยู่ห่างไกลได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูล รายการละครวิทยุนี้จึงเกิดขึ้น รายการที่ออกอากาศที่สถานีวิทยุแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่ในภาคภาษาลาหู่นั้นจัดโดยมูลนิธิศูนย์ชีวิตใหม่ โดยการสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม หรือ UNESCO ที่มีโครงการการป้องกันเอชไอวี/เอดส์ การค้ามนุษย์ และ การใช้ยาเสพติด โดยการใช้สื่อวิทยุและจัดเป็นภาษาชนเผ่าในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยโครงการแรกเริ่มจากการทำเป็นภาษาไทใหญ่ที่ออกอากาศในประเทศไทย แต่ครอบคลุมพื้นที่กระจายเสียงไปถึงลาว พม่า และ จีน ซึ่งคนที่พูดภาษาไทใหญ่ในประเทศเหล่านี้ก็ได้รับฟังสิ่งที่เป็นความบันเทิงแต่ก็ให้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต

 
การเข้าไม่ถึงข้อมูลเป็นเหตุที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยต้องตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ เป็นทาสยาเสพติด หรือติดเชื้อเอชไอวี และบรรดาชนเผ่าในประเทศต่าง ๆ ในเกือบทุกประเทศในย่านนี้ก็เป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล ดังนั้นการทำรายการวิทยุนั้น แม้ว่าปัจจุบันในประเทศไทยจะมีการประกาศว่า คนไทยจะมีไฟฟ้าใช้กันทุกครัวเรือน แปลว่าโอกาสการดูโทรทัศน์อาจมากตามขึ้นมาด้วย หรือเปล่า ซึ่งถ้าใช่ก็แปลว่าคนก็จะหันมาฟังวิทยุน้อยลง แล้วรายการวิทยุจะยังคงเป็นการให้ข้อมูลได้จริงอยู่หรือ ก็ต้องบอกว่าการทำรายการวิทยุที่เป็นภาษาชนเผ่าอย่างที่เล่าให้ฟังแล้วตั้งแต่ตอนต้นว่า กำลังส่งของวิทยุไม่ได้อยู่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังส่งไปถึงคนในประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะอย่าลืมว่าการทำงานในเรื่องของการป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่ประเทศเรากำลังเผชิญอยู่นี้จะทำลำพังภายในประเทศเพียงอย่างเดียวคงไม่สำเร็จ แต่คงจะต้องทำงานกับเพื่อนบ้านด้วย แต่การเข้าไปทำงานกับเพื่อนบ้านบางประเทศและบางพื้นที่ก็อาจจะยากอยู่
 

เรื่องละครวิทยุในภาคภาษาชนเผ่า ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลได้น้อยกว่าคนที่อยู่ในพื้นราบของทุกประเทศและเป็นกลุ่มที่ถูกคนเข้าไปแสวงประโยชน์ได้มากที่สุด จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่จะทำให้การรับรู้ข้อมูลมีมากขึ้น ซึ่งอย่างที่รู้กันว่างานป้องกันที่ดีนั้นควรเน้นในเรื่องของการให้ข้อมูลไม่ใช่การห้ามปราม หรือบังคับ เพราะการห้ามหรือบังคับ รังแต่จะทำให้ผู้มีอำนาจเหนือกว่ามีโอกาสใช้อำนาจแสวงประโยชน์กับผู้ที่ด้อยโอกาสกว่ามากขึ้นเท่านั้น

 

เช่น การที่เราบังคับไม่ให้คนเดินทางได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็ทำให้มีการลักลอบเดินทางเกิดขึ้นซึ่งในกระบวนนี้มีใครบ้างที่มีส่วนร่วมก็เป็นที่รู้กันอยู่ การไม่ยอมให้มีการค้าประเวณีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายก็ยังมีการบังคับค้าประเวณี และผู้ให้บริการทางเพศก็ถูกละเมิด และขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ในหลายด้านที่คนทั่ว ๆ ไปพึงจะได้รับ หรือการให้ละการมีเพศสัมพันธ์เพื่อการป้องกันเอดส์ก็ไม่ได้ผลมากกว่าการให้ข้อมูลเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย เป็นต้น

 

โครงการละครวิทยุภาคภาษาชนเผ่านี้ไม่เพียงออกอากาศเป็นภาษาลาหู่ในไทย แต่ก็มีภาษาม้งในลาว และ ภาษาคะฉิ่นในจีนเพื่อให้ชาวคะฉิ่นในจีน พม่า และอินเดียได้ฟังกัน และสิ่งที่ฟังนี้ไม่ได้เป็นการบรรยาย แต่เป็นละครซึ่งเข้าใจและจดจำได้ง่าย และได้ความบันเทิง

