Skip to main content

รางวัลแด่คนช่างฝัน

คอลัมน์/ชุมชน



 


อย่ากลับคืนคำ เมื่อเธอย้ำ สัญญา


อย่าเปลี่ยนวาจา เมื่อเวลาแปรเปลี่ยนไป


ให้เธอหมาย มั่น คง แล้วอย่าหลงไปเชื่อใคร


เดิน ทาง ไป อย่าหวั่นไหวใครขวางกั้น ..


 


มีดวงตะวัน ส่องเป็นแสง สีทอง


กระจ่างครรลอง ให้ใฝ่ปองและสร้างสรรค์


เมื่อดอกไม้ แย้ม บาน ให้คนหาญสู้ไม่หวั่น


คือ รางวัลแด่ความฝันอันยิ่งใหญ่ ให้ เธอ


 


บน ทาง เดิน ที่มี ขวากหนาม


ถ้า เธอ คร้าม ถอย ไปฉันคงเก้อ


ฉัน ยัง พร้อม ช่วย เธอ เสมอ


เพียง ตัว เธอ ไม่หนีไปเสียก่อน ..


 


จะปลอบดวงใจ ให้เธอหาย ร้าว ราน


จะเป็นสะพาน ให้เธอเดินไปแน่นอน


จะเป็นสาย น้ำ เย็น ดับกระหายยามโหยอ่อน


คอย อวย พร ให้เธอสมดังหวังได้  นิรันดร์


           


เพลง "รางวัลแด่คนช่างฝัน" เป็นเพลงรู้จักกันดีในคนรุ่นสี่สิบขึ้น เพราะว่าตอนนั้นมีเพลงไทยที่ฮิตๆไม่กี่เพลง คนไทยช่วงนั้นฟังเพลงฝรั่งอเมริกัน-อังกฤษมากกว่าเดี๋ยวนี้ ตอนนี้ก็มีคนเอาเพลงนี้มาร้องใหม่ แต่คนร้องคนแต่งเดิมคือ คุณจรัล มโนเพชร ก็เสียไปแล้ว เอาเป็นว่าเพลงนี้ก็ยังคงฮิตอยู่เพราะมีคนรุ่นถัดมาหยิบเอามาร้องเนืองๆ จำได้ว่าสิบกว่าปีก่อน "โคโค่แจ๊ส" ที่เหมาว่าเป็นแจ๊สแบบไทยๆ ก็เอามาร้อง จากนั้นผู้เขียนก็ตกรุ่นเพลงไทยเพลงฝรั่งไปเลย เพราะมัวแต่ยุ่งเรื่องเรียนและมองข้ามความบันเทิงด้านนี้อย่างสิ้นเชิง คือมองว่าไม่ได้ช่วยประเทืองปัญญามากนัก เมื่อเทียบกับเวลาที่เสียไป


 


ที่หยิบเนื้อหามาใช้ในบทความนี้เพราะคิดว่าจะช่วยให้บทความมีสีสันมาบ้าง ยอมรับว่าบางทีอยากเขียนอะไรที่เบาๆกว่าจะเขียนได้ก็ลำบาก การนำเพลงมาช่วยทำให้เนื้อหาที่ไม่เบากลายเป็นเบาขึ้นมาได้บ้าง ต้องยอมรับว่าเขียนให้ "ประชาไท"นี้ ต้องระวังอย่างที่สุดที่หนึ่ง ทุกครั้งที่เขียนต้องมองปัจจัยหลายอย่าง เช่นสถานการณ์ปัจจุบัน ลักษณะคนอ่าน ดังนั้น การสร้างสารต้องพยายามพลาดให้น้อยที่สุด เพราะมีคติว่าสารนั้นจะเป็นนายของเรา เมื่อเราส่งออกไป เราต้องรับผิดชอบในจุดนั้น จะมาบิดเบือนไม่ได้หรือไม่รับผิดชอบไม่ได้


 


