Skip to main content

เก่อญอโพ (1)

คอลัมน์/ชุมชน


 


เก่อญอพีพือ เลอเปลอ                              


หม่า ลอ เหน่ เก่อญอโพ เส เออ


แอะลอกุยโลซือซะ                                  


ฮ่อ โข่ เคลอ เส่ ญา เก่อญอ แอะ ต่า เซ่อ เบล


 


บรรพบุรุษปวาเก่อญอ                             


สั่งเสียลูกหลานปวาเก่อญอ


            จงรักกันและกัน                                     


            โลกจะได้รับรู้ปวาเก่อญอรักสันติภาพ


 


ปวาเลอ ซะเฮปวาเก่อลือ                           


เปอลอเนอซะพีพือเก่อโฉ่ นา


            เก่อ หม่า ดอ แฮ เก เฮก เก                        


            พีพือ เก่อ ลา เซ ญาซะคือ เก่อ โฉ่ เก นา


 


มันผู้ใดเกลียดชังชนเผ่าตนเอง                


วิญญาณบรรพบุรุษจะสาปแช่ง


            หลงผิดให้ย้อนกลับคืนมา                       


            วิญญาณบรรพชนรับรู้ชื่นชมและอวยพร


 


เฮ่ ลอ เนอ ซะ เส่อ ปวา                            


เนอ ปวา เก่อ ลือ เก่อ โดะ ธ่อ ชุ ญา


            เลอ ต่า ซุ โอะ ซะ โอะ                              


            เฮ่ ออ ต่า กุ เซเก่อ ญอ เก่อ เหน่ ต่า กุ เซ


 


ด้วยรักและศรัทธาที่แน่วแน่                     


นำชนเผ่าก้าวต่อไป


            ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชนเผ่า                   


            ปวาเก่อญอจะได้รับสันติภาพ


 


            * เพลง เก่อญอโพ  อัลบั้ม เพลงนกเขาป่า                                                                          


(ขับร้อง และแปลไทย ชิ-สุวิชาน - คำร้องภาษาปวาเก่อญอ  ทองดี  ตุ๊โพ- ทำนอง  เพลงไทยเดิม)


 


 


 


 


                                                                           

 


 


ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีการทัศนศึกษาดูงานของเยาวชนปวาเก่อญอจากประเทศพม่า  โครงการนี้คัดเอาเยาวชนปวาเก่อญอจากประเทศพม่าที่อยู่ในหัวเมืองต่างๆเช่น ย่างกุ้ง ตองอู  ทวาย ปาเต็ง เป็นต้น ที่สนใจงานเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนเพื่อมาดูงานในประเทศไทย  


 


การพบปะเกิดขึ้น ณ หมู่บ้านปวาเก่อญอแห่งหนึ่งในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์พักพิงชั่วคราวถ้ำหินไม่กี่กิโลเมตร


 


ขณะที่ทานอาหารเย็นอยู่นั้น "คืนนี้เราจะได้คุยกับผู้ลี้ภัยชาวปวาเก่อญอในศูนย์อพยพ"ผู้ประสานงานคนหนึ่งเอยขึ้น ทำให้หลายคนทำตาตื่นเต้น


 


หลังอิ่มท้องจากมื้อเย็น  อาหารยังไม่ทันย่อยดี


 


 "มาแล้ว!!  มาแล้ว!!"


สายตาทุกคู่มองไปที่ รถกระบะคันหนึ่งซึ่งติดโลโก้ขององค์กรนานาชาติ ผู้ประสานงานรีบไปต้อนรับร่างชายอ้วนท้วมคนหนึ่ง ซึ่งก้าวลงมาจากรถด้วยหน้าตาแย้มยิ้ม


 


………….ใต้ถุนบ้านหลังหนึ่งในค่ำวันนั้น……………


 


ผู้ประสานงานคนเดิมลุกขึ้นพูดเป็นคนแรก "ค่ำวันนี้เราได้รับเกียรติอย่างสูงจากประธานศูนย์ผู้พักพิงชั่วคราวถ้ำหิน  ผมอยากให้เขาแนะนำตัวเอง และเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับเรื่องราวสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในศูนย์ฯ"


 


"ฮาเลออะเก (สวัสดีตอนเย็น) ผมชื่อเดเนียล เป็นปวาเก่อญอที่อยู่ในเรฟฟูจีแคมป์" เขาย้ำและย้ำอีกหลายครั้ง


 


"ผมเป็นเรฟฟูจี!!  ผมเป็นผู้ลี้ภัย!!  ผมลี้ภัย!!  ชีวิตผมเป็นผู้ลี้ภัย!! " คนฟังหลายคนหัวเราะ แต่เป็นบรรยากาศการหัวเราะออกมาแบบหดหู่ชอบกล!


