Skip to main content

พลังงานกับการปฏิรูปการเมือง

คอลัมน์/ชุมชน


คำนำ


 


ประเด็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในช่วงแรกพอจะสรุปได้ว่ามี ๓ ประเด็น คือเพื่อเรียกร้องให้ (๑) พ...ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะขาดความชอบธรรมจากกรณีขายหุ้น  (๒) มีการปฏิรูปการเมืองครั้งที่สอง และ (๓) มีการปฏิรูปสื่อให้เสรีทั้งการส่งและการรับข่าวสาร  


 


แต่เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณได้ตัดสินใจยุบสภาเพื่อหนีการตรวจสอบในประเด็นที่ ๑ แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ประเด็นการเรียกร้องของพันธมิตรฯ ก็ได้เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งประเด็นคือ (๔) ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ


 


ขณะนี้คนจำนวนมากกำลังถูกรัฐบาลทำให้สนใจแต่ในประเด็นการเลือกตั้งว่าจะเป็นโมฆะหรือไม่(ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้เป็นโมฆะแล้วเมื่อ ๘ พ.ค.๔๙) จนลืมใน ๓ ประเด็นแรกซึ่งเป็นปฐมเหตุของการเคลื่อนไหวใหญ่ครั้งนี้ 


 


บทความนี้จะให้ความสนใจในประเด็นที่ ๒ คือการปฏิรูปการเมือง โดยจะกล่าวถึงเฉพาะเรื่องพลังงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น พร้อมด้วยขนาดของรายจ่ายด้านพลังงานของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งในขณะนี้กำลังเผชิญกับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น


 


พลังงานและความเชื่อมโยงกับการเมือง


 


คำว่า "พลังงาน" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงน้ำมันที่ไหลออกมาจากหัวจ่ายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมไปถึงแหล่งพลังงานอื่นๆ ที่สามารถผลิตน้ำมัน (เช่น พืชน้ำมัน อ้อยสำหรับผลิตแอลกอฮอล์) กระแสไฟฟ้า (เช่น ลม แสงแดด ขี้หมู ไม้) รวมทั้งถ่านหุงต้ม เป็นต้น


 


เราเรียกแหล่งพลังงานจำพวกนี้ว่า "พลังงานหมุนเวียน" เพราะใช้แล้วไม่มีวันหมดหรือสามารถงอกกลับขึ้นมาให้เราใช้ใหม่ได้  


 


พลังงานประเภทนี้ไม่มีใครสามารถผูกขาดได้  เพราะมีการกระจายอยู่ทั่วไป ในทางตรงกันข้าม "พลังงาน" ที่กำลังมีราคาเพิ่มสูงนั้นเป็นพลังงานที่ผูกขาดโดยคนจำนวนน้อย เราเรียกพลังงานจำพวกนี้ว่า "พลังงานฟอสซิล" ซึ่งรวมถึงถ่านหิน ลิกไนต์ ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าด้วย


 


พ่อค้าพลังงานพยายามล้างสมองเราด้วยวิธีการต่างๆนานา ด้วยชุดความคิดที่กล่าวถึง "ความทันสมัยและประสิทธิภาพ" ส่งผลให้ชาวบ้านตลอดจนชาวเกาะที่อยู่ใกล้แหล่งไม้ฟืน ต้องหันมาใช้แก๊สหุงต้มจากบริษัทผูกขาด ในด้านราคาเมื่อชาวบ้านไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อ รัฐบาลก็เข้ามาชดเชยด้วยเงินกองทุนที่เก็บจากผู้ใช้น้ำมัน   เมื่อผู้ใช้ติดใจในความสะดวกอย่างแพร่หลายแล้ว การชดเชยดังกล่าวก็กำลังจะถูกยกเลิกไป


นอกจากการล้างสมองในเรื่องพลังงานแล้ว กลุ่มนักการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากพ่อค้าพลังงานทั้งระดับโลกและระดับประเทศ ยังล้างสมองคนในด้านความเข้าใจทางการเมืองของคนอีกด้วย  ทำให้คนไทยเราเข้าใจว่าอำนาจของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยคือการกาบัตรลงคะแนนในวันเลือกตั้งเท่านั้น พรรคการเมืองใดไม่ลงเลือกตั้งก็จะถูกกล่าวหาว่า ไม่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น


