Skip to main content

เล่าเรื่องจากเมืองเชียงใหม่ ตอนที่ 2 : บทเพลงประสานเผ่าพันธุ์

คอลัมน์/ชุมชน

ตอนที่ 2 : บทเพลงประสานเผ่าพันธุ์


บรรดาพี่น้องชนเผ่าจำนวนมากลงจากดอยต่าง ๆ แล้วแต่ถิ่นที่อยู่ ตั้งแต่ช่วงบ่าย ๆ ของวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ต่างมุ่งหน้ามายังลานหน้าสำนักประชาสัมพันธ์ เขต 3 เชียงใหม่ เปล่าหรอก คนเหล่านี้ไม่ได้มาประท้วงหรือเรียกร้องใด ๆ เลย เพียงแต่ว่าในวันนั้น เชียงใหม่ดินแดนที่มีแต่คนหลงรัก มีปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่น่าจะได้มีการบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์สักหนึ่งหน้าเล็ก ๆ ก็ยังดีว่า


เป็นครั้งแรกที่ชนเผ่าที่มีอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย และจากประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงถึง 7 เผ่าได้มารวมตัวกันเล่นคอนเสิร์ต ที่ใช้ชื่องานว่า " ชนเผ่าร่วมใจต้านภัยสังคม " ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นเพื่อรณรงค์หาทางร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาเอดส์ การค้ามนุษย์ และยาเสพติด โดยยูเนสโก ร่วมกับสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่


ค่ำคืนของวันนั้นจึงปรากฏภาพเหล่านักร้องจากเผ่าม้ง เมี่ยน ลาหู่ อาข่า ลิซู และไทใหญ่ และแฟนเพลงของแต่ละเผ่าก็มาพบปะกันจึงเกิดขึ้น นับเป็นภาพที่หาดูได้ไม่ง่ายนักที่นักร้อง นักดนตรีที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากแต่ละเผ่า ที่ชาวชนเผ่าเองนั้นก็รู้จักนักร้องของเขาดีจะมีโอกาสเช่นนี้ ดังนั้นจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยที่ฝูงชนที่เป็นแฟนเพลงจากแต่ละเผ่าต่างหลั่งไหลเข้ามาให้กำลังใจศิลปินที่ตนรักกัน น่าเสียดายว่าสถานที่จัดงานตรงบริเวณหน้าสถานีวิทยุฯนั้นสามารถรองรับคนได้เพียงประมาณ 3,500 คนเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่บรรดาชนเผ่าทั้งหลายที่อยู่ที่บนดอยต่าง ๆ ก็ตั้งใจมาชมกันอีกมากมาย


แฟนเพลงของชาวลาหู่นั้นดูเหมือนจะโชคดีกว่าใครเพื่อน เพราะหลังจากการแสดงในคืนนั้นที่เป็นการแสดงร่วมกับกับเผ่าอื่นแล้ว ชาวลาหู่ก็มีการจัดการแสดงอีก 1 รอบที่ดอยสะเก็ดเพื่อชาวลาหู่ล้วน ๆ คาดการณ์ว่าจะมีคนมาดูไม่น่าจะเกิน 700 คน แต่ก็ผิดคาดมาก ๆ เนื่องจากว่าคนมาถึงเกือบ 6 พัน เพราะคนเหล่านี้รู้ว่าศิลปินในดวงใจข้ามแดนมาร้องเพลงให้ฟังด้วย


ในการมาร่วมงานที่เชียงใหม่ในครั้งนี้ ไม่เพียงแค่ผู้ชมเท่านั้นที่ดีใจที่จะได้เห็นภาพแบบนี้ แต่นักร้องนักดนตรีทุกคนต่างรู้สึกยินดีมากกว่าที่รู้ว่าจะมีโอกาสได้เล่นดนตรีกับเพื่อนต่างเผ่า ต่างพร้อมจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันให้มากที่สุด แม้การสนทนาอาจต้องผ่านล่าม ระหว่างชนเผ่า แต่ด้วยภาษาดนตรีแล้วพวกเขาก็เข้ากันได้ทันที


