Skip to main content

การเรียนคืออุปสรรคของการทำกิจกรรม ?

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


ที่ค่ายแห่งหนึ่งรุ่นน้องเปรยๆ กับผมว่า  "โชคดีที่ตอนนี้ปิดเทอม จึงได้มีเวลามาทำกิจกรรม แต่หากเปิดเทอมเมื่อไหร่ คงไม่ได้มาเข้าค่ายหรือจัดค่ายแบบนี้อีกแน่เลย"


 


รุ่นน้องคนดังกล่าวนี้ ยังเรียนอยู่ชั้น ม. ๕ ในโรงเรียนมัธยมประจำตำบลแห่งหนึ่ง และเป็นเรื่องปกติมากที่ผมมักจะได้ยินเพื่อนๆ รุ่นน้องที่ทำกิจกรรรมเพื่อสังคมจะบ่นๆ ประมาณนี้  แต่ก็ทำยังไงได้เพราะในเมื่อเราเรียนหนังสืออยู่แล้วมาทำกิจกรรมด้วยก็ต้องเจอกับอุปสรรค ปัญหาเหล่านี้


 


เด็กที่ทำกิจกรรมทางสังคมส่วนมาก จะอยู่ระหว่างการเรียนหนังสือ ส่วนมากจะเรียนอยู่ในช่วงมัธยมศึกษา  ซึ่งทำให้บางครั้งที่การเรียนกลายเป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมของเด็กที่สนใจกิจกรรมทางสังคม


 


ที่ผมกล่าวว่าการเรียนนี้เองที่ถือเป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมนั้น เพราะระหว่างที่ผมทำกิจกรรมมาตั้งแต่อยู่มัธยมต้น ผมว่าเวลาที่ต้องเรียนในชั้นเรียนนั่นแหละที่ทำให้ผมไม่มีเวลาในการทำกิจกรรมเลย หรือหากจะทำกิจกรรมก็ต้องไปทำในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือทำในช่วงปิดภาคเรียนแต่ละเทอม


 


สมัยที่ผมเรียนหนังสือในห้องเรียน (ประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา) พบว่าตัวเองมีอุปสรรคในการทำกิจกรรมที่สนใจหรือชอบ  คุณครูมักจะเรียกผมเข้าพบ  เมื่อผมไม่ค่อยได้เข้าเรียนหรือเรียนไม่ถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะมัวแต่ทำกิจกรรม จนคุณครูและผู้ใหญ่ที่หวังดีบอกว่า อย่าทำกิจกรรมจนลืมการเรียน บางคนก็บอกว่าเรายังเรียนหนังสืออยู่ อย่าเพิ่งไปสนใจเรื่องนั้น (เรื่องนั้นหมายถึง การจัดกิจกรรม เช่น ค่าย อบรมสิทธิเด็ก แสดงละคร เป็นต้น)


 


ผมไม่ได้ตอบโต้อะไรไป  ที่ทำได้ที่สุดสำหรับตัวเองในสถานะที่เป็นนักเรียนก็คือ การเรียนไปตามระบบ และทำกิจกรรมไปด้วย  โดยสิ่งที่เด็กกิจกรรมต้องพิสูจน์ตัวเองก็คือ หากทำกิจกรรมแล้วจะต้องไม่ส่งผลด้านลบต่อการเรียน หมายความว่า ต้องให้เวลาในการเรียนและการทำกิจกรรมสมดุลซึ่งกันและกัน หากทำกิจกรรมก็อย่าให้การเรียนตก หรือหากเรียนมากก็อย่าทำให้เสียกิจกรรม


 


แต่ที่น่าสนใจกว่าเรื่องนั้นก็คือ กิจกรรมทางสังคมที่ผมทำ ทำไมมันช่างมีคุณค่าและความหมายน้อยกว่ากิจกรรมที่โรงเรียนกำหนดขึ้น เช่น การแข่งกีฬาสี การแข่งขันทางวิชาการ ถามว่าคุณค่าต่างกันอย่างไร ยกตัวอย่างที่เคยเจอมาก็คือ เพื่อนคนหนึ่งลาเรียนไปทำค่ายเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์  ครูบอกว่าลาไม่ได้  ต้องมาเรียน เมื่อเพื่อนเลือกที่จะไม่มา ครูก็ระบุว่าคาบนั้นเขาขาดเรียน  ขณะที่เพื่อนอีกคนไปแข่งกีฬาเปตองให้กับโรงเรียน ครูกลับไม่ระบุว่าขาดเรียน อีกทั้งยังชื่นชมยินดีที่เขาเป็นตัวแทนของโรงเรียนไปสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน


