Skip to main content

เรื่องดี ๆ ในเดือนร้อน

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


พรจากที่สูง


 


ก่อนสิ้นเดือนเมษายน 1 สัปดาห์  เพื่อนที่เคยไปเดินดอยด้วยกันเสมอ แจ้งข่าวมาว่า มีพ่อเฒ่าแม่เฒ่า ชาวปกาเกอะญอ ลงมาจากดอยสูงนับร้อยคน จะมีพิธีดำหัว ที่โครงการเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.)


 


เธอบอกว่าเราน่าจะไปดำหัวท่านเพื่อขอโทษที่ล่วงเกิน อีกทั้งขอบคุณและขอพรด้วย


 


ฟังชื่อหมู่บ้านที่ลงมาก็พบว่าเป็นหมู่บ้านที่ฉันเคยไปพัก  กินข้าวดื่มน้ำ และไปทำงาน ที่กล่าวว่าไปทำงานก็คือนำเอาความรู้ ความคิด และเรื่องราวในชีวิต จากพวกผู้เฒ่าทั้งหลายในหมู่บ้านมาเขียนเล่ากล่าวถึงให้คนทั่วไปอ่าน


 


การงานของฉันก็อาจจะไปล่วงเกินท่านบ้าง ทั้งจากการพูดคุย การซักถามให้รำคาญบ้าง  จากการเขียนถึงบ้าง ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นจากความไม่ตั้งใจ ไม่เข้าใจ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์


 


เช่นครั้งที่ไม่ได้เข้าไปเรียนรู้หรือรู้จักพวกเขา จริง ๆ เคยรับรู้มาว่า พวกชาวเขาในประเทศนี้ล้วนตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย และคิดเช่นนั้นมายาวนาน


 


ครั้งหนึ่ง มีน้องชายชาวเขาคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เขามีโอกาสมากกว่าเด็กอื่น ๆ ได้ลงมาเรียนหนังสือข้างล่าง วันหนึ่งเขาทำข้อสอบที่มีคำถามว่า ป่าไม้เหลือน้อยลงเพราะอะไร ก.ชาวเขาตัดไม่ทำลายป่า ข.เกิดภัยธรรมชาติ  .ไม่มีข้อถูก


 


"ผมต้องตอบ ก.ชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า ทั้งที่ผมเห็นอยู่ว่าพวกเราไม่ได้ทำ พ่อแม่ผมก็ไม่ได้ทำ แต่ถ้าไม่ตอบข้อ ก.ก็ไม่ได้คะแนน" เราหัวเราะกันหลังจากเขาเล่าจบ และคุยกันว่า เมื่อครั้งเราเรียนหนังสือมีหลายครั้งที่เราต้องตอบคำถามเพียงเพื่อต้องการคะแนน ทั้งที่จริงแล้วเราไม่ได้คิดเช่นนั้น


 


น้องชาวเขาอีกคนหนึ่งเล่าว่า เมื่อครั้งเขาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในขณะที่นั่งรถแท็กซี่ คนขับชวนคุยถามว่ามาจากไหน เขาบอกว่า มาจากดอยเป็นชาวเขา พูดยังไม่ทันจบคนขับก็สวนขึ้นมาว่า ชาวเขาตัดไม้ทำลายป่านี่ 


 


"ผมก็เลยบอกเขาไปว่า คนขับแท็กซี่เป็นโจรปล้นผู้โดยสาร คุณเป็นหรือเปล่า…"  คนขับแท็กซี่หัวเราะ เพราะเขาไม่ใช่โจรปล้นผู้โดยสารและผมก็หัวเราะได้เพราะไม่ใช่คนทำลายป่า แต่ผมเดินทางลงมาจากดอยเพื่อที่จะบอกกล่าวคนในเมืองหลวงว่า


 


