Skip to main content

ไปค่ายเยาวชนมาครับ

คอลัมน์/ชุมชน



 


คำถามที่ผมมักจะถามผู้ใหญ่ที่รู้จักว่า "หากกล่าวถึงเยาวชนแล้วนึกถึงอะไร?"  คำตอบที่ได้ส่วนมากก็คือ มีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น ตั้งแก๊ง ซิ่งรถ เที่ยวกลางคืน ติดแฟชั่น ซึ่งคำตอบต่างๆ นี้ มากกว่า ๓ ใน ๔ สะท้อนออกมาเป็นภาพด้านลบของเยาวชนทั้งนั้น


 


ไม่แปลกที่คนจะคิดได้อย่างนั้น, เพราะวันหนึ่งข่าวเสียๆ ข่าวไม่ดีๆ ของเยาวชนก็ปรากฏอยู่ตามสื่อทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นทางโทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ รวมทั้งอินเตอร์เน็ต ที่เวลาเปิดดูเมื่อใดก็มีแต่เรื่องไม่ดีๆ ของเยาวชนอยู่เกือบทุกว๊าน ทุกวัน


 


ช่วง ๒-๓ วันที่ผ่านมา ผมไม่ได้นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ครับ  เพราะไปเข้าร่วมจัดค่ายกับเพื่อนๆ กลุ่มเยาวชนที่จังหวัดลำปาง หลายวันติดต่อกัน จึงไม่มีเวลาดูข่าวสารที่เกี่ยวกับเยาวชนเลยและการไม่ได้นั่งหน้าคอมพิวเตอร์ ก็เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่รู้สึกว่าได้พักผ่อนสมองและสายตา จากการอ่านข้อมูลข่าวสารมากมายทางอีเมล์และเว็บไซต์ต่างๆ และไม่ต้องจ้องอยู่หน้าจอเป็นเวลานานๆ เหมือนชีวิตปกติแต่ละวัน


 



 


ตั้งแต่วันที่ ๒ ถึงวันที่ ๔ พฤษภาคม ผมเดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่ไปยังจังหวัดลำปาง เพื่อร่วมกิจกรรมค่ายในชุมชนของเพื่อนๆ เครือข่ายเด็กและเยาวชนวายทูเค (Y2K) ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง


 


สำหรับชื่อของเครือข่ายเด็กและเยาวชนวายทูเคนั้น มีที่มามาจากชื่อพื้นที่ของกลุ่มเยาวชน คือ อ.เกาะคา จ.ลำปาง  หรือ คำว่า Ko Kha ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีตัว "K" ๒ ตัว  ส่วนตัว "Y"มาจากคำว่า Youth ที่แปลว่า เยาวชน จึงเท่ากับ Youth Ko Kha หรือ Y2K นั้นเอง


 


สำหรับค่ายที่จัดขึ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาสังคม พัฒนาชาติ พัฒนาศักยภาพเยาวชน ซึ่งเครือข่ายเด็กเยาวชนวายทูเคเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ โดยมีเยาวชนจากอ.เกาะคา และ อ.เสริมงาม จ.ลำปาง เข้าร่วมประมาณ ๓๐ คน


 


ความมุ่งหวังของค่ายนี้ แป๊บซี่ หรือ สาโรจน์ สังเลิศ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ บอกว่า ต้องการให้การจัดค่ายครั้งนี้เป็นการจุดประกายให้เยาวชนที่อยู่ในชุมชนออกมาทำกิจกรรมเพื่อชุมชน และพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อรวมกลุ่มทำกิจกรรมในชุมชนของตัวเองต่อไป


 


"น้องๆ ที่มาในค่ายนี้บางคนเพิ่งมาเป็นครั้งแรก บางคนก็เป็นแกนนำกลุ่ม เราไม่ได้ต้องการเป้าหมายอะไรที่ใหญ่โต เพียงแต่ต้องการให้เพื่อน ๆ น้องๆ ได้มีที่มีทางในการพัฒนาศักยภาพตัวเอง ซึ่งกิจกรรมจะมีหลายรูปแบบทั้งการจัดกิจกรรมในอาคารและการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ กิจกรรม Walk Rally เป็นต้น"


 