 


เด็กที่ทำกิจกรรมทางสังคมหลายคน จึงต้องเผชิญกับการให้คุณค่าในการทำกิจกรรมจากโรงเรียนที่แตกต่างจากกิจกรรมอื่นๆ ที่โรงเรียนกำหนด หรือสถาปนาขึ้น   ระบบโรงเรียนมักจะไม่สนับสนุนให้เด็กออกมาทำกิจกรรมทางสังคม หรือไม่ได้เอื้อให้เด็กสนใจปัญหาสังคม นอกจากเรียนๆ  เพียงอย่างเดียว


 


มาถึงตรงนี้อาจมีบางท่านแย้งว่า ก็ปัจจุบันระบบการศึกษาก็เปิดกว้างสำหรับเรื่องนี้มากขึ้นแล้ว  แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงแค่นโยบาย มีการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังแค่บางพื้นที่เท่านั้นแหละครับ ยังมีอีกหลายโรงเรียน หลายพื้นที่ ที่เด็กกิจกรรมยังไม่ได้รับการส่งเสริมหรือสนับสนุนจากโรงเรียนเท่าที่ควรหรือควรจะเป็น


 


ถ้าไม่อย่างนั้นตอนนี้เด็กๆ ทำกิจกรรมคงจะได้รับการยอมรับจากโรงเรียนมากแล้ว และที่สำคัญยังมีความขัดแย้งกันอยู่มากในระดับนโยบายของรัฐ กล่าวคือ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ มีนโยบายให้เด็กรวมกลุ่มทำกิจกรรมในระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน แต่โรงเรียนเองก็ไม่ได้มีระบบส่งเสริมหรือมีสัดส่วนเวลาให้เด็กออกมาทำกิจกรรมเท่าใดนัก


 


หากกระทรวงศึกษาธิการมองเห็นความสำคัญในการให้เด็กออกมาทำกิจกรรมนอกโรงเรียนผ่านกระบวนการจัดค่าย อบรม หรือ รณรงค์เรื่องเอดส์ เรื่องสิทธิเด็ก ฯลฯ ในชุมชน อาจจะกำหนดไปเลยว่าเด็กนักเรียนมีสิทธิที่จะเลือกทำกิจกรรมและการทำกิจกรรมนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในโรงเรียน  ถ้าเป็นเช่นนั้นเด็กที่ทำกิจกรรมก็จะได้รับการยอมรับโดยตัวระบบ ครูก็จะไม่ต้องกังวลว่าเด็กเรียนไม่ถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ หรือต้องเรียกเด็กมาพบในห้องปกครอง


 


นโยบายการศึกษาควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้นอกห้องเรียน ผ่านการทำกิจกรรมของเด็ก เพราะการทำกิจกรรมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า สิทธิและหน้าที่ของเด็กไม่ใช่การเรียนหนังสือเพียงอย่างเดียว หากการทำกิจกรรมเพื่อสังคมก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่เด็กและเยาวชนต้องรับผิดชอบด้วย


 


ที่บอกว่าเด็กและเยาวชนต้องรับผิดชอบคือ ในระดับที่เด็กยังอายุน้อย และได้ทำกิจกรรม ฝึกทักษะ ความคิดและความรับผิดชอบ และรู้จักการทำงานเป็นทีม  วันหนึ่งเมื่อเขาโตขึ้นเขาก็ย่อมสามารถที่จะอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ โดยการรับผิดชอบสังคมร่วมกับผู้อื่น


 


แต่ก็อย่างที่เรารับรู้กันครับ หากวันนี้การเรียนยังเป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมเพื่อสังคม วันพรุ่งนี้ที่เราอยากเห็นเด็กๆ รับผิดชอบสังคม หรือเป็นอนาคตของชาติก็คงจะเป็นเพียงแค่ฝันลมๆ แล้งๆ  อย่างไรก็ดี ที่ผมกล่าวมานี้ไม่ได้ประชดอะไรนะครับ เพียงแต่ไม่อยากให้รุ่นน้องๆ หรือ เพื่อนๆ ที่ออกมาทำกิจกรรมเพื่อสังคมต้องเผชิญกับสภาวะเดียวกันกับที่ผมและเพื่อนๆ หลายคนได้ผ่านมาเท่านั้นเอง


 


("งั้นก็ไม่ต้องเรียน" ผมคิดในใจ ระหว่างที่รุ่นน้องคนนั้นพูดจบ)