นอกจากนี้กำลังจะกลับไทย คงต้องไปทำงานในบริบทไทยๆ งานบันเทิงคงหนีไปไม่ได้ และบางทีคงต้องไปร้องคาราโอเกะกับเพื่อนๆ บ้างหรืออาจโดนเชิญแกมบังคับให้ร้องเพลงคาราโอเกะตามงาน เลยต้องหัดร้องเพลงไว้ออกงาน เลยต้องค้นพวก "มิดิ" บนอินเตอร์เน็ตซ้อมไว้พลางๆ กะว่ากลับไทยค่อยหาวีซีดีคาราโอเกะไว้หัดอีกที ไม่งั้นคงทำงานไม่สนุกนักในบริบทไทยๆ จึงได้ขุดกรุเพลงไทยสมัยยังไม่แก่มาหัด ที่ผ่านมาก็มีสองสามเพลงที่พอร้องได้ แต่ก็งั้นๆ เพราะแค่ไว้ตอนออกงาน


 


ผู้เขียนมองว่าเพลง "รางวัลแด่คนช่างฝัน" ถือว่าเป็นเพลงค่อนข้างเพื่อชีวิตนิดๆ มีเนื้อเพลงที่ให้กำลังใจอีกฝ่ายด้วย มีบางตอนคล้ายๆ เพลง Bridge over Troubled Water ของ Simon & Garfunkel หลายคนฟังแล้วฮึกเหิมขึ้นมาได้พร้อมทั้งอุ่นใจ แต่ทั้งนี้ก็อีกมันคือแค่เพลงเท่านั้น


 


ผู้เขียนมี"ฝัน"มากมายเหมือนกันในอดีต ตอนเด็กๆฝันอยากเป็นพนักงานธนาคารเพราะทำงานห้องแอร์ เย็นดี สมัยสามสิบกว่าปีก่อน บ้านผู้เขียนจะซื้อแอร์สักเครื่องถือเป็นเรื่องตื่นเต้น จะมีตู้เย็นก็เป็นเรื่องใหญ่ การทำงานห้องแอร์ถือเป็นเรื่องโก้มากๆ ตอนเด็กๆชอบวิ่งไปเล่นตามเพื่อนบ้านที่เป็นห้องแอร์ เค้าก็ใจดีให้เราไปวิ่งๆ นึกแล้วก็ขำตนเองและขอบคุณคุณลุงคุณป้าที่ใจดี หลายท่านเสียชีวิตไปแล้ว ลูกหลานท่านก็เป็นขนาดปลัดกระทรวง อธิบดี หรือมหาเศรษฐีในปัจจุบัน


 


วันนั้นจนวันนี้จำได้ว่าเคยจน เคยไม่มีมาก แต่รู้ว่าพ่อแม่ไม่เคยให้เราหิว ไม่รู้สึกขาดจนเกินไป ฝันอยากทำงานห้องแอร์ได้ตกไปเมื่อโตขึ้นเพราะที่ทำงานส่วนมากต่อมาก็ติดแอร์ทั้งนั้น แต่รู้อย่างหนึ่งว่าต้องเรียนให้ได้ปริญญา  ตอนนั้นอายุ 8-9 ขวบเอง รู้แล้วว่าต้องมีปริญญาไม่งั้นไม่ได้ทำงานห้องแอร์


 


โตขึ้นมาอยากเป็นหมอ เพราะว่าโก้ดี มีเพื่อนบ้านเก่าสมัยเด็กๆได้เรียนหมอ บ้านนั้นยืดกันทั้งบ้าน พ่อแม่ผู้เขียนอยากให้ลูกสักคนเป็นหมอ ผู้เขียนส่วนหนึ่งก็โดนเคี่ยวเข็ญให้ไปสอบเข้าโรงเรียนมัธยมหลวงระดับทีมชาติของเด็กผู้ชาย ก็สอบได้แต่เรียนได้แค่ 3 ปี ต้องออกมาเพราะมีอาการซึมเศร้า จึงต้องออกมา แล้วตั้งต้นชีวิตใหม่ที่โรงเรียนเซ็นต์จอห์นถือว่าโรงเรียนนี้มีบุญคุณไม่น้อย แม้จะเสียเงินกินเปล่าเข้าไปเพราะต้องการที่เรียนเพื่อไม่ให้เสีย"เฃลฟ์" จนเกินไปนัก กลายเป็นนักเรียนดีเด่นของปี 2524-2525 จากนั้นสอบเทียบมศ.5ได้ และสอบเข้าธรรมศาสตร์ได้ ชีวิตเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว เหมือนฟ้าลิขิต แต่ขนาดนั้นยังได้มีเสียงเยาะๆ ตามมาว่า "แค่ธรรมศาสตร์เอง"