 

เนื้อหาของละครวิทยุนั้นอิงมาจากเรื่องจริงที่ทีมงานละครวิทยุที่เป็นชนเผ่านั้นทำวิจัยมา และนำมาเขียนบท จึงทำให้เนื้อเรื่องเป็นเรื่องใกล้ตัวและดึงดูดความสนใจคนได้ โดยบทที่เขียนนั้นก็ใช้คนของชนเผ่านั้น ๆ ไม่ได้นำละครแนวตลาดที่มาจากภาษากลางของประเทศ หรือละครภาษาต่างประเทศมาแปล เพื่อให้เข้าถึงวัฒนธรรมของแต่ละชนเผ่าเอง พร้อมแต่งเพลงประกอบที่แต่งโดยศิลปินที่มีชื่อเสียงจากแต่ละชนเผ่าเช่นกัน

 

ปัจจุบันได้มีการรวมเพลงในภาคภาษาลาหู่ออกมาเป็นอัลบั้ม และฮิตมากในหมู่ชาวลาหู่ หลายคนได้โทรศัพท์เข้ามาแข่งตอบปัญหาท้ายละคร โดยระบุของรางวัลเลยว่าต้องการอัลบั้มเพลงประกอบละคร และเพลงนี้ก็ฮิตไปทั่วอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงไปเรียบร้อยแล้ว จนในที่สุดผลพวงจากละครและเพลงประกอบละคร ทางโครงการฯ จึงจะจัดคอนเสิร์ตโดยศิลปินชนเผ่าต่าง ๆ ขึ้นที่เชียงใหม่ในเดือนพฤศจิกายนนี้ซึ่งจะเป็นการแสดงของศิลปินจาก 7 ชนเผ่า ได้แก่ ลาหู่ ไทใหญ่ อาข่า กะเหรี่ยง ลีซู ม้งและ เมี่ยน ทั้งนี้ โดยมีศิลปินยอดนิยมชาวลาหู่ กับไทใหญ่จากพม่า และม้งจากลาวมาร่วมด้วย

 

ประเด็นที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งคือ พี่น้องชนเผ่าได้รู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะ ในโลกนี้ที่แม้ว่าจะเป็นเราจะชนชาติเดียวกัน หรือญาติพี่น้องกัน แต่ว่าบังเอิญมาเกิดหรือต้องตั้งรกรากบนพื้นแผ่นดินที่แม้จะเดียวกันแต่ถูกกีดกั้นด้วยคำว่า ชาติรัฐ คืออยู่กันคนละชาติรัฐ การไปมาหาสู่กันกลับกลายเป็นเรื่องที่ยากเย็น พี่น้องชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมากมายที่เป็นชนชาติเดียวกับคนที่อยู่ในจีน พม่า ลาว หรือ เวียดนาม หรืออื่น ๆ

 

ในอดีตคนเหล่านี้เคยเดินทางไปมาหาสู่กัน แต่พอมีการแบ่งเขตแดนก็ทำให้คนเหล่านี้แม้จะพูดภาษาเดียวกัน มีวัฒนธรรมเดียวกัน แต่ต้องกลายมาเป็นคนละชาติกัน ตัวอย่างเช่น ไม่ว่าจะเป็นชาวม้ง ม้งจีน ม้งไทย หรือ ม้งลาว หรือม้งเวียดนาม เขาก็ยังเป็นม้ง ยังพูดภาษาเดียวกันมีวัฒนธรรมเดียวกัน หรือชาวกะเหรี่ยง ลาหู่ หรืออีกหลายชนเผ่า ละครวิทยุจึงเป็นอีกสื่อหนึ่งที่สามารถเชื่อมคนเข้าด้วยกัน

 

น่าเสียดายว่าโครงการละครวิทยุในภาคภาษาชนเผ่าจะสิ้นสุดลงแล้วในปลายเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งอันที่จริงการทำงานแบบนี้ไม่ควรจะหยุดอยู่ตรงแค่โครงการ หากคนทำรายการวิทยุสนใจรูปแบบรายการและกลุ่มเป้าหมายแบบนี้บ้างก็น่าจะเป็นเรื่องดีที่จะสืบเนื่องต่อไป รับรองได้ว่าเรตติ้งดีแน่นอน