Skip to main content

ครั้งแรกของฉัน : ฟังดนตรีข้างทางอย่างตั้งใจ

คอลัมน์/ชุมชน


 


 


จันทน์กะพ้อ


 


กลางดึกอันอึกทึกครึกครื้นของเมื่อวาน  ฉันเดินทอดน่องไปตามตรอกซอกซอยของถนนสีลมอย่างสบายอารมณ์  ผับ  เทค  ร้านอาหารทั้งไทยและเทศเข้าจับจองพื้นที่ภายในซอยแทบทุกซอย  ดีกรีของเสียงเพลงจากร้านนู้นเข้าผสมปนเปกับร้านนี้  จนบางทีก็ยากที่จะจำแนกแยกแยะว่า  เพลงที่กำลังได้ยินอยู่นั้นคือเพลงอะไร  ซึ่งในความคิดของฉัน  ความวุ่นวายเล็กๆ อย่างนี้เป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดใจเป็นอย่างยิ่งของสีลม  ก็แหม! จังหวะเร็วๆ ของดนตรีช่างท้าทายเส้นประสาทบริเวณปลายเท้าจนอดที่จะ "แอบขยับ" ไปตามจังหวะที่เร่งเร้าเหล่านั้นไม่ได้


 


หลุดจากความวุ่นวายที่น่าหลงใหลมาสู่ถนนกว้างที่นานๆ รถจะโล่งให้คนเดินเท้าได้ข้ามถนนอย่างไม่ต้องเกรงหน้าระวังหลังมากนัก  ฉันข้ามถนนอย่างปลอดภัยและมุ่งตรงสู่ป้ายรถเมล์หน้าตึกซีพี ทาวเวอร์


 


 "ได้เวลากลับบ้านแล้ว"  ฉันบอกกับตัวเอง  ซึ่งมันก็น่าจะเป็นอย่างนั้น  ถ้า "ลูกกะตาเจ้ากรรม" ไม่บังเอิญเหลือบไปเห็น "คุณลุง" ท่านหนึ่งซึ่งคุ้นหน้าคุ้นตาเหมือนเคยเจอที่ไหนมาก่อนเข้าให้


 


คุณลุงอารมณ์ดียืนสะพายกีตาร์ร้องเพลง แถมยังคล้อง "หีบเพลงเป่า (mouth organ)"  ไว้ในระดับปากเพื่อความสะดวกในการเป่า  ท่าทาง "ติสต์ๆ " ของคุณลุงสะกิดปากชวนให้อยากเข้าไปทักทายพูดคุยกับแกเสียเหลือเกิน


 


คุณลุงเล่าให้ฟังว่า  อาชีพของแกคือ การทำงานอิสระ (Freelance) ที่ค่อนข้างเป็นหลักเป็นแหล่งคือ  ไม่ได้เป็นลูกจ้างประจำแต่ได้รับการว่าจ้างให้ทำงานนั้นๆ อย่างเป็นประจำ


 


 "ลุงทำงานตั้งหลายอย่าง มาเล่นดนตรีเล่นๆ หรือคะ"  ฉันถามออกไปเมื่อได้รับรู้เรื่องของการงานที่แก (รับ) ทำซึ่งมากมายพอสมควรสำหรับคนที่มีเวลาในหนึ่งสัปดาห์เท่ากับคนอื่นๆ


 


 "เล่นจริงๆ เก็บตังค์ใช้หนี้" แม้คำพูดและน้ำเสียงออกจะทีเล่นทีจริง  แต่สีหน้าและแววตาของคุณลุงแฝงความเป็นจริงเป็นจังเอาไว้


 


 "เมื่อก่อนเล่น  คนล้อมวงเข้ามาฟังเยอะมาก  เดี๋ยวนี้น้อยลง  เพราะคนเล่นมันมากขึ้น  บางคนเล่นเป็นแค่เพลงสองเพลง  แต่เห็นว่าเล่นแล้วได้ตังค์ก็ออกมาโชว์  มันก็เลยเกลื่อน" นี่คือประโยคต่อมาที่คุณลุงบอกกับฉัน


 


เมื่อได้ยินอย่างนั้น  มันก็ยากเสียเหลือเกินที่จะบังคับสายตาไม่ให้เหลือบไปยังกระเป๋า  ใส่กีต้าร์ที่วางแบ ลงบนพื้น  ซึ่งยามนี้มันถูกใช้เป็นที่รองรับน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ของคนที่ชอบใจในการเล่นและร้องของคุณลุง  ซึ่งก็ไม่ทราบว่า  การแสดงในคืนนี้ของคุณลุงเพิ่งเริ่มต้นหรืออย่างไร สินน้ำใจจึงมีเพียงน้อยนิด  คะเนด้วยสายตาไม่น่าจะเกิน 30 บาท


 


ฉันปรายสายตาขึ้นมาในระดับปกติ  และตั้งต้นเหลียวหลังแลหน้ามองดูคนรอบข้างด้วยความสงสัยว่า  บนถนนแห่งแสงสี  ดนตรี และความครึกครื้นแห่งนี้มีผู้คนที่สนใจในบทเพลง (ไม่รู้กี่เพลงต่อกี่เพลง) ของคุณลุงที่ขนมาโชว์เพียงเท่านี้เองหรือ?


 


และแล้วก็ถึงบางอ้อ  ไม่ใช่ว่า "ไม่สนใจฟัง"  แต่ผู้คนส่วนใหญ่ที่นี่ "ไม่ฟัง" เพลงของคุณลุงเลยด้วยซ้ำ!


 


คงเป็นเพราะเทคโนโลยีแห่งดนตรีที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง  ทำให้เพลงอยู่ "ติดหู" คนฟังได้ตลอดเวลาถ้าเขาต้องการ  ซึ่งเทคโนโลยีแบบนี้มีให้เห็นหลายรูปแบบ ทั้งโทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่น MP3, I-Pod ฯลฯ


 


คงเป็นเพราะใครๆ ต่างก็ชอบที่จะเพลิดเพลินไปกับดนตรีในแบบที่ตัวเองชอบ  โดยที่ไม่ต้องเอา "หู" ไปรับฟัง "อะไร" ที่ไม่พึงประสงค์


 


บทสนทนาระหว่างฉันกับคุณลุงจบลงไปนานแล้ว…และฉันกำลังขบคิดหาส่วนผสานแห่งช่องว่างระหว่างการแสดงสดของคุณลุงกับการแสดงที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์แบบ (แต่ไม่สด) ของเครื่องมือเทคโนโลยีทั้งหลายแหล่


 


 "เปิดโถด…เอ๊ย โปรดเถิดดวงใจโปรดได้ฟังเพลงนี้ก่อน อย่าด่วนหลับนอน อย่าด่วนทอดถอนฤทัย…" เพลงสุดท้ายของคุณลุงลอยเข้ามากระทบโสตประสาท


 


…รอยยิ้มเล็กๆ ระบายขึ้นมาบนมุมปากของฉันอย่างไม่รู้ตัว