 


ผู้เขียนน้ำตาร่วงเผาะ เพราะทำได้แค่นี้ ฝันไม่เป็นจริง แต่วันนี้ไม่ได้นึกเสียใจ เพราะวันนี้คิดได้อย่างที่คิด ไม่รู้สึกว่าเป็นปมด้อยแต่อย่างใด ไม่ว่าอาชีพใดๆ ก็มีเรื่องดีเรื่องด้อยของตนเอง


 


จากนั้นฝันอยากเป็นครูสอนภาษาอังกฤษมาก อยากสอนเด็กมัธยมปลาย อยากสอนเด็กๆให้เรียนได้แบบที่ควรเป็น ก็มานะบากบั่นที่จะเรียนวิชาเอกอังกฤษ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าที่ "สินสาด" คนส่วนมากอยากเอกอังกฤษเพราะเข้ายากและออกมาหางานง่าย อันนี้สมัย 20 กว่าปีมาแล้ว ตอนนี้คิดว่าก็งั้นๆแหละที่ไหนๆ ก็มีผลิตกันออกมาทั้งนั้น พอเรียนไปได้สักพักโดนครูฝรั่งที่สอนวิชาการพูด-สปี๊กกิ้งบอกว่า "โง่"  โอ้โหของขึ้นเลย อะไรกันยังไม่ได้ทำอะไรเลย แค้นใจตอนนั้นมาก ตั้งคำถามในใจว่าแล้วถ้ามันเก่งจริงมาทำงานประเทศกะเหรี่ยงทำไม ทำให้คิดว่าถ้าเป็นครูจะเข้าใจเด็กให้มากที่สุด พลางคิดน้อยใจตนเองว่า หนีไม่พ้นจริงๆครูเฮงซวยแบบนี้


 


จนกระทั่งเรียนจบธรรมศาสตร์ ได้เกียรตินิยมอันดับสอง-- ไม่ใช่เพราะเก่ง ที่ต้องได้เพราะพี่สาวที่เรียนธรรมศาสตร์เอกเดียวกันนี่แหละเค้าทำสถิติไว้ ไม่ได้แข่งก็เหมือนแข่ง-- แล้วก็เปลี่ยนใจอีก "ฝัน" อยากเรียนสายสื่อสารมวลชน ตามกระแสที่เริ่มมีมากขึ้นในตอนนั้น เลยไปสมัครเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่รัฐมิสซูรี่ แต่เพราะดวงชะตาที่เล่นกล ทำให้ต้องมาเรียนวาทวิทยาแทนในแคนซัส เรียนไปร้องไห้ไปในปีแรก มันยากเหลือเกิน ขนาดเรียนเอกอังกฤษมาแล้วยังอ่านไม่รู้เรื่องเลย รู้สึกว่าเรียนที่เมืองไทยสูญเปล่ามาก แต่กัดฟันจนจบ บอกกับตนเองว่าพอแล้ว ไม่เอาแล้วเหนื่อยเหลือเกิน จบมาตอนนั้นอายุ 23ปี ยังรู้สึกว่าเด็กมากแต่คิดผิดไปว่าตนเองเริ่มโง่น้อยลง


 


"ฝัน" เริ่มอีกแล้ว เริ่มฝันว่าเมืองไทยน่าจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังอยากทำอะไรตามที่เคยมีฝันตอนเด็กๆ ได้ทำงานประชาสัมพันธ์ ได้ทำงานโรงแรม ได้ทำงานสอนหนังสือ ทั้งภาษาอังกฤษและนิเทศฯเบื้องต้น ทำไปๆรู้ว่าตนเองนี่โง่มาก โง่เพราะว่าคิดอะไรไม่ได้เลย ความรู้ที่มีระดับ ป.โทนั้น ไม่พอ


 