ในการจัดค่ายครั้งนี้ผมและพี่จิ๊บ ซึ่งทำงานที่ศูนย์ประสานงานเครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบน ด้วยกัน ได้เข้าร่วมกิจกรรมโดยจะช่วยในการจัดกระบวนการร่วมกับเพื่อนๆ เยาวชนวายทูเค นอกจากนี้ยังมีเพื่อนๆ จากเครือข่ายเยาวชนลำพูนและแพร่ ที่เข้าร่วมเป็นทีมพี่เลี้ยงค่ายด้วยกัน


 



 


ในวันแรกของค่าย เพื่อนๆ ที่เป็นผู้เข้าร่วมก็เริ่มทยอยเดินทางจากในตัวเมืองลำปางเพื่อมายังสถานที่จัดงาน ในวันแรกนี้กิจกรรมเริ่มขึ้นตอนช่วงบ่าย โดยมีการจัดกิจกรรมทำความรู้จัก และมีการบรรยายจากหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยท่านได้ให้แง่คิดว่า การจะเป็นผู้นำคนได้นั้น นอกจากจะพัฒนาศักยภาพตัวเองแล้ว ยังต้องเป็นแบบอย่างที่ดีและออกมาทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของสังคมด้วย


 


หลังจากนั้น  เพื่อนที่เข้าร่วมก็จัดแจงข้าวของเข้าที่พัก – ที่พักของค่ายนี้คือ กางเต็นท์นอน ณ ลานกลางแจ้ง ซึ่งก็มีการแยกหญิงแยกชาย จากนั้นก็เป็นกิจกรรมตอนกลางคืน มีการเล่นเกมละลายพฤติกรรมให้ผู้เข้าร่วมรู้จักกันและกันมากขึ้น มีการระดมความคาดหวังในการเข้าค่าย และกติกาในการอยู่ค่ายร่วมกัน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เน้นให้ผู้เข้าร่วมได้เริ่มพูดคุย ลดความเป็นตัวตนของแต่ละคนให้เข้ากันได้ง่ายขึ้น และสร้างกติกาในการอยู่ร่วมกันสำหรับอีก ๒ วันที่เหลือข้างหน้า


 


"แรกๆ ผมก็ไม่อยากมาเข้าค่ายนี้หรอก แต่เพราะว่าเป็นช่วงปิดเทอม และไม่มีอะไรทำ ก็เลยขอพี่ๆ เขา ให้เข้ามาร่วมกิจกรรมด้วย แต่พอมาทีแรกก็งงๆ เพราะยังไม่ค่อยรู้จักใครมากและต้องนอนกางเต็นท์ด้วย คิดว่ามันลำบากกว่าอยู่ที่บ้าน แต่ไหนๆ ก็มาก็ขอทำเต็มที่แล้วกัน" เด็กหนุ่มวัย ๑๖ ปี ผู้เข้าร่วมค่ายบอกกับผมถึงเหตุที่ทำให้เขามาร่วมกิจกรรมในค่ายนี้


 


ขณะที่น้องผู้หญิงอีกคนบอกว่า "ทีแรกแม่ไม่ให้มาก็ขอมา แล้วบอกว่าอยากพัฒนาตัวเองในช่วงปิดเทอม พอมาถึงก็เจอเพื่อนใหม่มากเลย คงจะได้เพื่อนมากขึ้น"


 


วันต่อมา, รุ่งขึ้นวันที่ ๒ ของการจัดค่าย กิจกรรมช่วงเช้าเน้นการจัดกระบวนการกลุ่มเพื่อระดมความคิดเห็นร่วมกันเกี่ยวกับ "สถานการณ์ปัญหาของเยาวชนในจังหวัดลำปาง" และ "ชุมชนในฝันที่อยากเห็น" ซึ่งส่วนมากสถานการณ์เยาวชนในลำปางจะเป็นเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัยและความรับผิดชอบ  เรื่องการทะเลาะวิวาท เรื่องยาเสพติด นอกจากนี้ยังมีปัญหาของเยาวชนที่ทำกิจกรรมคือเรื่องการมีส่วนร่วมและทักษะในการทำงาน


 


ขณะที่ "ชุมชนในฝัน" นั้น เนื้อหาที่สะท้อนมามักจะเน้นไปที่บรรยากาศรอบข้างที่เอื้อต่อความปลอดภัยของชีวิต เช่น น้ำสะอาด มีพื้นที่ทำกิจกรรม สวนสาธารณะที่เพียงพอ ธรรมชาติที่สวยงาม ป่าไม้ที่ร่มเย็น สายน้ำที่สะอาด ไม่มีอาชญากรรม มีความเท่าเทียมระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ สิ่งที่ทุกคนเห็นคล้ายกันคือ เยาวชนไม่ได้เป็นผู้สร้างปัญหาแต่กำลังเผชิญกับปัญหา และพร้อมหาทางออกของปัญหาหากมีโอกาสและส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม


