Skip to main content

เล่าเรื่องจากเมืองเชียงใหม่ ตอนที่ 1 ผู้บุกรุก

คอลัมน์/ชุมชน

ตอนที่ 1 ผู้บุกรุก


ช่วงนี้อากาศที่กรุงเทพฯ กำลังเย็น ๆ พอดี ๆ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะสักกี่วัน ส่วนที่เชียงใหม่นั้นก็เริ่มหนาวแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนดอยสูง หน้าหนาวใครต่อใครก็อยากไปเชียงใหม่ แต่หลายคนที่ไปบ่อย ๆ ก็เริ่มบ่น ๆ ว่า เชียงใหม่ "เปลี๋ยนไป๋" เริ่มใหญ่ขึ้น เริ่มไม่น่ารัก ไม่น่าอยู่เหมือนดังแต่ก่อน กระนั้น ก็ยังมีคนอีกไม่น้อยที่ยังอยากไปเชียงใหม่อยู่ดี ก็แสดงว่าเชียงใหม่ก็ยังมีดีอยู่มาก จะเที่ยวไปบ่นไป ใคร ๆ ก็ยังรักเชียงใหม่อยู่ดี


หลาย ๆ คนไปแล้วก็ไม่อยากกลับ เลยซื้อที่ซื้อทางฝังรกรากอยู่ที่เชียงใหม่เสียเลย จนชาวเชียงใหม่ดั้งเดิมจำนวนไม่น้อยที่เริ่มรู้สึกอึดอัด เริ่มรู้สึกกลาย ๆ ว่า เชียงใหม่นั้นท่าจะกลายเป็นหม้อแกงโฮ๊ะ (เทียบได้กับคำว่า melting pot) ขนาดใหญ่ ไปเสียแล้ว เพราะกลายที่เป็นที่รวมของคนจากหลากหลายพื้นที่มาอยู่รวมกัน


เมื่อคนเข้าไปอยู่กันมาก ๆ ประกอบกับความตั้งใจขายเชียงใหม่ให้เป็นเมืองท่องเที่ยว การขยายและปรับปรุงบ้านเมืองจึงทำอย่างต่อเนื่อง ช่วงนี้แม้ว่าอากาศจะดีแค่ไหนก็ตาม แต่ในเมืองเชียงใหม่นั้นเราจะพบว่าฝุ่นตลบอบอบอวนอยู่มาก เพราะตอนนี้มีการขยายถนนไปพร้อม ๆ กันทั้ง 4 มุมเมืองก็ว่าได้


มีถนนอยู่เส้นหนึ่งที่กำลังมีการขยายไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาของโรงแรมและวิลล่าขนาดมหึมา ที่คาดว่าคงใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล ก็คงจะเป็นโรงแรมไหนไปไม่ได้นอกจากโรงแรมที่เป็นข่าวเป็นคราวฮือฮา ที่พี่น้องภาคเหนือได้ออกมาแสดงความไม่พอใจในเรื่องการจำลองสถาปัตยกรรมลานนาที่ควรจะเป็นวัด และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของโรงแรม นั่นคือ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ดาราเทว


อันที่จริง ถ้าพูดถึงแค่เรื่องสถาปัตยกรรม เรื่องการออกแบบโรงแรมชั้นหนึ่งแห่งนี้เพื่อเป็นจุดขายให้กับคนมีระดับที่จะมาที่เชียงใหม่ และการอวดโฉมสถาปัตยกรรมล้านนาให้ชาวโลกได้เห็นในรูปแบบนี้หากมองกันในเชิงศิลปะแล้วถือว่าน่าสนใจมากกว่าสร้างความเสียหายหรือเสื่อมเสีย แต่ก็ไม่ผิดอะไร หากคนล้านนาจะตั้งคำถามในเรื่องแนวคิดหลัก (Concept) ของโรงแรมว่าจะเป็นแบบไหนและทักท้วง หากคิดว่าการทำโรงแรมลักษณะนี้จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ชาวล้านนา ทว่าสิ่งที่ผู้คนทั้งในเชียงใหม่เองไม่ควรจะมองข้าม และควรจะตั้งคำถาม หรือแม้กระทั่งคนในส่วนกลางหรือระดับรัฐบาลควรจะไปตรวจสอบดูนั้น ควรจะเป็นเรื่องที่ว่าเงินทุนมาจากไหน มากกว่าว่าเจ้าของโรงแรมนี้ในอดีตทำธุรกิจอะไร ถึงได้มีเงินมาลงทุนมหาศาลเช่นนี้


