Skip to main content

รักเพศเดียวกัน--เป็นเรื่องธรรมชาติ

คอลัมน์/ชุมชน

                                            


 


หลาย ๆ ครั้งเราเคยได้ยินคนที่แอนตี้คนรักเพศเดียวกันให้เหตุผลว่า "ก็มันเป็นเรื่องผิดธรรมชาตินี่นา" 


 


พอคุณท่านเหล่านั้นอ้างธรรมชาติขึ้นมาปุ๊บ เราก็ถึงกับอึ้งไปเหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่จำได้แม่นว่าเคยเห็นสุนัขตัวเมียที่บ้านสองตัวมีอะไรกัน หากแต่ว่ามันเป็นสุนัขที่ทำหมันแล้ว ก็เลยไม่กล้าเอากรณีนี้ไปเถียงเขา กลัวเขาจะเถียงกลับว่าทำหมันมันก็ผิดธรรมชาติไปแล้ว และคิดอีกทีแม้จะเป็นคนรักสุนัข แต่ก็ไม่อยากเอาชีวิตรักของเราไปเปรียบกับมันเหล่านั้น เลยมักพูดแต่ว่า "สำหรับฉันน่ะ จะให้รักผู้ชายคงต้องฝืนใจตัวเองอย่างใหญ่หลวง ไม่เป็นธรรมชาติเอาเสียเลย"


 


ยังไงก็แล้วแต่เรื่องธรรมชาตินี่ก็ยังคงค้างคาอยู่ในใจ เอ๊ะ แล้วนี่ฉันเป็นคนผิดธรรมชาติจริงอย่างที่เขาว่าหรือนี่


 


และแล้ววันหนึ่งก็มีเพื่อนเอารายงานการวิจัยทางชีววิทยามาให้ดู อันนี้แหละที่อยากเอามาเล่าให้ฟัง เผื่อคนที่ต้องถกเถียงเพื่อปกป้องชีวิตรักของตัวเอง จะได้มีข้อมูลที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนเชียวนะ


 


งานวิจัยนี้ทำโดยโจน รัฟการ์เดน อาจารย์สาวทรานสเจนเดอร์ที่สอนชีววิทยา อยู่ที่มหาลัยสแตนฟอร์ด ในแคลิฟอร์เนีย ตัวเธอเองเล่าว่า ก่อนที่จะเปิดเผยกับที่คณะว่าเป็นทรานสเจนเดอร์ ก็หวาดๆ อยู่เหมือนกันว่าจะถูกไล่ออกหรือเปล่า พอเอาท์ออกมาแล้วก็โชคดีหน่อยไม่ถูกไล่ออก แต่ถูกปลดออกจากงานด้านการบริหารเสียเรียบ เธอก็เลยเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เอาเวลาว่างมาทำงานวิจัยเรื่องเพศๆ ของสัตว์ ได้ผลตามที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้


           


เธอเสนอว่าทฤษฎีเรื่องการคัดเลือกทางเพศ (Sexual selection) ของชาลส์ ดาร์วินน่ะ ควรเอาไปโยนทิ้งได้แล้ว เรื่องที่เป็นปัญหาก็คือ ในปี ค.ศ. 1871 ดาร์วินเขียนไว้ ว่า  สัตว์ตัวเมียจะเลือกคู่ตัวผู้ที่น่าดึงดูด แข็งแกร่ง และมีอาวุธป้องกันตัวพร้อมสรรพ เพื่อให้เกิดการคัดเลือกยีนส์ที่ดีที่สุดต่อการสืบเผ่าพันธุ์ต่อไป ดาร์วินมักยกตัวอย่างขนแพนหางของนกยูงตัวผู้ที่สวยงามดึงดูดใจตัวเมีย หรือไม่ก็เขากวางตัวผู้ที่เปรียบดั่งอาวุธนักรบ แล้วยังกล่าวอีกว่า ตัวผู้ของสัตว์เกือบทุกชนิดมีอารมณ์รุนแรงกว่าตัวเมีย ขณะที่ตัวเมียส่วนใหญ่แล้วจะขี้อาย ฟังดูแล้วเหมือนดาร์วินจะจัดระเบียบบทบาททางเพศให้แก่สัตว์เสียเรียบร้อย ทฤษฎีนี้มีปัญหามาก เพราะไม่สามารถนำมาอธิบายพฤติกรรมทางเพศที่ต่างไปจากคู่ผัวตัวเมียได้  เช่น ถ้าตัวเมียกับตัวเมียเกิดมีอะไรกันขึ้นมาล่ะ ดาร์วินจะบอกว่ายังไง เพราะ นี่ไม่ใช่การเลือกคู่เพื่อให้เกิดการสืบเผ่าพันธุ์ต่อไปได้นี่


