Skip to main content

ถ่วงดุล ตรวจสอบ คือ ระบอบประชาธิปไตย ไม่ถ่วงดุล หนีตรวจสอบ คือ ระบอบทักษิณ

คอลัมน์/ชุมชน

แม้นักวิชาการไม่ได้ให้ความหมายหรือบัญญัติศัพท์ของคำว่า "ระบอบทักษิณ"  แต่ดูเหมือนว่าคนไทยเราก็เข้าใจความหมายนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้เพราะกระแสความไม่พอใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในหมู่ประชาชนได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่เดือนมานี้    


 


ปรากฏการณ์นี้คล้ายคลึงกับเมื่อ ๓๐ ปีกว่าที่แล้ว เมื่อราชบัณฑิตยสภาได้พยายามจะแปลคำว่า "คอมพิวเตอร์" ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นสิ่งที่แปลกใหม่(คล้ายกับระบอบทักษิณ ในวันนี้) บางท่านบอกว่าหมายถึง "เครื่องคำนวณ", "สมองกล" บ้าง รวมทั้ง "เครื่องประมวลผล"   แต่ในที่สุดด้วยความอืดอาดของหน่วยงานนี้และการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วมากของคอมพิวเตอร์ ทำให้คนส่วนใหญ่ได้เข้าใจความหมายนี้ได้ดีโดยไม่จำเป็นต้องแปลจนถึงทุกวันนี้  และถ้าวันนั้นมีการแปลศัพท์คำนี้ได้จริง ความหมายที่ว่านั้นจะถูกต้องเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง (โชคดีที่ไม่ได้แปล!)


 


อย่างไรก็ตาม ถ้าสังคมไทยจะสามัคคีกันโค่น "ระบอบทักษิณ" ให้ได้     เราก็จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจกับความหมายนี้ให้ดีมากกว่านี้ จะปล่อยให้คนค่อยๆ เข้าใจกันเองไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคำถามที่ว่า (๑) มันคืออะไร (๒)   เกิดขึ้นได้อย่างไรและสังคมไทยมีส่วนเอื้อให้ระบอบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร   และ (๓)  เราจะร่วมกันโค่นลงได้อย่างไร


 


บทความนี้พยายามจะตอบบางคำถามดังที่กล่าวแล้วในบางแง่มุมเท่านั้น ท่านใดเห็นต่างหรือจะกรุณาช่วยเสริมให้ชัดเจนกว่านี้ก็จะยินดีมากครับ  ทั้งนี้เพื่อให้ภารกิจที่สำคัญนี้สำเร็จลงให้จงได้


 


ระบอบทักษิณคืออะไร


 


พจนานุกรมหลายฉบับ (ภาษาอังกฤษ) ได้ให้ความหมายว่า ถ้าคำว่า "ระบอบ" แล้วตามด้วยชื่อตัวบุคคล เช่น "ระบอบซัดดัม", "ระบอบบุช" หรือ "ระบอบทักษิณ"  ว่าหมายถึง กลุ่มบุคคลที่ปกครองประเทศ แต่ส่วนมากจะมีความหมายไปในทางไม่ดี ถูกประชาชนตำหนิ จนถึงขั้นต่อต้านคัดค้าน เพราะบุคคลที่มีชื่อต่อท้ายนั้นไปบิดเบือนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตย ดังที่คนไทยเรากำลังเข้าใจและร่วมทำการโค่นล้มอยู่ตอนนี้


 


ถ้าจะใช้ภาษาอังกฤษแทน "ระบอบทักษิณ" ก็จะตรงกับคำว่า  "Thaksin regime"  ในทางวิทยาศาสตร์ ถ้าเรากล่าวถึงกลไกที่ควบคุมระบบภูมิอากาศของโลก เขาจะใช้คำว่า "Climate regime"   แต่ไม่ได้มีความหมายในแง่ลบหรือถูกต่อต้านแต่อย่างใด


 


เมื่อเรากล่าวถึง "ระบอบทักษิณ"   ในฐานะกลุ่มบุคคลหรือความคิดความเชื่อที่ใช้ปกครองประเทศ เราควรจะพิจารณาให้ครอบคลุมไปถึง ๔ ระบบย่อยด้วยกันคือ (๑) ระบบกฎหมาย (๒) ระบบวัฒนธรรม (๓) ระบบเศรษฐกิจ และ (๔) ระบบสังคม


 