เราอยู่กับป่า อยู่ต้นน้ำ คนอยู่กับป่า ทำลายป่าก็มี ดูแลป่าก็มี ดูแลไว้กินไว้ใช้ร่วมกัน และให้มีกฎหมายออกเป็น พ.ร.บ.ป่าชุมชน ให้คนอยู่กับป่าได้ แต่ให้ช่วยกันดูแลป่า จัดตั้งเป็นป่าชุมชน สนับสนุนให้เขาดูแลป่า ให้สิทธิในการดูแลรักษา ให้สิทธิการทำกินตามสมควร อย่าคิดแต่จะรังเกียจ ขับไล่ออกจากป่า ถ้าเราออกมาเราก็มาแย่งที่ทำกินคนอื่น มาแย่งอากาศหายใจ มาเป็นปัญหาสังคม  ผู้ชายจะต้องไปรับจ้างเป็นกรรมกร เมียผมไปเป็นเมียใครก็ไม่รู้ ลูกผมอาจจะเป็นขอทานเกะกะถนน ไม่มีอะไรกินเขาอาจจะเป็นขโมย แต่ถ้าเราอยู่บนโน้นเราก็อยู่ได้ ป่าอยู่ได้ มีผลผลิตจากป่าให้เราได้เก็บกิน มีน้ำไหลลงมาให้ท่านที่อยู่ด้านล่างด้วย เพราะเราใช้น้ำที่มาจากที่เดียวกัน อากาศจากที่เดียวกัน และเมื่อให้สิทธิและก็เพิกถอนสิทธิได้ด้วย ถ้าที่ไหนทำลายป่า ถ้าป่าเสื่อมโทรมหรือถูกทำลาย ก็ถอนสิทธิได้ แต่ใครเล่าจะทำลายที่อยู่ที่กินของตัวเอง


 


เมื่อถามว่าเรื่องจบลงได้อย่างไร เขาว่า…


 


โชคดีที่เรื่องนี้จบลงด้วยดีเมื่อได้คุยกัน คนขับแท็กซี่หัวเราะเพราะเขาไม่ใช่โจร


 


 


******************


 


9 นาฬิกา ยามเช้าที่ คกน.


 


พิธีทางศาสนาเริ่มขึ้นแล้ว  พระในพระพุทธศาสนาสวดเป็นภาษาปกาเกอะญอ ผู้สูงวัยนั่งอยู่ด้านหน้าสุด ส่วนใหญ่จะอยู่ในชุดประจำเผ่า  เยาวชนอีกนับร้อยทั้งหญิงและชาย  เด็กสาวในชุดเชวาดูน่ารักสดใส พวกเขาเป็นเยาวชนที่ยังอยู่ในหมู่บ้านบนดอย และส่วนใหญ่ยังอยู่ในหมู่บ้านเป็นสุข นั่นคือเขาอยู่บ้านบนดอยที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ ยังมีป่าอุดมสมบูรณ์ มีน้ำใสสะอาด การจะมีป่าอุดมสมบูรณ์ มีน้ำใสสะอาดได้ก็ด้วยการดูแลรักษาป่า การสืบทอดวัฒนธรรมการอยู่กับป่า ด้วยความเคารพและนับถือ


 


ฉันถามเด็กสาวคนหนึ่งว่า มารดน้ำดำหัวผู้สูงวัยเพื่ออะไร  เธอตอบว่า เพื่อรำลึกถึงพระคุณ  ไปคุยกับเด็กหนุ่ม ๆ บ้าง พวกหนุ่ม ๆ 4-5 คนอยู่แผนกอาหาร กำลังเตรียมอาหารมื้อกลางวัน มีแกงเผ็ดมะเขือกับหมู  เขาบอกว่าทั้งมะเขือทั้งหมูเอามาจากบนดอย  พริก หอม กระเทียมก็เอามาจากบนดอย  นอกจากแกงมะเขือแล้ว ยังมีผักกูดผัดกับบะหมี่ และผัดผักรวม  ต้องชิมฝีมือหนุ่ม ๆ กันหน่อย ข้าวดอยเม็ดสั้น ๆ กินอร่อย


 


อาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า พวกหนุ่ม ๆ พ่อครัวหนักผงชูรสไป ควรจะลดลงหรือไม่ใช้ไปเลยก็ดี เพราะอาหารอร่อยได้โดยไม่ต้องใช้ผงชูรส เรามีอาหารสด ๆ ผักสด ๆ ซึ่งให้ความหวานอยู่แล้ว ทุกอย่างสดหมดแล้วจะพึ่งผงชูรสทำไม เปลืองเงินและไม่มีประโยชน์ใด ๆ ต่อสุขภาพอีกทั้งเป็นอันตรายด้วยหากใช้มาก ๆ และติดต่อกันนาน ๆ เช่น มีสารก่อให้เกิดมะเร็งได้


 