 


อาจารย์โจนเธอศึกษาดูแล้วก็ว่า ทฤษฎีดาร์วินคงต้องถูกโยนทิ้งแน่ เพราะประเด็นแรก ในสัตว์เองมีความหลากหลายทางเพศมากกว่านั้นเยอะ ในสัตว์หลายๆ สปีชีส์ รวมถึงมนุษย์  ตัวเมียไม่ได้อยากจะหาคู่ที่ล่ำบึกอย่างพี่อาร์โนลด์ ชวาสเนกเกอร์เสมอไป  ในหลาย กรณีบทบาททางเพศกลับสลับกันด้วยซ้ำ แล้วตัวเมียต่างหากที่มักจะตามตัวผู้แล้วตัวผู้เป็นฝ่ายปฏิเสธ


 


เท่านั้นยังไม่พอ บรรดาสัตว์ต่างๆ ก็ใช่ว่าจะสามารถแบ่งแยกเป็นสองเพศได้อย่างเด่นชัด เช่น หนึ่งในสามของบรรดาปลาในแหล่งปะการัง จะสามารถผลิตทั้งไข่และสเปิร์มได้ ไม่ว่าจะในขณะเดียวกันหรือผลิตคนละเวลา ในบรรดาสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ รวมทั้งพืชด้วย เป็นเรื่องธรรมดามากที่สิ่งมีชีวิตนั้นจะสร้างทั้งเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้และเพศเมียในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถบ่งชี้ได้ชัดว่าสิ่งมีชีวิตนี้เป็นตัวผู้หรือตัวเมีย


 


เรื่องความหลากหลายนี้ยังมีอีก  คุณโจนเธอพบว่า สัตว์สามารถมีลักษณะทางเพศแตกต่างกันไปได้มากมาย เช่น ตัวผู้ในสปีชีส์หนึ่ง แม้จะผลิตสเปิร์มได้เหมือนกัน แต่ลักษณะอื่นๆ เช่น ขนาดร่างกาย สี รูปร่าง พฤติกรรม วิถีชีวิต อาจต่างกันอย่างมากจนนักชีววิทยามือใหม่ไม่รู้ว่าเป็นสปีชีส์เดียวกัน  ตัวเมียก็เป็นเช่นนี้ได้เหมือนกัน เธอศึกษาปลาชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Bluegill sunfish   ตัวผู้ของปลานี้มีลักษณะที่แตกต่างกันแยกได้เป็นสามจำพวก ซึ่งเธอเรียกจำพวกเหล่านี้ว่า เพศสภาพ หรือ gender (แน่ะ ใช้คำเดียวกับคนเลย)  สามจำพวกที่ว่าคือ ตัวควบคุม ตัวร่วมมือ และ endrunner (ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไรเหมือนกัน) ตัวควบคุมนี่จะตัวใหญ่ ตัวร่วมมือจะมีลักษณะคล้าย ตัวเมีย ทั้งสองจะช่วยกันจีบตัวเมีย ตัวควบคุมเป็นผู้ฉีดสเปิร์มซะส่วนใหญ่ แต่ก็แบ่งให้ตัวร่วมมือได้ฉีดบ้างเล็กน้อย ส่วนเจ้า endrunner จะคอยซุ่มอยู่หลังสาหร่าย แล้วก็แอบแวบเข้ามาฉีดสเปิร์มบ้าง


