Skip to main content

ความหวังในการดับไฟใต้

คอลัมน์/ชุมชน

คงมีประชาชนจำนวนไม่มากนักที่รู้ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่รัฐแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี   ทั้งนี้เพราะแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐเองตั้งแต่ระดับสูงลงมาจนถึงระดับล่าง  น้อยคนที่รู้ว่ามีคำสั่งฉบับนี้   คำสั่งที่ว่าคือคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ ๑๘๗/๒๕๔๖ เรื่องนโยบายการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี 


 


เมื่อเร็ว ๆ นี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชิดชนก ราฮิมมูลา แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เปิดเผยรายงานวิจัยที่นำเสนอต่อคณะอนุกรรมการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ   ข้อมูลที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐในหลายระดับ ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง จำนวน ๕๓ คน   ปรากฏว่ามีเพียง ๗ คนเท่านั้นที่รับรู้และเข้าใจคำสั่งฉบับนี้อย่างชัดเจน   แต่ที่น่าวิตกกว่านั้นก็คือไม่มีเจ้าหน้าที่ด้านกิจการพลเรือนของกองทัพบกคนใดที่เคยเห็นหรือเข้าใจสาระสำคัญของคำสั่งฉบับนี้เลย


 


หากไม่นับคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ ๖๖/๒๕๒๓ อันลือชื่อแล้ว เห็นจะมีแต่คำสั่งที่ ๑๘๗/๒๕๔๖  เท่านั้นที่จัดว่าเป็นนวัตกรรมสำคัญที่สุดของภาครัฐ ในการรับมือกับความขัดแย้งอย่างรอบด้านอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โลกและความเปลี่ยนแปลงขนานในระดับประเทศ   แม้ว่าตอนที่ออกคำสั่งฉบับนี้ สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่หัวใจของคำสั่งฉบับนี้ซึ่งมุ่ง "ฟื้นคืนความไว้วางใจระหว่างรัฐและประชาชน" และ "ขจัดความเกลียดชังหรืออคติที่เริ่มปรากฏขึ้นในสังคมไทย"  ก็นับว่าพุ่งตรงไปยังแก่นแกนของวิกฤตการณ์ดังกล่าวอย่างไม่อาจปฏิเสธได้


 


คำสั่งฉบับนี้ได้วางแนวทางการปฏิบัติไว้หลายประการ  อาทิ "จัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยการเคารพสิทธิของประชาชน และให้มีการสื่อสารสองทางระหว่างฝ่ายต่าง ๆ บนพื้นฐานของความเสมอภาค ปราศจากอคติ และความเกลียดชัง"   และ "จัดการความขัดแย้งที่กำลังจะกลายเป็นความรุนแรง โดยอาศัยบุคลากรที่มีทัศนคติต่อคู่ขัดแย้งอย่างฉันท์มิตร มีความเข้าใจเรื่องสันติวิธีอย่างชัดเจน และมีทักษะในการเผชิญกับความขัดแย้ง"


 


ไม่จำเป็นต้องจินตนาการไปไกล  ก็สามารถมองเห็นได้ว่า หากแนวทางปฏิบัติข้างต้นถูกนำไปใช้โดยเจ้าหน้าที่รัฐในภาคใต้  การชุมนุมที่ตากใบเมื่อปี ๒๕๔๗ คงไม่จบลงอย่างโหดร้ายและเจ็บปวดอย่างนั้น  มิพักต้องเอ่ยถึงกรณีกรือเซะและอีกหลายเหตุการณ์ทั้งก่อนและหลังจากนั้น ซึ่งได้ทำลายความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน อีกทั้งสร้างความเกลียดชังและอคติระหว่างประชาชนสองกลุ่มอย่างไม่เคยมีมาก่อน


 