หลังการแสดงนักร้องชาวเมี่ยนเดินมาขอลายเซ็นนักร้องลาหู่ และยิ่งรู้ว่า คน ๆ นั้นไม่เพียงเป็นนักร้องและนักดนตรี แต่ยังแต่งเพลงให้คนอื่นร้องอีก เลยยิ่งอยากผูกสัมพันธ์ และขออนุญาตนำเพลงมาเป็นต้นแบบ นักดนตรีลาหู่รับปากทันที เมื่อนักร้องอาข่า ขอให้ช่วยแต่งเพลงให้ด้วยในอนาคตเพื่อจะได้ร้องร่วมกันอีก นักร้องกะเหรี่ยง เล่นพิณอวยพรวันเกิดให้นักร้องลาหู่คนหนึ่งที่มีวันคล้ายวันเกิดช่วงนั้นพอดี นักร้องชาวไทใหญ่บอกว่างานบุญของไทยใหญ่คราวหน้าจะไม่ลืมที่จะเชิญเพื่อน ๆ ต่างเผ่าไปแสดงร่วมกัน


ซาย เจิง หาน ไทใหญ่จากสีป้อ แซะวาวี อาข่าจากเชียงราย เชอร์ปา ลาหู่จากเชียงตุง ตือพอ กะเหรี่ยงจากเชียงใหม่ ทั้งหมดนี้ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน รวมทั้งเพื่อน ๆ อีกเกือบ 30 ชีวิต ที่มาจากต่างเผ่าพันธุ์ จากต่างถิ่นที่อยู่กัน ทั้งหมดได้มารู้จักกัน และ ต่างผูกสัมพันธ์และเป็นมิตรที่ดีต่อกันได้ด้วยดนตรี และเสียงเพลงชักให้มาพบกัน รวมพลังกันได้แม้ต่างเผ่าพันธุ์


เห็นได้ว่าในครั้งนี้ ดนตรีไม่ได้ทำให้ชนเผ่าที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้นที่ได้เจอกัน แต่คนที่มาจากต่างประเทศ อันเนื่องจากการแบ่งพรมแดนก็ได้มีโอกาสได้เจอกัน หลายคนเคยได้ยินเสียงนักร้องเหล่านี้มาแล้วทางวิทยุ จึงใจจดจ่อที่จะเจอตัวจริง เสียงจริง เสียงปรบมือกระหึ่มก้องทุกครั้งที่เพลงจบสะท้อนให้เห็นถึงความชื่นชมที่มีต่อตัวนักร้อง และแสดงให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันผ่านเสียงเพลง


ภาพที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้ชมที่แม้มาจากหลายเผ่าพันธุ์ แต่ก็ยินดีที่จะรับฟังเพลงของเผ่าอื่นอย่างมีมารยาทก่อนที่เพลงจากนักร้องคนโปรดของตนจะมาถึง แม้คนจะแน่นขนัดสักเพียงไร แม้จะสื่อภาษากันก็ไม่ค่อยเข้าใจ แต่การกระทบกระทั่งกันในคอนเสิร์ตครั้งนี้ไม่ได้มีให้เห็นเลย นี่เป็นภาพอันงดงามในความแตกต่าง หากทุกคนมีจุดร่วมเดียวกัน แม้จะต่างกันแค่ไหนเราก็อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข


น่าเสียดายที่คนที่เป็นชนเผ่าเดียวกันนั้น เพียงแค่ตกไปเกิดอยู่ในพื้นที่ที่ต่างกัน จึงทำให้ต้องกลายเป็นคนประเทศที่ต่างกัน ทำให้โอกาสของการที่จะได้มาพบเจอกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายแม้จะยังคงพูดภาษาและมีวัฒนธรรมอันเดียวกัน ดังนั้นการจัดงานนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นโอกาสให้นักร้องได้สื่อเสียงเพลงเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับปัญหา และภัยต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาเอดส์ การค้ามนุษย์ และยาเสพติด และเป็นโอกาสให้ชนเผ่าหลาย ๆ ชนเผ่าจากแต่ละพื้นที่ได้มาพบกันแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะให้ชนเผ่าเดียวกันแต่ต้องอยู่กันคนละประเทศได้มาเจอกันอีกด้วย


แม้คนเหล่านี้จะถูกแยกออกจากกันด้วยเส้นแบ่งดินแดนโดยรัฐ ทว่า ด้วยงานดนตรี ทั้งด้วยเสียงเพลงและเสียงดนตรี พวกเขามิอาจถูกแยกออกจากกันได้อย่างสิ้นเชิง