Skip to main content

รักษาได้เลยไม่ต้องจ่ายก่อน เบิกภายหลัง

คอลัมน์/ชุมชน


ท่ามกลางภาวะขาดสภาพคล่องของการใช้จ่ายเงินภาครัฐ ที่ให้หลายหน่วยงานชะลอการเบิกจ่ายเงินออกไป มีข่าวดีคือการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ รัฐวิสาหกิจและลูกจ้างประจำ ต่อไปนี้ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่ารักษาไปก่อนแล้วมาทำเรื่องเบิกจ่ายภายหลัง โดยเฉพาะกรณีใช้บริการแบบผู้ป่วยนอกที่ไม่ได้เข้านอนในโรงพยาบาล เช่น คนเป็นเบาหวาน ความดัน ต้องพบแพทย์ประจำทุกเดือนและต้องจ่ายค่ารักษาค่ายาจำนวนไม่น้อย เมื่อได้ใบเสร็จใบรับรองแพทย์แล้วจึงจะสามารถนำไปทำเรื่องเบิกจากต้นสังกัดได้   ซึ่งเป็นภาระของข้าราชการที่มีรายได้ไม่สูงมากที่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า ยิ่งมาเจอภาวะขาดสภาพคล่องของกระทรวงการคลังยิ่งต้องรอเบิกจ่ายไปหลายเดือน


 


ต่อไปนี้ ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณหน้า วันที่ 1 ตุลาคม 2549  ข้าราชการรวมทั้งญาติสายตรง คือ สามี ภรรยา พ่อ แม่ ลูก สามารถไปรับการรักษาได้โดยไม่ต้องสำรองจ่าย  ทั้งนี้ ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะทำหน้าที่บริหารจัดการระบบ เพื่ออำนวยการให้โรงพยาบาลสามารถทำเรื่องเบิกจ่ายตรงไปยังกรมบัญชีกลางให้ทุกคนได้โดยไม่ต้องให้หน่วยงานต้นสังกัดทำ นับว่าเป็นการอำนวยความสะดวก และเกิดผลในการจัดระบบข้อมูลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากเดิมกรมบัญชีกลางไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า จำนวนข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างประจำ พร้อมญาติสายตรงที่มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลมีจำนวนแน่นอนเท่าใด เพราะให้แต่ละกระทรวง กรมกองต่างๆ ดำเนินการจัดทำเอกสารเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง ส่วนกรมบัญชีกลางมีหน้าที่ตามจ่ายอย่างเดียว


 


จากการสำรวจข้อมูลล่าสุดในปีงบประมาณ 2549 พบว่ามี ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างประจำ รวมญาติสายตรงอยู่จำนวน 4 ล้าน 1 แสนคนเศษ ที่ผ่านมา มีการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินราวๆ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี นับเป็นจำนวนเงินไม่น้อยที่รัฐต้องจ่ายให้ ดังนั้น หากปล่อยให้มีการเบิกจ่ายกันต่อไปโดยไม่มีการควบคุม จะทำให้รายจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการเพิ่มสูงขึ้นมาก ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับที่รัฐต้องจ่ายให้กับคนจำนวน 47 ล้านคนในระบบหลักประกันสุขภาพ ที่รัฐจ่ายให้ราวๆ 6–7 หมื่นล้านบาทต่อปี  ดังนั้น กรมบัญชีกลางจึงได้มีการปฏิรูประบบเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการขึ้น เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย เพื่อสร้างประสิทธิภาพการเบิกจ่าย รวมถึงการลดภาระของข้าราชการชั้นผู้น้อย ข้าราชการบำนาญที่ต้องรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ ให้ไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้าแล้วมาเบิกภายหลัง


 


สำหรับผู้เขียนเองเห็นว่า การปฏิรูปครั้งนี้จะช่วยลดช่องว่างความแตกต่างของการใช้จ่ายเรื่องรักษาพยาบาลระหว่างข้าราชการกับประชาชนทั่วไป ซึ่งทั้งสองกลุ่มต่างต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินจากกระทรวงการคลังเช่นเดียวกัน 


 


สิ่งที่ยังแตกต่างกันคือ สิทธิในการรักษาที่ข้าราชการที่เป็นไตวายเรื้อรังสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาได้ ในขณะที่ประชาชนทั่วไปยังไม่ได้  ยังต้องรอไปอีกสักระยะหนึ่งเพื่อให้มีการเตรียมการด้านงบประมาณและที่สำคัญการเตรียมการระบบให้บริการที่ต้องมีจำนวนมากเพียงพอ  และเป็นบริการที่มีคุณภาพ มีบุคลากรเพียงพอด้วย เข้าใจว่าอีกไม่เกินปีสองปีนี้ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะสามารถให้การคุ้มครองดูแลรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังได้ สำหรับผู้ป่วยไตวายปัจจุบัน ต้องทนแบกรับภาระค่าล้างไตต่อไปก่อน


 


ส่วนข้าราชการเองก็ต้องปรับตัวกับการปฏิรูประบบเบิกจ่ายรักษาพยาบาลให้ได้ ซึ่งมีการควบคุมเข้มข้นขึ้นเกี่ยวกับการใช้ยาที่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ เพราะค่ารักษาที่สูงมากๆ นั้น ส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการใช้ยาราคาแพงโดยไม่จำเป็น  รวมถึงการมีระบบเบิกจ่ายค่ารักษาที่สัมพันธ์กับจำนวนงบประมาณที่ตั้งไว้ ไม่ใช่เปิดกว้างแบบเมื่อก่อนที่เบิกมาเท่าไร กรมบัญชีกลางควักจ่ายเท่านั้น  ทั้งนี้  ไม่ได้ทำให้การรักษาด้อยลงไปแต่กลับทำให้ลดการรักษาที่เกินจำเป็นออกไปได้ด้วย ทำให้ช่องว่างระหว่างสิทธิข้าราชการกับประชาชนไม่ห่างกันเกินไป  เพราะข้าราชการคือลูกจ้างรัฐ  ที่มีหน้าที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน   


 


 


เมื่อชีวิตได้รับความสะดวกมากขึ้น ก็ยิ่งต้องคำนึงถึงผู้อื่นที่ยากลำบากกว่าด้วย เพื่อให้สังคมนี้ไม่แตกต่างกันจนกลายเป็นแตกแยกในที่สุด สังคมแห่งสุขภาวะจึงจะเกิดขึ้นได้


 


 


.....................................................