Skip to main content

ยุคน้ำมันแพง จิตใจต้องแข็งแกร่ง ยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียง

คอลัมน์/ชุมชน

เด็กอายุ ๗ – ๑๗ ปี จากลุ่มน้ำแม่จัน แม่สลอง แม่คำ ในจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นชาวอาข่า ลาหู่ ลีซู ไทยใหญ่ และปกาเกอญอ รวม ๖๘ คน กับเพื่อนชาวพื้นราบจากเชียงราย กรุงเทพฯ และตราด จำนวนคน รวมเป็น ๗ คน ได้มาเข้าค่ายความรู้คู่คุณธรรม ที่ศูนย์ฝึกอบรม "บ้านใกล้ฟ้า" มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.) ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒ – ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๙ โดยศาสตราจารย์กิตติคุณอำไพ  สุจริตกุล และอาจารย์อีก ๔ คน เป็นคณะวิทยากร ได้นำกระบวนการเรียนรู้ผ่านเพลง เกม นิทาน งานศิลปะ การเจริญสติ การเดินจงกรม นั่งสมาธิ มาหล่อหลอมให้เด็กเหล่านี้ได้เข้าใจธรรมะ ธรรมชาติ อย่างสนุกสนานมีชีวิตชีวา นับเป็นการศึกษาที่มีคุณค่าควรแก่การสนับสนุนให้เด็กทุกหนแห่งได้รับโอกาสดีเช่นนี้


 


การเรียนรู้ชุมชนเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เด็กๆจะได้ศึกษา ได้เยี่ยมครอบครัวของผู้อาวุโส ได้เห็นวิถีชีวิตและภูมิปัญญาที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติของชาวอาข่าบ้านป่าคาสุขใจ โดยมีพี่เลี้ยงจากหมู่บ้านดูแลอย่างใกล้ชิด (ซึ่งดิฉันจะเล่าเรื่องค่ายความรู้คู่คุณธรรมในตอนต่อไป)


 


 "อาบอ[1]บ่า" กับแม่เฒ่าผู้เป็นภรรยา เป็นบ้านหนึ่งที่เด็กชาวค่ายได้ไปเยี่ยมเยียน อาบอบ่าอายุ ๗๐ ปีแล้ว แต่ยังดูแข็งแรงสดชื่น อาบอบ่าเล่าว่าหมู่บ้านป่าคาสุขใจตั้งมาได้เกือบ ๓๐ ปีแล้วโดยพ่อเฒ่าเป็นกลุ่มแรกที่มาอยู่ที่นี่จนขยายเป็นหมู่บ้านใหญ่ที่ร่วมกันรักษาป่าและวัฒนธรรมที่ดีเอาไว้


 


                            


 


แม่เฒ่าป่วยเป็นอัมพาตครึ่งซีกมา ๕ ปีแล้ว อาบอบ่าดูแลอย่างใกล้ชิด โดยลูกชาย ลูกสาว ออกไปทำงานในเมืองส่งเงินมาให้ใช้พอประทังชีวิต


 


คณะอาจารย์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาจัดค่าย Arts for All ที่หมู่บ้านนี้ เมื่อพบว่าแม่เฒ่าต้อนนอนอยู่กับที่ลุกไปไหนไม่ได้ จึงมอบที่นอนอนามัยึ่ออกแบบเป็นลูกฟูก ใช้ไฟฟ้าปั๊มลมช่วยนวดหลัง แก้ปัญหาที่ผู้ป่วยอัมพาตเป็นแผลเน่าเปื่อยที่หลังได้ดี แม่เฒ่าได้รับน้ำใจบริสุทธิ์ที่ "ให้" โดยไม่หวังผลตอบแทน จึงเป็นผู้ป่วยอัมพาตที่บรรเทาทุกข์ทรมานได้ด้วยเมตตาธรรมของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน


 


                            


 


เด็กชาย ๒ คน ในหมู่บ้านวิ่งเล่นล้อยาง อันเป็นของเล่นที่ไม่ต้องซื้อด้วยเงินอย่างสนุกสนาน ได้ออกกำลัง ได้ฝึกทักษะและสมาธิร่วมกับกลุ่มเพื่อน เป็นภาพงามที่น่าชื่นชม


 


แม่เฒ่าอาข่าจูงฝูงควายที่พาไปกินหญ้ากลับมาที่บ้าน เธอเล่าให้ดิฉันฟังว่า เดี๋ยวนี้สายตาไม่ค่อยดี ปักผ้าเป็นลวดลายอาข่าขายให้นักท่องเที่ยวก็มองเห็นได้ไม่ชัด อยากได้แว่นตาอันใหม่เพื่อจะได้สร้างงานเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว


 


หญิงแม่เรือนจับกลุ่มคุยกันอยู่ พวกเธอเล่าว่าเดี๋ยวนี้อากาศร้อนมากขึ้น เลยต้องปรับตัวเอง ไม่ได้ใส่เสื้อและหมวกตามประเพณีอาข่าอย่างเต็มยศ ใส่เฉพาะมีประเพณีสำคัญเท่านั้น


 


                              


 


กรรมการหมู่บ้านหลายคนปรึกษาว่า ไม่รู้จะปลูกอะไรจึงจะขายได้ เคยปลูกลิ้นจี่ ราคาก็ตกเหลือกิโลละ ๔ – ๕ บาท หันมาปลูกลูกท้อ ลูกบ๊วย ลูกพลับ ลูกเชอรี่ คนพื้นราบก็กินไม่เป็น ปลูกกันเต็มดอยเอาไปขายที่แม่สลองหรือในเมืองเชียงรายก็ได้แค่กิโลละ ๒ – ๓ บาท อย่างมากก็ ๕ – ๑๐ บาท หนักใจมากว่าจะอยู่กันอย่างไร น้ำมันก็แพง สินค้าอะไรๆก็แพงไปหมด


