Skip to main content

เหตุผลที่คนควรอยู่ด้วยกัน…

คอลัมน์/ชุมชน


 


 


 



 


เพื่ออรรถรสในการอ่านบทความชิ้นนี้ ขอให้เปิดเพลงนี้คลอเบาๆ ด้วย จะได้บรรยากาศอย่างยิ่ง


 


ไม่นึกไม่ฝันว่าเมื่อตัวเองผ่านพ้นวัยของการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยไปแล้ว จะได้มีโอกาสไปเป็น "เด็กค่าย" อีกครั้ง... แต่ก็มีโอกาสจนได้


 


โอกาสที่ว่านั้นเดินมาทางสายโทรศัพท์ จากพี่ชา – เพื่อนรุ่นพี่ที่ทำงาน ณ องค์กรแอคชันเอดประเทศไทย ด้วยคำพูดสั้นๆ ง่ายๆ ว่า... "เฮ้ย มีเวลาว่างสักวัน-สองวันมั้ยวะ มาช่วยงานค่ายเด็กที่เกาะเกร็ดหน่อย" ซึ่งบังเอิญว่าช่วงนี้ผม "ว่าง" เสียด้วย ประกอบกับความคิดที่ว่า "ไหนๆ ก็ยังว่างงานอยู่แล้วนี่หว่า หาอะไรทำเถอะ...อย่างน้อยก็ดีกว่าหายใจทิ้งไปวันๆ แหละน่า"


 


ว่าแล้วผมก็จัดแจงเก็บกระเป๋าเสื้อผ้า แล้วก็ขึ้นรถเมล์จากอนุสาวรีย์ไปยังเกาะเกร็ดอย่างปัจจุบันทันด่วน...


 


ปัจจุบันทันด่วนขนาดที่แม้แต่ตัวเองยังไม่รู้เลยว่า... "นี่มันค่ายอะไรวะ"


 


เมื่อไปถึงที่สวนเกร็ดพุทธ – สถานที่จัดค่ายที่ว่านั่น ผมถึงได้รู้ว่าค่ายที่ผมมานั้นชื่อค่าย "ด. เด็กเสียงใส อยากได้ครูใจดี" ที่เป็นหนึ่งในกิจกรรมในมหกรรม "ด. เด็กเสียงใส อยากได้ครูใจดี" ที่เพิ่งจบลงที่งานคอนเสิร์ตชื่อเดียวกัน ณ สวนสันติชัยปราการ เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายนที่ผ่านมา


 


ค่ายนี้เป็นค่ายเยาวชนที่มีความพิเศษอยู่ตรงที่ว่า เยาวชนที่มาร่วมกิจกรรมนั้นมีทั้งที่เป็นเยาวชนที่พิการทางร่างกาย เยาวชนจากโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากพ่อแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวี และเยาวชนที่มีฐานะยากจน โดยที่ทั้งหมดมาเรียนรู้ร่วมกันในค่ายนี้


 


ภาพในค่ายภาพแรกที่ผมได้เห็นจึงเป็นภาพของเด็กหนุ่ม ๒-๓ คนที่ร่างอยู่บนรถเข็นกำลังสนุกกับกิจกรรมในค่าย ในขณะที่ใกล้ๆ กันก็มีน้องๆ ที่กำลังส่งภาษามืออย่างคล่องแคล่ว ใกล้ๆ กันนั้นก็มีเด็กอีกกลุ่มกำลังเขย่า "บ้อง" (จริงๆ มันคือไม้ไผ่ที่ใส่เม็ดถั่วข้างใน เอาไว้เขย่าให้เกิดเสียง แถมยังเอาไว้ใช้ทำเสียงน้ำไหลได้อีก...ผมไม่รู้ว่าจะเรียกมันว่ายังไง เลยเรียก "บ้อง" ซะอย่างนั้น มันเห็นภาพดีครับ) ประกอบเสียงดนตรีไปด้วย


 


 



 


 


 


ภาพของชาวค่ายที่หลากหลายเสียขนาดนี้ ทำให้ผมอดถามพี่ชาที่ล่วงหน้ามาก่อนผมหนึ่งวันไม่ได้ว่า "เฮ้ย พี่... หลากหลายแบบนี้ไม่ปวดหัวตายชักเหรอพี่"


 


"ปวดหัวสิวะ วันแรกทำเอาสตาฟมึนตึ๊บไปเลย แต่พอจูนกันติดปั๊บก็ไม่มีปัญหาแล้วแหละ" พี่ชาตอบผม


 


ผมมาถึงค่ายในเวลาตะวันตั้งกลางหัวพอดี กิจกรรมแรกที่ผมได้ร่วมอย่างเป็นทางการในค่ายก็คือ...การกินข้าวเที่ยงนั่นเอง :-P


 