 


ช่วงบ่ายเป็นกิจกรรม Walk Rally ศึกษาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่อง ดิน น้ำ ป่า และการล่าสัตว์ และเป็นกิจกรรมเข้าฐานเรียนรู้เดินเวียนไปมาระหว่างภูเขาบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้


 


ส่วนกิจกรรมตอนกลางคืนนั้นเป็นงานเลี้ยงสังสรรค์เล็กๆ รอบกองไฟ มีการแสดงจากกลุ่มผู้เข้าร่วมซึ่งมีการแบ่งเป็น ๔ กลุ่มเพื่อร่วมแสดงกิจกรรมของกลุ่มนั้นๆ มีเพื่อนๆ แต่งตัวเป็นคุณหญิง มีการร้องรำทำเพลงและการแสดงของแต่ละกลุ่มไม่ว่าจะเป็น ละคร เดินแบบ ร้องเพลง รำวง –บรรยากาศในค่ำคืนของการอยู่ร่วมกันในคืนนี้ทุกคนดูเหมือนจะมีความสุข และรู้จักคุ้นเคยกันมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากวันแรกที่ผู้เข้าร่วมยังเขินอายกันอยู่ กิจกรรมในค่ำคืนนี้ช่วยทำให้ช่องว่างดังกล่าวเล็กลงได้อย่างดี


 



 



 


 


พองานเลี้ยงเสร็จ ทีมงานก็เปลี่ยนบรรยากาศมาสู่ความสงบในอาคารด้วยกิจกรรม "พิธีเทียน" ซึ่งเป็นการบอกเล่าความรู้สึกของผู้เข้าร่วมต่อการเข้าร่วมค่ายครั้งนี้และเป็นการผูกข้อไม้ข้อมือเพื่อรับขวัญและขอขมากันและกัน แรกเริ่มของการทำกิจกรรมนี้ผู้เข้าร่วมก็ร่วมกันนั่งสมาธิ และแป๊บซี่ก็เริ่มพูดถึงที่ไปที่มาของกิจกรรมนี้ และสิ่งที่ทำให้ผู้เข้าร่วมร้องไห้ คือเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับแม่


 


เรื่องมีอยู่ว่า มีเด็กคนหนึ่งที่วันๆ เอาแต่ขอเงินแม่เพื่อไปใช้จ่ายและซื้อของที่ตัวเองต้องการ โดยที่เขาไม่รู้เลยว่าแม่ของตัวเองต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปรับของที่ตลาดมาขาย เพื่อนำเงินมาส่งเสียให้เขาได้เรียน จนวันหนึ่งเขาต้องการเงินจำนวนมากที่จะไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ก็ขู่และทำร้ายแม่ให้เอาเงินมาให้ตน แต่แม่มีเงินไม่เพียงพอที่จะซื้อโทรศัพท์ได้


 


ต่อมาก็มีลุงข้างบ้านเห็นและบอกกับเด็กหนุ่มว่า หากอยากได้เงิน ลุงจะเอาให้ เพียงแต่ว่าแต่ละวันเด็กหนุ่มจะต้องใส่ผ้ากันเปื้อนที่มีถุงอยู่ด้านหน้า และหากวันไหนที่ลุงเอาเงินให้เด็กหนุ่ม เขาจะต้องเทข้าวสาร ๑ ลิตรใส่ลงในกระเป๋าหน้าของผ้ากันเปื้อน เด็กหนุ่มก็คิดว่าทำไมมันง่ายเพียงนี้


 


พอครบ ๑ สัปดาห์ เด็กหนุ่มก็บอกกับลุงว่าไม่ไหวแล้ว มันหนักเสียเหลือเกิน และทำอะไรก็ไม่สะดวก ลุงก็บอกกับเขาว่า เขาแค่รับน้ำหนักของข้าวสารแค่อาทิตย์เดียว เทียบกับการที่หญิงซึ่งเป็นแม่ของเขา อุ้มท้องเขามาเป็นเวลากว่า ๙ เดือน แม่ไม่เคยบ่น ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยที่จะต้องอุ้มท้อง แต่กลับอดทน ดูแลอย่างดีเพื่อให้เขามีชีวิตขึ้นมา จากนั้นเด็กหนุ่มก็คิดได้และขอโทษแม่ และช่วยแม่ทำมาหากินรวมทั้งลดการใช้จ่ายของที่ไม่จำเป็นไป


