Skip to main content

น้ำอิง น้ำของ พี่น้องกัน บ้านหลวง รักษ์น้ำอิง

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๔๙ มีพิธีบวงสรวงปลาบึกที่หน้าวัดหาดไคร้ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ถือเป็นงานประจำปีเพื่อขออนุญาตเทพแห่งปลาบึก (ปลาหนังน้ำจืดใหญ่ที่สุดในโลก มีเฉพาะในแม่น้ำโขง) เปิดฤดูกาลล่าปลาบึก ประมาณ ๖ สัปดาห์ นับแต่กลางเดือนเมษายนถึงต้นมิถุนายนของทุกปี


 


แต่งานบวงสรวงปลาบึกปีนี้ต่างจากปีก่อน ๆ  นำมาซึ่งความชื่นชมยินดีที่ชมรมปลาบึก เชียงของ ประกาศอย่างเป็นทางการที่จะเลิกล่าปลาบึก เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมหามงคลที่ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นปีที่ ๖๐


 


เป็นเวลานับสิบปีที่ชมรมปลาบึก องค์กรอนุรักษ์ กลุ่มรักษ์เชียงของ และกรมประมง ร่วมกันคิดแนวทางที่จะอนุรักษ์ปลาบึกให้อยู่กับแม่น้ำโขง เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นที่อาศัยของมนุษย์ ๖๕ ล้านคนจากประเทศต้นน้ำถึงท้ายน้ำ ๖ ประเทศ รวมทั้งปลาน้ำจืด สัตว์น้ำ อันเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญ ทั้งยังมีนกน้ำ และพันธุ์พืช ที่ทรงคุณค่า ในการเป็นอาหาร สมุนไพร เป็นที่อยู่อาศัยของสรรพสัตว์นานาชนิด


 


ความร่วมมือของ ๖ ประเทศ ที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก ก่อให้เกิดโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ อันเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตของปลาบึกต่อสรรพสัตว์และระบบนิเวศลุ่มน้ำโขง เช่น โครงการสร้างเขื่อนยักษ์ ท่าเทียบเรือใหญ่ สร้างนิคมอุตสาหกรรม การรุกป่า เพื่อสัมปทานไม้ เพื่อเกษตร พาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งย่อมส่งผลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ที่เคยอยู่อย่างสงบสุข ด้วยมิติทางจิตวิญญาณ ศาสนา และวัฒนธรรม ร่วมกับแม่น้ำโขงตลอดมา


 


การประกาศหยุดล่าปลาบึกของชมรมปลาบึกเชียงของ จึงเป็นการจุดประกายให้รัฐบาล และประชาชนของ ๖ ประเทศลุ่มน้ำโขง ได้ฉุกคิดว่า จะพัฒนาอย่างไรที่ทำให้แม่น้ำโขงได้ไหลริน อย่างเป็นอิสระ เพื่อความมั่นคงในวิถีชีวิตและอธิปไตยทางอาหารของคนตัวเล็กตัวน้อย นับร้อยชาติพันธุ์ ที่จะอยู่อย่างเคารพและกตัญญูต่อน้ำโขงและน้ำสาขาอีกนับร้อย พัน หมื่นปี โดยลดละเลิกปัจจัยเสี่ยงที่เป็นภัยคุกคามลงให้ได้มากที่สุด


 



 


ภารกิจของผู้ที่ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมกัน ว่าจะรณรงค์ ระดมทุนช่วยซื้ออวนจับปลาบึก ๖๘ อวน มูลค่าเฉลี่ยอวนละ ๒๐,๐๐๐ บาท และกองทุนอาชีพทดแทน กองทุนศึกษาวิจัยให้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศ วัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง วงจรชีวิตปลาบึกและปลาอื่น ๆ เป็นทั้งภารกิจเร่งด่วน ภารกิจระยะกลาง และระยะยาว ที่ ทุกภาคส่วนในสังคมควรร่วมมือกัน เพื่อรักษาแม่น้ำโขงให้สมดุลย์ตลอดไป


 


                                     


 


งานบวงสรวงปลาบึกปีนี้ จึงมีชุมชนต่างๆ ในลุ่มน้ำโขงมาร่วมพิธีกรรมอันยิ่งใหญ่ทั้งขบวนแห่อันวิจิตรงดงาม พิธีบวงสรวง การฟ้อนคารวะเทพแห่งแม่น้ำโขง หมู่บ้านจำลองวิถีชีวิต ชาติพันธุ์ต่าง ๆ การสาธิตลาก "มอง"จับปลาบึก การประกวดวาดภาพชีวิตลุ่มน้ำโขง การประกวดเทพธิดาปลาบึก ของเหล่าสาวท้วม อารมณ์ดี มีความสามารถและหน้าตาสะสวย


