Skip to main content

เมื่อ "หมากเตะฯ" เป็น "มุขแป้ก"

คอลัมน์/ชุมชน


 


เป็นข่าวเป็นคราวกันมาพักหนึ่ง จนกระทั่งใกล้จะถึงวันที่ตั้งใจจะลงโรงฉาย สำหรับ "หมากเตะ โลกตะลึง" ที่ทางสถานทูตลาวออกมาประท้วงว่า  "เรื่องนี้หากฉายแล้วกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแน่ๆ" ในที่สุด แม้จะทุ่มเงินไปแล้วถึง 60 ล้านบาท ทางผู้สร้างก็จำยอมต้องลงให้เพื่อให้เรื่องยุติไปด้วยดี โดยผู้สร้างยอมเลื่อนการฉายออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่ปัญหาที่ชวนให้คิดกันต่อไปว่า ทำไมคนไทยชอบเอาเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งลาว มาเป็นเรื่องตลก แล้วบทเรียนที่ผ่านมาเคยบอกอะไรกับเราบ้าง แล้วทำไมลาวต้องไม่ชอบใจและไม่ขำกับมุขเหล่านี้ แถมยืนยันว่าเป็นการดูหมิ่นกันอย่างมากด้วย


 


ในการแถลงข่าวนั้น แม้ทางผู้จัดจะบอกแล้วว่า เรื่องนี้แค่ตั้งใจจะให้เป็นภาพยนตร์แนวคอมเมดี้ หรือประเภทตลกเบาสมอง ไม่เคยคิดที่จะดูหมิ่นประชาชนและประเทศลาวเลย และเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสมมติขึ้น บางคนบอกว่าอันที่จริงก็ให้เกียรติลาวด้วยซ้ำเพราะให้ทีมลาวได้ชนะทีมฟุตบอลไทยทำให้สามารถได้ไปแข่งฟุตบอลโลก แต่มุขตลกต่างๆ ในเรื่องนี้ก็เป็น "มุขแป้ก" ไป เมื่อลาวไม่ขำด้วย 


 


ท่านทูตเหียม พมมะจัน เอกอัครราชทูตสปป.ลาว ประจำประเทศไทย ซึ่งได้ชมภาพยนตร์แล้วก็ทักท้วงออกมาว่า หลายๆ ฉากที่ตั้งใจให้เป็นมุขตลกนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการดูหมิ่นคนลาวทั้งสิ้น  คนลาวชมแล้วคงรับไม่ได้แน่นอน และที่จะมาบอกว่าเป็นเรื่องสมมติก็คงไม่ได้เพราะว่าธงที่ติดเสื้อนักฟุตบอลก็ธงชาติลาว และเพลงชาติที่ร้องก็เป็นเพลงชาติลาว


 


ขออนุญาตทบทวนบางฉากที่ท่านทูตท้วงติงมาเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนคัดเลือกนักฟุตบอล ที่ต้องไปเก็บคนอาชีพต่างๆ มาจากที่ต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่ชวนให้น่าเชื่อถือ ตอนที่ต้องปรับตัวให้โกอินเตอร์ ก็ให้ทุกคนไปย้อมผมทองกันหมด คนที่หัวล้านยังย้อมขนรักแร้ให้เป็นสีทอง ซึ่งท่านทูตได้กล่าวในรายการถึงลูกถึงคนว่า  "รับไม่ได้" กับมุขแบบนี้ หรือจะต้องไปแข่งต่างประเทศเมืองหนาวเลยเอาไปแช่ในห้องเย็นที่น้ำมูกไหลออกมาเป็นน้ำแข็ง ก็เหมือนจะหมิ่นกันว่า คนลาวไม่เคยไปเมืองนอก นอกจากนั้นก็มาในฉากการฝึก ที่ต้องนำผู้จัดการทีมและโค้ชจากไทยเข้าไปฝึกให้ และใช้เงินไทย มีบางคนขี้เกียจวิ่ง ต้องเอาหมามาวิ่งไล่ หรือแม้แต่การแข่งขันที่ให้นักกีฬาลาวไปตีกรรมการ นั่นก็ผิดวิสัยความเป็นคนลาวที่รักสงบ และยังมีอีกฉากที่รับไม่ได้


