Skip to main content

เมื่อ "จิตร ภูมิศักดิ์" เขียนถึง "แมกซิม กอร์กี้"

คอลัมน์/ชุมชน


 


            ฉันถูกกำหนดไว้ในความแน่นอน


            กำหนดแน่นอนในการแปรงฟัน ล้างหน้าและดับไฟ


            กำหนดแน่นอนให้แช่งด่ายามหาที่จอดรถไม่ได้


            กำหนดแน่นอนให้เป็นหวัด และไอ


            หวาดกลัวความตายและเริ่มอดบุหรี่


            กำหนดแน่นอนให้บริจาคเงินเพื่อการกุศล


            ขณะเดียวกันก็ไม่รักษากฎจราจร


            กำหนดแน่นอนให้ผิดหวังต่อความรัก และสิ้นหวังต่อการเลือกตั้ง


            กำหนดแน่นอนไว้ในที่ที่แน่นอน


            ยอมรับการถูกจัดวางในตำแหน่งที่แน่นอน


            แน่นอนว่าในเวลาที่แน่นอน เกิดความสงสัยในชีวิต


                                   


บทกวีจีน "เชวียน ท่าว" 


                                    เรืองรอง รุ่งรัศมี  แปล


 


 


ผมกลับไปเยือนบ้านเกิดเป็นครั้งที่สอง ในรอบเดือนเมษายนที่ผ่านมา...


เป็นการกลับบ้านด้วยเหตุผลในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งโดยเต็มใจและไม่เต็มใจ


ทั้งเรื่องของการเมือง ชีวิตและสุขภาพ แต่ก็นั่นแหละ, ชีวิตบางครั้งก็เหมือนมีบางสิ่งให้เดินไป


มีบางอย่างให้จำยอมค้อมจำนนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


           


ในห้วงยามสงัด, ผมจ่อมจมอยู่ในห้องหับที่ถูกปล่อยให้รกเรื้อด้วยหยากไย่แมงมุม และห้องส่วนตัวได้กลายเป็นที่ซ่องสุมอาศัยของหนูและแมลงสาบมาหลายปี หลังจากที่พาตัวเองระหกระเหินไปอยู่ในเมืองนานหลายนาน


           


การกลับบ้านหนนี้ จึงรู้สึกถวิลหาเรื่องราวความเก่าความหลัง


เหมือนว่าชีวิตกำลังรื้อค้นหาอดีตที่พลัดหายและเลือนรางให้หวนคืนแจ่มชัดอีกครั้ง


           


ผมพลิกดูหนังสือเก่า ๆ ที่กองซ้อนระเกะระกะในห้องออกมาอ่านทบทวนในรอยจำ พบจดหมายที่ผมเคยเขียนถึง "สิงห์สนามหลวง" ในช่วงปี 2547 ที่ผ่านมา ทำให้นึกถึงบุคคล


ที่เขียนถึง, ก่อนครุ่นคิด...


                                   


                                       


 


 "จิตร  ภูมิศักดิ์" ได้เขียนถึง "แมกซิม กอร์กี้" เอาไว้...


 


กอร์กี้ บอกว่า ไม่มีหรอก พระเจ้า สวรรค์ หรือนรก


พระเจ้ากำเนิดมาจากความหวาดหวั่นกลัวตายของมนุษย์เท่านั้นเอง


โลกหน้านั้นหรือ? แท้จริงมันก็นอนอยู่ในส่วนที่มืดทึบของอารมณ์รู้สึก


พระเจ้าของข้าฯ คือ พี่น้องประชาชน!!


ข้าฯ เชื่อมั่นในมนุษย์ และเฉพาะมนุษย์บนโลกปัจจุบันนี้เท่านั้น


ภารกิจอันเผชิญอยู่ตรงหน้ามนุษยชาติในขณะนี้ ก็คือ การสร้างระบบชีวิตที่งดงามขึ้นมา 


บนโลกที่รองรับสองตีนของเราอยู่ สร้างมันขึ้นมา ในปัจจุบันนี้ เดี๋ยวนี้ ที่บนโลกนี้


มิใช่การพะวงอยู่กับเรื่องของอนาคตหลังจากการตาย


โดยการภาวนาไขว่คว้าหาสวรรค์วิมานอันงมงายของโลกหน้า


 


ไยจะต้องย้ำอีกว่า สวรรค์ก็คือนิยายโกหก


ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องยอมรับว่าพลังทางปัญญาที่มีอยู่จริงในโลกนี้ก็คือ จิตใจของมนุษย์นั่นเอง


           


Man is a proud ring


คน คำนี้มีกังวานน่าทระนงเสียนี่กระไร...


