Skip to main content

เรื่องดี ๆ ในเดือนร้อน

คอลัมน์/ชุมชน


ฝายพญาคำ ภาพจาก www.lek-prapai.org/ muangfay_clip_image002_000...


 


ศักดิ์ศรีและวิถีชีวิต


 


"รูปปั้นพญาคำเสร็จแล้ว" 


 


ก่อนจะสิ้นเดือนเมษายน เดือนร้อนกำลังจะจากไป  พ่อหลวงสมบูรณ์ บุญชู  รองประธานหรือผู้ช่วยแก่ฝายพญาคำ บอกว่ารูปปั้นพญาคำสร้างเสร็จสมบูรณ์พร้อมที่จะเอามาติดตั้งและทำบุญแล้ว จำได้ว่าในช่วงน้ำท่วมเชียงใหม่  เมื่อปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรี "ท่านทักษิณ ชินวัตร" มีคำสั่งให้ทุบฝายพญาคำ ท่านว่าฝายทำให้น้ำไหลไม่สะดวก ขวางทางไหลของน้ำในแม่น้ำปิงทำให้น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่


 


ท่านนายกรัฐมนตรี ทำให้เรื่องราวของฝายถูกเปิดเผยขึ้น คนที่ไม่รู้จักก็ได้รู้ คนที่ไม่เคยเห็นความสำคัญมาก่อนก็ได้เห็น ฝายที่จมอยู่ในน้ำมีตัวตนขึ้นมา ถ้ามองให้แง่ดีก็น่าขอบคุณท่าน


 


***************


 


เมื่อรู้จักฝายแล้ว ฉันรู้สึกทึ่งจริงๆ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยแท้ และเข้าใจได้เลยว่า ทำไมพ่อหมื่น ทิพยเนตร ประธานหรือแก่ฝายพญาคำ จึงน้ำตาตกและบอกว่า "พ่อยอมตาย ถ้าฝายถูกรื้อทิ้ง อะไรกันไม่เคยพบเคยเห็น นายกรัฐมนตรีคนเมืองแท้ๆ ไม่รู้คุณ" (คนเมืองคือเชียงใหม่-คนเหนือ)


 


นอกจากพ่อหมื่นแล้วยังมีคนเฒ่าคนแก่อีกหลายคนที่มาเข้าเวรเฝ้าฝายพญาคำ และที่น่าประทับใจกว่านั้น พ่อหลวงสมบูรณ์บอกว่า พวกแก๊งเด็กวัยรุ่น โฉบมอเตอร์ไซค์ไปมายังเห็นคุณค่า เห็นใจคนเฒ่าคนแก่ มาช่วยดูด้วย


 


ฝายพญาคำ อยู่บริเวณใกล้ๆ กับค่ายกาวิละ ห่างจากสะพานแก้วนวรัตน์ไปเล็กน้อย  เนื่องจากน้ำยังเต็มแม่ปิง จึงมองเห็นเพียงคลื่นน้ำบาง ๆ ที่ทำให้รู้ว่าตรงนั้นคือฝาย ที่สร้างกั้นขวางแม่น้ำไว้


 


เมื่อถามว่ามีความสำคัญอย่างไรถึงทุบทิ้งไม่ได้ ท่านก็บอกว่า  แผ่นดินนี้มีระบบเหมืองฝายที่สืบทอดมานานนับพันปี กว่าจะสามารถเรียนรู้สายน้ำและดำเนินวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับภูมิศาสตร์  คนรุ่นปู่ย่าตายายเรียนรู้ถูกรู้ผิด และเป็นการปันน้ำอย่างเป็นธรรม


 


พญาคำ เป็นผู้สร้างฝาย  ฝายพญาคำเป็นฝายลูกแรกที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงต่อกัน คือ ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาลที่อยู่ถัดลงมา และเชื่อมต่อลำเหมืองอีกหลายแห่ง เชื่อว่าหากรื้อฝายพญาคำ ฝายอื่นๆ จะมีปัญหา ฝายพญาคำมีพื้นที่รับน้ำ 32,000 ไร่ 


 