ไม่ควรจะเป็นเรื่องไปตั้งแง่แค่ว่า เป็นเศรษฐีปัตตานี เข้ามาทำกิจการ หมายถึงว่า เป็นคนใต้ไม่เข้าใจวัฒนธรรมทางเหนือ เพราะสถาปนิก และสล่า (นายช่าง) ที่ใช้ก็ล้วนแต่เป็นชาวเหนือร่วมอยู่ด้วย เนื่องจากประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่เปิดเสรีในการลงทุน ใครที่มีทุนก็สามารถจะมาลงทุนได้ แต่ที่สำคัญที่มาของทุนนั้นมีความเป็นอย่างไร


เม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่เข้าไปเชียงใหม่นั้นไม่ใช่แค่รายนี้รายเดียว หากแวะ ๆ ไปดูตามดอยต่าง ๆ รีสอร์ตและบ้านพักระดับวิลล่าส่วนตัวมากมาย แน่นอนส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนมาจากต่างถิ่น แถว ๆ ปางยาง (ทางไปสะเมิง) มีบ้านสุดหรูขนาดใหญ่ของบรรดาผู้มีอันจะกินทั้งหลายมาตั้งกันอยู่มากมาย จนมีเพื่อนคนหนึ่งให้นิยามบริเวณนั้นว่าเป็น "ชุมชนเศรษฐีแออัด" หมายถึงเต็มไปด้วยเศรษฐี ตามไปดูให้เห็นกับตาก็เห็นจริงดังว่า เพราะพื้นที่นั้นมีการสร้างบ้านหลังละ 60-90 ล้านก็ยังมีคนไปซื้อกันไว้เพียบ เลียบ ๆ เคียงถามดูว่าเป็นของใครกันบ้างก็รู้ว่า เป็นของทั้งนักการเมือง อดีตนักการเมือง อดีตข้าราชการระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ เรียกว่าคนซื้อสิ่งที่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นแค่บ้าน เนื่องจากมีความโอ่อ่า อลังการเกินความจำเป็นทางที่อยู่อาศัยนั้นล้วนแล้วแต่อยู่ในระดับท้อป 100 ของเศรษฐีเมืองไทย


คนเหล่านี้ก็น่าติดตามเช่นกัน โดยเฉพาะคนที่ลงทุนทำโครงการที่ใช้เงินขนาดมหาศาลนั้นว่าได้เงินมาจากไหน เสร็จแล้วไม่เพียงแค่นั้น การเข้าไปอยู่อาศัยกลับกลายเป็นไปสร้างความเดือดร้อนให้กับพื้นที่ในละแวกนั้นอีกด้วย จากเดิมที่ชาวบ้านเคยได้ใช้ลำธารที่ไหลเป็นส่วนของสาธารณะ ก็มีการขุดลำธารเสียใหม่ให้ไหลเปลี่ยนทิศเป็นของตนเองเพียงลำพัง ชาวบ้านเคยร้องเรียนเคยบอกกล่าว แต่กลับไม่ได้รับความใส่ใจใด ๆ จากเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งผู้ที่อ้างสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินผืนนั้นด้วย ชาวบ้านเคยเดินผ่านไปมาในบริเวณนั้นเพื่อไปหาหน่อ (ไม้) มาตอนนี้กลับทำไม่ได้ หากใครผ่านไปก็กลับกลายเป็น "ผู้บุกรุก"ไปเสียอีก ครั้นมีชาวบ้านมาเรียกร้องขอให้คืนลำธาร และให้เปิดทางให้กับชาวบ้านได้เดินได้ตามปกติก็กลับได้รับการโต้ตอบว่า ชาวบ้านเหล่านี้ไม่รู้จักบุญคุณที่เคยบริจาคเงินทอดผ้าป่าให้กับวัดในหมู่บ้านและเลี้ยงอาหารกลางวันเด็ก


ถึงตอนนี้ก็กลับกลายเป็นว่า คนจำนวนมากที่เข้าไปในพื้นที่เชียงใหม่ ไปปลูกสร้างสถานที่เพื่อเสวยสุขส่วนตัวกันบนพื้นที่ที่ไม่แน่ใจว่าอาจจะได้ไปบุกรุกเขตอนุรักษ์กันบ้างหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ชาวบ้านที่เป็นคนพื้นที่และอยู่ที่นั่นกันมานานแสนนานและเคยได้ทำมาหากินเล็ก ๆ น้อย ๆ กลับได้รับความเดือดร้อน และกลายเป็นผู้บุกรุกพื้นที่ของคนที่มาใหม่ และไม่อาจเรียกร้องเอากับใครได้


ในที่สุดที่พึ่งสุดท้ายของชาวบ้านแถบนั้นก็ได้แค่รำพึงกันออกมาว่า "มันทำบาปมาก ๆ ชาติหน้าบาปก็ขบหัวมันเอง"