 


ดิฉันได้พบผู้ใหญ่บ้าน บ้านหลวง หมู่ที่ ๔  ตำบลครึ่ง  อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นหมู่บ้านริมน้ำอิง ซึ่งคุณสมเกียรติ  เขื่อนเชียงสา  ได้ทำงานวิจัยและส่งเสริมเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา เมื่อ ๕ – ๖ ปีมาแล้ว ได้จัดล่องเรือศึกษาระบบนิเวศลุ่มน้ำอิง   ตั้งเต็นท์นอนริมหาดช่วงฤดูหนาว ซึ่งชาวบ้านชวนดิฉันมานอนที่บ้านด้วยใจเอื้ออารี


 


 


                                             


 


กลับจากงานบวงสรวงปลาบึกแล้ว ดิฉันจึงแวะที่บ้านหลวง เห็นสภาพป่าบนเทือกเขาดูเขียวขจี ไม่มีร่องรอยถูกถางและเผาเหมือนเส้นทางจากเชียงแสนมาเชียงของ ที่เห็นแต่เขาหัวโล้น นึกชมอยู่ในใจ เห็นศาลาข้างทางเขียนว่า "กลุ่มจักสานหวาย" จึงแวะเข้าไปทักทาย


 


ในศาลามีทั้งผู้เฒ่า และหญิงชายวัยกลางคนเกือบ ๑๐ คน นั่งจักสานหวายอยู่ มีผลงานที่เสร็จแล้วคือโตก (สำรับกับข้าว) ตะกร้า และไม้กวาดวางอยู่ ดิฉันถามไถ่ได้ความว่าพ่อเฒ่าลือ  แปงใจดี อายุ ๗๒ ปี เป็นผู้ริเริ่มตั้งกลุ่มได้สองสามปีแล้ว พ่อเฒ่าได้รับการยกย่องเกียรติคุณมากมาย ดูจากวุฒิบัตรที่ติดไว้มี ๔ ใบคือ ๑. ผู้สูงอายุสุขภาพแข็งแรงดีเด่น ๒. ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรดีเด่น (ประดิษฐ์เครื่องมือจากเส้นหวาย) ๓. ผู้อนุรักษ์ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นแปรรูปดีเด่น และ ๔.ผู้สูงอายุดีเด่นระดับอำเภอ


 


สมาชิกกลุ่มเล่าว่า บ้านหลวงปลูกหวายมาหลายปีแล้ว มีสวนหวายของหมู่บ้าน ดิฉันจึงสนใจจะไปดู ผู้ใหญ่บ้านชื่อประพัฒน์ แก้วตา กลับมาถึงหมู่บ้านพอดีจึงพาดิฉันไปดูสวนหวาย โดยนั่งรถไปด้วยกันเกือบสิบคน


 


จุดแรกคือเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลายาว ๓๐๐ เมตร ในลุ่มน้ำอิง เพื่อให้สัตว์น้ำได้มีที่ปลอดภัยเป็นที่วางไข่และหลบภัย ไม่มีการจับสัตว์น้ำในพื้นที่นี้


 


ตลอดลำน้ำอิงมีเขตอนุรักษ์ อภัยทานเพิ่มขึ้นนับสามสิบเอ็ดจุดซึ่งในรอบ ๔-๕ ปีมานี้พบว่ามีปลามากขึ้น ทั้งชนิดและปริมาณ ทำให้ชาวบ้านมีกำลังใจและขยายผลมากขึ้น


 


จากจุดนี้ผู้ใหญ่บ้านนำดิฉันเดินดูสวนหวายซึ่งดูร่มรื่น มีไม้ใหญ่ ไม้โตเร็ว แทรกอยู่ทั่วไปเพราะหวายต้องไต่ขึ้นต้นไม้จะได้มีลำยาว ตรง ขายได้ราคาดี เจ้าของสวนจึงเพาะกล้าไม้โตเร็ว เช่นไม้แซะ ไม้กุ่ม ไม้ข่อย ไม้ตุ้ม ไม้ส้มแสง ไม้ไข่เต่า ไม้หัด เพื่อปลูกคู่กับหวาย เป็นพี่เลี้ยงให้กอหวายได้พุ่งยอดสูงตรง สวยงาม