การทำงานของระบบฝาย เมื่อเข้าสู่หน้าแล้ง ฝายจะทดน้ำสู่ลำเหมืองเล็กใหญ่อีกนับพันลูก ส่งต่อไปยังที่นาและที่สวนของชุมชนใน 3 อำเภอ คืออำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอสารภี และอำเภอเมืองลำพูน  ดังนั้น  การทำลายฝายก็เท่ากับทำลายแหล่งผลิตอาหารในชุมชน


 


"คุณลองคิดดูว่า ถ้าเราทำลายแหล่งอาหารของเราหมดแล้ว เราจะเอาอะไรกิน"


พ่อหมื่นหยุดพูด นิ่งไปชั่วขณะ…ก่อนเล่าต่อว่า


"ก่อนจะเป็นฝายหินทิ้งนั้น เมื่อก่อนเป็นฝายไม้ไผ่ คนลำพูนจะแบกไม้จากลำพูนมาเอามาตีฝายที่เชียงใหม่ ดำลงไปมัดฝายจากใต้พื้นน้ำขึ้นมาเป็นชั้นๆ แบ่งกันลงไปมัด ผลัดเปลี่ยนกัน…ก็ทำกันมาจนได้กินน้ำ  เหตุผลที่พญาคำคิดทำฝายขึ้นมาคือ ขาดแคลนน้ำ พอทำไปแล้วก็จะทำให้น้ำเอ่อเข้าเหมืองที่ขุดไว้"


 


พ่อหมื่นเดินไปชี้ให้ดูว่าน้ำจะทดเข้าลำเหมืองอย่างไร


"วิถีชีวิตก็ผูกพันกัน เป็นฝายพี่ฝายน้อง  ชีวิตมีการแบ่งปันกัน มีการบอกต่อกัน ว่าตอนนี้จะเปิดปิดน้ำนะ ถ้าทางลุ่มน้ำมีน้ำมากไป ก็จะบอกให้ปิด ถ้าท้ายน้ำไม่พอก็จะแบ่งกันไป มันจะมีรอบเวียน จากฝายหนึ่งก็จะมีฝายน้อยๆ อีก 10 ฝาย เขาจะเรียกเป็น "แต" คือฝายน้อยๆ แบ่งเข้านา แล้วก็แบ่งเป็น "ต๊าง" ไหลเข้านาอีกขั้นหนึ่ง  นักวิชาการท่านมาศึกษาแล้วว่า ระบบเหมืองฝายพญาคำหล่อเลี้ยงชุมชน ไม่ใช่แค่ครอบคลุมพื้นที่เกษตรสามหมื่นกว่าไร่เท่านั้น ยังรวมไปถึงพื้นที่อื่น ๆ  เช่น ลำเหมืองช่วยรักษาความชุ่มชื่นของดิน ช่วยให้บ่อน้ำตื้นที่ชาวบ้านใช้ดื่มใช้อาบไม่แห้ง ดังนั้น กลุ่มผู้ใช้น้ำ มีตั้งแต่ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ผู้ที่ใช้บ่อน้ำตื้น ผู้ใช้น้ำบาดาล ตลอดจนชุมชนตลาดสารภี  บ้านที่ผ่านลำเหมืองไหลผ่าน กลายเป็นชุมชนผู้ใช้น้ำทั้งหมด คือชุมชนที่น้ำปิงเข้าไปหล่อเลี้ยงทั้งหมดนั่นแหละ"


 


ที่สำคัญที่สุด ฝายไม่ได้ทำให้น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ ฝายเป็นแพะรับบาป  เพราะโครงสร้างฝายอยู่ต่ำกว่าสันตลิ่ง แล้วฝายลูกล่าง ๆ ก็ลดหลั่นลงไปเรื่อย ๆ  โครงสร้างแบบนี้ไม่เกี่ยวกับน้ำท่วมเลย ไม่ได้เป็นตัวขวางทางน้ำแม่ปิง  และฝายทั้ง 3 ลูก (ฝายพญาคำ ฝายหนองผึ้ง ฝายท่าวังตาล) ที่กั้นลำน้ำแม่ปิง ยังช่วยป้องกันแรงน้ำกระแทกกันตลิ่งพัง และในทางกลับกัน เมื่อมีฝายก็ต้องมีลำเหมือง ลำเหมืองก็ช่วยเก็บน้ำไว้ตามเหมืองต่าง ๆ แต่ถ้าไม่มีฝาย ก็ไม่มีลำเหมือง เพราะไม่นานลำเหมืองที่มีอยู่ก็ถูกถมเพิ่มขึ้น คราวนี้ไม่มีที่เก็บน้ำเลย และชลประทานก็บอกว่า ถ้าไม่มีฝายในฤดูแล้ง น้ำในแม่น้ำปิงอาจจะแห้ง