ขอกล่าวย้ำอีกครั้งว่า ระบอบทักษิณ เป็นระบอบที่ประชาชนต่อต้าน มีความหมายในแง่ลบ ดังนั้น พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จะไม่ยอมรับคำเรียกว่า "ระบอบทักษิณ" อย่างแน่นอน ในขณะที่ "ระบอบประชาธิปไตย"   เป็นระบอบมีความหมายในทางที่ดี ที่ประชาชนไทยใฝ่หาและพยายามจะร่วมกันสร้างพัฒนาขึ้นมาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น หรือที่เรียกว่า ปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒


 


รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ เป็นรัฐธรรมนูญที่คนไทยร่วมกันสร้างและพัฒนาขึ้นจากบทเรียนที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อของวีรชนในอดีต  สาระหลักสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มี ๓ ส่วน คือ


(๑)  เพิ่มบทบาทของการเมืองภาคประชาชนมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน เช่น มีสิทธิใช้คลื่นวิทยุโทรทัศน์เพื่อการสื่อสาร มีสิทธิในการดูและทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนดั้งเดิม ประชาชนเสนอร่างกฏหมายได้ รวมทั้งมีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนรัฐมนตรีได้  เป็นต้น


(๒)    สร้างกติกาให้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง เช่น แยกอำนาจฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ  เพิ่มส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ และ ส.ส. ย้ายพรรคยากขึ้น


(๓)  มีระบบตรวจสอบโดยวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ให้วุฒิสภาเลือกองค์กรอิสระเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ เช่น ป.ป.ช. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) คณะกรรมการจัดสรรเคลื่อนวิทยุ การสื่อสาร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น     


 


ปรากฎว่า ตลอดเวลา ๕ ปีที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้ขึ้นสู่อำนาจเป็นผู้นำปกครองประเทศ เขากลับสร้างระบอบขึ้นมาเพื่อทำลายสาระสำคัญในส่วนที่ ๑ และ ๓  ลงอย่างสิ้นเชิง ขณะเดียวกันเขาก็พยายามใช้สื่อของรัฐให้เป็นประโยชน์กับพรรคและรัฐบาลของเขา เช่น "ผมมาจาก ๑๙ ล้านเสียง"   "ยุบสภาเพื่อให้ประชาชนตัดสินว่าต้องการผมเป็นนายกฯอีกหรือไม่ " เป็นต้น


 


กลไกของรัฐ (ได้แก่ ข้าราชการ ระเบียบ กฎหมาย การสื่อสาร) ความคิด ความเชื่อ รวมทั้งกลุ่มนักการเมืองที่มีส่วนในการทำลายสาระหลักสำคัญของรัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้แหละที่เราเรียกรวมกันว่า "ระบอบทักษิณ"


 


ระบอบทักษิณเกิดขึ้นได้อย่างไร


 


เราทราบกันดีแล้วว่า เส้นทางการขึ้นสู่อำนาจของ พ.ต.ท. ทักษิณ  คือการใช้เงินซื้อเสียงเพื่อให้ได้อำนาจ แล้วใช้อำนาจในการหาเงินเข้าสู่กระเป๋าตนเองและกลุ่ม  สิ่งเหล่านี้มีข้อเท็จจริงเชิงรูปธรรมที่สามารถนำมายืนยันได้มากมาย  ไม่จำเป็นต้องขยายความในที่นี้  แต่สิ่งที่น่าสงสัยก็คือว่า สังคมไทยเรามีวัฒนธรรมอย่างไรหรือมีอะไรเป็นปุ๋ยที่เอื้อให้  "หน่ออ่อนของระบอบทักษิณ"  เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาก


 


แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบางคนเปรียบเปรยว่า "พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยใช้เวลาเกือบ ๓๐ ปี ยังสร้างความแตกแยกให้สังคมไทยไม่มากเท่า ๕ ปีของระบอบทักษิณ"


 


ที่ถามเช่นนี้ ไม่ใช่จะกล่าวโทษสังคมไทย เพื่อให้ พ.ต.ท. ทักษิณ รอดตัวไป  แต่ผมว่า ถ้าจะโค่นระบอบทักษิณทั้งที จะต้องวินิจฉัยสาเหตุของโรคให้ชัดเจนด้วย จึงจะสามารถโค่นได้อย่างถอนรากถอนโคน


ด้วยพื้นที่อันจำกัด ต้องขอฝากให้ช่วยกันคิดต่อครับว่า วัฒนธรรมไทยมีอะไรเป็นปุ๋ยให้ระบอบทักษิณเติบโตอย่างรวดเร็ว  สำหรับบทสรุปของบทความนี้อยู่ที่ชื่อบทความครับ