 


"ผมไม่รู้จะเล่าอะไรที่เป็นประโยชน์ให้พี่น้องที่มาจากในเมืองฟังดี  เอาเป็นว่าถ้าเธออยากรู้อะไรตั้งคำถามมาและผมจะพยายามตอบอย่างสุดความสามารถ" เขาโยนบทบาทให้ผู้ฟังบ้าง


 


"ทำไม พาตี่ (ลุง) ถึงมาอยู่ในเรฟฟูจีแคมป์ได้?"  ซิซิโพ เยาวชนจากย่างกุ้งเอ่ยถาม


 


เขาถอนหายใจ..ก่อนจะตอบคำถาม


 


"มันเป็นคำถามที่ต้องตอบยาวหน่อยนะ… เดิมทีผมเป็นคนจากเมืองย่างกุ้ง  ผมเกิดที่นั่น เรียนอนุบาล ประถม มัธยมและจบมหาวิทยาลัยที่นั่น …


 


หลังจากจบมหาวิทยาลัย ผมกับเพื่อน 4 คนที่จบมาในรุ่นเดียวกัน  ตัดสินใจออกเดินทางจากย่างกุ้งโดยการเดินเท้ามุ่งสู่กองทัพ Karen  National  Union(KNU) เป้าหมายคือการเข้าร่วมกระบวนการปฏิวัติกู้ชาติ  กู้เสรีภาพ


 


ระหว่างเดินทางมาได้ 1 อาทิตย์ เพื่อนคนหนึ่งต้องล้มตายจากไปเนื่องพิษมาลาเรีย แต่พวกเราที่เหลือทั้งสามก็ไม่ละทิ้งความตั้งใจ


 


กระทั่งพวกเราเดินทางมาถึง ทวาย ซึ่งสมัยนั้นเป็นฐานที่มั่นสำคัญแห่งหนึ่งของ KNU จึงได้พบผู้นำคนหนึ่งในกองทัพกะเหรี่ยง KNU ท่านได้ร้องขอให้พวกเราสอนหนังสือให้เด็กในโรงเรียน


 


พวกเรา สาม คนถูกกระจายไปคนละโรงเรียน  ซึ่งพวกเราทั้งสามยินดีรับงานนี้ด้วยความเต็มใจ  พวกเราได้ปลูกฝังอุดมการณ์แห่งการปฏิวัติให้กับเด็ก รวมทั้งการได้ฝึกจับอาวุธเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในทุกสถานการณ์ 


 


ผมสอนหนังสืออยู่ที่ทวาย ประมาณ10กว่า ปี  กระทั่งฐานทัพทวายได้แตก  ผมต้องหนีมาอยู่ทีทัพที่มั่นอื่น


 


จากเหตุการณ์ฐานทัพทวายแตกครั้งนั้น เพื่อนที่เหลือหนึ่งในสามคนหนึ่งต้องเสียขาไปข้างหนึ่งจึงร่วมเดินทางต่อกับเราไม่ได้


 


หลังจากนั้นผมต้องหนีมาเรื่อย กระทั่งมาถึงศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านถ้ำหินอำเภอสวนผึ้งราชบุรี  โดยผมเป็นประธานศูนย์ฯ ต้องคอยดูแลพี่น้องที่อยู่ในศูนย์ฯ  ซึ่งมีองค์กรต่างๆที่เข้ามามาก  ทำให้ต้องเลือกรับและเลือกพิจารณาดู


 


ตอนแรกเข้ามาอยู่ในศูนย์ฯซึ่งเป็นพื้นที่ประเทศไทย ทางการไทยไม่ต้อนรับและไม่เต็มใจที่จะให้อยู่  แต่มีองค์มนุษยชนนานาชาติมาให้ความช่วยเหลือไว้ 


 


จริงๆแล้วเราไม่หวังที่จะอยู่ในศูนย์หรือในพื้นที่ประเทศไทยตลอดไปหรอก ไม่มีใครอยากอยู่บ้านคนอื่นหรอก หากที่บ้านตนเองมีความปลอดภัยแล้วจะไม่อยู่ให้รำคาญใจแม้แต่วันเดียว แต่ก็ต้องขอบคุณประเทศไทยและคนไทยที่แม้ไม่อาจเข้าใจเราแต่ก็อนุญาตให้อยู่พักพิง


 


สภาพที่เข้ามาอาศัยตอนแรกนั้น  การสร้างที่อยู่อาศัยนั้นใช้วัสดุไม่ได้ทั้งสิ้นยกเว้นไม้ไผ่ และไม้ไผ่นั้นหาตัดเอาเองไม่ได้  ต้องรับจากทางการและมีการจำกัดด้วยว่าครอบครัวหนึ่งควรได้เท่าไหร่"


 