           


จิตร ภูมิศักดิ์ ยังได้พูดถึง แมกซิม กอร์กี้ เอาไว้อีกว่า...กอร์กี้หวงแหนและพยายามรณรงค์เพื่อให้ประชาชานร่วมโลกของเขา หวงแหนในศักดิ์ศรีและเกียรติภูมของ "คน" เขาเกลียดชังมนุษย์ผู้กระหายอำนาจ  เห็นคนเป็นเครื่องเล่น ใช้อำนาจของตน "บังคับซื้อ" วิญญาณของคน บังคับซื้อทุกสิ่งทุกอย่างโดยมิได้คำนึงถึงความพินาศฉิบหายใด ๆ


           


กอร์กี้วิงวอนพระผู้เป็นเจ้าของเขา,นั่นคือ ประชาชนผู้ทำงาน...


"เราต้องเลิกเห็นแก่ตัว หัดคิดถึงทุกสิ่งทุกอย่างในแง่การมีสัมพันธ์ร่วมกันทางสังคม


ผลประโยชน์ส่วนตัวอันหยุมหยิมน้อยนิด จักต้องจำนนต่อปัญหาอันใหญ่หลวง 


นั่นคือ, มติที่เรียกร้องให้เราทำงานเพื่อสร้างสรรค์สังคมใหม่


สังคมที่ไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ  ไม่มีความรวยความจน  ไม่มีนายและบ่าว


สังคมที่ทุกคนจะทำงานตามความสามารถของตน และได้ผลตอบแทนเท่าที่ต้องการ


สังคมที่ทุกคนจะรู้สึกว่า ตนเป็นเจ้าของสินทรัพย์ทั้งปวงในรัฐ


สังคมที่มหาทวารแห่งการศึกษาวิทยาการจะเปิดออกว้างอย่างไพศาล


เพื่อทุกๆ คน ที่เขาปรารถนาจะสร้างสรรค์สังคมใหม่...


ข้าฯ รู้ดีว่า...สักวันหนึ่งยุคนั้นจะมาถึง..."


           


ผมเพียงพลัดหลงไปในดินแดนของความหม่นเศร้าและคลุมเครือ


ท่ามกลางบรรยากาศการเข่นฆ่า ระหว่างคนกับธรรมชาติ ระหว่างคนกับคน


ใช่, มนุษย์เรายังมีพลังความคิดและจิตวิญญาณ...ชีวิตยังมีหวัง


           


ผมตั้งคำถามทิ้งท้ายกับ "สิงห์สนามหลวง" เอาไว้ว่า...สิงห์ฯ เชื่อมั้ยว่า สักวันหนึ่งยุคนั้นจะมาถึง!?


 


"แต่ก่อนเชื่อ ปัจจุบันนี้มีแต่สงสัยมากขึ้น  กระนั้นก็เชื่อว่า  "มนุษย์" ยังคงยิ่งใหญ่ได้เหมือนอย่างที่ จิตร  ภูมิศักดิ์ เคยบอกไว้ คือ คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย  แม้ว่าคำว่า "คน" ในปัจจุบันจะคลุมเครือและซับซ้อนมากขึ้นเพียงใด  แต่คนเราก็ต้องมี "ความหวัง" และพร้อมที่จะรู้เท่าทัน" นั่นคือคำตอบจากสิงห์สนามหลวง


             


ผมรู้สึกชื่นชมชีวิตและผลงานของสองท่านนี้ ทั้ง "แมกซิม กอร์กี้" นักเขียนรัสเซียผู้ถ่ายทอดความทุกข์ยาก ความเศร้าสลดของชีวิตของผู้คนชนชั้นแรงงานได้จริงและแจ่มชัด


           


ทั้ง "จิตร ภูมิศักดิ์" นักคิดนักเขียน นักปฏิวัติ ในยุคหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคมไทย ผู้ที่ยึดมั่นในความเป็น "คน" และเรียกร้องถึง "สังคมที่ดีงาม"


           


กระทั่งเขาถูกอำนาจอธรรมเข้าล้อมกระหน่ำยิงบริเวณชายป่าบ้านหนองกุง อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร


ร่างเขาล้มลงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2509


 


วันเวลาผันผ่านนานเนิ่น, แม้ห้วงเวลานี้ เดือนนี้ ปีนี้ (ปี 2549) สี่สิบปีแห่งการจากไปของเขา- -


 


 



 


 


 

 



"จิตร ภูมิศักดิ์"


 


 


กระนั้น,เชื่อว่าหลายคนยังคงเรียนรู้และจดจำ


ถึงวิถี,ชีวิตและความมุ่งมั่นต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในสังคม 


ด้วยความคารวะชื่นชมและศรัทธาในชีวิตและจิตวิญญาณ, จิตร ภูมิศักดิ์.