 


กล่าวโดยสรุป แต่ละฉากเหล่านี้ แน่นอนคงเป็นความพยายามที่จะทำให้ตลก เหมือนกับที่เราเห็นความเฉิ่ม เชยของคนอื่นๆ ดังที่หนังไทย หลายๆ เรื่องเคยทำมา โดยที่ใช้ความไม่รู้หรือความซื่อของคนมาเป็นอารมณ์ขัน แต่ไม่มีปัญหาอะไรหากเราล้อเลียนตัวเอง


 


มาพูดถึงว่า ทำไมคนไทยถึงชอบเอาคนลาวมาล้อเลียน หรือมาสร้างอารมณ์ขัน หากมองกันให้ดีแล้วคงไม่ใช่เรื่องระหว่างไทยกับลาว แต่เป็นประเด็นอารมณ์ขันของคนไทยมากกว่า คือ คนไทยส่วนใหญ่ (ไม่ใช่ทุกคน) มักจะล้อเลียนคนที่อยู่ในสถานะด้อยกว่าในทางใดทางหนึ่ง และจะขำในการกระทำของคนเหล่านั้น อย่างเช่นการรู้น้อยกว่า การไม่รู้จักในสิ่งทันสมัย การไม่รู้จักลิฟท์จึงเป็นที่ตลกของคนกรุงเทพฯ หรือการที่ชาวบ้านถอดรองเท้าก่อนเข้าลิฟท์และเมื่อออกมาแล้วงงที่กลายเป็นห้องอื่นไปแล้ว เป็นมุขบ้านนอกเข้ากรุงที่ถูกนำมาใช้เสมอ


 


นอกจากนี้ ความด้อยกว่าทางฐานะ เจ้านายกับคนใช้ หัวหน้ากับลูกน้อง และที่ค่อนข้างจะเลวร้ายคือ ความด้อยกว่าทางรูปร่างลักษณะ เช่น คนอ้วนมาก ผอมมาก สูงมาก เตี้ยมาก หน้าตาพิกลพิการ กลับกลายเป็นเรื่องล้อเลียนแทนที่จะเป็นการให้ความเห็นใจ  สังเกตได้ว่า หากคนอ้วนไปนั่งเก้าอี้แล้วเก้าอี้หักรับรองว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่ขำเรื่องนี้ หรือ บรรดาตลก โดยเฉพาะคาเฟ่มักเอาคนที่มีลักษณะไม่ค่อยสมบูรณ์มาเล่นเป็นตลก และซ้ำเติมปมด้อยเหล่านั้น รวมทั้งมุขที่ใช้ความรุนแรงเช่น เอาถาดตีหัวกันในตลกคาเฟ่ก็ยังคงใช้กันอยู่ น่าแปลกใจที่คนไม่น้อยขำกับมุขเหล่านี้แทนที่จะเห็นใจ


 


ในส่วนของคนที่มีความด้อยกว่านั้น ก่อนหน้านี้คนจากส่วนกลางจำนวนไม่น้อยเอาคนอีสานมาเป็นมุขตลก หรือดูแคลนถึงขั้นเรียกคนอีสานว่าพวก "บักเสี่ยว" กันนานพอสมควร จนกระทั่งที่สุดแล้ว คนอีสานก็ได้เปลี่ยนเอาปมด้อยมาเป็นปมเด่น มีคนประเภทหม่ำ จ๊กม๊ก  เทพ โพธิ์งาม หรืออีกหลายๆ คนได้นำปมด้อยของตัวเอง นำสิ่งที่คนกรุงเทพฯเห็นว่าเป็นความเชย เป็นความเฉิ่มมาเล่นเอง และเสียดสีตัวเอง ทั้งมาเล่นตลก หรือสร้างหนังโดยดึงสิ่งที่คิดว่าคนอื่นจะขำตัวเองนั้นมาเป็นจุดขายเสียเลย และก็ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่ยอมรับ ส่งผลให้การเรียกคนอีสานในเชิงดูหมิ่นลดน้อยลง


