Skip to main content

กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกติดกับรายได้ในอนาคต Income Contingent Loan : ICL

คอลัมน์/ชุมชน


ช่วงนี้เป็นเปิดเทอมของนักเรียนทั่วประเทศ  อีกสองอาทิตย์จะเป็นการเปิดเรียนของระดับอุดมศึกษา ซึ่งที่ผ่านมา มีเรื่องวุ่นวายทำให้นักเรียนมัธยมปลายทั้งประเทศหายใจไม่ทั่วท้องเกี่ยวกับผลคะแนนการสอบวัดผลระดับประเทศ  ที่เกิดความผิดพลาดในขั้นตอนการทำข้อสอบของนักเรียน ขั้นตอนการตรวจ และขั้นตอนการประกาศผล มีนักเรียนจำนวนมากที่ผลคะแนนออกมาแล้วผิดพลาด เช่นได้ศูนย์ในบางวิชาทั้งๆที่ทำข้อสอบได้ หรือผลคะแนนหายไป หรือผลคะแนนเกินจำนวนคนสอบไป ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีความผิดพลาดหลายขั้นตอน


 


อย่างไรก็ตาม ระบบการสอบนี้เป็นการปฏิรูประบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ ที่ไม่มุ่งเน้นเฉพาะการทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการผสมกันระหว่างคะแนนจากผลการเรียนตลอดชั้นมัธยมกับคะแนนสอบเข้า เพื่อแก้ปัญหานักเรียนมุ่งเรียนเพื่อตัวเอง มุ่งเรียนกวดวิชา เพื่อให้สอบเข้าได้อย่างเดียว ไม่ให้ความสนใจกับการเรียนรู้ในห้องเรียน และเพื่อลดช่องว่างระหว่างนักเรียนที่มีเงินเรียนกวดวิชา ซึ่งส่วนใหญ่คือเด็กในเมือง เด็กที่มีฐานะดี กับเด็กยากจน เด็กในชนบทที่ไม่มีโรงเรียนกวดวิชาไปเปิด อย่างไรก็ตามก็ยังเป็นการสอบแข่งขันกันอยู่ดีทั้งประเทศ  มีคนสอบในแต่ละปีเป็นแสนคน แต่มีที่ว่างให้เรียนในมหาวิทยาลัยไม่มากพอ ตลอดถึงมีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ไม่อาจเรียนต่อได้เพราะไม่มีเงินค่าเรียน ค่ากินอยู่


 


เหตุการณ์นี้เป็นช่วงวิกฤติของชีวิตในวัยเยาวชนอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ มีความเครียดสะสมตั้งแต่การเรียนในชั้นเรียน ตลอดจนการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย ภาวะกดดันเช่นนี้ ไม่แปลกที่เยาวชนจะลดทอนความเครียดด้วยการแสวงหาสิ่งบันเทิงต่างๆ การหลีกหนีให้พ้นจากการเรียนการสอบที่แข่งขัน และหลายคนก็เป็นโรคเครียด วิตกกังวล จนนำสู่ความซึมเศร้าในที่สุด นี่คือสภาวะสังคมที่บีบคั้นให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ของสังคมเราไร้ซึ่งสุขภาวะ ที่จะเป็นพื้นฐานสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีทั้งกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ


 


แต่เดิมรัฐแก้ปัญหาโดยจัดให้มีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาขึ้น ออกเป็นพระราชบัญญัติกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาปี พ.ศ.2541 รวมเวลาเกือบสิบปี ทั้งนี้ โดยให้นักศึกษากู้ยืมค่าเทอม ค่าหน่วยกิต ค่ากินอยู่ ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายรายเดือน เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาระดับมัธยมปลายและอุดมศึกษาได้มากขึ้น ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา มีนักเรียนนักศึกษาจำนวนมากได้ใช้บริการนี้ เงื่อนไขประการเดียวคือต้องใช้คืน เมื่อเรียนจบแล้วสองปี หรือเมื่อมีงานทำมีรายได้ ก็ต้องผ่อนใช้คืน กรณีเช่นนี้ จะทำให้มีนักเรียนนักศึกษาบางส่วนเท่านั้นที่เข้าถึงกองทุน เพราะจำนวนเงินไม่สามารถครอบคลุมทุกคนที่ต้องการได้


 