 


ประเด็นที่สองที่คุณโจนคิดว่าดาร์วินพลาดไป ก็คือ ในบรรดาสัตว์สังคม เช่น นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม การเกี้ยวพาราสีและการจับคู่ ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการฉีดสเปิร์มเสมอไป จริงๆ แล้วไม่บ่อยเลยที่มีการฉีดสเปิร์ม การจับคู่ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่จะส่งผลให้การเลี้ยงดูตัวอ่อนเป็นไปด้วยดี   ลองดูตัวอย่างในคนก็ได้ สมมติว่าออซซี่กับแฮเรียต แต่งงานกันมาห้าสิบปี มีลูกด้วยกันสองคน ถ้าทั้งสองมีอะไรกันอาทิตย์ละหน ตลอดห้าสิบปีคำนวณได้ว่ามีอะไรกันมาแล้ว 2,500 ครั้ง หารเฉลี่ยเท่ากับว่า ลูกหนึ่งคน ต่อการมีอะไรกัน 1,500 ครั้ง ถ้าคิดอย่างนี้จะเห็นได้ว่า การมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้เกี่ยวกับการสร้างตัวอ่อนเพื่อสืบเผ่าพันธุ์เสมอไป จุดนี้โจนให้ความเห็นว่า ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์อาจเป็นการช่วยให้ทั้งคู่อยู่ด้วยกันได้นานขึ้นเพื่อให้เลี้ยงลูกอ่อนได้อย่างดี  เช่นกันในสัตว์ทั้งหลาย บ่อย ๆ ครั้งการผสมพันธุ์เกิดขึ้นในเวลาและสถานที่ที่ไม่สามารถก่อให้เกิดการสร้างชีวิตใหม่ได้ ดังนี้แล้วการที่สัตว์มีอะไรกัน ก็ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการสืบเผ่าพันธุ์เสมอไป


 


เมื่อโยนทฤษฎีเก่าทิ้ง อาจารย์โจนก็นำเสนอทฤษฎีใหม่ขึ้นมาแทน เธอเรียกมันว่า การคัดเลือกทางสังคม (social selection) ทฤษฎีนี้สามารถอธิบายความหลากหลายทางเพศที่มีอยู่ได้ เธอเห็นว่าชีวิตทางสังคมของสัตว์นั้นเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงโอกาสทางการสืบพันธุ์ ซึ่งรวมไปถึงอาหาร รัง และคู่ ดังนั้นแล้ว สัตว์จะใช้สิ่งที่ตัวเองมีไปแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือจากสัตว์ตัวอื่นไม่ว่าจะเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศ 


 


เช่น ตัวไฮยีนา ตัวเมียนั้นจะมีอวัยวะเพศที่ขยายใหญ่ได้จนมีขนาดเท่ากับอวัยวะเพศของตัวผู้   ตัวใดที่มีลักษณะอวัยวะเพศคล้ายเพศผู้ จะสามารถเข้ากลุ่มตัวเมียได้ดี   ทฤษฎีของดาร์วินไม่สามารถใช้อธิบายปรากฏการณ์เช่นนี้ได้ แต่โจนเสนอว่าถ้าใช้ทฤษฎีการคัดเลือกทางสังคมมาอธิบาย ก็จะเข้าใจได้ว่า กลุ่มเป็นผู้ควบคุมสิ่งต่างๆ ที่เอื้อต่อการสืบพันธุ์ ไฮยีนาตัวเมียที่ไม่มีอวัยวะเพศผู้จะถูกขับออกจากกลุ่มตัวเมีย และไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการมีกลุ่มได้ ตัวไหนที่มีก็จะเข้ากลุ่มกับเขาได้ และได้ประโยชน์จากกลุ่ม


 