ด้วยเหตุนี้  ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  จึงมิใช่เป็นภาพสะท้อนความล้มเหลวของสันติวิธี  แต่สะท้อนถึงความล้มเหลวในการนำสันติวิธีไปใช้ให้เกิดผลต่างหาก หรือพูดให้ชัดกว่านั้นคือ มันสะท้อนถึงความล้มเหลวของภาครัฐที่ไม่นำสันติวิธีมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างจริงจัง    การที่เจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่ระดับนโยบายลงมาจนถึงระดับปฏิบัติ ส่วนใหญ่ไม่รู้จัก  คำสั่งที่ ๑๘๗/๒๕๔๖ เลย  (มิพักต้องพูดถึงความเข้าใจและทักษะทางด้านสันติวิธี) เป็นสิ่งชี้ชัดถึงความล้มเหลวของฝ่ายรัฐมากกว่าความล้มเหลวของสันติวิธี


 


อย่างไรก็ตามงานวิจัยของอาจารย์ชิดชนก ได้ให้ประกายแห่งความหวังไม่น้อย  เนื่องจากได้แสดงให้เห็นว่า ยังมีเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนไม่น้อยที่เห็นความสำคัญของสันติวิธีและพยายามใช้สันติวิธีด้วยความอดทนอดกลั้น โดยมองเห็นประชาชนในพื้นที่เป็นเพื่อนร่วมชาติ มากกว่าที่จะมองเป็นปฏิปักษ์หรืออริราชศัตรู  และมีหลายกรณีที่สามารถชนะใจประชาชน จนศรัทธาต่อเจ้าหน้าที่รัฐได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่


 


กรณีหนึ่งที่น่าสนใจคือ กรณีตำรวจอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีทำการปิดล้อมหมู่บ้านแห่งหนึ่งและจับกุมผู้ต้องหาก่อความไม่สงบได้   แต่ขณะนำตัวผู้ต้องหาขึ้นรถ  ชาวบ้านและกลุ่มสตรีได้มาล้อมเจ้าหน้าที่เอาไว้  แต่เจ้าหน้าที่ตัดสินใจไม่ปะทะกับชาวบ้าน แม้ผู้ต้องหาจะหลบหนีไปได้ แต่วันรุ่งขึ้นเจ้าหน้าที่ก็กลับมาตรวจค้นบ้านผู้ต้องหาในหมู่บ้านเดิม โดยทำความเข้าใจกับชาวบ้านถึงความจำเป็นต้องตรวจค้น คราวนี้ชาวบ้านไม่ขัดขวาง  หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ยังส่งชุดประชาสัมพันธ์ไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านอีกโดยไม่พกอาวุธ   เจ้าหน้าที่ได้พบว่าบรรยากาศในหมู่บ้านเปลี่ยนไป สายตาที่เกลียดชังไม่เป็นมิตร เปลี่ยนเป็นรอยยิ้มและต้อนรับเจ้าหน้าที่มากขึ้น


 


เจ้าหน้าที่เหล่านี้ตระหนักดีว่า การใช้ความรุนแรงนั้น ได้ผลระยะสั้น แต่ก่อปัญหาระยะยาว ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินผู้หนึ่งมีหลักการสำคัญว่า  ในการทำงานจะไม่ให้ได้ยินเสียงปืนแม้แต่นัดเดียว ไม่ว่าจากฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบหรือฝ่ายเจ้าหน้าที่  เพราะว่า "หนึ่งนัดที่ยิงออกมาจากเจ้าหน้าที่ ถ้าไปโดนผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งเขาก็มีสังคม มีญาติพี่น้อง ครอบครัว ที่ต้องเสียใจเช่นเดียวกัน หรือ.....ถ้าเขาหลบทัน แต่บังเอิญไปโดนประชาชนผู้บริสุทธิ์ จะกลายเป็นเรื่องที่ใหญ่หลวงมาก จะเกิดเป็นเงื่อนไขพันกันตามมาอีกมากมาย"


 