 


ถึงตอนนี้คนเริ่มหันมาเล่นมุขตลกกับสำเนียงที่พูดไทยไม่ชัดของชนเผ่าหรือคนข้ามแดนมาแทน อย่างเช่นวงโปงลางสะออน ซึ่งเป็นวงอีสานแท้ๆ นำเอาสำเนียงการพูดไม่ชัดของคนชนเผ่า หรืออาจจะเป็นคนข้ามแดนจากพม่ามาเป็นมุขแทน เราจะแปลไปได้หรือไม่ว่าคนอีสานเองก็มองว่าชนเผ่าด้อยกว่าตน แต่ในทางกลับกัน เวลาคนไทยพูดภาษาลาวหรือภาษาชนเผ่าไม่ชัดทำไม่ไม่ถูกล้อเลียน


 


กลับมาที่ภาพยนตร์เรื่องหมากเตะฯ แม้ผู้สร้างจะบอกว่าไม่ตั้งใจจะดูหมิ่นลาว แต่ก็ไม่ได้ให้คำตอบที่แน่ชัดนักว่า แล้วทำไมต้องเลือกเอา ลาว มาทำหนังตลกในครั้งนี้


 


เชื่อว่า มีคนไทยจำนวนมากที่รู้สึกดีๆกับคนลาว และมองว่าเป็นคนน่ารัก จิตใจดีงามซึ่งคนลาวส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนั้นจริง แต่คนไทยก็รู้แค่นั้นแต่ขาดความรู้เกี่ยวกับเรื่องของประเทศลาว แง่มุมทางวัฒนธรรมของลาว หรือแม้กระทั่งประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาว ซึ่งนี่ก็อาจเป็นอีกอย่างหนึ่งที่อาจทำให้คนไทยขาดความละเอียดอ่อนในการหยิบยกประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับลาวมาพูดถึง


 


ดังนั้น หลายคนมองว่าการเอาเรื่องลาวมาเป็นเรื่องตลกนั้นเป็นได้ด้วยความเอ็นดู ไม่ได้ดูหมิ่น แต่การมองคนลาวด้วยความเอ็นดู โดยที่เรานึกว่าเป็นความเอื้ออาทรนั้น อันที่จริงแล้วโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามก็เป็นไปได้หรือไม่ว่า ก็เท่ากับว่าเรากำลังมองลาวในสถานะที่ด้อยกว่าอยู่หรือไม่


 


ทั้งนี้ คนลาวเองนั้นก็รู้สึกกับเรื่องนี้อยู่เสมอ คือรู้สึกว่า คนไทยนั้นมักทำตนอยู่ในสถานะที่เหนือกว่า และปัญหาก็อยู่ที่ว่า ลึกๆแล้วลาวก็ยอมรับว่าอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าไทย (เช่นเดียวกับที่ไทยรู้สึกกับอเมริกา) จึงมักต้องคอยระมัดระวังว่าเขาจะว่าอะไรหรือทำอะไรเรา  ดังนั้นไม่ว่าจะในครั้งใดก็ตามที่มีคนไทยไปพาดพิงถึงเรื่องคนลาว เท่ากับไปตอกย้ำสิ่งที่เขาเชื่อว่าคนไทยมีวิธีคิดแบบนี้ เรื่องจึงบานปลายได้ทุกครั้ง แม้เรื่องจะเกิดจากเอกชน คือประชาชนธรรมดาเป็นคนทำขึ้น แต่เรื่องมักจะถูกโยงเข้ามาถึงระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทุกครั้งไป อย่างเช่น ตอนที่มีข่าวลือเรื่องศิลปินคนหนึ่งไปกล่าววิพากษ์วิจารณ์ผู้หญิงลาวเข้า เรื่องบานปลายถึงขั้นต้องออกมาประท้วงระดับรัฐฯ โดยกระทรวงต่างประเทศต้องเข้ามาแก้ไข หรือนิตยสารบันเทิงฉบับหนึ่งเอาคำลาวมาเป็นมุขขำๆ เมื่อเทียบกับภาษาไทย ก็เป็นเหตุให้วุ่นวายไปเหมือนกัน มาถึงตอนนี้ก็ภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ท่านทูตเหียมบอกว่า เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะครั้งนี้เล่นกับชาติลาวเลย