ดังนั้น 4 ปีหลัง ป.โท บอกแม่ว่าขอต่อฝันได้มั้ย บังเอิญช่วงนั้นพ่อแม่พอมีปัญญาส่งได้ เลยได้ต่อฝัน ได้ไปเรียนโปรแกรมที่ดีเลิศที่ไม่เคยคาดฝัน แต่มันทรมานมาก มากกว่าที่คิด แล้วก็คลานจนจบ ใช้เวลาแค่ 5 ปีเท่านั้นเอง  ซึ่งถือว่าธรรมดามากสำหรับที่นี่ แต่ถือว่าสั้นแล้วสำหรับคนโง่ๆอย่างผู้เขียน ไม่ได้เขียนให้คนเห็นใจ แต่ยอมรับว่าตนเองโง่ และต้องเรียนรู้ตลอดเวลา


 


จบกลับมาเมืองไทย มันอัดอั้นตันอุรา บ้านเมืองยิ่งแปลก สังคมแปลกๆ รู้สึกว่ามันกลวงๆ หลวมๆ ปลอมๆ สอนหนังสือไม่สนุกเหมือนเมื่อก่อน สังคมเพื่อนฝูงต่างออกไป หลายหนที่แปลกใจว่า อุ๊ยทำไมเค้าคิดกันแบบนี้ เป็นความผิดอย่างมหันต์ที่ตนเองลืมมองไปว่าที่นี่คือเมืองไทย บรรดาพ่อแม่พี่น้องเพื่อนฝูงฉุดไม่อยู่ เพราะแรงมาก หาทางดิ้นจนได้กลับมาที่สหรัฐฯแล้วก็ได้ทำงานต่างๆจวนจะ 6 ปี


 


แต่วันนี้"ฝัน"ที่เคยคิดจะเป็นจะทำอะไรหลายๆอย่างได้สลายหมด เพราะชีวิตจริงต่างจากฝัน สังขารเปลี่ยน สังคมต่างๆไม่ว่าไทยหรืออเมริกันก็เปลี่ยน มุมมองของตนเองก็เปลี่ยน พูดง่ายๆว่าเมื่อเวลาเปลี่ยน "ฝัน"ก็เปลี่ยน 


 


ดังนั้น แท้จริงแล้ว"รางวัลแด่คนช่างฝัน"คือการที่ค้นพบตนเอง พบว่าตนเองในแต่ละช่วงคือใคร ตัวตนของแต่ละคนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่นเดียวกับปัญหาสังคม การเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และการแลกมาให้ได้"ฝัน"นั้นมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชีวิตบางด้าน เงินทอง และแม้กระทั่งชีวิต


 


เสียดายเหลือเกินที่คนส่วนใหญ่พยายามจัดวางทุกอย่างรอบตัวให้เป็นไปตามที่เคยเป็นมา แล้วพยายามจะบอกว่านี่แหละคือสิ่งที่ดีที่สุด โดยลืมมองไปว่าการเปลี่ยนแปลงมีตลอดเพียงแต่เราคิดไม่ถึงหรือลืมมองเท่านั้น  หลายคนบอกว่าให้มองโลกแบบเพื่อวันนี้เท่านั้น หลายคนบอกให้มีวิสัยทัศน์ไปข้างหน้า ทั้งสองมุมมองเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องใช้อย่างมีสมดุลยภาพ ไม่ตึงไปหย่อนไป ข้างใดข้างหนึ่ง


 


อีกไม่เกินสามสัปดาห์ ผู้เขียนก็จะเดินทางกลับไทยถาวร หลังจากที่มาไล่ตามฝันที่สหรัฐฯเกือบหกปี เหมือนฟ้าลิขิตว่าชีวิตต้องเป็น เรื่องนี้ต่อให้"ฝัน"มีกำลังแรงอย่างไรก็คงต้านไม่ได้ เพราะ "ฝัน"วันนี้ไม่ใช่"ฝัน"ของวันหน้านั่นเอง


 


ก่อนจบขอเอาใจช่วยบรรดาคนมีฝันทั้งหลายทั้งปวง อย่างน้อยก็ยังดีที่ยังฝัน