 


เห็นไหมล่ะ… ความจริงฝายเป็นพระเอกที่ถูกลืมและถูกใส่ร้าย ป้ายความผิด


 


พ่อหมื่น บอกว่า การทุบฝายทิ้งนั้นเพื่อผลประโยชน์การท่องเที่ยว


"เขามีโครงการจะทุบเหมืองมาตั้งแต่ปี 2547 ตอนนั้นเวียงกุมกามเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์กำลังบูม นายกฯ ก็มีคำสั่งรื้อฝายพญาคำ เพราะเขาจะเอาเรือสำราญลำใหญ่มาแล่นชมเมืองแล้วขึ้นเทียบท่าที่หน้าเวียงกุมกาม ฝายหินทิ้งของชาวบ้านจะไปขูดเอาท้องเรือ  เขาว่ามีการท่องเที่ยวชาวบ้านจะได้ประโยชน์ ใครจะเชื่อ   ดูชาวบ้านในเวียงกุมกามทุกวันนี้บ้านก็แทบจะไม่มีที่อยู่ คนที่เป็นเจ้าของกิจการทัวร์ช้าง รถรับส่ง หรือร้านต่างๆ  ไม่ใช่ชาวบ้านสักคน นายทุนเขามาประมูลเอาหมด"


 


"มีฝายพญาคำอย่างน้อยเราก็มีข้าวกิน  เขาจะสร้างฝายยางให้ใหม่ที่ฝายท่าวังตาล คนวังตาล เขาเห็นดีด้วยบางส่วน เขาว่าน้ำบ้านเขาจะดี แต่พอน้ำท่วมปีนี้เขาเห็นฝายหนองสะลีบแล้ว เขาก็ต้องกึ้ด (คิด) ใหม่"


 


ฝายหนองสะลีบที่ว่า ก็คือฝายที่กรมชลประทานสร้างขึ้นใหม่ แทนฝายหินทิ้งเดิม ซึ่งสูงถึง 8 เมตรทำให้น้ำไหลแรงและเซาะตลิ่งออกเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ


 


พ่อหลวงสมบูรณ์ บุญชู กล่าวเสริมว่า "เขาว่าจะมีน้ำพุและมีตลาดน้ำด้วย"


 


ความพิเศษของฝายหินทิ้ง ทำให้น้ำและทรายลอดระหว่างช่องหินได้ ปลาเล็ก ปลาน้อยก็ลอดและข้ามสันฝายไปวางไข่ทางต้นน้ำได้  และถ้าไม่มีฝายจะเป็นอย่างไร


 


พ่อหลวงว่า "ต่อไปเราต้องเผชิญภาวะความอดอยาก ไม่นานสวนลำไยก็จะเป็นสวนร้าง นาข้าวก็จะร้างแล้วจะเอาอะไรกิน


 


***************


 


ก่อนจะถึงวันนั้น มีการจัดทอดผ้าป่าเพื่อหาเงินสร้างรูปปั้นพญาคำ มีการทำพิธีสาปแช่ง ลงดาบตัดหัวหุ่นผู้ที่มีคำสั่งรื้อฝาย  บรรดาพ่อหลวง และชาวบ้าน เดินสายออกรายการวิทยุหลายแห่ง แถลงข่าว ยื่นจดหมายถึงนายกฯ เรียกว่าทำทุกวิถีทางเพื่อระงับการรื้อฝาย นี่คือการลุกขึ้นสู้ด้วยหัวใจของเจ้าของแผ่นดินจริง ๆ


 


ผ่านไปเพียง 5-6 เดือน ก่อนสิ้นเดือนเมษายน รูปปั้นฝายพญาคำสร้างเสร็จและนำไว้ที่ฝายพญาคำ เพื่อยืนยันถึงศักดิ์ศรีและวิถีชีวิตอีกครั้ง