ซึ่งในระหว่างที่กินข้าวเที่ยงนั้นเอง ผมก็ใช้โอกาสนั้นสังเกตดูบรรยากาศของค่าย ก็พบว่านอกจากค่ายนี้จะเป็นการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชาวค่ายด้วยกันแล้ว ยังเป็นการสร้างการเรียนรู้ระหว่างชาวค่ายกับสตาฟค่ายด้วย โดยวัดได้จากการที่ผมได้เห็นสตาฟ (ที่แทบทุกคนกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยม หรือไม่ก็เรียนมหา’ลัยอยู่ชั้นปีหนึ่ง-ปีสอง) กำลังหัดคุยภาษามือกับน้องๆ ที่ใช้ตาต่างหู ในขณะที่สตาฟอีกคนก็กำลังทำหน้าที่เป็นตาให้กับน้องๆ ตาบอด ด้วยการจูงมือ และคอยอำนวยความสะดวกในการเดินเหิน ในขณะที่สตาฟที่ดูแลน้องที่ต้องเคลื่อนที่ด้วยรถเข็น ก็คอยดูก้าวของล้อรถเข็นอยู่ห่างๆ และคอยช่วยยกรถเข็นเวลาที่ต้องเดินผ่านพื้นต่างระดับ


 


 


 


สตาฟค่ายคนหนึ่ง (ผู้ชายทางซ้ายมือ) กำลังเข้าคอร์สภาษามือแบบเร่งรัดจากชาวค่าย


 


อาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ว่าก็ทำให้เราเห็นว่าการได้เรียนรู้ที่จะช่วยเหลือกันและกันนั้น เป็นสะพานอย่างดีที่จะพาไปสู่การเข้าอกเข้าใจพวกเขามากขึ้น...จนทำให้คิดไปได้ว่าผู้รับผิดชอบด้านความสะดวกสบายของคนพิการในประเทศนี้คงไม่เคยที่จะสัมผัสกับคนที่เขาต้องไปให้ความสะดวกเสียละกระมัง ระบบอำนวยความสะดวกในบ้านเราถึงได้กะพร่องกะแพร่งอย่างที่เราได้เห็น L


 


กิจกรรมอันหนึ่งของค่ายนี้คือการซ้อมร้องเพลง-เล่นดนตรีเพื่องานคอนเสิร์ตที่สวนสันติชัยปราการ (น่าเสียดายที่พอถึงวันงานจริงๆ ฝนดันตกเสียได้ จนการแสดงที่เตรียมไว้ล้มไปซะงั้น) ซึ่งก็ไม่ใช่การซ้อมแบบเอาเป็นเอาตาย ออกจะไปในทางประนีประนอมเสียมากกว่า


 


เราจึงได้เห็นนักดนตรีใช้ทำนองวิ่งไล่ตามเสียงของเด็กๆ ที่วิ่งเล่นบนบรรทัดห้าเส้นอย่างสนุกสนาน


 



 


 


 


 


 


ในช่วงเย็นของวันนั้น ก็มีกิจกรรมที่ให้น้องๆ สร้างเสื้อสีสันสดใส โดยเอาผ้าถุงมาตัดเป็นลาย แล้วปักลงในเสื้อสีขาว ซึ่งบางคนก็ปักลายดอกไม้ ผีเสื้อ บางคนก็ปักเป็นชื่อตัวเอง แต่สำหรับหนุ่มๆ หลายคนก็เลือกที่จะปักชื่อแฟนตัวเองลงไปในเสื้อ J


 



 


 


 


 



 


หลังจากที่กิจกรรมของวันนั้นจบลง ผมกลับไปที่เรือนนอนพร้อมๆ กับน้องๆ ที่นอนห้องเดียวกัน ซึ่งก็เป็นธรรมดาของคนไปค่ายนั่นแหละ ที่มักจะไม่นอนกันทันที มักจะมีกิจกรรมเสริมนอกตารางกันอยู่เสมอๆ


 


ในคืนนั้น กิจกรรมก่อนนอนของผมกับน้องๆ คือการนั่งคุยกันสัพเพเหระ ตั้งแต่เรื่องชีวิต ความรัก แฟน เลยเถิดไปถึงการเล่าเรื่องผีจากน้องๆ โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก


 


ถ้าใครฟังบทสนทนาในคืนนั้นโดยไม่เห็นหน้าพวกเขา ก็ไม่มีทางรู้หรอก ว่าเขาต่างอะไรจากเรา...


 


หรือถ้าคิดว่าเขา "ขาด" สิ่งบางสิ่งไป ก็คงเป็นเพราะว่าตัวเราเองก็ "ขาด" สายตาที่มองมนุษย์อย่างเท่าเทียม


 


หรือจริงๆ แล้ว ทุกคนบนโลกต่างก็ "ขาด" ในสิ่งที่แตกต่างกันไปตามแต่ละคน และเป็นเรื่องจำเป็น ที่ทุกคนบนโลกต้อง "เติมเต็ม" ซึ่งกันและกัน...


 


 



 


0 0 0