Skip to main content

วาระแอบแฝง/ซ่อนเร้น

คอลัมน์/ชุมชน


 


 


ติดตามข่าวในเมืองไทย ไม่ว่าข่าวการเมืองหรือข่าวระดับชาวบ้าน ทำให้สงสัยในคุณภาพข่าวขึ้นทุกวันๆ ไม่ใช่ว่าไม่มีข่าวแต่ข่าวที่ออกมามีลักษณะที่เหมือนบอกว่า "รู้แค่นี้พอแล้วนะ" "นี่ไงฝ่ายนี้ถูก ฝ่ายนั้นผิด" "ข่าวนี้สนุก" "ข่าวนี้ต้องกระแทกแรงๆ" เหมือนโดนยัดเยียดทุกครั้ง อันนี้เน้นข่าวที่มาในอินเตอร์เน็ตเท่านั้น ไม่ได้พูดถึงข่าวทีวีทั่วไปที่ไม่ได้ดูเพราะไม่ได้ติดดาวเทียมของไทย ซึ่งปรากฏว่าคนไทยที่ติดส่วนมากเอาไว้ดูละคอนไทยหรือความบันเทิงในรูปแบบต่างๆมากกว่าอย่างอื่น


 


ทำให้เห็นว่าสาย "วารสารศาสตร์" ของไทยก็ยังไม่ไปไหน นักวิชาการไทยหลายคนก็เอามาพูดอยู่เรื่อยๆ คนในสายอาชีพนี้หรือที่เกี่ยวข้องก็ด่าทอ ทะเลาะตบตีกันกันผ่านงานต่างๆ ได้ ไม่รู้จักจบ แต่ก็ไม่ดีขึ้น จำได้ว่าสมัยยังไม่มาทำงานที่อเมริกา ท่านอาจารย์คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง เคยชวนไปคุยเรื่อง "การบริโภคข่าวสาร" ที่ มูลนิธิสตรีอุดมศึกษา ก็บอกว่าเป็นเรื่องของทุนที่อยู่เบื้องหลังที่ทำให้คนอ่านคนบริโภคข่าวต้องรู้จักเลือก เพราะว่าสื่อนั้นเป็นเครื่องมือของคนที่มีโอกาสมากกว่าในสังคม หรือพูดง่ายๆ  คนที่มีทุนทางสังคมมากกว่านั่นเอง คนทางสายวารศาสตร์และสื่อมวลชนบอกว่าเรื่องนี้ เกี่ยวกับเรื่อง Media Literacy[1] ถอดความง่ายๆ ว่า รู้และเท่าทันสื่อได้ ไม่ใช่การจับผิดแต่เป็นเรื่องที่จะเข้าใจและวิเคราะห์สารที่มาจากสื่อได้ โดยเฉพาะสื่อสมัยใหม่ เช่น ทีวี อินเตอร์เน็ต โฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อต่างๆ


 


เหตุที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะว่า คนทั่วไปมีแนวโน้มที่จะรับสารได้บ่อยกว่า มากกว่าในอดีต เพราะเทคโนโลยีต่างๆ แต่ว่าระบบความคิดที่ซับซ้อนในการวิเคราะห์ข่าวไม่ได้พัฒนาไปด้วยง่ายๆ โดยเฉพาะชาวบ้านที่ด้อยกว่าในเรื่องทุนทางสังคม ดังนั้น ที่ผ่านมาคนที่กลายเป็นเครื่องมือของคนกลุ่มหนึ่งทางสังคมก็คือชาวบ้านตาดำๆ ซึ่งปรับตัวไม่ทันกับเรื่องแบบนี้


 


ผู้เขียนเรียนทางสื่อสารมวลชนมาไม่มาก เพราะให้ความสนใจในเรื่องอื่นมากกว่า แต่ด้วยว่าสาขาที่เรียนอยู่มันไม่ได้ห่างไกลกับเรื่องนี้ และในท้ายสุดทฤษฎีสังคมสมัยใหม่ก็ไปเกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชน จึงทำให้ต้องรู้บ้าง ดังนั้นตรงนี้ถ้าผิดพลาดไปอย่างไร คงต้องขอออกตัวไว้และหวังว่าคงมีคนที่เชี่ยวชาญกว่ามาช่วยเพิ่มเติมแก้ไข