อีกตัวอย่างจากลิง Bonobos ปกติแล้วตัวเมียจะมีการกอดหันหน้าชนกันและเอาอวัยวะเพศเสียดสีกัน  ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ และเอื้อต่อการสร้างความร่วมมือในกลุ่มที่จะเลี้ยงลูกอ่อนด้วยกัน ในกลุ่มจะมีการหาอาหารและปกป้องอันตรายร่วมกัน ตัวไหนที่ไม่ได้กอดรัดฟัดเหวี่ยงกับตัวเมียด้วยกัน ก็จะไม่ได้รับความร่วมมือจากตัวเมียอื่นๆ  ในลิงบาบูนและปลาวาฬบางชนิด การมีอะไรกับเพศเดียวกันอาจจะเป็นการสร้างความร่วมมือเพื่อให้อยู่รอดท่ามกลางความขัดแย้ง 


 


เอ แล้วนี่มันเป็นเรื่องผิดธรรมชาติของสัตว์รึเปล่านะ


 


คุณโจนเธออ้างถึงหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Biological Exuberance: Animal Homosexuality and Natural Diversity โดย Bruce Bagemihl    คนนี้นี่เขียนถึงสัตว์มีกระดูกสันหลังสามร้อยสปีชีส์ ที่มีการผสมพันธุ์ระหว่างเพศเดียวกัน บางชนิดก็มีไม่บ่อย แค่ 1-10 % แต่บางชนิดอย่างลิง Bonobos จะเกิดพอๆ กันกับการผสมต่างเพศเลยทีเดียว บางชนิดคู่รักเพศเดียวกันจะอยู่ด้วยกันเป็นปี บางชนิดก็อยู่ไม่นาน   ผลงานของตาคนนี้ทำให้เห็นว่า ก็เมื่อมันมีเรื่องจู๋จี๋ระหว่างเพศเดียวกันมากขนาดนี้ มันไม่น่าเป็นการผิดธรรมชาติ แต่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสัตว์มากกว่า   ส่วนในคนนั้น การรักเพศเดียวกันน่ะเกิดบ่อยเกินกว่าจะถือว่าเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของยีนส์ และไม่ได้มีผลให้วิวัฒนาการของมนุษย์เสียหายแต่ประการใด


 


ในที่สุดเธอก็สรุปว่า การมีอะไรกับเพศเดียวกันนี่เป็นการปรับตัวอย่างหนึ่งของสัตว์ และอาจรวมถึงมนุษย์ด้วย เพราะ มันก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการประสบความสำเร็จในชีวิต


           


คุณโจนเธอสรุปได้เยี่ยมมาก จนอยากจะเชิญเธอมาคุยกับพวกที่เคยเถียงกับเราเสียเหลือเกิน งานวิจัยของเธอทำให้เรารู้ได้ว่า สัตว์เองก็มีความหลากหลายทางเพศมากมาย ไม่ใช่ว่าจะเป็นรักต่างเพศเสมอไป และความหลากหลายนั้นก็เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับชีวิต อีกอย่างทำให้เราฉุกคิดได้ว่า เวลาที่คนอ้างว่าธรรมชาติ นั้น มันก็เป็นวาทกรรมที่ต้องมีการตรวจสอบและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเข้าใจของคนในยุคหนึ่ง


 


เราเองก็ขอช่วงชิงการใช้วาทกรรมนี้ โดยอ้างอิงจากงานวิจัยของคุณโจน เราขอเสนอว่า "รักเพศเดียวกัน – เป็นเรื่องธรรมชาติ"  


 


หวังว่าสุนัขตัวเมียเป็นหมันสองตัวที่บ้าน คงจะเห็นด้วยกับเรา  -  โฮ่ง !-


 


หมายเหตุ :


* ภาพประกอบจาก http://www.stanford.edu/group/roughlab/rough.html


** งานวิจัยของโจน หาอ่านได้จากบทความเรื่อง "The In-crowd" โดย Joan Roughgarden ใน New Scientist Vol. 181 No. 2430 17 Jan 2004.


และหนังสือของเธอชื่อ Evolution’s Rainbow: Diversity, Gender and Sexuality in Nature and Peopleตีพิมพ์โดย University of California Press.