Skip to main content

อิสรภาพ ที่สูญหายไป

คอลัมน์/ชุมชน

 


ตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2549 ที่ประกาศยุบสภาฯโดยนายกฯ ทักษิณ เวลาผ่านไปสองเดือนมาจนวันนี้ ต้นเดือนพฤษภาคม ที่เริ่มต้นด้วยวันแรงงานแห่งชาติ (1 พ.ค.ของทุกปี) พร้อมกับความกระตือรือร้นของทุกฝ่ายที่พยายามทำหน้าที่ของตนให้กระฉับกระเฉงขึ้นหลังจากมีกระแสพระราชดำรัสแก่ตุลาการศาลปกครองและผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งเข้าเฝ้าเมื่อวันที่  25 เม.ย. 2549 ดูเหมือนสถานการณ์จะคลี่คลายหาทางออกกันได้โดยเฉพาะกรณีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมาว่าจะเป็นโมฆะหรือไม่ ศาลปกครองกำลังพิจารณาอยู่ ขณะเขียนบทความนี้ยังไม่รู้ผลจะเป็นเช่นไร แต่ก็เริ่มด้วยการที่ศาลปกครองมีคำสั่งระงับการเลือกตั้งรอบที่สามในวันที่ 29 เมษายน ไว้ก่อน และจะดำเนินการพิจารณาให้เสร็จสิ้นโดยเร็วว่าการเลือกตั้งจะโมฆะหรือไม่


 


ตลอดช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ดิฉันเองก็หยุดเขียนบทความไปด้วย ทั้งไม่มีเวลาและมึนงงกับสถานการณ์ว่าจะจัดการตัวเองอย่างไร รู้สึกว่าไม่กล้าที่จะแสดงความเห็นอย่างเสรี ต้องคอยดูว่าคุยกับใคร  


 


ช่วงที่มีการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่สนามหลวง ดิฉันได้ไปร่วมเดินเท้าสู่ทำเนียบรัฐบาลในคืนแรก ซึ่งถือว่าเป็นการซ้อมใหญ่ ก่อนจะมีการเคลื่อนย้ายไปปักหลักกันที่หน้าทำเนียบหลายสัปดาห์ ซึ่งดิฉันได้กลับไปเยี่ยมเพียงครั้งเดียวในระยะเวลาสั้นๆ จำได้ว่าวันนั้นเป็นวันที่ศาลปกครองมีคำสั่งระงับการดำเนินการนำการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ได้ฟังคุณรสนา โตสิตระกูล อธิบายให้ผู้มาชุมนุมฟังบนเวทีหน้าสะพานมัฆวาน


 


ส่วนใหญ่ในสองเดือนที่ผ่านมา ดิฉันจะอยู่ที่เชียงใหม่และเข้าร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ให้ความสนใจกับสถานการณ์ทางการเมือง ที่เป็นเอ็นจีโอและเครือข่ายชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีประชาชนบางส่วนที่สนใจติดตามการถ่ายทอดสดผ่านเอเอสทีวี (ASTV) ช่องทีวีผ่านดาวเทียมของเครือบริษัทผู้จัดการ ลักษณะกิจกรรมจึงเป็นการมาร่วมชมการถ่ายทอดสดทุกคืน และร่วมลุ้นเอาใจช่วยผู้ชุมนุมที่กรุงเทพฯ แต่ก็ด้วยปริมาณคนไม่เกินสองร้อยคนในแต่ละคืน เพราะบรรยากาศที่เชียงใหม่เป็นบรรยากาศของผู้ชื่นชมนายกฯทักษิณ (นายกฯ คนเหนือ) ดังจะเห็นจากป้ายผ้าขนาดใหญ่ที่ถูกติดตั้งไปทั่วเมืองในการชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ "ทักษิณ สู้สู้" 


 