 


บทความนี้ส่วนหนึ่งจึงเป็นการเรียกความทรงจำครั้งสมัยเรียนป.เอก มาอธิบายบางเรื่องในสังคมไทยที่ผ่านมาบ้าง และให้มุมมองแบบคนที่ไม่ใช่นักวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนโดยตรง


 


สมัยที่เรียนนั้น ลงวิชา "ทฤษฎีสื่อสารมวลชนยุคต้น" สองครั้ง ครั้งแรกเรียนกับ Glenn Sparks[2] ที่ดังในเรื่องสื่อและผลกระทบทางสังคม แต่ยอมรับว่าไม่พร้อมเลยต้องดร็อปหลังเรียนไปได้ครึ่งเทอม เหมือนอย่างที่เคยบอกว่าไม่ได้เป็นคนฉลาดนัก ยอมรับว่าเรียนเข้มมากๆ จนประสาทรับประทานเลยในตอนนั้น จากนั้นมาเรียนอีกทีหนึ่งกับ Robert (Bob) Ogles[3] (อ่านว่า โอ-โกลส) ซึ่งก็เป็นอาจารย์ที่ต่างออกไปจากคนแรก แต่ไม่ใช่หมูเลย เรียนสนุกมาก เรียนรู้มากกว่าที่เรียนกับคนแรกมาก คงเป็นเพราะว่าสไตล์การสอนกับการเรียนที่ตรงกัน


เรียนกับ ดร.โอโกลสนั้น เป็นการเริ่มเข้าใจว่าสื่อสารมวลชนคืออะไร รู้ว่าแต่เริ่มศึกษากันอย่างไร แต่เพราะว่าเพอร์ดูไม่ได้เน้นด้านนี้เหมือนกับสายอื่นๆ เช่น การสื่อสารองค์กร การสื่อสารระหว่างบุคคล ทำให้ตัวอาจารย์เองก็เปรยๆ มาว่าเหมือนมาอยู่ผิดที่ แต่อาจารย์ก็สอนอย่างสนุก น่าเสียดายที่ไม่ได้ลงตัวถัดมาเพราะต้องรีบทำวิทยานิพนธ์ วิชานี้ที่ลงเพราะโดนบังคับให้เรียนตามหลักสูตรเท่านั้น


 


อาจารย์บอกว่าทฤษฎีที่เรียกว่ามองสื่อจริงๆ ให้ความสำคัญกับสื่อจริงๆในคอร์สนี้ คือ agenda setting[4] เพราะว่าทฤษฎีอื่นๆมองว่าสื่อเป็นแค่ส่วนหนึ่งในสังคม ไม่ใช่เป็นตัวกำหนดสังคม แต่ทฤษฎีนี้มองว่าสื่อนี่แหละเป็นตัวแปรหลักทางสังคมที่มีผลฉกาจฉกรรจ์ต่อสังคมและสมาชิกในสังคม  เพราะสามารถที่จะกำหนดให้คนในสังคมหันซ้ายหันขวาได้อย่างใจนึกเพียงแค่กำหนดให้สื่อเสนออะไรเท่านั้น เช่น การที่เอาข่าวบอลโลกมาเบี่ยงเบนความสนใจเรื่องภาวะความขัดแย้งทางการเมือง ข่าวสึนามิมาปิดบังกระแสเรื่องทุจริตในการบริหารประเทศ หรือแม้กระทั่งการนำละคอนทีวีน้ำเน่ามาเสนอเต็มจอ หรือพวกรายการแข่งขันบ้าๆ บอๆ มายัดใส่เต็มผังรายการก็จะทำให้คนในสังคมไม่คิดจะมองเรื่องปัญหาสังคมอื่นๆ จนทำให้โง่ลงๆ ทุกวัน ทั้งที่ควรเอาไว้เฉพาะช่วงกลางวัน ไม่ใช่ตอนเย็นๆ (เหมือนประเทศไหนก็ไม่รู้) ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่คิดอะไรไม่เป็นวันๆ คิดจะบันเทิงอย่างเดียว หรือชอบยัดเยียดมิวสิควิดีโอที่ไม่ได้เรื่อง คนดูก็ดูไป เพราะไม่รู้ว่าตนเองโดนยัดเยียด