มาปีนี้ ปีการศึกษา 2549 เป็นปีแรกที่ยกเลิกระบบให้กู้ยืมแบบเดิม เปลี่ยนเป็นกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกติดกับรายได้ในอนาคต-กรอ.- Income Contingent Loan:ICL) เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนที่หาที่เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ มีสิทธิกู้เงินค่าเทอม ค่าหน่วยกิตเท่านั้น เพื่อแก้ปัญหาให้ทุกคนสามารถเข้าถึงกองทุนได้ โดยไม่ต้องมีการคัดเลือกใดๆ หรือยกเว้นใครเหมือนแต่ก่อนเช่นกรณีที่นักเรียนที่พ่อแม่รายได้เกินกำหนดก็ไม่มีสิทธิกู้


 


ดังนั้น ไม่ว่าเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐหรือของเอกชน นักศึกษาสามารถขอกู้ยืมได้ แม้จะลดช่องว่างให้ทุกคนได้กู้ยืม แต่ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถกู้ยืมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าตำราเรียน ค่ากิจกรรม ค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ ค่าที่พัก อย่างนี้นักศึกษาที่ได้เรียนก็ยังต้องมาแบกภาระเหล่านี้ ในท่ามกลางที่การหางานทำนอกเวลาก็ยากลำบาก ทั้งจำนวนงานที่เพียงพอ เวลาทำงานที่เหมาะสม ตลอดจนรายได้ที่พอต่อการดำรงชีพ ดังนั้น ไม่แปลกถ้าหลายคนจะเลือกทำงานเป็นพนักงานเชียร์เบียร์ เหล้า หรือเป็นนักเต้นในบาร์ หรือขายบริการทางเพศ  ในเมื่อสังคมไม่ได้เปิดโอกาสหรือสร้างโอกาสที่เอื้อต่อทุกคน


 


นอกจากนี้รัฐยังเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยคิดค่าหน่วยกิต ตามต้นทุนจริงของการจัดการศึกษา ดังนั้น ค่าหน่วยกิต จึงไม่ใช่ 100 บาท 200 บาท แต่อาจไปถึง 300 หรือ 500 บาท หรือมากกว่านั้น เป็นการโยนภาระต้นทุนการศึกษาไปให้กับนักศึกษาเป็นคนแบกไว้ โดยมาขอกู้จาก กรอ. แล้วเมื่อทำงานมีรายได้ต่อเดือนที่ถึงขั้นต้องเสียภาษี ก็จะถูกหักคืนโดยกรมสรรพากรต่อไป


 


ขณะที่ในประสบการณ์ของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผ่านมา ที่เริ่มมีการฟ้องร้องนักศึกษาที่ไม่สามารถใช้คืนเงินกู้ได้ หรือขาดการติดต่อเพื่อการประนอมหนี้  ก่อให้เกิดภาวะเครียด และอับอายขึ้น  การจัดการกองทุนเพื่อการศึกษา ควรเป็นรูปแบบให้กู้ยืมเพียงอย่างเดียวเท่านั้นหรือควรเป็นเช่นไร ทำไมรัฐจะลงทุนเพื่อรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่จะได้รับการศึกษาตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญให้เป็นการศึกษาให้เปล่าจนถึงขั้นอุดมศึกษาไม่ได้ หรือควรทำแค่ 12 ปีแล้วหลุดออกไปจากระบบ คนที่มีโอกาส คนมีฐานะ คนกล้ากู้ยืม เท่านั้นใช่ไหมที่จะได้เรียนต่อในระดับสูงขึ้นถึงขั้นอุดมศึกษา แล้วอย่างนี้จะมองอนาคตประเทศชาติที่กำลังวิ่งแข่งในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมได้อย่างไร จะเปิดการค้าเสรีให้คนประเทศอื่นมาทำงาน ทำธุรกิจ อย่างเสรีได้อย่างไร ในเมื่อเราไม่มีคนที่มีการศึกษาที่สูงพอจะสู้กับเขา  มิต้องพูดถึงว่าเรามีคนรุ่นใหม่ที่ตกอยู่ในภาวะความเครียดสะสมมาโดยตลอด ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศเรามิอาจสู้กับประเทศอื่นๆได้โดยเฉพาะประเทศที่รับรองสิทธิเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเสรีและมีอิสระมากกว่าในบ้านเรา


 


คงต้องทบทวนและร่วมมือกันทั้งรัฐท้องถิ่น รัฐส่วนกลาง ที่จะสร้างโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสม และสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในสาขาต่างๆ การจัดสรรทุนให้เปล่า การรับประกันเรียนฟรี โดยร่วมมือกันจัดสรรงบประมาณเพื่อการสร้างคนให้มากขึ้น เช่น รัฐท้องถิ่นดูแลการศึกษาระดับต้น รัฐส่วนกลางดูแลการศึกษาในขั้นที่สูงขึ้น เพื่อการกระจายงบประมาณและกระจายอำนาจการจัดการสู่ชุมชนด้วย