 


นอกจากนี้ ในส่วนความสัมพันธ์ไทย-ลาวนั้น ในขณะที่คนไทยมองเห็นแค่ความเป็นคนอ่อนโยน เรียบง่ายของคนลาว แต่คนไทยมักไม่ค่อยคิดถึงกันนักว่า ความสัมพันธ์ของสองชาตินี้เป็นความสัมพันธ์ที่มีความเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ไม่ใช่แค่เพียงว่า เป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน มีการกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นธรรมดาเหมือนลิ้นกับฟัน แต่มีรากลึกยิ่งกว่านั้นก็คือ คนลาวนั้นยังไม่เคยสิ้นความเคลือบแคลงในความเป็นมิตรแบบไทย  ในขณะที่คนไทยรู้สึกว่าเราอยู่ใกล้ชิดกัน มีภาษาและวัฒนธรรมใกล้เคียงกันมากที่สุดกว่าใคร และคนไทยมักพูดเสมอว่าเราเป็น "บ้านพี่เมืองน้องกัน" (แล้วคิดว่าเราเป็นพี่เราละเลยสิ่งที่ผ่านมาเพราะเราไม่ได้เป็นผู้ถูกกระทำ)   แต่คนลาวยังคงตั้งคำถามย้อนกลับว่า ในปี 1975 ช่วงสงครามอินโดจีน ลาวกำลังถูกอเมริกาบอมบ์ แล้วทำไมไทยซึ่งบอกว่าเป็นพี่น้องกับลาวกลับไปช่วยอเมริกาสู้กับลาว ทำไม่ไม่ช่วยลาวถ้าเป็นพี่น้องกันจริง เรื่องนี้ยังคงอยู่ในใจคนลาวมาโดยตลอด  ขณะที่เข้าใจว่าคนไทยไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลย  ซึ่งก็อาจเป็นได้ว่าขาดความรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก เพราะถ้าเรารู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ เชื่อแน่ว่าคนไทยจะระมัดระวังการกระทำกันมากกว่านี้


 


แม้ทุกวันนี้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไปแล้ว การสานความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศก็พยายามที่จะให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แต่เรื่องความขัดแย้งเยี่ยงนี้คงจะเกิดขึ้นได้อีกเรื่อยๆ หากคนไทยยังขาดความละเอียดอ่อนในการปฏิบัติต่อประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในบรรดาผู้ผลิตสื่อทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านสาระและบันเทิง มีบทเรียนเกิดขึ้นให้เห็นหลายๆ ครั้ง แต่ก็น่าแปลกใจว่า ทำไมคนไทยกลับเรียนรู้เรื่องนี้น้อยนัก หรือแม้แค่การเอาใจเขามาใส่ใจเรานั้น เราถูกฝึกกันมาอย่างไรถึงมักจะละเลยกันอยู่เสมอๆ


 


ขณะเดียวกัน ด้านลาวเองหากเชื่อมั่นและภูมิใจในวัฒนธรรมในชาติว่ามีความยิ่งใหญ่ที่มีอยู่ดังที่ร้องในเพลงชาติแล้ว  ไม่ว่าจะมุขตลกในหนัง หรือคำกล่าวพาดพิงโดยผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ทั้งหลายก็จะกลายเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่อาจจะสร้างความระคายเคืองใดๆ ให้เกิดขึ้นแก่ชาติลาวได้เลย ซึ่งจะทำให้การนำเอาคนลาวหรือเรื่องราวของลาวมาเป็นเรื่องตลกหายไปได้ในที่สุด