 


ดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องของการจัดแจงบงการของสื่อ เจ้าของสื่อและตัวรัฐบาลเอง ถ้าหากว่ารัฐบาลนั้นมีอำนาจในการบังคับสื่อ ในสหรัฐฯเองก็ใช่หยอกมีรายการเฮงซวยเต็มไปหมด อย่างอเมริกันไอเดิ้ลนี่ ดูกันเข้าไปสิ เด็กฝรั่งเดี๋ยวนี้อยากเป็นดาราไม่แพ้ของไทย แต่เรื่องเรียนนี่แย่ทุกวัน การจับทุจริตเด็กนี่มากกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะพวกตัดแปะมาส่งงานนี่ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ที่น่าอนาถใจคือคนไทยก็ไปเอาเค้ามาด้วยก็อปปี้มากันเลยรายการแบบนี้ แล้วก็เป็นเรื่องฮือฮากันไม่น้อย เรื่องขยันๆ ทำงานดีๆ ไม่เอามา


 


ส่วนที่พยายามเบี่ยงเบนหรือใส่ประเด็นต่างๆ ในสังคมโดยมีบางอย่างปิดทับอยู่ข้างบนทำให้เกิดคำว่า Hidden Agenda หรือเรียกกันว่า "วาระแอบแฝง/ซ่อนเร้น" อันนี้ไม่ใช่แค่ระดับสื่อมวลชนเท่านั้น แต่อาจรวมถึงการนัดหมายประชุมและกำหนดนโยบายอื่นๆด้วย สื่อจึงถูกใช้เพื่อการนี้ด้วยเช่นกัน อย่างที่บอกแต่ต้น


 


ที่เห็นเด่นชัดมากที่สุดแบบง่ายๆ ในสังคมไทย คือเรื่องประชาสัมพันธ์หนังหรือเพลง เป็นที่รู้กันว่าช่วงที่ศิลปิน


คนใดจะมีผลงานพวกนี้ออกมา ศิลปินหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงานนั้นจะออกมาในรายการทีวีแทบทุกรายการ มีข่าวออกมาทางหน้าหนังสือพิมพ์ ทั้งที่ข่าวพวกนี้ไม่ได้มีอะไรสมกับข่าวเลย แต่คนดูคนอ่านก็โดนยัดเยียด ทำให้ต้องรู้ว่าหนังหรือเพลงจะออกมา สหรัฐฯ นี่ก็เป็น  พวกทอล์คโชว์นี่แหละตัวดี เมืองไทยเราก็ไปหยิบเทคนิคนี้มาใช้


 


ส่วนเรื่องการเมืองนั้นมีมากมาย ที่บ่นกันจนชัดคือช่วงที่มีการกู้ชาติ-ต่อต้านรัฐบาล สื่อฝ่ายใดก็เขียนข่าวเพื่อฝ่ายนั้นและทำลายบทบาทความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม เกิดเป็นปรากฏการณ์ความไม่น่าเชื่อถือของสื่อ เกิดปัญหากับสื่อและคนบางกลุ่ม น่าสังเวชใจแต่ทำอะไรไม่ได้ เป็นเพราะสังคมไทยเองไม่มี "ภูมิคุ้มกัน" ทางภูมิปัญญาไม่ว่าตัวสื่อเองและคนใช้สื่อ มานั่งถามตนเองเหมือนกันว่าแล้วไอ้ที่สอนๆกันนี่มันคงล้มเหลวหมดสิ