 


ความจริงแล้ว การปฏิรูปการเมืองไม่ใช่การแก้ไขหรือการร่างรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการออกแบบมาตรการและกระตุ้นสังคมให้ช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรให้ชุมชนสามารถเข้าถึงและมีอำนาจในการจัดสรรแหล่งทรัพยากรของประเทศได้อย่างเท่าเทียมและอย่างยั่งยืนไปถึงอนาคตด้วย


 


นักวิชาการบางท่านเสนอว่า การปฏิรูปการเมืองครั้งนี้ต้องคิดให้ทะลุไปถึงว่า ทำอย่างไรให้การเมืองไม่เป็นสิ่งที่อยู่ไกลตัว แต่เป็นการเมืองที่สามารถกินได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนยากจนในชนบทที่อยู่ใกล้กับแหล่งทรัพยากรแต่ไม่สามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งผลิตและการตลาดสำหรับขาย


 


กุญแจสำคัญที่สามารถทำให้คนในชาติมีอิสระมากขึ้นจากการตกเป็น  "ทาสด้านพลังงานไฟฟ้า"  ก็คือ การมีกฎหมายที่ให้สิทธิ์กับคนในชาติทุกคน ให้สามารถส่งพลังงานไฟฟ้าที่ตนผลิตได้จากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น กังหันลม แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ฯลฯ เข้าสู่ระบบสายส่งไฟฟ้ารวมได้โดยอัตโนมัติ  คล้ายๆ กับการให้สิทธิ์กับผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ทุกคนให้สามารถนำรถยนต์ของตนออกสู่ท้องถนนสาธารณะได้


 


ถ้าเราไม่มีกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ เราจะติดอยู่ในอุ้งมืออำมหิตของพวกพ่อค้าผูกขาดด้านพลังงานเพียงไม่กี่คนไปตลอด  


 


ถ้าเรามีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้เศษไม้ในชนบท ใช้เศษอาหารในเมือง มาเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ หรือมีกังหันลมผลิตไฟฟ้า แล้วสามารถส่งไฟฟ้าขึ้นไปขายในระบบสายส่งได้ การผูกขาดก็จะลดลง การจ้างงานก็จะมากขึ้น


 


ในเรื่องที่เกี่ยวกับน้ำมัน  ซึ่งมีสัดส่วนใหญ่โตที่สุดของหมวดพลังงานนั้น เราไม่สามารถลดการผูกขาดหรือผ่อนหนักเป็นเบาได้ หากเราไม่ปรับปรุงโครงสร้างภาษีน้ำมันเสียใหม่ หรือหากเราไม่นำมิติทางการเมืองและสิ่งแวดล้อมเข้ามาจัดการ เช่น การชดเชยราคาให้กับน้ำมันที่ผลิตจากพืชปาล์มน้ำมัน สบู่ดำ เป็นต้น


โครงการไบโอดีเซลที่พระเจ้าอยู่หัวได้ตรัสเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ก็ไม่สามารถเติบโตได้ หากนโยบายพลังงานของประเทศยังคงถูกกำหนดโดยพ่อค้าน้ำมันปิโตรเลียม


 


ในด้าน "การทำสงครามกับความยากจน" ให้เสร็จภายใน ๖ ปีของรัฐบาลทักษิณฯ นั้น    นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักบอกตรงกันว่า   ไม่สามารถเป็นความจริงได้เลย   หากปราศจากนโยบายของรัฐที่ต้องสนับสนุนแหล่งพลังงานที่ชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้ง่าย นโยบายนี้จะเป็นจริงได้ก็ต้องออกมาเป็นกฎหมาย เขาเรียกกฎหมายฉบับนี้ว่า "Feed-in Law" ครับ


 


ขนาดของรายจ่ายด้านพลังงาน


 