 


"เราจะรอให้ถึงวันที่แม่อยู่ในโลงศพ แล้วเราก็เคาะโลงศพแล้วบอกกับแม่ว่ารักแม่ ขอโทษแม่ อย่างนั้นเหรอ ทุกวันนี้เราบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแม่ชอบอะไร ไม่เคยทำให้ท่านสบายใจ วันนี้ที่เรายังมีแม่อยู่ น่าจะทำอะไรให้ท่านบ้าง ก่อนที่เราจะไม่มีโอกาสได้ทำมัน ก่อนที่ท่านหรือเราจะจากกันไป" แป๊บซี่เน้นก่อนจบเรื่องเล่า


 


ขณะที่พี่เลี้ยงอีกคนหนึ่งเสริมว่า เราทำเพื่อแม่ได้หลายอย่าง และการพัฒนาตนเองให้เป็นคนที่มีคุณภาพ ไม่สร้างปัญหาให้กับสังคมก็เป็นเรื่องที่เราสามารถเริ่มได้จากตัวเราเอง


 


ค่ำคืนนี้จบลงด้วยน้ำตาและรอยยิ้มของมิตรภาพ รุ่นพี่ผูกข้อมือให้รุ่นน้อง รุ่นน้องผูกข้อมือให้รุ่นพี่ ทุกคนได้ซึมซับถึงความเป็นมิตร ความอบอุ่น จากบรรยากาศในคืนที่ต้องจากกันในวันรุ่งขึ้น


 



 


วันสุดท้ายของค่ายเป็นการสรุปกิจกรรมที่ผ่านมาทั้งสองวันและร่วมคิดว่าจะทำอะไรต่อหลังจากค่ายนี้จบลง ซึ่งส่วนมากผู้เข้าร่วมเสนอว่า อยากจะจัดกิจกรรมเช่นนี้อีกในชุมชนของตัวเอง อยากเอากิจกรรมบางอย่างไปเล่นกับเพื่อนๆ ที่ไม่ได้มาร่วม และอยากรวมกลุ่มทำกิจกรรมในชุมชน โดยจะชวนเพื่อนๆ คนอื่นๆ มาทำกิจกรรมร่วมกันและคิดว่าจะต้องทำอะไรบ้าง โดยให้รุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ลงไปช่วยกลุ่มด้วย


 


เมื่อค่ายปิด ทุกคนเดินทางกลับบ้าน ไม่มีอะไรเหลืออยู่นอกจากความทรงจำดีๆ และมิตรภาพที่ทุกคนมีให้แก่กัน ส่วนตัวของผมเองก็ได้รู้จักเพื่อนๆ กลุ่มใหม่ๆ ได้เห็นบรรยากาศของค่ายเยาวชนที่สนุกๆ และได้สาระ มากกว่าการนั่งหน้าอยู่แค่หน้าจอคอมพิวเตอร์ และบริโภคข่าวลบๆ ของเยาวชนผ่านสื่อ (บางประเภท) เพียงอย่างเดียว


 


การจัดค่ายนี้เป็นเพียงแค่ ๑ ในหลายกิจกรรมที่เยาวชนได้ร่วมกันดำเนินการ ยังมีอีกมากมายที่ผู้คนไม่ได้รับรู้ ผมว่าน่าสนใจมากนะครับ หากวันหนึ่งจะมีข่าวพาดหัวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับข่าวกิจกรรมด้านดีๆ ของเยาวชนที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมบ้าง


 


ต่อไป ถ้าจะถามคนอื่นอีกว่า "หากกล่าวถึงเยาวชนแล้วนึกถึงอะไร" คงจะได้คำตอบที่หลากหลายมากขึ้น หากเราละเว้นการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ ดูหนังสือพิมพ์และบ่นด่าเยาวชนสมัยนี้ แล้วออกมาสัมผัสกับกลิ่นอายของคนหนุ่มสาวแบบค่ายเยาวชนดู ก็น่าสนใจไม่น้อยครับ