เพราะเคยทำงานประชาสัมพันธ์และการตลาดมาบ้าง ได้เกี่ยวข้องกับสื่อคลาสสิคคือ ทีวี วิทยุ และสิ่งพิมพ์ ทำให้รู้ว่าสื่อไทยนั้นยังห่างไกลอีกมาก มีคนรู้จักกันเป็นนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ และธุรกิจที่บ้านก็เป็นวงการสิ่งพิมพ์ หลายครั้งมาตั้งคำถามว่าเราจะไปทางไหน ผลคือไม่ต้องไปไหน อยู่มันตรงนี้แหละ เนื้อหาไม่เปลี่ยน เปลี่ยนแค่ฟอร์มเพราะสังคมไทยยังไปไม่ถึงไหน ไม่ว่าคนใช้สื่อ คนทำสื่อ และคนสอนสื่อ (ฟันธงเกินไปรึเปล่านี่?)


 


ที่เป็นเช่นนี้เพราะสังคมไทยมีค่านิยมบางชุดที่กีดขวางการพัฒนาทางภูมิปัญญาซึ่งต้องพัฒนาจากการมี Critical Thinking[5] ซึ่งผู้เขียนได้เขียนไปก่อนหน้านี้ ค่านิยมไทยไม่สนับสนุนให้คนคิด ตั้งคำถามและหาคำตอบ หลายครั้งที่ผู้เขียนอยากทุบกะโหลกและเอาขี้เถ้ายัดปากคนพวกนี้ที่บอกว่า "อย่าคิดมาก อย่าชอบเครียด" เลิกเสียทีเถอะทัศนคติแบบนี้ เพราะปัญหาทุกปัญหาต้องแก้เท่าที่ทำได้ และต้องโปร่งใสเท่าที่จะมากได้


 


การขจัดวาระซ่อนเร้นนั้นไม่ใช่ดูที่สื่อหรืออย่างอื่นๆ เท่านั้น แต่ต้องย้อนกลับมาที่ความโปร่งใสจริงใจ การกำหนดนโยบายต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสังคมไม่ว่าใหญ่น้อยต้องเน้นให้มีการตรวจสอบที่ชัดเจนและขจัดการหมกเม็ดเท่าที่จะทำได้ และไม่ใช่ยอมให้เสียงส่วนมากเป็นข้อชี้ขาด เพราะที่ผ่านมาหลายหนที่เสียงส่วนมากนี่แหละคือเสียงไร้คุณภาพไร้ปัญญา ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม คนที่ฉลาดแต่ไร้คุณธรรมมักชอบใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างเสมอ


 


ดังนั้น เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องขยันคิด ขยันอ่าน และมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งอันนี้ก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องเข้าใจกันด้วยว่า "การมีส่วนร่วม" ที่แท้จริงคืออะไร ไม่ใช่ไปตะโกนโหวกเหวก ประท้วงหรือเพียงแค่มาบอกว่าเสียงข้างมากให้อำนาจ หรือการที่บอกว่าทุกคนต้องฟังฉัน


 


การที่จะทำให้เมืองไทยเป็นประชาธิปไตยว่าไปแล้วมีอะไรต้องทำอีกแยะ เพราะประชาธิปไตยที่เรารู้จักหรือได้ยินมาเกือบ 80 ปี เรารู้จักแต่ชื่อ  แต่เราไม่ได้รู้จักมันจริงๆ เอาเสียเลย ถ้ามีโอกาสในชีวิตอยากทำเรื่องนี้ที่สุดคือสอนประชาธิปไตยให้สังคมไทยเข้าใจจริงๆ จังๆ สักที  เฮ้อ ! ว่าจะไม่ฝันแล้วนะเนี่ย






[1] หาอ่านเพิ่มเติมแบบง่ายๆในภาษาอังกฤษได้ที่ http://www.ced.appstate.edu/departments/ci/programs/edmedia/medialit/ar…


 





[4] หาอ่านเพิ่มเติมแบบง่ายๆในภาษาอังกฤษได้ที่ http://www.tcw.utwente.nl/theorieenoverzicht/Theory%20clusters/Mass%20M…



[5] http://www.prachatai.com/05web/th/columnist/view.php?SystemModuleKey=Column&ContentID=834&ColumnistID=29&ID=29