 


 


                                         


 


 


ต้นหวายทนต่อสภาพน้ำท่วมได้ดี ช่วงฤดูฝนเมื่อน้ำอิงท่วมล้นฝั่งสูง ๑-๒ เมตร เป็นเวลานับเดือน ถ้าปลูกข้าวโพดจะถูกน้ำท่วมตาย แต่ต้นหวายทนอยู่ได้ เติบโตได้ดี ชาวบ้านหลวงจึงเปลี่ยนไร่ข้าวโพดเป็นสวนหวายกันมากขึ้น ขณะนี้มีถึง ๖๐๐ ไร่แล้ว


 


ชาวสวนหวายต้องคอยดูแลไม่ให้ไฟไหม้ ป่าบ้านหลวงจึงไม่มีร่องรอยไฟไหม้เลย ทั้งยังปลูกไผ่รวกจำนวนมาก เป็นป่าไผ่ ชาวประมงภาคใต้ได้มาซื้อถึงที่ เอาไปทำหลักเลี้ยงหอยในทะเล


 


ผู้ใหญ่บ้านมีแนวคิดอนุรักษ์ แนวคิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้เพื่อการพึ่งพาตนเอง ในแนวเศรษฐกิจพอเพียง ได้คิดปลูกต้นดอกไม้กวาด (ก๋ง) โดยขยายจากกอก๋งธรรมชาติ ปลูกเป็นแนวจะได้มีดอกก๋งเอามาทำเป็นไม้กวาดขายที่กลุ่มอาชีพ เพิ่มมูลค่าได้อีกทางหนึ่ง


 


ชาวบ้านหลวงจึงมีงานทำตลอดปี ไม่มีการว่างงาน เสร็จจากเกี่ยวข้าวก็ตัดหวายขาย ได้ทั้งเส้นหวายแห้ง ตัดยาว ๖ ศอก (๓ เมตร) ราคา ๔ บาท ขายยอดหวายสด (ชาวบ้านเรียกว่าหางหวาย) ยาวประมาณ ๑ ศอก ราคา ๑.๒๕ บาท ซึ่งต้องมีเทคนิคการตัดหวายไม่ให้หนามแหลมแทงเอา โดยใส่ถุงมือ ๒ ชั้น และใส่รองเท้าบู๊ตหนัง ยาวครึ่งแข้ง จึงป้องกันหนามได้ชะงัด


 


ชาวบ้านหลวงปลูกผักพื้นเมือง ปลอดสารเคมี ได้กินตลอดปี ทั้งผักกาด ถั่วฝักยาว พริก โหระพา ขิง ข่า ตะไคร้ ฯลฯ ผู้คนจึงมีสุขภาพดี ทั้งใจและกาย ลดรายจ่าย ทั้งมีรายได้สม่ำเสมอ


 


ความเป็นเครือญาติและการรักษาวัฒนธรรม มีวงดนตรีสะล้อ ซอ ซึง เล่นเพื่อความบันเทิงและสืบทอดภูมิปัญญา ทำให้ชาวบ้านหลวงมีสายสัมพันธ์อันอบอุ่น เป็นแบบอย่างของชีวิต พอเพียงท่ามกลางกระแสทุน บริโภคนิยม และโลกาภิวัตน์


 


                                   


 


หากท่านผู้อ่านมีโอกาสผ่านไปทางจังหวัดเชียงรายเมื่อใด ขอเชิญชวนให้แวะเยี่ยมบ้านหลวง หมู่ที่ ๔ ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย แวะเยี่ยมบ้านหลวง เพื่อศึกษาเรียนรู้แบบอย่างของหมู่บ้านในฝัน ที่ปฏิบัติตนตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง จะได้ปรับวิถีชีวิตของตนให้กินอยู่อย่างเรียบง่าย  เคารพ กตัญญูต่อธรรมชาติ ใช้พลังงานและทรัพยากร ธรรมชาติน้อยลง โดยไม่เกี่ยงให้คนที่อยู่กับป่าเท่านั้นที่ต้องอยู่อย่างสมถะ คนในเมืองก็ต้องรับผิดชอบต่อการกินอยู่อย่างพอเพียง เพื่อยืดอายุให้ระบบนิเวศอยู่ได้อย่างยั่งยืน อันจะทำให้ วิถีชีวิตของมนุษย์มีความมั่นคง ร่มเย็นเป็นสุขคู่กับความสมดุลย์ของโลกและจักรวาลตลอดไป.