เด็กหนุ่มรับฟังนิ่งเฉย  แต่ผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ ๆ พูดขึ้นว่า ผงชูรสต้องใส่ ไม่งั้นไม่อร่อย พวกเราติดแล้ว


 


"อ้าย…ถ้ายังเลิกผงชูรสไม่ได้ พ.ร.บ.ป่าชุมชนไม่ผ่าน" กวีหนุ่มร่างบางพูดขึ้น


เออ...มันเกี่ยวกันอย่างไรละอ้าย…


 


******************


 


จบจากพิธีกรรมทางศาสนาก็มาถึงพิธีดำหัว


 


การดำหัวไม่ใช่พิธีกรรมของคนบนดอย ปีใหม่ของชาวบนดอยผ่านไปแล้ว เต้นรำ กินหมู ไหว้ผู้เฒ่า หรือบูชาเทพเจ้า แต่การรดน้ำดำหัวเป็นประเพณีวัฒนธรรมแบบไทย เรื่องนี้หนุ่มปกาเกอะญอคนหนึ่งบอกเราว่า  "ประเพณี วัฒนธรรมที่ดีงามก็ดีเหมือนกันหมด เราก็เป็นคนไทยเหมือนกัน"


เออ…ก็จริงของเขา


 


ผู้สูงวัยนับร้อยคนในชุดประจำเผ่านั่งล้อมรอบเป็นวงกลม ดอกไม้ ส้มปอย น้ำอบน้ำหอม และขัน จอกเล็ก ๆ แม้ว่าจะปวดเมื่อยกันหน่อยทั้งคนเฒ่าคนแก่และลูกหลานที่คลานเข่าเข้ามา แต่เป็นภาพที่งดงามจริง ๆ


 


การเดินเข่าเข้าไปหาผู้ใหญ่ การนั่งพับเพียบก็เป็นมารยาทแบบไทย ๆ  ที่เกือบจะหายไปแล้ว


 


แรกๆ ฉันคิดว่าจะดำหัวสักห้าคน ไม่อยากคลานเข่านาน ๆ กลัวเมื่อย  น้องสาวคนหนึ่งเอาขันเล็ก ๆ มาให้ข้างในมีใบไม้ลอยอยู่ เอาใบไม้ตักน้ำเพียงนิดเดียวใส่ในมือท่านและฟังพรจากท่าน ผ่านไปห้าท่านปวดเมื่อยหัวเข่าเมื่อยขาจริง ๆ แต่ท่านที่ 6 ที่อยู่ใกล้ ๆ ยิ้มแย้มรอให้พรอยู่ เมื่อท่านที่ 6 ผ่านไป ท่านอื่น ๆ ก็ไม่ต้องนับแล้ว ไปเรื่อย ๆ จนครบทั้งวง  ปรากฏว่าไม่ได้ปวดเมื่อยอะไรหนักหนา กลับได้ความรู้สึกดี ๆ กลับมา เพราะในระหว่างที่หยดน้ำลงในมือท่านและฟังท่านให้ศีลให้พรนั้น รู้สึกมีความสงบมาก พบว่าเป็นการหยุดนิ่งความคิด ความวุ่นวายในหัวใจชั่วขณะ


 


คำพรของท่าน เราฟังไม่รู้เรื่องเพราะเป็นภาษาปกาเกอะญอ แต่รับรู้ได้ด้วยสัมผัสว่าต้องเป็นคำที่ดี เป็นถ้อยคำแห่งเมตตา เป็นพรจากที่สูง คือท่านผู้สูงวัย และมาจากบนดอยสูง


 


คนยายคนสุดท้ายที่นั่งอยู่ท้ายแถว ซึ่งจริงๆ น่าจะเป็นหัวแถว แต่เราดำหัวมาจากท้ายแถว ท่านก็เลยเป็นคนสุดท้าย อายุของท่านน่าจะสัก 80 ปี ร่างเล็กแต่แข็งแรงมาก ท่านนั่งสบาย ๆ คงเป็นท่าที่นั่งทุกวัน ท่านให้พรยาวยืดและยิ้มไปด้วยในระหว่างพูด ฉันไม่รู้ว่าท่านให้พรว่าอะไรแต่ดูจากยิ้มของท่าน พรของท่านน่าจะเป็นเรื่องความสุข ความสนุกสนาน เบิกบานใจในชีวิต


 


ฉันสรุปเอาเองว่า พรของท่านเป็นเช่นนั้น