ไม่เพียงแต่เสียงปืนจากเจ้าหน้าที่และผู้ก่อความไม่สงบเท่านั้น แม้แต่เสียงปืนจากประชาชนที่ต้องการแก้ปัญหากันเอง  ก็ไม่สมควรสนับสนุน  ตชด.ผู้หนึ่งเล่าว่ามีประชาชนไทยพุทธและมุสลิมมาขอสมัครเป็นผู้สังหารผู้ก่อความไม่สงบ เพราะต้องการให้ความรุนแรงยุติ  แต่ตชด.ผู้นี้ได้ห้ามไว้ เพราะไม่ต้องการให้เกิดรอยร้าวลึกระหว่างประชาชนกับประชาชนด้วยกัน  ที่จริงผลเสียย่อมไม่ได้มีแค่นั้น   ศรัทธาในเจ้าหน้าที่ต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน  เพราะในบรรยากาศที่หวาดระแวงสูง เมื่อผู้ก่อความไม่สงบถูกยิงทิ้งกลางถนน  ใครเล่าจะตกเป็นจำเลยในสายตาของประชาชนหากมิใช่เจ้าหน้าที่


 


การวิจัยครั้งนี้ได้พบว่า หน่วยงานรัฐที่พยายามแปรคำสั่งที่ ๑๘๗/๒๕๔๖ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ได้แก่ กองทัพเรือ และกองบัญชาการตำรวจชายแดน  กองทัพเรือนั้นได้จัดให้มีการอบรมผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินก่อนลงมายังพื้นที่ภาคใต้  โดยมีการชี้แจงคำสั่งฉบับนี้เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติ   ในทำนองเดียวกัน ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนได้นำคำสั่งฉบับนี้มาเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยมีการจัดอบรมและชี้แจงคำสั่งแก่ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจ  แม้ว่าระดับผู้บังคับหมวดเฉพาะกิจ จะไม่รับรู้คำสั่งฉบับนี้ แต่ก็มีความเข้าใจในสันติวิธีตามหลักการของคำสั่งฉบับนี้


 


ทางด้านตำรวจภูธร แม้จะไม่ได้มีการขับเคลื่อนคำสั่งฉบับนี้ลงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นกิจจะลักษณะ แต่ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๙ ก็เห็นความสำคัญของแนวทางสันติวิธี โดยให้น้ำหนักกับบุคลากรมาก กล่าวคือ "สันติวิธีจะเกิดขึ้นในพื้นที่ได้ ต้องเริ่มต้นจากทุกคนที่ต้องคิดดี ทำดี มองในแง่ดี หน่วยงานของรัฐจะดีอยู่ที่ผู้นำ....แม้จะมีแนวทางสันติวิธี แต่ได้คนไม่ดีมาทำงาน สันติวิธีย่อมไม่เกิดขึ้นในพื้นที่"


 


สันติวิธีจะได้ผลเพียงใด ไม่ได้อยู่ที่แนวทางหรือคำสั่งเท่านั้น  แต่ยังอยู่ที่ตัวบุคคลโดยเฉพาะผู้นำองค์กรด้วย  นี้คือเหตุผลอธิบายว่าแม้รัฐบาลดูเหมือนจะหลงลืมคำสั่งฉบับนี้ไปแล้ว แต่คำสั่งฉบับนี้ก็ยังถูกขับเคลื่อนไปได้ เพราะผู้นำบางหน่วยงานยังเห็นความสำคัญอยู่  และสามารถทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเห็นคล้อยตามได้  


 


ที่น่าสังเกตก็คืองานวิจัยชิ้นนี้ได้ชี้ว่าเจ้าหน้าที่ที่เคยผ่านสมรภูมิแห่งความขัดแย้งมาแล้ว ไม่ว่าในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์และโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา รวมทั้งผู้ที่เคยร่วมงานรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ  บุคคลเหล่านี้(ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหาร)จะปฏิเสธการใช้ความรุนแรงอย่างสิ้นเชิง เพราะได้รับบทเรียนและความเจ็บปวดจากการใช้ความรุนแรงมาแล้วในอดีต


 


วันนี้ความหวังในการดับไฟใต้จึงอยู่ที่บุคคลเหล่านี้เป็นสำคัญ  หาได้อยู่ที่รัฐบาลไม่ 


 


บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในโพสต์ทูเดย์