ถ้าเราจำแนกค่าใช้จ่ายของเราซึ่งอยู่ในโลกสมัยใหม่ออกเป็น ๖ หมวด คือให้มากกว่าที่เราเคยท่องจำเรื่องปัจจัยสี่ในอดีตมา ๒ หมวด คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค พลังงาน และค่าโทรศัพท์  หมวดใดจะมีค่ามากกว่ากันและมากที่สุด


 


จากการสำรวจโดยชาวบ้านในชนบทที่อยู่ในเครือข่ายพลังงานทางเลือกในจังหวัดสุรินทร์พบว่า  รายจ่ายด้านพลังงานของพวกเขาสูงถึงเกือบ ๔๐% ของรายจ่ายทั้งหมด นั่นคือรายจ่ายในหมวดพลังงานเป็นรายจ่ายที่สูงที่สุด โปรดอย่าลืมนะครับว่า ราคาสินค้าที่เราซื้อทุกชนิด ตั้งแต่ ข้าวสารสักถัง  ตัดผมสักครั้ง ไปจนถึงบัตรเติมเงินค่าโทรศัพท์ ล้วนแต่ได้รวมเอาค่าขนส่ง  ค่าไฟฟ้า  อันหมายถึงต้นทุนด้านพลังงานเข้าไปด้วยแล้วทั้งสิ้น


 


ดังนั้น ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของเราจึงมีสัดส่วนของรายจ่ายมากกว่าที่เราเคยคิดเยอะเลยครับ  น่าเสียดายที่ผมไม่มีข้อมูลภาครัฐที่ทันสมัยมากพอที่จะทำให้เราเข้าใจภาพรวมของประเทศได้  แต่จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าในปี ๒๕๔๕ คนไทยทั้งประเทศได้จ่ายค่าพลังงานไปถึง ๑๔.๓% ของรายได้ทั้งหมดหรือรายได้ประชาชาติ ถ้าคิดเป็นจำนวนเงินก็เท่ากับ ๐.๗๘ ล้านล้านบาท โดยที่ร้อยละ ๘๘ ของเงินจำนวนก้อนโตนี้เป็นค่าน้ำมัน (๕๖%) และไฟฟ้า (๓๒%) ซึ่งเกือบทั้งหมดของพลังงานสองชนิดนี้เป็นกิจการที่ผูกขาดโดย บริษัท ปตท. จำกัด และ บริษัท กฟผ. จำกัด


 


จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๘) พบว่าราคาน้ำมันในปี ๒๕๔๘ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง ๓๖% และจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยข้างต้น ทำให้ผมคำนวณได้ว่า ค่าใช้จ่ายในหมวดพลังงานของคนไทยในปี ๒๕๔๘ ประมาณ ๑.๓ ล้านล้านบาท  หรือประมาณ ๒๐% ของรายได้ประชาชาติ


 


สำหรับปีนี้ราคาน้ำมันสูงกว่าปีที่แล้วอีกเท่าใด เราคงไม่มีอารมณ์จะคิดแล้ว


 


สรุป


 


เมื่อประเด็นพลังงานหมุนเวียนมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนทุกคน ทำไมเราไม่บัญญัติไว้ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐบ้างว่า  "รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบพลังงานหมุนเวียน"   เหมือนกับมาตรา   ๘๕  ที่ว่าด้วยระบบสหกรณ์บ้าง


 


อย่างไรก็ตาม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือองค์กรเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูปการเมืองอื่นก็ไม่ควรหลงกลโดยติดอยู่กับการกำหนดบทบัญญัติลงในรัฐธรรมนูญใหม่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องร่วมมือกันผลักดันแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประชาชนเพื่อขยายความเข้าใจและหามาตรการทางสังคมอื่นๆ เพื่อให้อำนาจในการดูแลตนเองในด้านพลังงานซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุดกลับมาเป็นของประชาชนให้มากที่สุด


 


หากการปฏิรูปการเมืองไม่แตะต้องสิทธิตามธรรมชาติของชาวบ้านในเรื่องพลังงานหมุนเวียนแล้ว โอกาสที่ประชาชนส่วนใหญ่จะอยู่ดีมีสุขก็คงจะยากครับ