"แล้วสร้างบ้านอยู่กันอย่างไร?"  หน่อเลเล   เยาวชนจากทวายถามแทรกขึ้นมา


 


เขาขยับตัวหัวเราะก่อนตอบว่า  "เสาไม้ไผ่  หลังคาไม้ไผ่  ฝาไม้ไผ่ พื้นคือดินนอนบนดิน เราอยู่อย่างนี้มาปีสองปีหลังคาเริ่มเป็นพลาสติกต่อมาก็เป็นใบตอง และพื้นเป็นไม้ไผ่"         


 


"อัตราการเพิ่มของประชากรในศูนย์เป็นอย่างไรบ้าง?" ข้อสงสัยของซูเมโอ เยาวชนจากเมืองปาเต็ง


 


" การที่เราต้องเข้าอยู่ในศูนย์ทำให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนไป เรามีเวลาว่างเยอะ แต่เราไม่สามารถทำมาหากินได้ ทำในศูนย์ไม่ได้ ออกไปทำข้างนอกก็ไม่ได้  คนที่ออกไปถูกจับบ้างถูกตีบ้างเราทำได้เพียงกินกับนอนเท่านั้น   มันทำให้โอกาสในการเกิดกิจกรรมขยายพันธุ์มาก


 


ทาง NGO พยายามให้ถุงยาง  ยาคุมและให้ความรู้แต่คุมไม่ได้  เพราะ จากการมาอยู่ในศูนย์ฯนั้นสิ่งที่ผมสังเกตและเสียใจมากคือจริยธรรมของคนในชนเผ่าเรานั้นลดลงจนน่าใจหายและน่าเจ็บปวดด้วยวัฒนธรรมปวาเก่อญอเรานั้นคือการมีผัวเดียวเมียเดียว 


 


แต่ปัจจุบันในศูนย์ฯการผิดผัวผิดเมียเกิดขึ้นมันทำให้ไม่สามารถคุมกำเนิดได้  เพราะเขาคุมเฉพาะกับผัวหรือเมียของตนเองแต่กับคนอื่นเขาไม่คุม  เฉลี่ยเดือนหนึ่งมีเด็กเกิดประมาณ 350 คน"


 


"มีความคิดเห็นกับการไปประเทศที่สามอย่างไรบ้าง?" คำถามซูเมโอคนเดิม


 


"การไปประเทศที่สามนั้นมีความเห็นของคนอยู่สองกลุ่ม กลุ่มแรกคือไป กลุ่มนี้มองว่าหากเราไปลูกหลานของเราจะมีโอกาสได้รับการศึกษา  ได้รับสัญชาติ  จะได้มีที่ทำมาหากินอย่างเป็นหลักแหล่งที่ปลอดภัยและเมื่อสามารถลืมตาอ้าปากได้ จะได้เป็นแรงสนับสนุนการกู้ชาติได้


 


กลุ่มสองคือไม่อยากไป ไม่อยากทิ้งบ้านเกิดไป รอวันที่บ้านเมืองสงบก็จะกลับแผ่นดินบ้านเกิด 


 


กลุ่มนี้มองว่าหากไปประเทศที่สามแล้ว ได้สัญชาติแล้วไม่สามารถกลับมาอยู่ที่บ้านเกิดได้แล้ว จึงไม่อยากไป


 


สำหรับผม ผมไม่ห้าม เนื่องจากในศูนย์ของผมนั้น  ถ้าใครไม่ไปก็ต้องย้ายไปอยู่ที่ศูนย์อื่น เพราะประเทศไทยมีนโยบายที่จะยุบศูนย์นี้  แต่ผมมักจะย้ำว่าหากจะไปให้นำความเป็นปวาเก่อญอไปด้วย พยายามอยู่ใกล้กันอยู่รวมกัน และให้ลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้ความเป็นปวาเก่อญอด้วย ให้มีความรู้ในการกลับมาช่วยเหลือชนเผ่าด้วย      


 


ผมเองก็จะไป แต่สามปีผมจะกลับมา  ผมมีลูกสามคนจะให้กลับมารับใช้ชนเผ่าหนึ่งคน"


 


"แล้วอย่างนี้  กองทัพ KNU จะอยู่ได้อย่างไร?" ต่ามูทู หนึ่งในตองอูสงสัย


           


"ตราบใดเราไม่ยอมตาย  ตราบใดยังมีลมหายใจ  เราต้องมีความหวัง  การมีชีวิตอยู่โดยไม่มีความหวังนั้นเป็นสิ่งที่อันตรายสำหรับชีวิต" เขาตอบด้วยสีหน้าอมยิ้มและนัยน์ตาหวังที่คงมั่น


           


เสียงปรบมือที่หนักแน่น จริงใจดังขึ้นจากเยาวชนพร้อมกัน!  จนผมขนลุกซู่!! ไปทั้งตัว