ขณะเดียวกับที่ในห้วงเวลานั้นก็เป็นช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง โดยมีพรรคเดียวลงสมัคร ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้านคือประชาธิปัตย์ มหาชน และชาติไทย บอยคอตไม่ส่งคนลงสมัคร แต่มีการเดินสายจัดเวทีปราศรัยให้ข้อมูลกับประชาชนเหมือนการไปหาเสียง ซึ่งค่ำคืนหนึ่งประชาธิปัตย์ก็เดินสายไปถึงเชียงใหม่และจัดเตรียมเวทีปราศรัยในบริเวณหอศิลปะของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เวลานั้นพวกเราก็ชุมนุมดูการถ่ายทอดสดกันอยู่ที่โรงอาหารของสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่ไกลกันนัก เมื่อได้ข่าวการพังเวทีปราศรัยด้วยการโยนเก้าอี้ขึ้นไปบนเวทีขณะที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กำลังยืนพูดอยู่ โดยผู้ชุมนุมที่มาประท้วงที่โพกผ้าเขียนว่ารักทักษิณ ที่เมื่อยึดเวทีได้แล้วก็ขึ้นไปประกาศไล่พรรคประชาธิปัตย์ให้ออกไปจากเชียงใหม่ โดยที่บางคนก็บอกว่าให้ผู้ชุมนุมเดินทางต่อไปยังจุดที่มีการถ่ายทอดสดที่สโมสรนักศึกษาฯ ต่อไปด้วย พวกเราที่วันนั้นมีกันร้อยกว่าคน ก็วิตกว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรง จึงได้ตกลงกันว่าจะอยู่อย่างสงบ ไม่โต้ตอบ ไม่พูดอะไร และทุกคนยืนยันว่าจะอยู่ดูถ่ายทอดสดไม่หนีกลับบ้าน หากผู้ชุมนุมเหล่านั้นจะเดินทางมา ที่สุดกลุ่มนั้นก็ไม่ได้มาแต่พากันแยกย้ายขึ้นรถสองแถวที่จอดรออยู่ บางส่วนตามไปกดดันทีมของประชาธิปัตย์ที่เดินทางไปสนามบินเพื่อกลับเข้ากรุงเทพฯ


 


เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดคำถามว่ายังมีบรรยากาศประชาธิปไตยอยู่ในสังคมหรือไม่ ทำไมจึงเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่กล้า ที่จะแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน คนร้อย สองร้อยคนที่มาชุมนุมกันทุกคืนพร้อมไปกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ ไม่กล้าแม้จะเปลี่ยนสถานที่ไปชุมนุมบริเวณลานหน้าประตูท่าแพ ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะของเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ผ่านไปมาได้ร่วมรับรู้และเห็นข้อมูลจากเวทีพันธมิตรฯจากกรุงเทพฯ เพราะกลัวจะถูกทำร้ายถูกคุกคามจากกลุ่มผู้รักนายกฯ ไม่ต้องพูดถึงว่าควรมีการจัดเวทีของเชียงใหม่เองเพื่อถกเถียงและค้นหาความจริงของสถานการณ์ว่าทำไมต้องมีการขอให้นายกฯทักษิณ ลาออก ทำไมจึงมีการเรียกร้องให้ยกเลิกการเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย. ทำไมพรรคร่วมฝ่ายค้านจึงต้องบอยคอต ทำไมต้องมีคาราวานคนจนเดินทางมาจากภาคเหนือ ภาคอีสาน เพื่อชุมนุมกันที่สวนจตุจักร 


 


สังคมไทยกำลังแตกแยกทางความคิดความเชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย แต่การแสดงออกซึ่งความเห็นต่างทำไมต้องใช้การกดดันคุกคาม การชุมนุมกันโดยสงบเป็นสิ่งกระทำได้ในระบบประชาธิปไตย แต่การใช้รูปแบบรุนแรงทั้งทางวาจา การใช้กำลัง การทำลายสิ่งของ ถือว่าเป็นการไม่เหมาะสม และยั่วยุกันและกันให้เกิดความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเวทีพันธมิตรฯเองก็ใช้ความรุนแรงทางวาจาแม้จะไม่ใช้ความรุนแรงทางกำลัง  ขณะที่ผู้รักทักษิณในเชียงใหม่ใช้กำลังทำร้ายและกักกันตัวสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์


 


ภาวะที่สังคมมีความรู้สึกไม่อิสระ ไม่ปลอดภัย เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยกำลังสูญหายไป การจัดการเลือกตั้งที่ไม่มีการแข่งขันนำเสนอนโยบายระหว่างกันของพรรคการเมือง ถือว่าปิดโอกาสให้ประชาชนผู้เลือกตั้งมีทางเลือกที่เหมาะสมและสามารถแก้ปัญหาสังคมได้  รวมถึงการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ดำรงอยู่ในสังคมที่ทำให้ช่องว่างระหว่างคนจน คนรวยถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเงื่อนไขให้คนจนย่อมเลือกเอานโยบายที่หยิบยื่นความช่วยเหลือแบบเห็นๆ ให้มากกว่าคนหรือพรรคที่ไม่เคยแสดงให้เห็นเลยว่าจะช่วยเหลือคนจนและลดช่องว่างให้ได้ 


 


การปฏิรูปการเมืองต้องควบคู่ไปกับการปฏิรูปสังคมให้คนเท่าเทียมกัน มีอิสรภาพเท่าเทียมกันทั้งทางความคิด จิตใจ และเศรษฐกิจ การพูดเรื่องปฏิรูปการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องควบคู่กันไปกับการปฏิรูปสังคมให้คนมีโอกาสเท่าเทียมกันด้วย บรรยากาศประชาธิปไตยจึงจะเบ่งบาน