 


นี่คือตัวอย่างของชีวิตบนดอย ที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านระหว่างวิถีชีวิตแบบชนบทที่พึ่งพาตัวเองได้ แต่ถูกนโยบายการพัฒนาและสื่อที่ทรงพลัง คือ โทรทัศน์ นักท่องเที่ยว ทำให้ใช้ชีวิตแบบสังคมเมือง บริโภคนิยม มากขึ้น


 


บทเรียนจากภาพรวมการพัฒนาพื้นที่สูงของประเทศไทย คือ ยิ่งพัฒนาให้ชุมชนบนพื้นที่สูง ซึ่งเป็นระบบนิเวศพิเศษ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร(ที่ไหลหล่อเลี้ยงผู้คนบนดอยจนถึงลุ่มน้ำ ปิง วัง ยม น่าน ภาคกลางและกรุงเทพ ฯ) ต้องพัฒนาตามแบบสังคมเมืองมากขึ้นเท่าไร นายทุน ระบบทุน ระบบริโภคนิยม ก็ยิ่งรุกรานทำลายวิถีชีวิตผู้คน ทำลายธรรมชาติให้เสื่อมโทรมมากขึ้น จนต้องเร่งทบทวน เยียวยา แก้ไข


 


ยกเว้นหมู่บ้านที่ดำรงวิถีชีวิตอย่างมีรากเหง้าของวัฒนธรรมที่เคารพธรรมชาติ อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกตัญญูรู้คุณ อยู่อย่างพอเพียง จึงรักษาความสงบสุข ความสมดุลย์ไว้ได้โดยไม่เป็นเหยื่อ ไม่เป็นทาสของยุคโลกาภิวัฒน์  แต่ใช้ยุคโลกาภิวัตน์ให้เป็นเครื่องมือทำให้ชีวิตมีสุขภาวะร่วมกับเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติอย่างมีดุลยภาพ


 


ตัวอย่างชุมชนชาวปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) ซึ่งอยู่ที่ไหนก็รักษาป่าให้สมบูรณ์ จนถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้ทั้งภาคเหนือ ตะวันตก และภาคกลาง หรือชุมชนมุสลิม ชุมชนประมงพื้นบ้านภาคใต้ที่รักษาป่าชายเลน ป่าพรุ ป่าบนภูเขาไว้ได้อย่างสมบูรณ์


 


ทุกรัฐบาลและทุกกระทรวงหลักควรร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาชน ให้เป็นชุมชน เป็นสังคมที่พึ่งตนเองได้ ตามต้นทุนทางสังคม วัฒนธรรม ศาสนธรรม และต้นทุนทางธรรมชาติที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย


 


ไม่ว่าราคาน้ำมันและราคาทองคำในตลาดโลกจะแพงพุ่งขึ้นไปเท่าใด หากทุกคน ทุกฝ่าย ยึดแนวทางแห่งธรรมะ แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักของชีวิต ของครอบครัว ของประเทศ คนไทยและประเทศไทยจะเป็นแบบอย่างให้ทั้งโลกเรียนรู้ว่า ๖๐ ปี ที่ในหลวงของปวงชนชาวไทยทรงครองสิริราชย์สมบัติโดยทศพิธราชธรรม ได้นำพาประชาชนไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุขได้อย่างมั่นคง


 


                           


 


ทุกชุมชนที่ดำรงชีวิตด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียงควรได้รับการยกย่อง เผยแพร่ด้วยสื่อทุกประเภท ทั้งระดับชุมชน ระดับชาติ และระดับนานาชาติ ตัวอย่างระบบไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอญอ(กะเหรี่ยง) ซึ่งมีผลงานวิจัยรองรับว่าเป็นระบบเกษตรบนที่สูงที่ช่วยให้ป่าธรรมชาติฟื้นตัวได้เร็ว ควรได้รับการยอมรับจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ฯ กระทรวงเกษตร ฯ แทนการจับกุมชาวบ้านที่ทำกินในไร่เดิมของตน


 


ดังกรณีของแม่เฒ่าชาวกะเหรี่ยงวัย ๗๐ ปี อยู่บนดอยที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถูกจับกุมข้อหาบุกรุกป่า ๕๐๐ ไร่ องค์กรสิทธิมนุษยชนกำลังติดตามเพื่อพิทักษ์ความเป็นธรรมในขณะนี้ เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่หญิงแก่คนเดียวจะมีพลังมหาศาลบุกรุกป่าด้วยสองมือได้ถึง ๕๐๐ ไร่ จิตใจของเจ้าหน้าที่หน่วยงานผู้เป็นโจทย์เจ้าของคดีทำด้วยอะไร จึงข่มเหงหญิงชราผู้ไร้หนทางต่อสู้ได้ลงคอ


 


ยุคน้ำมันแพง จิตใจต้องแข็งแกร่ง ยึดแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง สร้าง เครือข่ายพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดปัญญาสว่างไสว บดบังความมืดบอด แห่งอวิชชา โลภะ โทสะ โมหะ ให้หมดไป ธรรมาธิปไตยจะนำแผ่นดินไทยให้เป็น "บ้านชุ่ม เมืองเย็น" ได้ตลอดไป






[1] าบอ เป็นภาษาอาข่า แปลว่า ผู้ชายที่มีอาวุโส ส่วนแม่เฒ่า เรียกว่า "อาพี"